ss

31 ม.ค. 2555

ชุดเกียร์ Sram XO 2012

|0 ความคิดเห็น
ชุดเกียร์ Sram XO 2012

Sram ถือกำเนิดขึ้นจาก สก็อตต์, รีย์ และแซม ปี 1987 ที่ชิคาโก, อิลลินอยน์ สหรัฐอเมริกา ชุดเกียร์ Sram เป็นที่รู้จักและสร้างชื่อเสียงในปี 1991 โดยกล้าที่จะต่าง เปิดตัวชุดเกียร์ที่เรียกกันว่า Grip Shift ซึ่งมีหน้าตาคล้าย ๆ กับคันเร่งมอเตอร์ไซค์ ด้วยการบิดข้อมือ ขึ้นลงเบา ๆ อัตราทด 1:1 ตีนผี จะตอบสนองได้รวมเร็วทันใจ เป็นที่ฮือฮาว่านี่แหละคือสิ่งที่ใช่ และเป็นการใช้งานร่วมกับเมาเท่นไบค์ได้อย่างสมเหตุสมผล โดยเฉพาะทีมแข่งในยุคปี 1997 อย่างทีม Sunn-Nike ทีม Volvo-Cannondale มั่นใจเลือกชุดเกียร์ Sram ลงแข่งขันสนาม UCI Mountain bike World cup ทำให้ภาพลักษณ์ Sram กับรถ Cannondale โดยมี คาเดล อีแวนส์ ไล่ล่าคว้าแชมป์ระหว่างการแข่งขัน ทุกจังหวะสับเกียร์นั้นช่างเร้าใจกองเชียร์

ชุดเกียร์ Sram XO 2012
Sram XO 2012

ระบบ Twister ของ Sram ยังคงมีแค่ 9 เกียร์ ทำให้ระบบ Trigger เข้ามาแทนที่ แต่ยังคงอัตราส่วน 1:1 ไว้เหมือนเดิม สามารถตอบสนองความรวดเร็วทันใจเพียงแค่ใช้นิ้วโป้ง กดขึ้นลง ว่ากันว่าระบบนี้เวิร์ค เนื่องจากนิ้วที่เหลืออีก 4 นิ้วกำแฮนด์ได้ถนัดมือ ทำให้การบังคับรถระหว่าเปลี่ยนเกียร์ ขึ้นเนินลงเนินมีประสิทธิภาพดีกกว่า นอกจาก Sram จะมุ่งมั่นทำชุดขับเคลื่อนให้ขึ้นลงได้รวดเร็วและแม่นยำ หัวใจสำคัญที่ไม่เคยละเลยก็คือ เรื่องน้ำหนัก ต้องเบากว่าคู่แข่ง หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องไม่เป็นรอง เมื่อมองดูความจริงแล้ว บางชิ้นส่วนอาจจะไม่เบากว่าคู่แข่งไปทั้งหมด เรามาวิเคราะห์เจาะลึกกันดูหน่อยครับว่า ปี 2012 Sram XO ปล่อยหมัดเด็ดอะไรออกมา

Fly your colors คอนเซ็ปต์ปีนี้ มีสีให้เลือก 2 สี คือสีดำ กับสีเงิน แต่ดูเหมือนการเปิดตัวเจ้า XO จัดว่าเป็นชุดขับเคลื่อนระดับรองท็อปของ Sram ประกอบไปด้วย มือเกียร์ ตีนผี ชุดจาน สับจาน เฟือง ดิสเบรก โซ่ คือรุ่น 1091 R เชนไกค์


29 ม.ค. 2555

จักรยาน TREK Madone 6.9 ssl

|0 ความคิดเห็น
จักรยาน TREK Madone 6.9 ssl

Trek แลนซ์อาร์สตรอง ชื่อนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก เขาเป็นเจ้าของแชมป์การแข่งขัน Tour de Fance ติดต่อกัน 7 สมัย โดยเขาได้ใช้จักรยานจากแบรนด์ Trek นี้เอง Trek ได้เป็นสปอนเซอร์ให้กับ  Team Leopard-Trek และ Team Radio Shack ลงสู้ศึก Tour de France 2011 ที่ผ่านพ้นไปโดยจักรยานที่ใช้คือ Trek madone 6.9 ssl ซึ่งเป็นตัวท็อปสุดของสายการผลิต

จุดเด่นของ Madone 6.9 ssl คือการออกแบบในด้านของสมรรถนะ ที่ให้ความสมดุลของน้ำหนัก ความแกร่งของตัวเฟรม ท่านั่งที่ให้ความสบายในขณะปั่น และการบังคับควบคุมจักรยานโดยตัวเฟรมใช้เทคโนโลยี OCLV2 คือระบบการบีบอัดคาร์บอนที่มีคุณภาพสูงกว่า OCLV Stepjoint ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของ Trek กะโหลกแบบ BB90 ตะเกียบรุ่นใหม่ที่โคนซางของตะเกียบเป็นทรงรี สามารถซับแรงจากพื้นถนนโดยไม่เสียการบังคับควบคุม เซนเซอร์รับสัญญานความเร็วและรอบขา แบบ Duo Trap ที่ติดมากับเฟรมโดยไม่ทำให้ความแข็งแกร่งของโครงสร้างด้อยลง

ที่น่าสนใจคือ Duo Trap sensor ตัวนี้สามารถใช้งานเข้าได้กับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ที่ใช้เทคโนโลยี ANT+wireless technology ต่อด้วยเทคโนโลยี E3 ที่ช่วยรับแรงสะเทือนจากตะเกียบหน้าได้ดี นอกจากนี้ยังสามารถเลือกเฟรมได้ 3 แบบด้วยกันคือ

     1. Pro Fit คือแบบที่ผู้ปั่นมีความยืดหยุ่นช่วงสะโพก หรือกระดูกสันหลังที่ดีเพื่อต้องการตำแหน่งที่ลู่ลม
     2. Performance Fit องศาเดียวกับ Pro Fit แต่ปรับท่อคอให้สูงขึ้น 30 mm เพื่อให้เหมาะกับนักจักรยานที่มีความยืดหยุ่นในการเคลื่อนไหวของข้อสะโพกและแนวแกนกระดูกสันหลังน้อยกว่า
     3. WSD Fit ถูกออกแบบมาสำหรับสุภาพสตรีโดยเฉพาะ แต่ยังคงบังคับรถได้เหมือนกับองศาของ Pro Fit

จักรยาน Specialized Venge

|0 ความคิดเห็น

Specialized เป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากแบรนด์หนึ่งในบ้านเรา จาก SL3 ที่เคยเป็นรุ่นสูงสุดของค่ายนี้ ปัจจุบันมีการขยับจากที่มีรุ่นสูงสุดเพียงตัวเดียว Specialized ได้แตกออกเป็น 2 สาย เน้นความเฉพาะทางมากขึ้น เพื่อให้การนำไปใช้งานได้รับสมรรถนะอย่างเต็มเปี่ยม ด้วยการแยกออกเป็น 2 รุ่น 2 ประเภท เน้นผลที่ต่างกัน ทางขึ้นเขายกให้ SL4 ส่วนทางราบเน้นความเร็วเป็นของ Venge ซึ่งออกสู่ท้องตลาดแล้ว  ด้วยรูปทรงที่แตกต่างออกไปจาก SL3 อย่างสิ้นเชิง Venge ได้รับอิทธิพลมาจากจักรยานไทม์ไทรอัลอย่าง Shiv มีรูปทรงที่ลู่ลมอย่างเห็นได้ชัด ด้วยท่อที่แบนลง ซ่อนสายเข้าในตัวถัง

Venge ถูกนำไปลงแข่งในรายการ Tour de France ครั้งล่าสุด ผ่านการทดสอบจากสนามแล้วก็พร้อมลุยตลาดทันที่ นับว่ามาไวจริง ๆ สำหรับนักปั่นที่ต้องการอินเทรนด์ถึงแม้ลวดลายจะไม่เหมือนกับคันที่ Mark Cavendish ทีม HTC-Highroad ใช้แต่ตัวเฟรมไม่ได้มีอะไรที่ต่างกันแม้แต่น้อย มีการทำสีมาแบบไม่ทั่วทั้งคัน โชว์เนื้องานคาร์บอน ทำให้ช่วยลดน้ำหนักลงไปได้อีกเล็กน้อย เฟรมเปล่ามีน้ำหนักน้อยกว่า  950 กรัม จัดว่าเป็นเฟรมที่เบาเอาเรื่องเลยทีเดียว ทางตัวแทนจำหน่ายในบ้านเราได้นำเข้ามาเป็นแบบเฟรมเซ็ต มี 3 ขนาดคือ 49,52,54 มี 2 สี คือ carbon/red และ white/red

27 ม.ค. 2555

จะเลือกใช้ล้อคาร์บอน เสือหมอบอย่างไรดี ?

|0 ความคิดเห็น

คำถามชวนปวดหัวเริ่มต้นขึ้นใช่มั้ยละครับ เมื่อคุณคิดจะเปลี่ยนล้อเสือหมอบเดิม ๆ ที่ติดรถมาให้ดีขึ้น บ้างก็หาข้อมูลในเว็บไซต์ทั้งไทยและเทศ บ้างก็ไปถามเพื่อน ๆ ในกลุ่มว่า เราจะเลือกใช้ล้อสูงเท่าไรดี ซี่ลวดอะไรดี ดุมอะไรดี รายละเอียดมันดูเยอะไปหมดใช่มั้ยครับ

