เมื่อตอนที่แลนซ์ อาร์มสตรอง ประกาศว่าจะกลับมาแข่งจักรยานใหม่นั้นเขามีอายุใกล้ 38 ปีอยู่ไม่กี่เดือน แต่กลับคว้าชัยชนะได้ในรายการแข่งจักรยาน มาราธอนลีดวิลล์ ในสหรัฐฯ ถ้าจะบอกว่าอาร์ม สตรอง คือตัวอย่างแค่หนึ่งเดียวคงต้องคิดใหม่ เพราะในรายการแข่งขันครั้งนั้นปรากฎว่านักจักรยานที่ปั่นเร็วที่สุด 20 อันดับแรก มีนักปั่นแค่ 5 คนเท่านั้นที่อายุน้อยกว่า 30 และในจำนวนนั้นมีเพียงสี่คนที่อายุเกิน 40 ถัดมาในการแข่งตูร์เดอฟร็องซ์ที่เพิ่งผ่านไปนั้น แม้ว่าอาร์มสตรองจะอายุ 38 แล้วแต่ก็ยังฟิต จากสภาพที่เราเห็นตอนแข่งในสเตจต่าง ๆ นั้นบอกได้ชัดเลยว่าเขาครองแชมป์เป็นครั้งที่ 8 ได้ไม่ยากถ้าต้องการจริงๆ และเขาเกือบทำได้ด้วยการเข้ามาในตำแหน่งที่ 3 โอเวอร์ออล ตูร์เดอฟร็องซ์ครั้งต่อไปกับทีมเรดิโอแช็คนั้น ขอให้จับตาดูให้ดีว่าสิงห์เฒ่าผู้กลับมา จะสอนมวยเด็ก ๆ จอมผยองทั้งหลายได้หรือเปล่า
อีกตัวอย่างอันชัดเจนคือ คุณลุงนำชัยแห่งโปรไบค์ ผู้เป็นตำนานมีชีวิต ปัจจุบันนี้คุณลุงอายุเกิน 60 มาหลายปีแล้วแต่ไม่มีใครแซงลุงได้เวลาปั่นเสือหมอบขึ้นเขา การใช้ชีวิตอยู่กับจักรยานตลอดเวลาไม่ว่าจะขี่มันมาทำงานหรือออกรอบกับเพื่อน ๆ วันเสาร์อาทิตย์ทีละไกลๆ ทำให้ร่างกายของลุงนำชัยยังฟิตเปรี๊ยะอยู่เสมอ ร่างกายของลุงทั้งตัวจับตรงไหนก็ไม่พบไขมัน มีแต่กล้ามเนื้อล้วน ๆ แข่งกี่ครั้ง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรายการเล็กหรือใหญ่แค่ไหนลุงนำชัยถ้าไม่ชนะก็ติดท็อปเท็นตลอดฉายาว่า "เฒ่าเทอร์โบ" ที่เพื่อน ๆ ตั้งให้จึงไม่จำเป็นต้องอธิบายถึงความแข็งแกร่งของสิงห์เฒ่าผู้นี้
เรื่องราวของแลนซ์ อาร์มสตรอง และลุงนำชัยคือตัวอย่างไม่กี่ตัวอย่าง ที่บ่งบอกให้รู้ว่าร่างกายที่ออกกำลังอยู่เสมอนั้นสามารถคงสภาพความแข็งแกร่งไว้ได้นาน คริส คาร็ไมเคิลผู้เป็นทั้งเพื่อนสนิทและโค้ชของแลนซ์ อาร์มสตรอง แจกแจงรายละเอียดของวิธีทำตัวให้แข็งแกร่งอยู่ตลอดเวลาดังนี้
ความหลากหลายย่อมดีกว่าเอาดีทางเดียว :
