ss

4 ก.ย. 2553

เสือหมอบ : เฟรมกับตัวต้องพอดี เพื่อปั่นไกล (เสือหมอบ)



ระหว่างขี่จักรยานแต่ละครั้งไม่ว่าไกลหรือใกล้ เคยนับตัวเลขบ้างหรือเปล่าทั้งจำนวนระยะทาง แคลอรี่ จำนวนรอบยางที่บนพื้น ไม่ว่าจะเป็นตัวเลยอะไรคงไม่ปฏิเสธ ว่าหากไม่ใช้เครื่องมือใด ๆ แล้วตัวเลขรอบขานั้นง่ายที่สุด ลองสมมุติดูว่าถ้าคุณขี่จักรยานนานหกชั่วโมงจึงแน่นอนละว่าต้องไกลถึง 160 ก.ม. คุณปั่น 90 รอบต่อนาทีสม่ำเสมอตลอดทาง ทั้งหมดนี้คุณจะทำตัวเลขได้ถึง 64,800 รอบ เห็นไหมว่ามันมากมหาศาลเมื่อคิดมาเป็นตัวเลข นั่นคือค่ารอบขาจากการขี่เพียงครึ่งชั่วโมง แต่ยังนับว่าน้อยนิดเมื่อเทียบกับที่คุณขี่ไกลตลอดฤดูกาล เอ็ด พาเวลกา นักจักรยานสหรัฐผู้เข้าแข่งในรายการแข่งข้ามประเทศ RAAM (Race Across America) บอกว่ามันเป็นตัวเลขน้อยมาก เพราะในฤดูกาลที่เขาปั่นหนัก ๆ เล่นกันทีละไกล ๆ นั้นจำนวนรอบขารวมได้ 13,340,000 ครั้ง


อาจมีใครบอกได้เช่นกันว่า “ปั่นมาก ๆ อย่างนี้ไม่กลัวบาดเจ็บบางหรือ ?” ถ้าปั่นหนักขนาดนี้แล้วต้องเจ็บ พวกนักจักรยานทางไกลน่าจะมีโอกาสเสี่ยงสูงสุด โดยเฉพาะถ้าไม่ขี่ให้ถูกวิธี หรือจะพูดให้ละเอียดลงไปอีกคือ ถ้าขี่ด้วยท่าทางไม่เหมาะสม ด้วยเกียร์ผิด ใช้เฟรมผิดขนาดและอื่น ๆ อีกหลายข้อที่ไม่ถูกต้องกับสรีระ ถ้าคุณกำลังคิดอะไรอยู่ เราบอกได้เลยว่าต้องคิดว่าคนกับจักรยานต้องเข้ากันได้พอดี ทั้งคนและจักรยานต้องไปด้วยกันได้เหมือนเสื้อผ้าสั่งตัด จักรยานต้องกลายเป็นแขนขาของคุณแบบ “สั่งได้” ตลอดการเดินทาง ยิ่งคุณขี่ไกลขี่มากเท่าใดยิ่งต้องให้ตัวเองและจักรยานเป็นหนึ่งเดียวกันได้มากเท่านั้น ต้องเป็นจักรยานที่ขี่สบายด้วย ในระยะไกลนั้นอะไร ๆ ย่อมเกิดขึ้นได้ เช่นถ้าคุณไม่เปลี่ยนท่าทางการขี่เลยตลอดเส้น ผลตามมานั้นสามารถเป็นไปได้ตั้งแต่ปวดคอไล่ไปจนถึงเอว ,สะโพก


ในเมื่อจักรยานมีสองประเภทหลัก ๆ ที่ใช้ขี่ทางไกล คือจักรยานถนนหรือเสือหมอบกับเมาเท่าไบค์ เราจะมาดูกันทีละประเภทว่าต้องวางท่าทางอย่างไรถึงจะขี่ได้ไกล สบายตัวตลอดระยะทาง

เสือหมอบ


เมื่อพูดถึงท่าทางการขี่แล้ว นับว่าโชคดีของเราที่มันไม่ยากหากจะวางท่าทางให้ดี แต่จะทำให้ดีได้พอสำหรับการขี่ไกล อาจต้องใช้เวลาเพื่อลองผิดลองถูก อย่างแรกคือต้องได้จักรยานเฟรมถูกขนาดเสียก่อน คำว่า “ถูกขนาด” นี้กล่าวรวมได้ถึงอุปกรณ์ประกอบเฟรมด้วย คือทั้งขาบันได หลักอานและคอแฮนด์ (Stem) ได้เฟรมจักรยานที่เข้ากับสรีระของตัวคุณก็ถือว่าสบายตัวไปมากกว่าครึ่ง อุปกรณ์ราคาแพงที่สุดก็คือเฟรมนี้แหละ ซื้อผิดขนาดแล้วคงเปลี่ยนใหม่ไม่ได้ แต่คอแฮนด์ หลักอาน และอุปกรณ์อื่น ๆ น่าจะพอพูดกันได้เพราะราคาไม่หนักเหมือนเฟรม