ผมขออธิบายเป็นข้อ ๆ เพื่อใช้ในการเลือกล้อเสือหมอบสำหรับท่านก็แล้วกันครับ

เลือกขอบล้อ ขอบยางฮาล์ฟ (Tubular) หรือยางงัด (Clincher)

ล้อขอบยางฮาล์ฟ (Tubular)

ข้อได้เปรียบ
ประสิทธิภาพการขี่ที่สูงสุด เพราะน้ำหนักเบาอัดลมได้สูงกว่าขอบยางงัด  เวลาเบรกลงเขาต่อเนื่องนาน ๆ ยางจะไม่ร้อนเนื่องจากขอกันยางแบกออกจากกันจึงปลอดภัยเรื่องยางระเบิดเพราะความร้อนได้ยางฮาล์ฟจึงเหมาะแก่การใช้ในการแข่งขันหรือท่านที่ต้องการความเร็วสูงและความเบาของน้ำหนักรถเพื่อการปืนเขา
ข้อเสียเปรียบ
การเปลี่ยนยางเมื่อยางแตกกลางทางลำบากกว่ายางงัด หากผู้ขี่ไม่มีประสบการณ์ในการเปลี่ยน และยางมีราคาสูง ยางบางยี่ห้อปะไม่ได บางยี่ห้อปะได้ แต่อาจจะยุ่งยากในการปะ ถ้าแตกแผลใหญ่ ไม่สามารถใช้น้ำยะปะได้ ก็ต้องเปลี่ยนทั้งเส้น เส้นละประมาณ 1,000-3,000 บาท ในปัจจุบันมีน้ำยาปะยางฮาล์ฟ หยอดเข้าไปเมื่อยางแตกสามารถใช้อุดรูรั่วเล็ก ๆ ได้ เพื่อความสะดวกได้มากทีเดียว

ล้อขอบยางงัด (Clincher)

ข้อได้เปรียบ
ใช้สะดวกไปได้ทุกที่ เปลี่ยนยางในกลางทางได้ง่าย ถ้ายางแตกก็เปลี่ยนยางในเส้นละ 100 กว่าบาท ใคร ๆ ก็เปลี่ยนได้งบประมารไม่สูง
ข้อเสียเปรียบ
น้ำหนักมากกว่าล้อขอบฮาล์ฟพอสมควร อัดลมได้น้อยกว่าทำให้แรงต้านผิวถนนมีมากกว่า ที่สำคัญเวลาลงเขาต้องเบรกต่อเนื่องนาน ๆ ขอบจะร้อน ทำให้ยางร้อนตามไปด้วย

เลือกขอบล้อสูงเท่าไรดี
ความสูงของขอบล้อมีผลเชิงฟิสิกส์ในหลาย ๆ ปัจจัย แต่ผมจะขออธิบายเป็นภาษาพื้นบ้านให้พี่ ๆ น้อง ๆ เข้าใจกันได้ง่ายขึ้นครับ
ยิ่งขอบสูงยิ่งทำความเร็วสูงได้ดีเพราะมีมวลอยู่ใกล้จุดการหมุนทำให้ขอบล้อหมุนไปได้เร็วขึ้นและมากขึ้นและอากาศที่ผ่านเมาในล้อก็น้อยขึ้นแต่ก็ต้องแลกด้วยน้ำหนักล้อที่มกขึ้นด้วยเช่นกัน
ดังนั้นขอบยิ่งสูงก็เหมาะสำหรับการใช้ในทางราบ ทำความเร็วต่อเนื่องได้ดีและขอบยิ่งต่ำก็ยิ่งเบาเหมาะกับการใช้ในทางเนินหรือขึ้นเขาที่เน้นเรื่องความเบามากกว่า ดังนั้นขอบกลาง ๆ ที่สูง 50-60 มม.จึงได้รับความนิยมในการขี่ทั่ว ๆ ไปมากที่สุดครับ

เลือกซี่ลวดแบบไหนดี
น้ำหนักของผู้ขี่มีผลในการเลือกซี่ลวดอย่างมากครับ เพราะซี่ลวดแต่ละแบบมีความหนาความทนทานแรงกระทำไม่เท่ากัน ดังนั้นคนที่น้ำหนักมากก็ควรจะใช้ซี่ที่มีขนาดหนา แข็งแรง และจำนวนซี่ที่ใช้มากกว่า ซึ่งจุดนี้คนน้ำหนักตัวไม่มากจะได้เปรียบในการเลือกซี่ที่หลากหลายกว่าการขี่รถประเภทเสือหมอบที่ต้องการความเร็ว ผมแนะนำให้ใช้ซี่แบนหรือซี่แอโร่เพื่อการตัดอากาศที่ดีกว่าซี่กลมที่ใช้ในเสือภูเขาทั่วไปและซี่แบนสามารถตั้งซี่ได้มั่นคงกว่าเมื่อขี่ไปแล้วไม่จำเป็น ต้องตั้งซี่บ่อยเท่ากับซี่ประเภทกลมครับ

แล้วการเลือกดุมละ

ดุมมีหลายยี่ห้อจากหลายผู้ผลิตให้เลือกขึ้นอยู่กับงบประมาณของคุณครับ ซึ่งส่วนใหญ่จะน้ำหนักยิ่งเบายิ่งแพง และอีกปัจจัยคือเป็นแบริ่งหรือลูกปืนเซรามิคก็จะยิ่งแพงครับ

สรุป คิดว่าบทความสั้น ๆ นี้คงเป็นประโยชน์แก่นักขี่ที่กำลังเลือกล้อคาร์บอนไม่มากก็น้อยครับ 

ตีนผี ข้าสั้น ขายาว ต่างกันอย่างไร

|1 ความคิดเห็น

Shimano ทำตีนผีขาสั้นยาวแตกต่างกัน 3 รหัสคือ

1.        SS ซึ่งจะสั้นที่สุด และใช้กับเสือหมอบที่มีจานหน้า 2 จานเท่านั้น
2.        GS สำหรับเสือหมอบจะเป็นตีนผีขายาวซึ่งจะใช้กับจานหน้า 3 จาน (52-42-30) แต่ถ้าเป็นของเสือภูเขาจะถูกเรียกเป็นตีนผีขาสั้น
3.        SGS เป็นตีนผีที่ขายาวที่สุด
ก่อนที่จะพูดเรื่องความแตกต่างของขาสั้น ขายาวนั้น สิ่งหนึ่งที่อยากจะเน้นก็คือ อย่าเพิ่งละเลยเรื่องพื้นฐาน มาดูตารางแสดงคุณสมบัติของตีนผีรุ่นต่าง ๆ กันก่อนดีกว่าครับ

ตีนผีทุก ๆ รุ่นจะมีสปริงอยู่ด้วยกัน 3 ชุด

   1. B-tension spring หรือสปริงที่อยู่ใน Hanger bracket หรือที่ที่เราขันยึดตัวตีนผีเข้ากับ drop out สปริงตัวนี้จะทำหน้าที่ดึงให้ hanger bracket ถอยไปด้านหลังตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เฟืองจ็อคกี้กระแทกกับชุดเฟืองท้าย โดยเฉพาะช่วงที่ใช้เฟืองท้ายใบใหญ่ที่สุด

  2.  Parallelogram link spring จะอยู่ระหว่าง inner link และ outer link ของขาบน
-   สำหรับตีนผีธรรมดา สปริงตัวนี้ทำหน้าที่ดึงให้ขาของตีนผีขยับกลับออกไปด้านนอก โดยจะเกี่ยวจาก link pin ตัวหลังของ outer plate ไปยัง link pin ตัวหน้าของ inner plate พูดง่าย ๆ คือเป็นตัวถึงให้ตีนผีขยับเพื่อเปลี่ยนเกียร์จากเฟืองใหญ่ลงมายังเฟืองเล็ก
-    ส่วนในตีนผี reverse หรือ Rapid rise สปริงตัวนี้จะเกี่ยวจาก link pin ตัวหลังของ inner plate ไปยัง link pin ตัวหน้าของ outer plate สปริงตัวนี้จึงทำหน้าดึงในทิศทางตรงกันข้ามแบบปกติ คือ จะดึงให้ขาของตีนผีขยับเข้าด้านในแทน หรือเป็นตัวดึงให้ตีนผีขยับเพื่อเปลี่ยนเกียร์จากเฟืองเล็กขึ้นไปยังเฟืองใหญ่

3.   สปริงใน pulley cage bracket สปริงตัวนี้จะทำหน้าที่ดึงให้ขาล่างหรือ pulley cage งอเข้าหาขาบนตลอดเวลา โดยสปริงตัวนี้จะทำหน้าที่ร่วมกับ B-tension spring ในการดึงให้โซ่ตึงตลอดเวลา ที่ต้องกล่าวให้เข้าใจแบบนี้ก่อนเพราะว่าจะได้หลับตานึกภาพการทำงานไปด้วยกันได้ไงครับ

