การขี่จักรยานทางไกลคือการเคลื่อนไหวอวัยวะซ้ำ ๆ แบบกันนับเป็นล้าน ๆ ครั้ง ย่อมต้องเกิดความอึดอัดไม่สบายเล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้นได้ และจะหายไปเองหลังจากหยุดขี่ แต่สำหรับหัวเข่าแล้วมันแตกต่างเพราะตรงนั้นคือข้อต่อที่มีองค์ประกอบหลายอย่างมาเกี่ยวข้องทั้งกระดูก เอ็น สะบ้า เพื่อมาประกอบกันเป็นข้อพับ ถึงปัญหาเข่าในจักรยานจะน้อยกว่าการวิ่ง แต่มันก็ถือว่าเป็นอาการบาดเจ็บและอยู่ในลำดับต้น ๆ ที่ผู้ขี่จักรยานเป็นกันบ่อยที่สุด
คำพูดว่า “หัวเข่านักจักรยาน” คือคำพูดรวมถึงการใช้หัวเข่าซ้ำซากมากเกินไปในทุกสภาพ ซึ่งเกี่ยวกันโยงใยไปถึงปัญหาด้านกายภาพของเท้าหรือน่อง การวางเท้าผิดตำแหน่งบนลูกบันไดหรือการใช้เกียร์ไม่เหมาะสม แต่ข่าวดีก็คือถึงแม้คุณจะมีปัญหาเข่าเรื้อรังก็ยังขี่จักรยานได้สบาย ๆ เมื่อเข้าใจปัญหาและปรับปรุงแก้ไข
ในฐานะที่เป็นเสมือนข้อพับ บทบาทของหัวเข่าคือการงอและเหยียดซ้ำ ๆ กันโดยหัวเข่าเคลื่อนไหวอยู่รอบ ๆ ลูกสะบ้าตรงปลายขาอ่อน จะเคลื่อนไหวได้สะดวก หัวเข่าต้องมีส่วนผสมที่ลงตัวคือกระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น พังพืด กระดูกอ่อน ถุงน้ำ และลูกสะบ้า โดยเฉพาะกระดูกอ่อนนี้แหละที่เป็นทั้งตัวกันสะเทือนและตัวสร้างสมดุล ในขณะที่ถุงน้ำรอบเข่านั่นจะส่งของเหลวไปช่วยหล่อลื่นชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหว
เกิดอะไรขึ้นเมื่อส่วนประกอบเหล่านี้เกิดผิดปกติ ตอบได้ว่าผลที่ตามมาซึ่งสังเกตได้ชัดที่สุดอย่างแรกคือ อาการข้อเข่าเสื่อม ที่เป็นได้ทุกเพศทุกวัยไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะคนแก่ แม้แต่เด็ก ๆ ที่เคลื่อนไหวผิดปกติซ้ำซากติดต่อกันนาน ๆ ก็มีโอกาสเป็น อีกอาการหนึ่งคือ เอ็นอักเสบ คือเจ็บเส้นเอ็น ส่วนเชื่อมต่อระหว่างเข่ากับน่อง ทั้งสองอาการนี่แหละคือสิ่งที่พบได้มากที่สุดในพวกที่เริ่มขี่จักรยานและที่ขี่ไกล ๆ แบบทะลวงขีดจำกัดของร่างกาย
อีกอาการหนึ่งที่พบได้มากคือ อาการเจ็บหน้าขา ถ้าคุณขี่จักรยานมานานแล้วยังเป็นก็จงอย่าแปลกใจเพราะนักจักรยานระดับโลกเองก็ยังเป็น คนที่มีแนวโน้มจะมีอาการนี้มากกว่าใครคือพวกที่มีกระดูกหน้าขาโค้งซึ่งจะไปทำให้เอ็นหน้าขาเครียดถ้าต้องงอและเหยียดติดต่อกันนาน ๆ เช่น การปั่นจักรยาน ปัญหานี้เกิดขึ้นกับผู้หญิงจำนวนหนึ่งเช่นกัน เพราะกระดูกเชิงกรานของผู้หญิงกว้างจึงมีมุมเอียงจากเชิงกรานมาที่หน้าขากับหัวเข่ามากกว่าผู้ชาย
โดยทั่วไปการพักขี่จักรยานจะช่วยให้อาการเจ็บหน้าขานี้ทุเลาลง มีอยู่น้อยมากที่ต้องถึงกับผ่าตัด การป้องกันไม่ให้บาดเจ็บด้วยอาการดังกล่าว คือการให้ความสนใจอย่างละเอียดต่อสัดส่วนทางเรขาคณิตของเฟรมและอุปกรณ์ประกอบ ต้องศึกษาถึงลักษณะการวางตัวของร่างกาย ใช้เฟรมที่ได้ขนาดเท่ากับร่างกาย ไม่คร่อมไซส์ เมื่อเฟรมเสียแล้วทุกสิ่งจะพลอยเสียไปด้วยหมด ทั้งท่าทางการขี่และสุขภาพ
