ในช่วงต้น ๆ แห่งการขี่จักรยานทางไกลของ เอ็ด พาเวลกา ผู้เขียนหนังสือ Long Distance Cycling เขาคือคนชอบสะสมไมล์ตัวจริงที่ไม่เคยเห็นอะไรสำคัญไปมากกว่าการปั่น ๆ ๆ และปั่น เพื่อสะสมไมล์ไปเรื่อย ๆ เพื่อให้พร้อมกับการปั่นแข่งข้ามรัฐใน PAC Tour และการแข่งขันปั่นอึดอีกหลายรายการที่เขาคิดว่าจะเอาชนะได้ ตัวเลขนั้นน่ากลัวคือ พาเวลกา สามารถทำระยะทางได้สัปดาห์ละ 405 ไมล์ หรือ 648 ก.ม. โดยเฉลี่ยตลอดหนึ่งปี สำหรับเอ็ดแล้วเขาต้องแข็งแรงมาก ๆ และต้องไม่มีสิ่งใดมากวนใจให้วอกแวก
ด้วยภูมิหลังเยี่ยงนี้ใคร ๆ คงนึกออกล่ะว่าเอ็ดจะรู้สึกอย่างไร ในวันที่เขาได้เห็นบทความเสนอเรื่องการแข่งรายการปารีส-เบรสต์-ปารีส เขาบอกได้คำเดียวเท่านั้นว่า "ใจ” ต้องมาก่อนถึง 90 เปอร์เซ็นต์ "ใจ?” เอ็ดเล่าต่อ "ใครได้ยินผมพูดเข้าคงคิดได้อย่างเดียวว่าไอ้นี่คงบ้าแน่ ใครกันจะใช้หัวใจปั่นจักรยาน มันต้องคิดตัวเลขกลับกันแน่ ต้องใช้ใจแค่ 10 เปอร์เซ็นต์กับกาย 90 เปอร์เซ็นต์ซิถึงจะถูกยิ่งกว่านี้คือถ้าไม่เคยปั่นไกลๆ สะสมเอาไว้ก่อนแล้วจะขี่ได้ยังไงในระยะทางไกลแสนไกลอย่างนี้? การเอาใจมานำหน้าความสามารถทางกาย
นั้นมันไร้สติชัดๆ ทุกวันนี้เอ็ดยิ่งรู้ดีว่าการอ้างเปอร์เซ็นต์นั้นไม่ใช่ตัวเลขที่จริงเสมอไป แต่เขาเข้าใจด้วยเรื่องของใจนี่แหละที่สำคัญอย่างยิ่งในการขี่จักรยานทางไกล เช่นที่เราทราบกันมานานในการเล่นกีฬาอีกหลายประเภทว่ามันต้องใช้ใจถึงจะชนะ หรืออย่างน้อยก็เล่นได้จนจบเกม การฝึกร่างกายก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่การจะแข่งให้ตลอดรอดฝั่งหรีอได้ชัยชนะมานั้นต้องให้ใจพาไป และในด้านของจิตใจนั้น
สิ่งสำคัญที่สุดคือนักกีฬาต้องมั่นใจ ตรงนี้เองที่เอ็ดบรรลุสัจจะธรรมเขาคิดได้ว่าไม่ว่าจะไกลสักเท่าไรก็ไม่เคยเป็นปัญหาเลยสำหรับเขา ใจเท่านั้นที่จะบอกว่าต้องไปต่อหรือหยุดที่ตรงไหน ไม่ว่าจะไกลหรือใกล้สักเท่าไรถ้าใจไม่พร้อมทุกอย่างก็จบจริง ๆ
เมื่อพูดถึงศักยภาพที่แต่ละคนต่างมีอยู่และดึงออกมาใช้ได้ไม่เท่ากัน ศักยภาพนี้ประกอบด้วยสามสิ่งคือพรสวรรค์ การซ้อมที่ถูกต้องและความพร้อมด้านจิตใจ ใครที่มีสามสิ่งนี้ครบถ้วนจะเป็นนักจักรยานที่ดีได้ แต่ไม่ว่าคุณจะแข็งแรงหรือมีทักษะดีแค่ไหนก็ตาม ก็ยังหนีไม่พ้นเรื่องของกำลังใจโดยเฉพาะแรงจูงใจและความตั้งมั่น สองตัวนี้แหละที่จะช่วยให้บรรลุผลทั้งประสบชัยชนะและการขี่ให้ครบระยะทางถ้าคุณขี่จักรยานได้ไกลในระดับหนึ่งคือ 50-80 ก.