24 ม.ค. 2555

จักรยานเสือหมอบ MERIDA REACTO 907 COM

|0 ความคิดเห็น
 MERIDA REACTO 907 COM

ถ้าเอ่ยถึงจักรยาน Merida คงคุ้นเคยกันดีกับจักรยานประเภทเสือภูเขา เพราะเป็นจักรยานที่ได้รับความนิยมในบ้านเรามานาน ยิ่งเมื่อปี 2010 Jos Antonio Hermida Ramos จากทีม MULTIVAN MERIDA BIKING TEAM คว้าแชมป์รายการ UCI WORLD CHAMP ทำให้แบรนด์นี้ถูกจับตามองมากยิ่งขึ้น แต่เรากลับไม่ค่อยได้เห็นจักรยานประเภทถนนของค่ายนี้อาจเป็นเพราะไม่ได้ลงแข่งในรายการใหญ่ที่ทุกคนสนใจ ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า MERIDA ไม่สนใจจักรยานประเภทนี้ MERIDA ยังมีการพัฒนาจักรยานประเภทนถนนอยู่อย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัสดุที่ถูกนำมาใช้ รูปทรงของรถที่พัฒนาเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของนักปั่น  มาปีนี้กระแสการแยกรถออกมาตามประเภทเส้นทาง สำหรับ Scultura EVO Target six เป็นแนวทางภูเขา ส่วนแนวทางราบก็เป็น REACTO ที่มีอยู่ 3 รุ่น ย่อยต่างกันที่อะไหล่และอุปกรณ์ที่ประกอบมา

สำหรับรุ่นที่ทางตัวแทนจำหน่ายในบ้านเรานำเข้ามาเป็นตัวน้องสุดของรุ่นคือ REACTO 907 COM  2012 ถึงจะใช่รุ่นสูงสุดแต่ก็ใช้เทคโนโลยีเดียวกัน ตัวเฟรมขึ้นรูปชิ้นเดียวไร้รอยต่อ หางหลังสั้น ท่อนบนแบบขนานเห็นแล้วได้อารมณ์จริง ๆ สำหรับราคานั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด ต้องลองสอบถามกับทางผู้นำเข้าดูอีกที 

21 ม.ค. 2555

อนาคตของจักรยานเสือภูเขา 29 นิ้ว (29er)

|0 ความคิดเห็น
สวัสดีครับวันนี้จะมานำเสนออุปกรณ์แปลก ๆ ใหม่ ๆ ในแบบตรงไปตรงมา วิเคราะห์เจาะลึก ให้ผู้อ่านได้รับความรู้และความเพลิดเพลิน ไปพร้อม ๆ กับการตัดสินใจเลือกใช้อุปกรณ์ให้กับจักรยานอันเป็นที่รักของท่านได้อย่างคุ้มค่าที่สุดกันอีกครั้ง
จักรยานเสือภูเขา 29 นิ้ว
10 ปีที่แล้ว 29er (ทเวนตี้ไนเออร์)  ถือกำเนิดจากชายผู้เปรียบเสมือนบิดาของวงการจักรยานเสือภูเขา 10 ปีที่การพัฒนามาถึงจุดที่เรียกว่าดีที่สุดและ 10 ปีที่กระแสการตอบรับจากผู้ผลิตชั้นนำทั่วโลก ต่างเร่งพัฒนารถและผลิตภัณฑ์ของตนให้ขึ้มาเป็นจ้าวของ 29er ให้ได้ หลายคนยังคงสงสัยและตั้งคำถามว่ารถที่ใช้ล้อ 29 นิ้ว จะวิ่งดีกว่ารถที่ใช้ 26 นิ้ว จริงเหรอ หากเป็นเมื่อปี 2002-2004 ซึ่งเป็นยุคการเปิดตัวรถแบบ 29er มีเพียงรถค่าย Gary Fisher เท่านั้นที่ผลิตออกมาสู่ตลาด หลายทฤษฎีที่ นายแกรี่ ฟิสเชอร์ ได้พิสูจน์และทำให้ทั่วโลกเชื่อว่า วงล้อขนาด 29 นิ้ว ของเค้ามีดีกว่า 26 นิ้ว เรามาดูพร้อม ๆ กันครับว่าทฤษีหรือแนวคิดที่ว่า 29 นิ้วมีประสิทธิภาพดีกว่า 26 นิ้ว จะเป็นจริงหรือไม่

วงล้อ 26 นิ้วมีขนาด 559 มม. ส่วนวงล้อ 29 นิ้วมีขนาด 622 มม. เท่ากับวงล้อขนาด 700C ของเสือหมอบ ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นของแถม สามารถนำยางขนาด 700x25C , 700x28C หรือ 700x38C มาแต่งเป็นรถเสือภูเขาทางเรียบได้ ในยุคเริ่มต้นหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาของวงล้อขนาด 29 นิ้ว ได้วอย่างน่าสนใจ ซึ่งผมแยกประเด็นหลักที่น่าจะโดนใจผู้อ่าน มาวิเคราะห์เจาะลึกให้ได้รับทราบกันครับ

ความแข็งแรงของรถและขนาดวงล้อ 29 นิ้ว ขนาดล้อหลังที่โตขึ้น ย่อมมีเส้นผ่าศูนย์ใหญ่ขึ้น ประเด็นที่ถูกหยิบมาถกเถียงก็คือ เมื่อล้อหลังใหญ่ขึ้นตะเกียบโซ่ก็ต้องยาวตาม มีผลโดยตรงกับการให้ตัวมากเกินไปของตะเกียบโซ่ โยงใยไปหากะโหลกซึ่งอาจไม่มั่นคง ไหนจะต้องลดความยาวของท่อหน้าให้สั้นลง เนื่องจากล้อหน้าโตขึ้น เลยทำให้บริเวณด้านหน้าของเฟรมขนาดความแข็งแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การควบคุมรถ การเลี้ยวและควบคุมจักรยาน ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ระยะห่างระหว่างกะโหลกและแกนดุมล้อหน้า ในกรณีล้อ 29 นิ้วระยะห่างแกนล้อหน้าและกะโหลกยาวขึ้นเพื่อไม่ให้ล้อเกยกับท่อล่างของเฟรม มีผลทำให้การบังคับเลี้ยงค่อนข้างจะอืดและไม่คล่องตัว

ตำแหน่งการนั่ง นักปั่นจะรู้สึกแปลก ๆ ในตำแหน่งท่านั่งว่าอยู่ห่างจากแกนกลางของล้อหลังมากไปหรือเปล่า ท่าหนักใจปลายรองเท้าอาจไปถูกกับล้อหน้า เวลาเลี้ยวหักศอกในเส้นทางซิงเกิ้ลแทรคทั้ง 3 หัวข้อเป็นทฤษฎี ที่นักวิจารณ์ในยุคนั้นสรุปว่า เจ้าล้อโตเหมาะกับเฟรมขนาดใหญ่และคนตัวโตเท่านั้น ไม่เหมากับคนตัวเล็กเด็ดขาด แต่ แกรี่ ฟิสเชอร์ ไม่หยุดที่จะพัฒนารถและอธิบายให้เห็นขัดถึงข้อดีของงล้อขนาด 29 นิ้วว่า จริง ๆ แล้วมันไม่ได้มีผลเสียอย่างที่นักวิจารณ์ในยุคนั้นกล่าวอ้างเลย คนตัวเล็กสูงแค่ 160 ซม. กว่า ๆ ก็ขี่ได้

จักรยานเสือภูเขา 29 นิ้ว
ยุติข้อกล่าวหา มุ่งหน้าพัฒนา กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

ทฤษฎีของแกรี่ ฟิสเชอร์ได้ผ่านการทดลองและวิจัยอย่างละเอียด ทฤษฎีที่ทำให้โลกต้องตะลึงก็คือ วงล้อขนาด 29 นิ้วสามารถไปได้เร็วกว่าวงล้อ 26 นิ้ว ทั้งที่ออกแรงเท่ากัน ตัวอย่างเช่น ในระยะทาง 40 กม. ถ้าวงล้อ 29 นิ้ววิ่งเร็วกว่า 3% ก็หมายความว่า วงล้อขนาด 29 นิ้วจะไปถึงเส้นชัยก่อนเพราะประหยัดเส้นทางไป 1.2 กิโลเมตรเลยทีเดียว

แค่ทฤษฎีแรกก็ทำให้หลายสื่อเริ่มหันกลับมาวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ว่ามีมากน้อยเพียงใด ทฤษฎีที่สอง สาม สี่ตามมาว่าด้วยเจ้าล้อโตนอกจากไปได้เร็วกว่าแล้ว มันยังสามารถผ่านพ้นอุปสรรค อย่างเช่น ก้อนหิน รากไม้ หลุม บ่อ ทราย โคลน ได้ดีกว่าอีกด้วย แค่นั้นยังไม่พอ ยุคโบราณที่เคยบอกว่า ล้อขนาด 29 นิ้วเลี้ยวได้อืดไม่คล่องตัว น่ากลัวจะผิดหมดเสียแล้ว สัดส่วนทางเรขาคณิตของล้อขนาด 29 นิ้ว ถูกพัฒนาให้ออฟเซทของช็อคอัพหน้าที่ 51 มม.ปัญหาเรื่องเลี้ยวให้มุมแคบ ไม่รู้สึกแตกต่างจากล้อ 26 นิ้วแต่อย่างใดเลย อีกทั้งตำแหน่งการนั่งในรถ 29 นิ้ว จะมีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำลง เมื่อคำนวณจากแกนดุมล้อหน้า ผลที่ได้ก็คือ การควบคุมรถที่ดีขึ้นรวมถึงการยึดเกาะถนนและเข้าโค้งดีอีกด้วย