นักจักรยานที่ปั่นมานานนั้นดูเหมีอนจะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือนอกจากปั่นจักรยานแล้วพวกเขายังเล่นกีฬาประเภทอื่น ๆ ด้วย บางคนเล่นไตรกีฬา บางคนวิ่งอย่างเดียวหรือเล่นเทนนิส และไม่ได้เล่นตามกระแสแต่เล่นทุกครั้งที่มีโอกาสด้วยความรัก เรื่องรายการแข่งขันลีดวิลล์ของอาร์มสตรอง คือตัวอย่างที่ดี เพราะอาร์มสตรองแข่งไตรกีฬามาตั้งแต่เด็กก่อนจะมาปั่นจักรยานเต็มเวลา เขาตีกอล์ฟด้วยเป็นงานอดิเรก ว่ายน้ำก็ว่าย ยกน้ำหนักด้วยเมื่อสภาพอากาศไม่อำนวยให้ปั่นจักรยานหรือเทรนเนอร์ พวกนักจักรยานเมาเท่นไบค์หลายคนที่เป็นนักวิ่งและปั่นจักรยานทางเรียบในวันธรรมดา ก่อนจะซ้อมกับเมาเท่นไบค์ในวันเสาร์ อาทิตย์ การเคลื่อนไหวอยู่เรื่อย ๆ ไม่ยอมนั่งอยู่เฉยคือการกระตุ้นระบบการทำงานของหัวใจและกล้ามเนื้อ เมื่ออวัยวะทำงานอยู่เสมอมันย่อมแข็งแรง ถ้าปล่อยให้อยู่นิ่ง ๆ ก็มีแต่จะเหี่ยวเฉาลีบเล็กลงเรื่อย ๆ
การนอนคือยาวิเศษ :
เมื่อตอนยังหนุ่มสาวอยู่เราต้องวิ่งวุ่นไปมาตลอดเวลา ทั้งเรื่องการงานและอื่น ๆ รวมไปถึงการออกกำลังเมื่อร่างกายยังแข็งแรงอยู่แต่เมื่ออายุมากขึ้นหน้าที่การงานเริ่มลงตัวทำให้เรามีเวลาออกกำลังมากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือการพักผ่อนเพื่อให้ร่างกายฟื้นสภาพและได้ซ่อมแซมส่วนสึกหรอ ใช่เลย...อายุมากขึ้นคุณควรต้องนอนมากขึ้น เพราะชั่วโมงที่เพิ่มขึ้นมาในการนอนนั้น สร้างความแตกต่างได้มาก โดยเฉพาะในความเร็วของการพื้นสภาพหลังการออกกำลัง และนักจักรยานที่อายุมากก็ยิ่งต้องนอนให้มากกว่าพวกอายุน้อย เพราะเมื่ออวัยวะเสื่อมสภาพก็ต้องใช้เวลาซ่อมแซมให้มาก การนอนดึกต่อเนื่องไม่ใช่อันตรายเฉพาะกับกล้ามเนื้อและหัวใจเท่านั้นยังอันตรายต่อสมองด้วย เมื่อมันจะทำให้คุณมึนตื้อคิดอะไรไม่ออกเมื่อตื่นขึ้นในตอนเช้า
ปั่นหนักในช่วงสั้น ๆ แล้วกลับบ้าน :
คริส คาร์ไมเคิลบอกว่าเมื่ออายุมากขึ้นคือตั้งแต่ 30 กลาง ๆ ถึง 60 ปี คุณต้องใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ หมายถึงว่าไม่ต้องใช้มากแต่ให้ใช้ให้คุ้ม เช่น หาเวลาปั่นให้ได้วันละหนึ่งชั่วโมงช่วงสั้นๆ แต่ในหนึ่งชั่วโมงนี้ต้องแบ่งให้ได้ว่าวอร์มอัพกี่นาที ปั่นอินเตอร์วัลและคูลดาวน์กี่นาที ก่อนจะครบชั่วโมง คาร์ไมเคิลบอกว่าถ้าอยากทราบรายละเอียดเขาได้บอกเอาไว้แล้วในหนังสือชื่อว่า The Time-crunch cyclist นอกจากนักจักรยานสูงอายุจะใช้คู่มือนี้อย่างได้ผลแล้วคนหนุ่มสาวที่หลงใหลการขี่จักรยานจะใช้มันเป็นประโยชน์ด้วย เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการกับเวลา ออกกำลังได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องเสี่ยงต่อปัญหาครอบครัวแตกแยกหรือตกงานเพราะมัวแต่ปั่น จักรยาน