ม. นั่นก็หมายถึงคุณมีพรสวรรค์และความสามารถในระดับหนึ่งแล้ว ส่วนหนึ่งคือพันธุกรรมหรือความสามารถที่ถ่ายทอดผ่านทางสายเลือด เช่น เป็นคนช่วงขายาว ปอดใหญ่ อดทนเป็นเลิศ อีกส่วนหนึ่งคือการฝึกมาดีแต่ไม่ว่าจะได้รับการถ่ายทอดมาหรือมาพัฒนาขึ้นเองอย่างไรก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าคุณจะเป็นนักจักรยานที่ดีได้เลย เพราะการจะเก่งให้ได้แม้เพียงครึ่งของ แลนซ์ อาร์มสตรอง นั้นต้องใช้องค์ประกอบอะไร ๆ อีกมากมาย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ต่อไปนี้คืออีกมุมมองที่น่าสนใจ เอ็ดดี้ บอรี เซวิกซ์ ผู้เคยเป็นโค้ชให้ทีมจักรยานสหรัฐชุดไปโอลิมปิคมาแล้ว ให้ความเห็นว่า “75 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นศักยภาพทางกายและคุณได้มันมาทางพันธุกรรมนั้นใช่ แต่ส่วนที่เหลือและสำคัญไม่แพ้กันคือ ใจ” นั่นคือเขากำลังบอกว่าเราต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อกำลังใจในการขี่จักรยานซ้อมและในรายการแข่งขันต่างๆ ที่เข้ามาวัดขีดจำกัดทางกาย การขี่จักรยานไกลและนานคือเครื่องวัดใจพอกับวัดพลังกล้ามเนื้อ นี่คือเหตผลให้นักจักรยานที่ใจแกร่งสามารถเอาชนะคนอื่น ๆ ที่แม้จะ มีพรสวรรค์และแข็งแรงกว่าแต่ก็ขาดกำลังใจได้ ถ้าเช่นนั้นแล้วจะพัฒนาจิตใจได้อย่างไร? คำถามนี้ตอบได้ว่าต้องมีความมุ่งมั่นมาเป็นอันดับแรก เพราะความมุ่งมันคือการมุ่งจดจ่ออยู่แต่กับสิ่งเดียวและต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อบรรลุความสำเร็จในสิ่งนั้น เกี่ยวกันอย่างมากกับพรสวรรค์ มันเป็นคำตอบของคำถามมากมาย เช่น ต้องซ้อมหนักแค่ไหนถึงจะขี่ให้จบ 100 ไมล์หรือ 100 ก.ม ได้? ถ้าอยู่นอกฤดูกาลแข่งขันหรือออกไปปั่นจักรยานนอกบ้าน ไม่ได้ล่ะต้องซ้อมหนักขนาดไหน? จะต้องควบคุมอาหารแค่ไหนถึงจะทำให้ขี่ได้ดี ขี่ได้ทั้งทนและไกล? ความตั้งมั่นเหล่านี้แหละที่จะมาบอกว่าคุณต้องทำอะไรมากหรือน้อยแค่ไหนถึงจะบรรลุจุดมุ่งหมาย ข้างล่างนี้คือ 4 วิธีการง่าย ๆ เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นใจที่จะช่วยให้มุ่งมั่นไปพร้อมกับสุขภาพและความฟิตที่สมบูรณ์
1. ตั้งเป้าหมายไว้ให้แน่นอน : เช่นต้องการจะทำอะไรให้สำเร็จในฤดูกาลแข่งขันจักรยานนี้หรือฤดูกาลหน้า ? ต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ?