จักรยานเสือภูเขา 29 นิ้ว
ทฤษฎีไหนก็ไม่สำคัญอีกต่อไป

เพราะปัจจุบัน กลไกทางการตลาดทุกแขนงมุ่งหน้าพัฒนารถจักรยาน 29er ตามแบบที่แกรี่ ฟิสเชอร์ได้วางรากฐานไว้ให้ หลายค่ายยักษ์ใหญ่ เช่น Trek , Specialized , Giant , Cannondale ฯลฯ หรือจะพูดได้เต็มปากก็ได้ครับว่า พ.ศ. นี้ แบรนด์ไหนที่ยังไม่ผลิตรถจักรยานขนาด 29er คงจะลำบากแน่ เนื่องจากผู้ผลิตช๊อคอัพขั้นนำ ผู้ผลิตล้อชั้นเลิศและผู้ผลิตยางระดับแนวน้า ต่างพูดว่า 29er คืออนาคตของวงการเสือภูเขา สำหรับรูปร่างอย่างคนเอเชียเรา ๆ มีโอกาสจะปั่นรถจักรยานเสือภูเขาในแบบ 29er ได้บ้างไหม คำตอบอยู่ที่นักปั่นสาวชาวแคนาดาเอมิลี แบตตี ที่สูงแค่ 159 ซม.  แต่เธอก็สามารถพาเจ้าล้อโต คว้าแชมป์ได้หลายต่อหลายรายการเลยทีเดียว วงการล้อ 29er ในสนามแข่งขันระดับ World cup ว่าที่แชมป์ประจำปีนี้อย่าง ยาโรสลาฟ คูลาฮ์วี ก็ใช้เจ้า 29er ด้วยเหมือนกัน เจ้าล้อโตมาไกลเกินว่าจะถอยหลังและจะก้าวต่อไปถึงแม้ว่าจะเป็นเก้าที่มีสองอยู่ข้างหน้าเสมอ เป้าหมายสำคัญนี้รอการพิสูจน์จากนักปั่นจักรยานเสือภูเขาทุก ๆ คนอยู่แล้ว

จักรยาน KUOTA KOM EVO

|0 ความคิดเห็น
จักรยาน KUOTA KOM EVO

ก่อนอื่นขอเล่าประวัติบริษัทนี้เล็กน้อย ซินทีม่า สปอร์ต เป็นบริษัทแม่ ที่ทำอุปกรณ์เกี่ยวกับคาร์บอนไฟเบอร์ให้รถในอิตาลีมานาน ถึงวันที่ต้องมียี่ห้อของตัวเองสักที จึงเกิดรถ Kuota ขึ้น ควอต้า คือคำอ่านของรถจักรยานยี่ห้อนี้ ภาษาจริงเป็นภาษาอิตาลี สะกดด้วยตัว Quota แปลว่ายอดสูงสุดของภูเขา หรือในเวปของ ควอต้าเอง แปลว่า บินสูง รถยี่ห้อนี้ เดิมเอาดีทางไตรกีฬาด้วยรถจักรยาน  Kalibur คนขี่ได้แชมป์โลกไตรกีฬาไป จึงทำให้รถมีชื่อเสียงอย่างรวดเร็ว

จากที่เคยถูกนำเข้ามาจำหน่ายในบ้านเราอยู่ระยะหนึ่งแล้วก็เงียบไป มาวันนี้ทางบริษัท อมร ไบซิเคิล จำกัด ได้นำเข้ามาจำหน่ายอีกครั้ง ด้วยชื่อเสียงและผลงานที่มีอยู่ในระดับแกรนด์ทัวร์ คงไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไรมากถึงสรรพคุณของแบรนด์นี้ เพราะที่จริงแล้วเป็นแบรนด์ที่ได้รับความสนใจจากนักปั่นจักรยานมานาน ดูได้จากการที่หลายคนนำเฟรม OEM ที่มีรูปทรงคล้ายกันมาทำสีทำลวดลายจนเกือบแยกไม่ออก

ตอนนี้แฟน ๆ คงไม่ต้องทำอย่างนั้นอีกแล้ว เพราะตัวจริงมาแล้วด้วยราคาที่จับต้องได้ไม่ยาก มากันหลายรุ่นในรุ่น KOM EVO ซึ่งเป็นรุ่นสูงสุดนั้นมาเป็นแบบเฟรมเซ็ตมีทั้งแบบ Di2 และแบบร้อยสาย นอกจากนี้ยังมีอีก 2 รุ่น ที่มาแบบประกอบสำเร็จนี้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าจับตามองไม่แพ้แบรนด์ใด

ขี่จักรยานคนเดียวอย่างไร ให้เวิร์กและปลอดภัย

|0 ความคิดเห็น
สำหรับนักจักรยานผู้ไม่ได้มุ่งหวังการพิชิตชัยจากสนามแข่ง ต้องการเพียงแค่ความแข็งแรงของระบบหลอดเลือด ไม่ชอบเข้ากลุ่มเพราะไม่อยากรีบไปให้กับเวลานัด หรืออยากจะทำอะไรเร็ว โดยไม่ต้องรอีให้กลุ่มครบจนออกตัวช้า แดดร้อนเผาผิวเกรียม ถ้าคุณมีวินัยพอและควบคุมตัวเองได้ การขี่จักรยานคนเดียวก็สร้างประโยชน์ได้ไม่แพ้การขี่เป็นกลุ่ม

จักรยานเสือภูเขา
อย่างแรกเลยคือคุณได้วัดความสามารถของตัวเองกับลมปะทะ ไม่สามารถซุกกลุ่มได้ เปรียบเสมือนกับการปั่นแบบหนีเดี่ยวในเปโลต็องเสือหมอบแข่งขัน ยิ่งคงความเร็วในช่วงนั้นได้นานก็ยิ่งแกร่ง เมื่อเข้ากลุ่มจริง ๆ ก็สามารถออมแรงไว้ได้มากกว่าพวกที่ไม่เคยขี่เดี่ยว เอาแต่ซุกกลุ่มอยู่ร่ำไป ข้อดีอย่างที่สองคือ คุณสามารถซ้อมแบบอินเตอร์วัล คือขี่ด้วยความเร็ว, รอบขาสูงสุด สลับกับการขี่แบบผ่อนคลายเพื่อฟื้นสภาพเป็นระยะ คุณทำอินเตอร์วัลได้อย่างเป็นอิสระ ไม่ต้องรอหรือต้องปั่นหนีใครเมื่อเหนื่อยก็หยุดได้โดยไม่ต้องให้ใครมารออีก

แต่ทุกสิ่งในโลกย่อมต้องมีทั้งข้อดีและข้อเสีย นั่นคือแม้ว่าจะไม่เสี่ยงต่อการเกี่ยวกันล้มเพราะขี่กลุ่มใหญ่ แต่ความเสี่ยงจากอุบัติเหตุและโรคประจำตัวสูงเท่ากัน ที่พบบ่อย ๆ ก็คือพอขี่มานาน ๆ แล้วจอดก็เกิดอาการวูบ รู้สึกตัวอีกทีมีแต่คนมุงดู หน้าตาถลอกปอกเปิก เนื่องจากหยุดขี่กะทันหันแล้วเลือดไหลคืนไปเลี้ยงสมองไม่ทัน การขี่คนเดียวจึงไม่มีใครช่วยนอกจากชาวบ้านหรือคนเดินถนนในแถบนั้น โชคดีก็ได้รับความช่วยเหลือ โชคร้ายก็ถูกลอกคราบชิงจักรยาน ยังไม่นับที่ถูกรถยนต์เฉี่ยวชน

ดังนั้น ถ้าคุณเป็นเป็นอีกคนหนึ่งที่ชอบขี่จักรยานคนเดียว สิ่งที่คุณต้องระวังให้จงหนักก็คือโรคภัยไข้เจ็บ ต้องรู้ขีดจำกัดของตัวเอง ยิ่งถ้าเพิ่งเริ่มขี่แล้วมีโรคประจำตัว เช่นหอบหืด ควรจะวนอยู่ในระแวกใกล้ ๆ บ้าน พกบัตรเครดิต เอทีเอ็มหรือบัตรประชาชนเอาไว้พร้อมกับเงินติดตัวจำนวนหนึ่ง และพกโทรศัพท์เคลื่อนที่ ใช้โทรขอความช่วยเหลือจากคนรู้จักในกรณีมีอุบัติเหตุหรือล้มป่วยกลางทาง

แต่ก็ใช่ว่าท่านที่เรี่ยวแรงดีไม่มีโรคภัยจะปลอดภัย แม้จะแข็งแรง แต่หากขาดความระวังก็อาจมีอาการวูบตรงสี่แยกไฟแดงได้ พวกที่วูบหลังจากปั่นหนัก ๆ มาแล้วนั้นต่างไม่มีใครเป็นโรคอะไรเลยสักคน เพียงแต่การหยุดขี่กะทันหันจะส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดสู่สมองเท่านั้น การเลือกเส้นทางที่ดีจะยิ่งสำคัญมากเมื่อคุณขี่คนเดียว เพราะมันเกี่ยวกับชีวิตและทรัพย์สิน เส้นทางเปลี่ยวไร้ผู้คนอาจอันตรายหากไม่ตระเวนดูด้วยรถยนต์เสียก่อน อันเป็นสิ่งควรกระทำเมื่อเอาจักรยานติดไปขี่ด้วยในการท่องเที่ยวต่างเมือง และพักที่รีสอร์ท

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา การขี่คนเดียวจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนการแปรงฟัน อย่างน้อย ๆ คุณต้องคำนึงถึงความสามารถของตัวเอง และอุปกรณ์ช่วยเหลือได้ในยามขับคันเช่น บัตรประชาชน เอทีเอ็ม โทรศัพท์เคลื่อนที่ และการเลือกเส้นทาง ผู้ไม่ประมาทและเตรียมพร้อมจะมีโอกาสประสบกับอุบัติเหตุน้อยกว่าคนที่ไม่ได้เตรียมตัว