เมื่อพูดถึงการวางตำแหน่งร่างกายแล้วก็ต้องพูดต่อถึงความสูงของอานและตำแหน่งวางเท้า แม้จะเคยเสนอเรื่องนี้ไปแล้วแต่เมื่อมันมาเกี่ยวพันกับปัญหาเข่าก็ต้องนำพูดอีกในแง่มุมที่แตกต่าง เอาง่าย ๆ เลยคือถ้าอานต่ำเกินไปจะทำให้หัวเข่างอมากเกินเมื่อเคลื่อนขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของลูกบันได ผลคือเกิดความเครียดทีเอ็นหัวเข่า ใครที่วางอานไว้ต่ำจะเกิดอาการเจ็บเข่าทุกคนเมื่อขี่จักรยานไปไกล ๆ และจะยิ่งทรมานมากขึ้นมาระยะทางที่เพิ่มขึ้น ทางแก้นั้นมีอยู่แล้วด้วยการวัดขนาดตัวให้พอดีเฟรม ใช้เฟรมที่พอดีเท่านั้น ตามด้วยการวางตำแหน่งอานให้เหมาะสม ถ้าเจ็บหน้าเข่าวิธีแก้ง่าย ๆ คือต้องยกอานขึ้น หรือถ้าเจ็บหลังเข่าก็ต้องเลื่อนอานลง วิธีปรับแต่งความสูงนั้น ต้องให้ระยะจากหลังอานถึงลูกบันไดเมื่ออยู่ต่ำสุดมีพอให้งอขาได้เล็กน้อย ทำมุมสัก 3-4 องศา การงอขาได้เล็กน้อยจะไม่ทำให้กล้ามเนื้อสะโพกเครียด ขณะเดียวกันก็จะไม่ทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นตรงหัวเข่ารับภารหนักจากการงอและยืดออกซ้ำ ๆ กันตลอดเวลา
ถ้าคุณเป็นนักจักรยานหน้าใหม่แล้วมีปัญหากับเข่า นั่นคือคุณอาจจะทำผิดพลาดไปสองประการคือการวางตำแหน่งเบาะสูงหรือต่ำไป และอีกประการคือใช้เกียร์ที่หนักเกินไปนั่นเอง ด้วยความเชื่อผิด ๆ ว่าเบาะสูง ๆ จะทำให้ได้เหยียดขาเต็มที่หรือเบาะเตี้ย ๆ จะช่วยยันขาได้ถึงพื้น ส่วนการใช้เกียร์หนักนั่นก็เพราะเชื่อว่ามันจะทำให้ตัวเองแข็งแรง คิดเอาง่าย ๆ ว่าเมื่อกล้ามเนื้อต้องสู้กับแรงต้านบ่อย ๆ แล้วมันจะแข็งแกร่งไปเอง แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ เพราะคุณกำลังบังคับให้กล้ามเนื้อทำงานหนักเกินขีดความสามารถโดยไม่ได้เสริมสร้างมันอย่างถูกวิธี
อีกปัญหาเข่าที่พบได้บ่อยไม่แพ้กันคือการวางเท้าไม่เป็นธรรมชาติ หมายถึงเมื่อเอาเท้าวางบนบันไดแล้วมันบิดในมุมซึ่งไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น เมื่อเดินแล้วเท้าทำมุมแบบไหนเมื่อวางบนบันไดคลิปเลสก็ต้องทำมุมแบบเดียวกัน จึงเป็นเหตุผลให้คลีตต้องถูกออกแบบให้เคลื่อนที่ไปมาซ้ายขายได้เล็กน้อย เพื่อเข่าจะได้ไม่ถูกบีบบังคับให้ล็อคตายตามมุมการวางเท้าจนเกิดความเครียดแล้วเจ็บเข่านั่นเอง นอกจากปัญหาเรื่องเฟรมจักรยาน การวางเท้าบนบันไดอีกปัญหาที่พบในหมู่นักจักรยานเมืองหนาวก็คืออากาศ วิธีป้องกันการเจ็บเข่าคือ สวมถุงขา เมื่ออากาศเย็นมาก ๆ สิ่งที่จะรับผลกระทบไปเต็ม ๆ ก็คือข้อกระดูก ทั้งขาและแขนจึงต้องมีเครื่องป้องกันไว้
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น