การฟื้นสภาพที่ดีคือการซ้อมอยู่ตลอดเวลา :
เมื่อแก่ลง เรามักจะมองหาเครื่องมืออะไรสักอย่างไว้กระตุ้นกล้ามเนื้อ ถ้าคุณเป็นคนมีอายุแล้วเล่นกีฬาเทคโนโลยีการบีบรัด (compress1on technology) ก็น่าสนใจ ถ้าย้อนกลับไปดูดี ๆ จะพบว่าอาร์มสตรอง สวมถุงเท้าบีบรัดในหลาย ๆ สเตจของตูร์เดอฟร็องซ์ คริส คาร์ไมเคิล บอกว่าในช่วงฤดูหนาวเขายังแนะนำให้อาร์มสตรอง สวมรองเท้าบีบรัดแบบนูแมติคที่จะให้แรงบีบรัดตลอดช่วงที่ถูกมันปกคลุม และยังมีการวิจัยอีกหลายอย่างในเรื่องอุปกรณ์ช่วยพวกนี้ด้วยแนวความคิดว่าการบีบรัดจะช่วยให้การฟื้นสภาพเป็นไปได้ง่ายและเร็วขึ้น ด้วยการบีบให้เลือดและของเหลวที่จำเป็นไหลเวียนไปสู่กล้ามเนื้อที่อ่อนล้าเร็วยิ่งขึ้นคาร์ไมเคิล บอกว่านอกจากเทคโนโลยีคอมเพรสชั่นในปัจจุบันแล้ว ยังมีรองเท้าเพื่อเร่งการพื้นสภาพจำหน่ายด้วยในยี่ห้อ MBT ที่บ้านเราอาจจะยังไม่มีแต่มีขายแล้วในสหรัฐฯ โดยคริส คาร์ไมเคิล มีส่วนร่วมอย่างมากในการออกแบบและผลิต เขาบอกว่าเคยลองใส่แล้วคู่หนึ่งในปี 2008 พบว่ามันเวิร์คมาก พื้นรองเท้าที่โค้งเป็นแนวยาวตลอดตั้งแต่หัวรองเท้าถึงปลายส้น ช่วยให้คุณบริหารกล้ามเนื้อขาและสะโพกไปโดยไม่รู้ตัว ด้วยความพยายามจะยืนให้ตรงทรงตัวบนพื้นรองเท้าโค้งนั้นเอง การได้บริหารกล้ามเนึ้อสำคัญ ๆ อยู่ตลอดเวลานี้เองที่เปรียบเสมือนการซ้อมให้กล้ามเนื้อคุ้นเคยกับความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
ไม่จำเป็นต้องปั่นตามผู้นำเสมอไป :
ในการออกไปปั่นจักรยานกับเพื่อน เราเชื่อว่ามีหลายครั้งที่คุณตัดสินใจลำบากว่าจะเลือกขี่ตามนักจักรยานที่หนุ่มและแข็งแกร่ง หรือจะเลือกขี่ตามหลังพวก “เฒ่าเทอร์โบ" ดี คริสบอกว่าทางเลือกไม่ยากเลย ง่ายนิดเดียว ไม่ว่าคุณจะไม่อยากให้เกี่ยวกันล้มในหมู่นักปั่นหรือต้องการวางตัวเองให้อยู่ในตำแหน่งที่ดี ตามใครก็ได้ที่เขาปั่นด้วยความเร็วเท่ากับคุณ พยายามเกาะกลุ่มให้อยู่เสมอ ถ้ากลุ่มใหญ่เกาะไม่อยู่กลุ่มเล็กที่แตกออกมาก็คือทางเลือก หรือจะปั่นคนเดียวก็ยังได้ถ้าเป็นการขี่ทางไกลเพื่อความสนุกสนานและออกกำลังเฉย ๆ การมีอายุแล้วยังมาขี่จักรยานกับกลุ่มไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย มันจะน่าอายกว่าถ้าปล่อยตัวเองให้อ้วนพุงพลุ้ยอมโรคไม่ยอมออกกำลังเลยไม่ว่าจะแบบไหน