20 ม.ค. 2555

การยืดกล้ามเนื้อของนักจักรยานขาแรง ตอนที่ 1

|0 ความคิดเห็น
มนุษย์เกิดมาพร้อมกับการเคลื่อนไหวและการจืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นคุณสมบัติที่ติดตัวมาแต่กำเนิดตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์มารดา ถ้าเราสังเกตให้ดีจะพบว่าในเด็ก ๆทารกมักมีการยืดและบิดตัวไปมาอยู่เป็นประจำ แม้แต่ตัวเอาเองก็เช่นกัน เราก็เคยยืดเหยียดกล้ามเนื้อด้วยกันทั้งนั้น แต่มักมาในรูปของการบิดขี้เกียจกันมากกว่า โดยเฉพาะในหน้าหนาวมักทำกันเกือบทุกคน บางคนเวลาบิดขี้เกียจก็ออกเสียงคราง ว่ากันไปตามชอบ แต่หลังจากทำอาการดังกล่าวแล้วคุณจะรู้สึกสบาย เพราะมันจะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของร่างกายตามธรรมชาติได้เป็นอย่างดี

ผู้เขียนกำลังพูดถึงการยืดเหยียดกล้ามเนื้อของนักจักรยานขาแรง (ขาไม่แรงก็ยึดได้นะครับ) ในสมัยก่อนการยืดเหยียดกล้ามเนื้อจะรวมอยู่กับการอบอุ่นร่างกาย (Warm-up : การอบอุ่นร่างกายเป็นวิธีการกระตุ้นให้ร่างกายมีการปรับระบบทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรองรับการเคลื่อนไหวหรือการทำงานที่หนักหรือมากกว่าปกติ ซึ่งจะมีผลทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นโดยประมาณ 1-2 องศาเซลเซียสจากอุณหภูมิปกติของร่างกาย มีผลช่วยให้การรับรู้สั่งงานของระบบประสาทกล้ามเนื้อและปฏิกิริยาตอบสนองการเคลื่อนไหวของร่างกายเร็วขึ้น ทำให้นักกีฬาสามารถควบคุมร่างกายและสามารถปฏิบัติทักษะการเคลื่อนไหวได้ดียิ่งขึ้น) แต่ในปัจจุบันการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นส่วนที่แยกออกมาทำโดยเฉพาะตามลักษณะและชนิดของกีฬาแต่ละประเภท การยืดเหยียดกล้ามเนื้อทำต่อจากการอบอุ่นร่างกาย เพราะการยืดเหยียดกล้ามเนื้อไม่ใช่การอบอุ่นร่างกาย แต่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญขั้นตอนหนึ่งของการอบอุ่นร่างกาย ที่ช่วยสนับสนุนการอบอุ่นร่างกายให้มีประสิทธิภาพและเกิดความพร้อมมากยิ่งขึ้น ขอให้นักปั่นขาแรงจำไว้เสมอว่า “การยืดกล้ามเนื้อจะได้ผลดี ควรทำในขณะที่กล้ามเนื้อมีอุณหภูมิสูงขึ้นอุ่นขึ้นเท่านั้น และไม่นิยมทำการยืดกล้ามเนื้อในขณะที่กล้ามเนื้อเย็นเพราะเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ”

ในขณะที่การยืดเหยียดกล้ามเนื้อจะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ส่วนการอบอุ่นร่างกายจะมีจังหวะการเคลื่อนไหวที่เร็วกว่า แต่ทั้งสองอย่างมีจุดประสงค์เดียวกันคือ ต้องการทำให้ร่างกายเกิดความพร้อมมากที่สุด เพื่อการใช้งานในกิจกรรมกีฬาที่คุณรักได้อย่างเหมาะสมกับการฝึกหรือการแข่งขันที่รออยู่

การยืดเหยียดกล้ามเนื้อก็เหมือนกับการอุ่นเครื่องยนต์กลไก เราต้องค่อย ๆ ทำ ใช่ว่าอยู่ดี ๆ (ขณะกล้ามเนื้อเย็น) ก็มาเร่งความเร็วปรี๊ดปร๊าดเครื่องก็พังกันเท่านั้น ร่างกายคนเราก็เหมือนกัน ถ้านักปั่นขาแรงเล่นบทโหดอย่างที่ว่า ไม่ช้าก็พังบาดเจ็บ แต่ก็มีนักปั่นอีกหลาย ๆ คนยังเข้าใจผิดคิดว่าถ้ายืดเหยียดกล้ามเนื้อมาก ๆ แล้วจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงเอาง่าย ๆ เดี๋ยวไม่มีแรงปั่นจักรยาน ซึ่งในความเป็นจริงเรื่องตรงกันข้ามเพราะยิ่งคุณสามารถยืดเหยียดกล้ามเนื้อได้มากเท่าใด ย่อมเป็นผลดีต่อกล้ามเนื้อและตัวคุณเองมากเท่านั้น โดยเฉพาะในเรื่องของการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วกว่าคนอื่น ๆ ข้อต่อ เอ็นและระบบต่าง ๆ ได้ถูกพัฒนาให้มีความพร้อมมากกว่านักปั่นคนอื่น ๆ

ฉะนั้นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักปั่นขาแรงทุกคนและกีฬาอื่น ๆ ก็เช่นกัน เพราะการยืดเหยียดกล้ามเนื้อจะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทางร่างกาย (กล้ามเนื้อ,เอ็น,ข้อต่อ) ทางสมองและอารมณ์ ที่ต้องทำงานหนักมาตลอดทั้งวัน หรือเล่นกีฬาหนักมาตลอด การยืดเหยียดกล้ามเนื้อช่วยป้องกันและลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและส่งเสริมพิสัยในการเคลื่อนที่ของข้อต่อให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

ใครควรยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
นักปั่นจักรยานทุกคนสามารถเรียนรู้การยืดเหยียดกล้ามเนื้อได้โดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงอายุหรือความอ่อนตัวของร่างกาย และไม่จำเป็นว่าคุณต้องมีสมรรถภาพทางกายอยู่ในระดับสูง หรือต้องเป็นนักกีฬาจักรยานเท่านั้น ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ไม่ว่าคุณจะประกอบกิจกรรมอะไร เช่น นั่งอยู่บนโต๊ะทำงานทั้งวัน ขับรถหรือออกกำลังกาย เทคนิคการยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่ใช้ก็ใช้แบบเดียวกัน วิธีการคือทำอย่างเบา ๆ และง่าย ๆ เป็นไปตามความแตกต่างของกล้ามเนื้อและความอ่อนตัวในแต่ละบุคคล ดังนั้นทุกคนที่มีสุขภาพดี ไม่มีปัญหาร่างกายเฉพาะส่วน สามารถยืดเหยียดกล้ามเนื้อได้อย่าปลอดภัยและสนุนกสนานครับ

จะยืดกล้ามเนื้อเมื่อไร
เมื่อนักปั่นขาแรงเกิดความพึงพอใจแล้ว คุณสามารถยืดเหยียดกล้ามเนื้อได้ทุกเวลา เช่นในขณะปั่นจักรยาน ขณะกำลังเดินบนถนน นั่งบนรถประจำทาง ทำงาน นั่งเล่น ก่อนและหลังการปั่นจักรยานหรือเวลาใดก็ตามที่ท่านสามารถทำได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
-ตอนเช้าหลังตื่นนอนก่อนเริ่มวันใหม่
-ขณะทำงานเพื่อผ่อนคลายความเครียด
-เมื่อรู้สึกเจ็บปวดขณะเคลื่อนไหว
-ในเวลาว่าง เช่น ขณะนั่งดูโทรทัศน์ ฟังดนตรี อ่านหนังสือหรือสนทนา

ยืดเหยียดกล้ามเนื้อทำไม
การยืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เพราะมันช่วยผ่อนคลายด้านจิตใจและปรับส่วนต่าง ๆ ของร่างกายการยืดเหยียดกล้ามเนื้ออยู่เสมอจะมีผลดีต่อสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้
-ลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อและทำให้ร่างกายผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น
-ช่วยให้การประสานงานการเคลื่อนไหวของร่างกายทำได้สะดวกและคล่องตัวยิ่งขึ้น
-ช่วยเพิ่มระยะการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและข้อต่อในร่างกาย
-ป้องกันการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อจากการยืดของเอ็นข้อต่อหรือกล้ามเนื้อที่มากกว่าปกติ
-ช่วยในการทำกิจกรรมหนัก ๆ ได้ดียิ่งขึ้นเช่น การวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน สามารถทำได้สะดวก คล่องตัวและรวดเร็วยิ่งขึ้น
-ช่วยกระตุ้นระบบประสาทรับรู้และสั่งงานการเคลื่อนไหวให้มีการตอบสนองได้รวดเร็วขึ้น
-ช่วยพัฒนาระบบประสาทกล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายสามารถรับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ดีขึ้น
-ช่วยให้จิตใจมีสมาธิในการที่ควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในการเคลื่อนไหว
-ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต
-ทำให้รู้สึกผ่อนคลายสดชื่นและสบายตัว