เมื่อเฟรมถูกขนาดแล้วไม่นานท่าทางการขี่ของคุณก็จะถูกต้องไปเอง การขี่และการซอยเท้าจะกลมกลืน แต่กว่าจะถึงตอนนั้นคุณคงตัดสินใจซื้อจักรยานใหม่ทั้งคันหรือเฉพาะเฟรม หรือเปลี่ยนรองเท้าขี่จักรยานและอื่น ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อตัวเองและจักรยาน ที่ต้องพูดเช่นนี้เพราะปัจจัยที่ทำให้ขี่สบายไม่ได้เกิดกับเฟรมและอุปกรณ์ประกอบเฟรมอย่างเดียว รองเท้าขี่จักรยานก็มีส่วน ถ้ามันคับหรือหลวมเกินก็จะทำให้เจ็บเท้าหรือปวดเมื่อย ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงช่วงขา หัวเข่า สะโพก ลามถึงกล้ามเนื้อหลังตอนล่าง พูดไปแล้วการปรับจักรยานให้เข้ากับตัวนั้นง่ายกว่าปรับตัวเองให้เข้ากับจักรยาน ใครที่ไม่ให้ความสำคัญกับการวัดขนาดตัวและเฟรมจักรยานหรือ ไบค์ ฟิตติ้ง เมื่อขี่ไกลก็จะพบทั้งความเจ็บปวดและบาดเจ็บโดยตัวเองไม่ทราบสาเหตุ เฟรมจักรยานที่ดีจึงต้องเป็นเฟรมที่ “พอดี” เท่านั้น การเลือกขี่เฟรมขนาดใหญ่หรือเล็กกว่าและไม่เข้ากับขนาดตัวจึงเป็นความคิดที่ผิด 100 % ใครที่ชอบไปตอบในเว็บบอร์ดจักรยานว่า “ต้องขี่คร่อมไซส์” หรือต้องขี่เฟรมที่ใหญ่หรือเล็กกว่าตัวนั้น เราขอบอกว่าคุณกำลังใช้ความเขลาของตัวเองยัดเยียดความคิดผิด ๆ ให้คนอื่น เป็นการทำลายความสนุกสนานเพลิดเพลินจากการขี่จักรยานโดยไม่รู้ตัว เมื่อได้เฟรมถูกขนาดแล้วต่อไปนี้จะเป็นการวางท่าทางที่ถูก ไล่ตั้งแต่มือและแขนไปจนถึงเท้า


1. แขน : ต้องให้ข้อศอกงอตลอดเวลาเพื่อดูดซับแรงกระแทก ต้องผ่อนคลายโดยเฉพาะเมื่อขี่ทับอุปสรรคที่ทำให้จักรยานกระดอน พยายามให้แขนแนบลำตัวเพื่อให้ลู่ลม การไม่ต้านลมช่วยคุณให้ประหยัดพลังงานได้


2. ลำตัวและไหล่ : สิ่งที่มือใหม่หลายคนไม่รู้คือการโยกตัวไปมานั้นทำให้เสียพลังงานโดยใช่เหตุ จะให้พลังงานต้องสิ้นเปลืองไปเพราะโยกตัวทำไม ทำไมไม่เก็บเอาไว้ปั่นไกล ๆ ล่ะ จะขี่จักรยานให้ถูกท่ารักษาพลังงานไว้ใช้นาน ๆ ลำตัวต้องนิ่งปล่อยให้เคลื่อนที่เฉพาะช่วงสะโพกลงไปเท่านั้น จะลุกยืนโยกบ้างเป็นครั้งคราวก็ได้เมื่อรู้สึกเมื่อยเอวและหลัง ช่วยบรรเทาอาการเจ็บก้นได้ด้วย


3. ศรีษะและคอ : หลีกเลี่ยงการก้ม ตรงนี้เป็นกันมากสำหรับพวกเสือหมอบเวลาเหนื่อยมักจะก้ม ผลเสียคือจะมองไม่เห็นทาง และเชื่อหรือไม่ว่าถ้าขี่ไกล ๆ อาจไม่ถึงกับชนเสาไฟฟ้าตาย เหมือนรถยนต์แต่ก็เจ็บตัวล่ะ จะไม่ให้ศีรษะตกก็ต้องขยันเปลี่ยนท่าทางจับด้านล่างสุดของแฮนด์แล้ว ก็เปลี่ยนมาจับเบรกหรือด้านบนสุดบ้างเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ แต่ที่สำคัญคืออย่างปล่อยให้ก้ม