การซ้อมเปรียบเหมือนหยอดกระปุก :
การเล่นกีฬานั้นเหมือนกันทุกประเภท หลักของการซ้อมคือต้องทำซ้ำ ๆ เพื่อให้ระบบประสาทและกล้ามเนื้อจดจำความเคลื่อนไหว และปรับตัวให้เข้ากับกิจกรรมนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง ยิงปืน ว่ายน้ำ และที่เราเน้นกันคือการปั่นจักรยาน ถ้าคุณขี่จักรยานบ่อยๆ และติดต่อกันเป็นเวลานานไม่ว่าจะเป็นปีหรือหลาย ๆ ปี นั่นคือการทำให้กล้ามเนื้อ และระบบประสาทได้ปรับตัวกับการปั่น ถึงช่วงเวลาหนึ่งที่ไม่ได้ขี่จักรยานพอกลับมาขี่อีกทีร่างกายก็จะปรับตัวให้เข้าที่น้อยลงมากแลนซ์ อาร์มสตรองขีjจักรยาน วิ่งและว่ายน้ำมาตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นเขาหันเห มาขี่จักรยานเต็มเวลา และทำอย่างสม่ำเสมอเกือบทุกวันจนครองแชมป์ตูร์เดอฟร็องซ์ 7 สมัย ครั้นเขาหยุดแข่งไปสามปีและกลับมาในปีที่ 4 การปรับตัวให้คุ้นเคยกับความหนักหน่วงของการแข่งสเตจยาว ๆ ติดต่อกันเกือบเดือนจึงไม่ยาก เพราะกล้ามเนื้อและระบบประสาทคุ้นเคยดีอยู่แล้วกับการออกกำลังกายหนัก ๆ เช่นนี้ไม่ต้องปรับตัวกันมากเลยเพราะหลังจากลีดวิลล์และทัวร์ดาวน์อันเดอร์ อาร์มสตรอง ก็กลับสู่สนามตูร์เดอฟร็องซ์ด้วยความพร้อมถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยขี่จักรยานมาหลายปีแต่หยุดไปเป็นปี ๆ จนคิดว่าตัวเองแก่ มันไม่ยากหรอกที่จะกลับมาขี่อีกถ้าตั้งใจ ให้เวลาตัวเองได้ซ้อมจนกล้ามเนื้อกลับมา “จำ” ความเคลื่อนไหวเดิมได้อีก แล้วคุณก็จะพร้อมขี่กับกลุ่มเพื่อความสนุกสนานได้อีก หรือถ้าจะแข่งขันเลยก็แค่ซ้อมให้หนักกว่าเดิมอีกนิดหน่อย ฝีเท้าก็จะกลับมาจัดเหมือนเดิม ถึงไม่เหมือนเดิมก็ยังดีกว่าไม่ได้ซ้อมหรือปล่อยจักรยาน ให้เป็นที่อยู่ของหยากไย่ใยแมงมุม ถ้าใครจะเคยบอกว่า "ไม่มีใครแก่เกินเรียน” เราบอกคุณได้เหมือนกันว่า "ไม่มีใครหรอกที่จะแก่เกินขี่จักรยานให้สนุก”
จักรยาน เสือหมอบ เสือภูเขา เมาเท่นไบค์ BMX ดาว์นฮิลล์ >>
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น