จะยืดกล้ามเนื้ออย่างไร
การยืดกล้ามเนื้อเป็นกิจกรรมที่ง่ายต่อการเรียนรู้ แต่ก็มีทั้งวิธีที่ถูกและวีที่ผิด วิธีที่ถูกต้องคือต้องผ่อนคลาย ขณะทำการยืดกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายด้วยความเอาใจใส่ ส่วนวิธีที่ผิดเราจะพบว่าคนส่วนใหญ่หรือนักกีฬาบางคนนิยมทำคือการกระแทกขึ้นลงขณะยืดกล้ามเนื้อกับส่วนที่รู้สึกเจ็บปวด การปฏิบัติเช่นนี้เป็นอันตรายมากกว่าผลดี

ถ้าคุณเป็นนักจักรยานที่ยืดกล้ามเนื้อเป็นประจำและทำอย่างถูกต้อง จะรู้สึกว่าการเคลื่อนไหวนั้น ๆ ง่ายมาก การที่จะลดความตึงของกล้ามเนื้อและกลุ่มกล้ามเนื้อต้องใช้เวลา แต่เวลาจะผ่านไปอย่างรวดเร็วเมื่อคุณเริ่มเกิดความรู้สึกที่ดี เพื่อความเข้าใจที่ตางกันนักปั่นขาแรงควรจะปฏิบัติการยืดเหยียดกล้ามเนื้อดังนี้
1.        การปฏิบัติครั้งแรกควรกระทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ช้า ๆ และนุ่มนวล จนกระทั่งมีความรู้สึกตึงที่บริเวณกล้ามเนื้อส่วนที่ทำการยืดเหยียด โดยหยุดนิ่งค้างไว้ ณ ตำแหน่งที่มีอากาตึงกล้ามเนื้อประมาณ 10-30 วินาที จากนั้นจึงผ่อนคลายกลับสู่ท่าเริ่มต้น
2.        การปฏิบัติในครั้งที่สองควรเพิ่มระยะการยืดเหยียดกล้ามเนื้อมากขึ้นกว่าในครั้งแรก จนกระทั่งรู้สึกได้รับความตึงของกล้ามเนื้อที่เพิ่มมากขึ้นกว่าครั้งแรก ซึ่งอาจจะมีอาการเจ็บปวดเล็กน้อยเกิดขึ้นที่บริเวณกล้ามเนื้อและเอ็นกล้ามเนื้อส่วนที่ได้รับการยืดเหยียด หยุดนิ่งค้างไว้ ณ ตำแหน่งที่มีอาการตึงประมาณ 10-30 วินาที จากนั้นจึงผ่อนคลายกล้ามเนื้อกลับสู่ท่าเริ่มต้น
3.        การปฏิบัติในครั้งที่สามและสี่พยายามเพิ่มระยะของการเคลื่อนไหว หรือพยายามยืดเหยียดกล้ามเนื้อให้มากยิ่งขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมา และหยุดนิ่งค้างไว้ ณ ตำแหน่งที่มีอาการตึงหรือเจ็บปวดเล็กน้อยประมาณ 10-30 วินาที จากนั้นจึงค่อยผ่อนคลายกล้ามเนื้อกลับสู่ท่าเริ่มต้น
4.        ไม่ควรทำการเคลื่อนไหวร่างกายในส่วนที่ทำการยืดเหยียดกล้ามเนื้อในลักษณะของการกระตุก กระชากหรือเคลื่อนไหวร่างกายเร็ว ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาการบาดเจ็บ หรือการฉีกขาดที่เอ็นกล้ามเนื้อ ในส่วนที่ทำการยืดเหยียดได้
5.        ควรทำการยืดเหยียดกล้ามเนื้ออย่างน้อย 2-3 ครั้ง อย่างมาก 4-6 ครั้ง
6.        ควรเริ่มด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อมัดใหญ่ไปสู่กล้ามเนื้อมัดเล็ก
7.        ควรยืดกล้ามเนื้อแต่ละมัดหรือทีละส่วนไม่ควรยืดกล้ามเนื้อหลายส่วนในเวลาเดียวกัน
8.        ควรผ่อนคลายกล้ามเนื้อส่วนที่กำลังทำการยืดเหยียด
9.        ควรยืดเหยียดกล้ามเนื้อจนกระทั่งถึงตำแหน่งที่มีอาการตึงหรือเจ็บปวดเล็กน้อย
10.   ควรหยุดนิ่งค้างไว้ประมาณ 10-30 วินาที ณ ตำแหน่งที่มีอาการตึงและเจ็บปวดเล็กน้อย
11.   ควรเน้นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อในส่วนที่มีอาการตึงเครียดให้มาก เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อแต่ต้องไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดตามมาในภายหลังเมื่อเสร็จสิ้นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
12.   พยายามยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่สำคัญและจำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติกิจกรรมการเคลื่อนไหวหรือจำเป็นที่ต้องใช้ในกีฬาประเภทนั้น ๆ ด้วยการพยายามยืดเหยียดให้เต็มระยะการเคลื่อนไหวของข้อต่อ
13.   ไม่ควรกลั้นลมหายใจในขณะทำการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
14.   ควรหายใจเข้าและหายใจออกอย่างช้า ๆ ในขณะทำกายืดเหยียดกล้ามเนื้อ ซึ่งจะช่วยให้การผ่อนคลายทำได้ดียิ่งขึ้น
15.   ควรทำการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นประจำสม่ำเสมอทุกวันหรืออย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์

การยืดกล้ามเนื้อแบบง่าย ๆ
นักปั่นขาแรงควรเริ่มยืดเหยียดกล้ามเนื้อแบบค่อยเป็นค่อยไป ใช้เวลาประมาณ 10-30 วินาทีกับค่อย ๆ ยืดกล้ามเนื้อแบบง่าย ๆ ไว้ ให้ยืดจนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อส่วนที่ถูกยืดตึงพอสมควรและควรผ่อนคลายความตึงของกล้ามเนื้อ ขณะผ่อนคลายค่อย ๆ เบาลง ถ้าไม่เกิดอาการดังกล่าวให้อยู่ในท่าสบายและหาระดับที่เกิดความตึงที่ต้องการการยืดกล้ามเนื้อแบบง่าย ๆ ช่วยลดความตึงของกล้ามเนื้อและทำให้เนื้อเยื่อพร้อมที่จะทำท่ายืดกล้ามเนื้อในขั้นที่หนักขึ้นได้ต่อไป


การยืดกล้ามเนื้อให้นักขึ้น
หลังจากยืดกล้ามเนื้อแบบง่าย ๆ แล้ว ควรทำกายืดกล้ามเนื้อในขั้นที่สูงขึ้น การปฏิบัติก็เช่นเดียวกันคือ ไม่มีการกระแทกขึ้นลง เคลื่อนไหวร่างกายยืดไกลออกประมาณ 1 นิ้ว จนกระทั้งรู้สึกตึงพอสมควรและพักหรือค้างอยู่ในท่านั้น ๆ ประมาณ 10-30 วินาที ความตึงค่อย ๆ ลดลง ถ้าไม่สามารถทำได้ให้กลับไอยู่ในท่าสบาย การยืดกล้ามเนื้อในขั้นนี้จะช่วยปรับกล้ามเนื้อให้ดีขึ้นและเพิ่มความอ่อนตัวให้มีเพิ่มมากขึ้น

การหายใจ
ขณะทำการยืดกล้ามเนื้อควรหายใจช้า ๆ และเป็นจังหวะ ขณะที่ก้มตัวไปข้างหน้าให้หายใจออกและหายใจช้า ๆ ขณะพัก และค้างอยู่ในท่านั้น ที่สำคัญขณะยืดกล้ามเนื้อไม่ควรกลั้นหายใจ ถ้าหากว่าการยืดนั้นจัดขวางการหายใจแสดงว่าการปฏิบัตินั้นไม่ผ่อนคลาย ให้ปฏิบัติตามสบาย การหายใจก็จะไปไปตามธรรมชาติ

การนับ
มนตอนแรก ๆ เมื่อเริ่มทำการยืดกล้ามเนื้อแต่ละท่าให้นับอยู่ในใจ เพื่อให้มั่นใจว่าคุณได้รักษาความตึงของกล้ามเนื้อได้อย่างเหมาะสมในเวลาพอสมควร หลังจากนั้นให้ยืดกล้ามเนื้อตามวิถีทางของคุณโดยไม่ต้องสนใจการนับต่อไป

การตอบสนองจากการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
กลไกที่เรียกว่าการตอบสนองของการยืดกล้ามเนื้อ จะช่วยป้องกันการยืดกล้ามเนื้อที่มากเกินไป (อาจจะด้วยการกระแทกขึ้นลงหรือยืดเกินปกติ) ประสาทสะท้อนกลับจะตอบสนองโดยการส่งสัญญาณไปให้กล้ามเนื้อทำงาน ซึ่งเป็นการป้องกันการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ดังนั้นเมื่อยืดกล้ามเนื้อมากเกินไป คุณจะเกร็งกล้ามเนื้อที่กำลังพยายามยืดเหยียดอย่างมาก (คล้าย ๆ กับปฏิกิริยาที่อยู่นอกอำนาจจิตใจเมื่อสัมผัสของร้อนโดยบังเอิญ ก่อนที่จะคิดเกี่ยวกับสิ่งนั้นก็จะเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วให้พ้นจากความร้อนนั้น)