4. มือ : เมื่อวางมือลงบนแฮนด์ น้ำหนักตัวจะกดลงตรงฝ่ามือทำให้เลือดไม่เดินหรือเดินได้ลำบากในส่วนนั้น การกำแฮนด์แน่นไม่ได้ให้ผลดีอะไรนอกจากสิ้นเปลืองพลังงานโดยเปล่าประโยชน์เมื่อเสือหมอบมีแฮนด์ให้วางมือได้หลายตำแหน่งคุณจึงควรเปลี่ยนท่าทางให้บ่อยเพื่อให้เลือดเดินไปเลี้ยงมือได้สะดวก มือที่ชาจะทำให้ขี่จักรยานได้ยาก ไม่รู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างเปลี่ยนเกียร์และจะทำให้เครียดลามถึงลำแขนและไหล่ แฮนด์ต้องกว้างเท่ากับไหล่เพื่อสะดวกต่อการหายใจ


5. ความสูงของคอแฮนด์ : คอแฮนด์ที่ความสูงเหมาะสมสำหรับเสือหมอบ ต้องอยู่ต่ำกว่าอานประมาณ 1 นิ้ว ใครจะให้แฮนด์ต่ำกว่านั้นก็ได้ถ้าคิดว่ามันจะช่วยให้ลู่ลมขึ้น แต่มาตรฐานคือ 1 นิ้ว ต่ำมากกว่านี้คงต้องถามกระดูกสันหลังคุณว่าจะทนหมอบได้นานแค่ไหน สูงเกินกว่านี้อาจต้านลมเกินจนดูไม่เหมือนกำลังขี่เสือหมอบอยู่


6. ลำตัว : เมื่อขี่เสือหมอบโดยจับหัวเบรกและข้อศอก งอเล็กน้อย หลังคุณควรโน้มไปข้างหน้าด้วยมุมประมาณ 45 องศา เมื่อจับล่างสุดของแฮนด์หลังต้องวางตัวขนานพื้นโดยยังขี่ได้ด้วยสะโพกวางตำแหน่งปกติ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ให้กังวล นักจักรยานบางคนหลังงอแต่บอกว่าขี่สบายก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับสรีระของแต่ละคน ตราบใดที่คออานสูงได้ขนาดกับช่วงขาและคอแฮนด์ยาวได้ขนาดกับท่อบนและลำตัวคุณ


7. มุมกระดกของอาน : นี่คือปัจจัยสำคัญที่ละเลยไม่ได้ เพราะมันรับน้ำหนักตัวคุณโดยตรง อานที่ดีขี่สบายคือหลังอานต้องขนาดกับพื้น เมื่อปรับความสูงของอานได้ที่แล้วต่อมาคือมุมกระดกของอานซึ่งต้องไม่กดทับเป้ากางเกงจนอวัยวะสำคัญของคุณชา วิธีเปรียบเทียบดูว่าอานขนานกับพื้นหรือไม่ ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการเทียบมุมกับขอบหน้าต่าง หรือจะให้ละเอียดกว่านั้นก็ด้วยระดับฟองน้ำของช่างก่อสร้าง เพียงวางบนอานก็จะทราบระดับ


8. เท้า : นอกจากรองเท้าที่สวมสบาย การวางเท้าบนบันไดเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม วิธีที่ดีที่สุดในการติดคลีตคือ ย่ำน้ำพอเปียกแล้วยืน คนเท้าปกติรอยเท้าจะแบะออกเล็กน้อยและเมื่อว่าเท้าบนบันได้คลิปเลสก็ต้องคงสภาพเดียวกัน เป็นสภาพธรรมชาติที่จะช่วยให้คุณขี่ได้ไกล ไม่ฝืน ไม่บาดเจ็บ ลามถึงหัวเข่าและสะโพก


นี่คือหลักการในการปรับแต่ง อุปกรณ์และท่าทางการปั่น เพื่อให้การปั่นไกลเกิน 100 ก.ม.ของคุณไม่มีปัญหาบาดเจ็บ หรือหมดสนุกไปเสียก่อน หวังว่านี่จะเป็นสาระดี ๆ ให้คุณ ๆ กันไม่มากก็น้อยครับ ...

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความจักรยานที่เกี่ยวข้อง