ss

20 ต.ค. 2553

ปั่นแล้วเหี่ยวจริงหรือ ?

ปั่นแล้วเหี่ยวจริงหรือ ?

          คนขี่จักรยานมักจะถูกคนที่ไม่ได้ขี่ถามเอาบ่อย ๆ ว่าปั่นมาก ๆ แล้วนกเขาไม่ขันจริงหรืเปล่า ? เรื่องที่เถียงกันไม่จบนี้เป็นประเด็นขึ้นมาอีกแล้วในหนังสือแทบลอยด์ของอังกฤษคือ “เดอะ ซัน” ที่ขึ้นหัวข่าวเสียใหญ่โตว่า “การปั่นจักรยานทางไกลจะส่งผลเสียต่อความสามารถในการสืบพันธ์” เท่านั้นยังไม่พอ ช่วงก่อนสตาร์ทของตูร์เดอฟร็องซ์ สื่อมวลชนอังกฤษยังเตือนพวกนักปั่นฝีเท้าฉมังเอาไว้ด้วยว่ามนุษย์ชาติกำลังปั่นจักรยานไปสู่จุดมุ่งหมายคือไร้ลูก
          เรื่องที่เดอะซันเสนอนี้มาจากเรื่องจริงในการวิจัยที่เสนอสู่ ยูโรเปี้ยน โซไซตี้ ออฟ ฮิวแมน รีโพรดัคชั่น แอนด์ เอมบรีโอโลจี (จะแปลว่าสมาคมการแพร่พันธุ์มนุษย์และตัวอ่อนแห่งยุโรปได้ไหมนี่) กระทำโดยศาสตราจารย์ไดอานา วามอนเด แห่งคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยคอร์โดบา ประเทศสเปน ถึงกระนั้นรายงานฉบับนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เจาะลึกถึงผลกระทบที่อานจักรยานมีผลต่อสเปิร์ม ย้อนกลับไปในปี 1997 นายแพทย์เออร์วิน โกลด์สไตน์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการไม่แข็งตัวของอวัยวะเพศแห่งมหาวิทยาลัยบอสตัน ได้เคยเผยแพร่ข้อมูลมาแล้วชิ้นหนึ่งทีเน้นเรื่องอาการเจ็บก้นเนื่องจากอานที่ทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางการสืบพันธุ์ เป็นการเสนอรายงานที่หนักแน่นที่สุดเกี่ยวกับผลกระทบสำคัญอันนี้และได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เกรียวกราว อีกครั้งหนึ่งในขณะนี้ที่นักจักรยานถูกเตือนว่าอานจักรยานนี้แหละที่จะทำให้สเปิร์มลดจำนวนลง แม้ว่ารายงานการทดลองจากมหาวิทยาลัยคอร์โดบาจะไม่ได้เน้นที่นักขี่จักรยานไกล แต่ก็มาจากตัวอย่างนักไตรกีฬาอาชีพจำนวน 15 คนที่ยอมมาเข้าร่วมโครงการทดสอบ ต้องยอมรับกันล่ะว่าพวกนักไตรกีฬาต้องขี่จักรยานมากพอสมควร แต่การเอานักกีฬาตัวอย่างมาทดสอบแค่ 15 คนแค่นี้กลุ่มมันจะไม่เล็กไปหน่อยหรือ ? แต่คนทำวิจัยเขาก็มีเหตุผลว่านักกีฬากลุ่มนี้ซ้อมกันอาทิตย์ละเก้าครั้งนานแปดปี จึงน่าเชื่อว่าเพราะซ้อมกันหนักหักโหมเกินไปหน่อยหรือเปล่าสเปิร์มจึงได้น้อย ไม่ได้เน้นหนักที่การขี่จักรยานอย่างเดียว