การค้างการยืดเหยียดกล้ามเนื้อให้ไกลเท่าที่สามารถทำได้ หรือการกระแทกขึ้น ๆ ลง ๆ ทำให้กล้ามเนื้อตึงตัวเต็มที่และเกิดการตอบสนอง กล่าวได้ว่าเป็นวิธีที่อันตรายและเป็นเหตุของความเจ็บปวดรวมทั้งการบาดเจ็บเนื่องมาจากการฉีกขาดเป็นฝอยละเอียดของเส้นใยกล้ามเนื้อ ก็เป็นอันตรายเช่นกัน การฉีกขาดนี้จะนำไปสู่การเป็นแผลในกล้ามเนื้อ ซึ่งจะทำให้เสียความยืดหยุ่นไปทะลีน้อย กล้ามเนื้อจะตึงและระบม เราจะยืดกล้ามเนื้อและปั่นจักรยานได้อย่างไร เมื่อวิธีการที่นำมาใช้ทำให้เกิดการบาดเจ็บ ฉะนั้นเราต้องทำการยืดเหยียดกล้ามเนื้ออย่างระมัดระวังและตั้งใจ

ยังมีความเชื่อที่ผิด ๆ ว่า ไม่มีการพัฒนากล้ามเนื้อถ้าปราศจากความเจ็บปวด การยืดกล้ามเนื้อที่ถูกต้องจะต้องไม่มีอาการเจ็บปวด นักปั่นขาแรงต้องพยายามศึกษาร่างกายของตนเอง (ร่างกายไม่ใช่เครื่องจักร ต้องการความรักและความเข้าใจจากตัวคุณเอง) และเมื่อไรก็ตามที่มีความเจ็บปวดแสดงว่ามีบางสิ่งบางอย่างผิดพลาดเกิดขึ้นในการยืดเหยียดกล้ามเนื้อนั้น ๆ แล้วก็เป็นไป



การยืดกล้ามเนื้อแบบง่าย ๆ และที่หนักขึ้นซึ่งได้อธิบายมานั้น ไม่มีส่วนกระตุ้นการตอบสนองและไม่เป็นสาเหตุของความเจ็บปวดเลย จากแผนผังต่อไปนี้ จะให้แนวคิดเกี่ยวกับการยืดกล้ามเนื้อที่ดี

ระดับการยืดกล้ามเนื้อ

การยืดกล้ามเนื้อแบบง่าย                       การยืดกล้ามเนื้อขั้นที่ยากขึ้น                  การยืดกล้ามเนื้อที่ค่อนข้างรุนแรง
           (ขั้นแรก)                                                   (ขั้นกลาง)                                                  (ขั้นสูง)
      ค้างไว้ 20-30 วินาที                          ค้างไว้ 30 วินาทีหรือนานกว่า                                ไม่ควรทำ

เส้นตรงในแผนผังแสดงการยืดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อต่าง  ๆ อาจจะพบว่าความอ่อนตัวจะเพิ่มโดยธรรมชาติเมื่อทำการยืดกล้ามเนื้อในขั้นแบบง่าย ๆ และหนักขึ้น การยืดกล้ามเนื้อเป็นประจำสม่ำเสมอเหมาะสมและไม่รู้สึกเจ็บปวด แสดงว่าสามารถทำเกินขีดจำกัดที่มีอยู่และใกล้กับศักยภาพของบุคคลนั้น


อ่านต่อ >> การยืดกล้ามเนื้อของจักรยาน ตอนที่ 2

ที่มา: นิตยสาร Sport street  โดย อ.ปราจิน  รุ่งโรจน์

การยืดกล้ามเนื้อของนักจักรยานขาแรง ตอนที่ 2

|0 ความคิดเห็น

ประเภทของการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ

การฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นการฝึกความอ่อนตัวให้กับข้อต่อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายด้วย มีหลักการ รูปแบบ ขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งการยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่นิยมปฏิบัติกันอยู่โดยทั่วไป สามารถแบ่งออกเป็นประเภทได้ดังนี้

1.        การยึดเหยียดกล้ามเนื้อแบบมีแรงกระชากหรือแรงดึงกลับ (Ballistic Stretching)
2.        การยืดเหยียดกล้ามเนื้อแบบมีการเคลื่อนไหวในส่วนที่ต้องการยืด (Dynamic Stretching)
3.        การยืดเหยียดกล้ามเนื้อแบบออกแรงกระทำด้วยตนเอง (Active Streching)
4.        การยืดเหยียดกล้ามเนื้อแบบใช้แรงจากภายนอกหรือให้ผู้อื่นช่วยกระทำการยืดเหยียดให้ (Passive or Relaxed Stretching)
5.        การยืดเหยียดกล้ามเนื้อแบบหยุดนิ่งค้างไว้ในตำแหน่งที่มีอาการตึงหรือเจ็บปวดเล็กน้อยบริเวณกล้ามเนื้อส่วนที่ทำการยืดเหยียด (Static Stretching)
6.        การยืดเหยียดกล้ามเนื้อแบบเกร็งกล้ามเนื้อต้านกับแรงต้าน (Isometric Stretching)
7.        การยืดเหยียดกล้ามเนื้อแบบกระตุ้นประสาทภายในกล้ามเนื้อเพื่อให้เกิดความคล่องตัว (Proprioceptive Neuromuscular Facilitation : PNF Stretching)

กลุ่มกล้ามเนื้อนักปั่นขาแรงที่ควรยืดเหยียดเป็นประจำ
-            กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (Hamstring)
-            กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า (Quadriceps)
-            กล้ามเนื้อสะโพกด้านใน (Hip Adductor)
-            กล้ามเนื้อสะโพกด้านนอก (Hip Abductor)
-            กล้ามเนื้อบริเวณขาหนีบ (Groin)
-            กล้ามเนื้อหลัง (Back)
-            ข้อเท้าและเอ็นร้อยหวาย (Ankle/Achilles Tendon)
-            กล้ามเนื้อน่อง (Calves)
-            กล้ามเนื้อท้อง (Abdominal)
-            กล้ามเนื้อแนวกระดูกสันหลังและเอว (Spine and Waistline)
-            กล้ามเนื้อไหล่และอก (Shoulder and Chest)
-            กล้ามเนื้อต้นแขน (Biceps/Triceps)
-            กล้ามเนื้อที่ปลายแขนและข้อมือ (Forearm/Wrist)
-            กล้ามเนื้อคอ (Neck)

จะอย่างไรก็ตามท่านผู้อ่านและพี่น้องชาวจักรยานทั้งหลายควรยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนและหลังการฝึกซ้อมหรือแข่งขันทุกครั้ง เพราะการยืดกล้ามเนื้อเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักกีฬาและผู้รักการออกกำลังกายทุกคน การยืดกล้ามเนื้อที่ถูกวิธีช่วยผ่อนคลายความเครียดทางร่างกาย สมองและอารมณ์ ทำให้การประสานงานของกล้ามเนื้อเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพกล่าวคือ สามารถทำงานหรือเล่นกีฬาได้ตลอดเวลา โดยไม่มีอาการเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเท่าคนอื่น ๆ การเคลื่อนไหวก็รวดเร็วคล่องแคล่วมากขึ้น ต่อไปนี้เป็นท่ายืดกล้ามเนื้อสำหรับนักปั่นขาแรง

ท่าที่ 1 ยืดกล้ามเนื้อน่องและสะโพก
วิธีฝึกปฏิบัติ : ยืนหันหน้าเข้าหาฝาผนัง เอามือทั้งสองเกาะไว้ที่ฝาผนัง เท้าซ้ายเป็นเท้านำอยู่หน้าเท้าขวา วางเส้นเท้าทั้งสองติดพื้นตลอดเวลาไปในแนวเดียวกัน ค่อย ๆ ดันพลังไปที่สะโพกไปข้างหน้า และดันส้นเท้าลงจนรู้สึกว่าตึงที่บริเวณน่องและสะโพก ค้างเอาไว้ ใช้เวลาข้างละ 30 วินาทีให้ทำสลับกันทั้งสองข้าง

ท่าที่  2 ยืดกล้ามเนื้อน่องและเอ็นร้อยหวาย
วิธีฝึกปฏิบัติ :  ยังยืนเกาะฝาผนังอยู่เหมือนเดิม แต่ให้ลากเท้าขวาเข้ามาชิดเท้าซ้ายข้างหน้าให้ระยะห่างกันประมาณ 1 ฟุต แล้วค่อย ๆ กดน้ำหนักตัวลงมาที่ส้นเท้าด้านหลัง จนรู้สึกว่าน่องและเอ็นร้อยหวายตึง ค้างไว้ข้างละ 15 วินาที ทำทั้งสองข้างสลับกัน

ท่าที่  3 ยืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง
วิธีฝึกปฏิบัติ : ให้นั่งพิงฝาผนัง พับขาขวาเข้าหาทรวงอกโดยใช้มือขวาจับเข่าและมือซ้ายจับข้อเท้าขวาที่พับ ส่วนขาซ้ายให้เหยียดตรงไปข้างหน้าให้ค่อย ๆ ดึงหัวเข่าขวาเข้าหาทรวงอกจนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อขาด้านหลังตึง พยายามให้ลังตั้งตรงดึงขาค้างไว้ละ 30 วินาที ความรู้สึกกล้ามเนื้อบริเวณไข่ปลาถูกยืด ทำทั้งสองข้างสลับกัน

ท่าที่  4 ท่ายืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า
วิธีฝึกปฏิบัติ : นั่งพับขาขวางอมาข้างหลังให้หลังเท้าขวางอเท้าหาสะโพก ส่วนขาซ้ายให้งออยู่ด้านหน้า มือทั้งสองวางไว้ข้างลำตัวด้านหลัง เมื่อเริ่มยืดให้ค่อย ๆ เอนลำตัวไปด้านหลังจนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อหน้าขาตึง ให้ค้างเอาไว้ 30 วินาที ให้ทำทั้งสองข้างสลับกัน