           นายแพทย์อัลแลน เพซีย์ อาจารย์อาวุโสในแผนกแอนโดรโลจี หรือศาสตร์ที่ว่าด้วยความเป็นเพศชาย (มีศาสตร์ทำนองนี้เรียนกันด้วยนะ ) แห่งมหาวิทยาลัยเซฟฟิลด์ อธิบายไว้ว่า “ไม่เพียงแต่กลุ่มตัวอย่างจะไม่ได้ประกอบขึ้นด้วยนักจักรยานล้วน ๆ แต่ยังเอาเรื่องอุณหภูมิที่สูงในกางเกงผ้าไลคราที่มีผลต่อลูกอัณฑะมาโยงเข้าหากันได้อีกเมื่อไม่ได้ศึกษากันด้วยนักกีฬาจักรยานล้วน ๆ ก็คงจะฟันธงลงไปไม่ได้หรอกว่าการขี่จักรยานแต่เพียงลำพังจะทำให้ด้อยความสามารถในการสืบพันธุ์”
           เมื่อพูดถึงรายละเอียดของการทดสอบนักไตรกีฬา ปรากฎว่าพอวัดประมาณสเปิร์มแล้วพบว่ามันเหลืออยู่แค่ 10 เปอร์เซ็นต์จากปริมาณน้ำเชื้อทั้งหมดโดยคนปกติจะมีอยู่ประมาณ 15-20 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นคณะของวามอนเดจึงเจาะลึกลงไปในตารางซ้อมเพื่อดูแต่เฉพาะพวกนักจักรยานที่ขี่กันไกล 300 ก.ม. ต่อสัปดาห์ ก็พบว่านักจักรยานเหล่านี้เหลือสเปิร์มน้อยลงคือเหลือแค่ 4 เปอร์เซ็นต์ ถึงทีมของวามอนเดจะไม่สามารถหาเหตุผลที่ทำให้สเปิร์มลดลงเหลือแค่นี้ได้แต่รายงานการวิจัยที่คาดเอาว่าน่าจะเกิดจากการระคายเคืองและกดทับของน้ำหนักตัวกับอาน หรือไม่ก็เป็นเพราะเสื้อผ้ารัดรูปที่ทำให้อุณหภูมิรอบอัณฑะสูงขึ้นอันจะทำให้กระทบกระเทือนต่อการผลิตสเปิร์ม กระนั้นคุณหมอวามอนเดยังคาดว่าน่าจะเป็นเพราะโมเลกุลเล็ก ๆ ที่เรียกว่ารีแอคทีฟ ออกซิเจน สเปซี อันเป็นโมเลกุลที่เกิดจากการออกกำลังกายหนัก ๆ จะมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ โดยโมเลกุลเหล่านี้จะทำหน้าที่ต่อต้านความเครียดที่ร่างกายพบระหว่างการออกกำลังหรือเล่นกีฬาประเภททนทาน อันจะเป็นอันตรายต่อเซลล์ต่าง ๆ และในที่สุดก็ส่งผลต่อการผลิตสเปิร์ม
          แต่คุณหมอเพซีย์บอกว่านักจักรยานไม่ต้องกังวลกับเรื่องนี้หรอก ซ้ำยังเตือนคนทำวิจัยเอาไว้ด้วยที่จะเสนอเรื่องจักรยานเกี่ยวกับสมรรถภาพทางการสืบพันธุ์ก็ต้องระมัดระวัง เพซีย์บอกว่า “ในทศวรรษที่ 20-40 นั้นการแข่งจักรยานยังธรรมดากว่านี้จนถึงทศวรรษที่ 60 เรื่องความเป็นห่วงต่อสมรรถภาพทางเพศของผู้ชายเริ่มมาปรากฏชัดเอาเมื่อยี่สิบปีนี้เอง” เพซีย์ ยังตั้งขอสังเกตด้วยว่าไม่น่าจะเป็นเพราะการขี่จักรยานหนัก ๆ อย่างเดียว เพราะตามรายละเอียดของตัวอย่างทั้ง 15 นั้นบ่งบอกว่าทุกคนเล่นกีฬาแบบค่อนข้างหักโหม และความเหนื่อยสายตัวแทบขาดนี้แหละที่เป็นผลต่อสเปิร์มหรือพูดกันตรง ๆ คือจะทำอะไรก็ตามถ้ามากไปไม่ค่อยได้หยุดพักสเปิร์มมันก็ลดได้ทั้งนั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะการขี่จักรยานหรือถูกอานกดทับอวัยวะสำคัญหรอก และที่สเปิร์มลดน้อยลงก็จ่าจะเป็นเพราะร่างกายดึงเลือดไปเลี้ยงแขนขามากกว่าจะส่งลงไปตรงอัณฑะ ซึ่งผลิตโดยตรง เพื่อให้นักกีฬาใช้อวัยวะส่วนนั้นไปในการวิ่งหรือปีนป่ายเอาตัวรอด พอความสนใจถูกดึงไปที่อื่นนอกจากตรงอวัยวะเพศแล้วสเปิร์มก็ลดลง ยิ่งพวกที่ขี่จักรยานกันอาทิตย์ละ 300 ก.ม. นี้คงไม่ต้องพูดถึงว่าลำพังขี่จักรยานก็เครียดและเหนื่อยจะตายอยู่แล้ว จะเอาเรี่ยวแรงที่ไหนไปสืบพันธุ์ได้อีก