ท่าที่  5 ท่ายืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าขาและก้น
วิธีฝึกปฏิบัติ : ผู้ยืดนั่งอยู่ในท่าเดิมให้พยายามดันสะโพกขวาบิดไปข้างหน้าตามลูกศร ท่านี้เป็นท่าเหยียดกล้ามเนื้อขาด้านหน้า รวมถึงกล้ามเนื้อก้นค้างเอาไว้ข้างละ 15 วินาที ทำสองข้างสลับกัน

ท่าที่  6 ท่ายืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง
วิธีฝึกปฏิบัติ :  นั่งเหยียดขาขวาตรงไปข้างหน้า ปล่อยหัวเข่าตามสบาย ใช้มือทั้งสองจับที่ข้อเท้าขวา หายใจออก ค่อย ๆ ก้มลำตัวลงจนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อต้นข้าด้านหลัง ดึงตัวค้างเอาไว้ 20 วินาที ทำทั้งสองข้างสลับกัน

ท่าที่  7 ให้นักปั่นขาแรงกลับไปทำท่าที่ 3,4,5,6 อีกครั้ง

ท่าที่  8 ท่าเหยียดกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
วิธีฝึกปฏิบัติ : นั่งเอาฝ่าเท้าทั้งสองข้างมาประกบกัน มือทั้งสองจับฝ่าเท้าเอาไว้ให้ติดกัน ค่อย ๆ โน้มลำตัวก้มไปข้างหน้าช้า ๆ หายใจออก หลังแบ สายตามองตรงไปข้างหน้าจนรู้สึกว่ากล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานตึงพร้อมกับกล้ามเนื้อหลังส่วนลางดังรูปไข่ปลา ค้างเอาไว้ 30 วินาที ทำทั้งสองข้างสลับกัน (เทคนิค-เวลาทำท่านี้ให้เงยหน้าขึ้นจะทำให้หลังเหยียดตรง)

ท่าที่  9 ท่ายืดกล้ามเนื้อสะโพก ลำตัวและต้นขาด้านหลัง
วิธีฝึกปฏิบัติ : นั่งเหยียดขาขวาออกไปข้างหน้า ไขว่เข่าซ้ายมาคร่อมขาขวาไว้ดังรูป มือซ้ายยันพื้นเอาไว้ เอาศอกขวามาขัดเข่าซ้ายที่งออยู่ตามลูกศร ในขณะเดียวกันให้บิดลำตัวไปทางตรงกันข้ามจนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อข้างลำตัว สะโพก กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังและกล้ามเนื้อก้นตึง ค้างเอาไว้ข้างละ 15 วินาที ทำทั้งสองข้างสลับกัน

ท่าที่  10 ให้ย้อนกลับไปทำท่าที่ 8 อีกครั้ง

ท่าที่  11 ท่ายืดกล้ามเนื้อส่วนหลัง
วิธีฝึกปฏิบัติ : หาพื้นที่นุ่ม ๆ หรือมีเบาะรองก็ได้ นั่งงอเข่าทั้งสองข้างเข้าหาทรวงอก ใช้มือทั้งสองจับเข่าเอาไว้ ก้มศีรษะลงเข้าหาเข่าค่อย ๆ กลิ้งลำตัวลงไปข้างหลัง แล้วค่อย ๆ กลับคืนขึ้นมานั่งเหมือนท่าเริ่มต้น ทำอย่างนี้ 5-6 ครั้ง เป็นท่าเหยียดกล้ามเนื้อส่วนหลังตั้งแต่หัวไหล่ลงมาจนถึงก้นกบ

ท่าที่  12 ท่ายืดกล้ามเนื้อหลังส่วนล่างและกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง
วิธีฝึกปฏิบัติ : เป็นท่าที่ทำต่อเนื่องมาจากท่าที่ 11 นอนหงายใช้มือทั้งสองยันสะโพกยกขึ้น จับเอาไว้ ให้ขาทั้งสองข้างเหยียดเลยศีรษะไปด้านบนแล้วบังคับให้ค้างอยู่นิ่ง ๆ 25 วินาที

ท่าที่  13 ท่าเหยียดกล้ามเนื้อต้นคอด้านหลัง
วิธีฝึกปฏิบัติ : ให้นักปั่นขาแรงนอนหงายชันเข่าขึ้นทั้งสองข้าง มือทั้งสองข้างประสานกันไว้ด้านหลังศีรษะ ค่อย ๆ ผงกหน้าขึ้นมองดูทรวงอกของตนเองจนกล้ามเนื้อบริเวณด้านหลังต้นคอตึง ค้างเอาไว้ 5 วินาที ทำ 3 ครั้ง

ท่าที่  14 ท่าเหยียดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังและก้น
วิธีฝึกปฏิบัติ : ให้นักปั่นขาแรงนอนหงายราบไปกับพื้น มือทั้งสองค่อย ๆ ดึงหัวเข่าขวาเท้าหาทรวงอกจนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังและก้นตึง ค้างไว้ 30 วินาที ให้ทำสลับกันทั้งสองข้าง

ท่าที่  15 ท่ายืดกล้ามเนื้อข้างลำตัว สะโพกและต้นขาด้านหลัง
วิธีฝึกปฏิบัติ : ให้นักปั่นขาแรงนอนหงาย ยกเข่าซ้ายงอข้ามลำตัวบิดมาทางขวา มือขวาจับเข่าซ้ายค่อย ๆ ดึงมาทางขวาจนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อสะโพก ลำตัวและกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังตึง ให้หันใบหน้าไปยังทิศทางตรงกันข้ามกับเข่าที่งอ ค้างเอาไว้ 30 วินาที ทำทั้งสองข้างสลับกัน

ท่าที่  16 ท่ายืดกล้ามเนื้อแขนด้านใน
วิธีฝึกปฏิบัติ : ให้นักปั่นขาแรงนั่งคุกเข่ากับพื้น วางมือทั้งสองยันพื้นเอาไว้ ฝ่ามือทั้งสองหันกลับเข้าหาลำตัวดังภาพ ให้ค่อย ๆ โล้ลำตัวมาข้างหลังเบา ๆ จนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อปลายแขนด้านในตึง ให้ค้างเอาไว้ 20 วินาที

ท่าที่  17 ท่าเหยียดกล้ามเนื้อสะบักหลังและหัวไหล่
วิธีฝึกปฏิบัติ : คราวนี้นักปั่นขาแรงมีจักรยานเป็นตัวช่วย ให้เอามือทั้งสองจับอานและแฮนด์จักรยานเอาไว้ ขาทั้งสองยืนแยกห่างกันพอประมาณ ค่อย ๆ กดสะบักหลังลงตามลูกศรจนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อตึง หัวเข่างอเล็กน้อย ปล่อยสบาย ๆ ค้างเอาไว้ 15 วินาที

สรุปว่าการยืดเหยียดกล้ามเนื้อสำหรับนักปั่นขาแรงเป็นวิธีการบริหารร่างกายที่นักจักรยานต้องฝึกปฏิบัติ เพื่อเพิ่มความอ่อนตัวให้กับร่างกาย นอกจาจะช่วยป้องกันการบดเจ็บของกล้ามเนื้อและลดอาการตึงเครียดของกล้ามเนื้อแล้ว ยังช่วยส่งเสริมสมรรถภาพการเคลื่อนไหวของร่างกายให้มีมากขึ้น นักปั่นขาแรง จะมีความอ่อนตัวมากกว่านักปั่นคนอื่น ๆ และเป็นข้อได้เปรียบในการปั่นจักรยานเพื่อการแข่งขันที่ต้องอาศัยความเร็วสูงกว่าปกติ ความอ่อนตัวของข้อต่อหรือความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ เป็นความสามารถในการเคลื่อนไหวของข้อต่อหรือกล้ามเนื้อที่ได้ระยะทางหรือมุมการการเคลื่อนไหวมากที่สุด โดยอาศัยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อซึ่งเป็นกระบวนการในการช่วยทำให้กล้ามเนื้อ เอ็นกล้ามเนื้อ เอ็นยืดข้อต่อ เยื่อหุ้มข้อต่อ และเนื้อเยื้อเกี่ยวพันที่อยู่บริเวณโดยรอบกล้ามเนื้อและข้อต่อส่วนนั้นมีการยืดยาวออก การยืดเหยียดกล้ามเนื้อมีทั้งที่สามารถทำได้ด้วยตนเองและมีผู้อื่นหรืออุปกรณ์เข้ามาช่วยกระทำ การยืดเหยียดให้ความอ่อนตัวเป็นคุณสมบัติเฉพาะของข้อต่อแต่ละข้อต่อในร่างกายของแต่ละบุคคล 


ผู้เขียนเชื่อว่า “ความอ่อนตัว เป็นที่มาของความเร็วในการปั่นจักรยานแข่งขัน” ถ้าวันนี้คุณอยากเป็นนักปั่นขาแรงเหมือนคนอื่น ๆ เขาก็ต้องพยายามยืดเหยียดกล้ามเนื้อให้ร่างกายเกิดความอ่อนตัวให้มากที่สุดนะครับ


ที่มา: นิตยสาร Spost Street  โดย อ.ปราจิน  รุ่งโรจน์

บทความจักรยานที่เกี่ยวข้อง