           ทางด้านนายแพทย์เดวิด ราล์ฟผู้เชี่ยวชาญด้านระบบปัสสาวะแห่งมหาวิทยาลัยลอนดอด พูดถึงอาการกระแทกกระทั้นภายหลังจากขี่จักรยานวิบาก ที่อาจเป็นสาเหตุของความด้อยสมรรถภาพว่าสิ่งนี้ก็ไม่เกี่ยว คุณหมอราล์ฟบอกว่า “การขี่เมาเท่นไบค์อาจสร้างความสั่นสะเทือนให้อัณฑะได้ และน่าจะเป็นเรื่องน่าห่วงเพราะอาจนำไปสู่การกดทับเส้นประสาทและเส้นเลือด แต่มันก็ไม่ได้เกี่ยวกันกับความสามารถในการสืบพันธุ์ถึงงั้นนักจักรยานก็ควรหลีกเลี่ยงการขี่โลดโผน กระแทกระทั้นถ้าไม่อยากเจ็บตัว ก็เท่านั้นเอง”
           เพื่อความปลอดภัยคุณหมอราล์ฟแนะนำให้ใช้อานออกแบบมาพิเศษ ที่นุ่มและเข้ากับสรีระสำคัญ ทั้งยังย้ำว่านักจักรยานควรหลีกเลี่ยงการเบรกกะทันหันแต่กับความด้อยหรือเด่นเรื่องการสืบพันธุ์นั้นคุณหมอว่ากันไปคนละเรื่อง “ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสาเหตุหลัก ๆ ของการที่อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ก็คือการไม่ออกกำลังกายและไม่ยอมฝึกในด้านต่าง ๆ ที่จะทำให้หลอดเลือดแข็งแรง และมีแต่การขี่จักรยานนี้เท่านั้นที่จะช่วยเสริมสมรรถภาพ ผมไม่เห็นว่ามันจะทำให้เสื่อมที่ตรงไหน ยิ่งปั่นยิ่งเตะปิ๊บดังล่ะไม่ว่า “ คุณหมอราล์ฟกล่าว เขาไม่ใช่แค่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่กล้าบอกว่าการขี่จักรยานจะทำให้คึกคักขึ้นเท่านั้น แต่คณะนักวิจัยจากสถาบันโรคหัวใจลานซิซีแห่งอันโคนาประเทศอิตาลีก็พบเช่นกันว่าถ้าปั่นจักรยานกันอย่างเดียวในปริมาณพอเหมาะ มันจะทำให้หัวใจแข็งแรงและส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ดีด้วย ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียก็พบว่าบุคคลที่ออกกำลังกายแบบแอโรบิค บริหารหัวใจและหลอดเลือดอยู่เป็นประจำอยู่แล้วนี่แหละตัวดี เพราะพวกนี้จะมีเซ็กซ์ถี่ ขึ้นอีกสามสิบเปอร์เซ็นต์
           ถ้าการปั่นจักรยานไม่เกี่ยวกับการลดลงของสเปิร์ม สิ่งที่นักจักรยานต้องเลือกให้ดีก็คงเหลือแค่อานซึ่งต้องนั่งสบาย ไม่กดทับเส้นประสาทจนเกิดอาการชา ถ้าอยากขี่จักรยานให้สบายเอาแค่นั้นก็น่าจะพอ เพราะที่เหลือก็ถือว่าพวกเราเดินทางถูกทางกันอยู่แล้ว ปั่นกันต่อไปอย่าได้ย่อท้อ..

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความจักรยานที่เกี่ยวข้อง