2. บังคับตัวเองให้ได้ : ต้องสละอะไรบ้างเพื่อแลกกับการเป็นนักจักรยานที่ดี? เต็มใจหรือที่จะขี่ทางไกลแม้ จะกลางสายฝน กลางแสงแดดแผดเผาหรือแม้แต่ต้องขี่จักรยานกลางหิมะ?
3.รู้ขีดความสามารถของตัวเอง : ต้องเข้าใจถึงจุดแข็งเละจุดอ่อนของตัวเอง ถ้าคุณขึ้นเขาได้ช้าจะยอมเสียเวลามาปั่นเน้นขึ้นเขากันอย่างเดียวให้เก่งหรือเปล่า จะยอมเหนื่อยหนักเพื่อให้ฟิตและมีเทคนิคการขี่ที่ช่วยให้ขึ้นเขาเร็วกว่าเพื่อนไหม ? อะไรที่จะทำให้คุณยังขี่ต่อไปเมื่อพบว่าลำบากสุด ๆ จนแทบจะล้มเลิกแล้ว
4. วางแผนเป็น : ต้องใช้จุดแข็งหรือความแข็งของตัวเองให้เป็นเพื่อไต่ระดับจากขั้นหนึ่งถึงขั้นที่สูงขึ้น วางแผนการออกกำลังไว้และต้องพยายามซ้อมให้สม่ำเสมอเพื่อให้รู้ว่าวันนี้คุณทำได้เท่าไร และพรุ่งนี้จะทำอะไรได้เพิ่มขึ้นอีกแค่ไหน
พีท เพนซีเรซ แชมป์สองครั้งซ้อนจากรายการแข่งปั่นข้ามอเมริกา RAAM (Race AcrosS America) คือตัวอย่างที่ดีในด้านความมุ่งมั่นตั้งใจเต็มร้อย เขาเป็นคนธรรมดาที่ไม่ได้มีร่างกายแข็งแกร่งเกินมนุษย์ แต่กลับมีความสามารถขั้นเหลือเชื่อในการวางเป้าหมายและไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ เมื่อใดก็ตามที่ตั้งใจเอาไว้ว่าจะขี่ทางไกลให้ได้ความสำเร็จอันงดงามของพีท เกิดขึ้นระหว่างการทำงานเต็มเวลาในตำแหน่งวิศวกรนิวเคลียร์แล้วดูแลครอบครัวไปพร้อมกัน การเตรียมพร้อมอันยอดเยี่ยมของเขาเพึ่อ RAAM ปี 1986 ซึ่งต้องขี่ให้ได้ระยะ 400 ไมล์ในช่วงสุดสัปดาห์ส่งผลให้เขาขี่ได้เร็วที่สุดในรายการแข่งขันข้ามประเทศเท่าที่เคยทำกันมา ด้วยความเร็วชั่วโมงละ 15.4 ไมล์ทั้งนี้รวมทั้งช่วงพักผ่อนนอนหลับด้วย และตอนนั้นเขามีอายุถึง 43 ซึ่งเป็นวัยที่ปลดชราแล้วสำหรับนักแข่งระดับโปร และแกรนด์ทัวร์ ถ้าคุณเอาจริงได้เหมือนพีท รับรองได้เลยว่าคุณต้องทำได้ดีกว่าที่เคยคิดไว้แน่ ๆ
ถ้างั้นจะมัวรีรออะไรอยู่ล่ะ? เริ่มปั่นกันได้เลยตอนนี้ ไม่ต้องรอพรุ่งนี้ เพราะถ้ารอพรุ่งนี้คุณก็ต้องรอต่อไปเรื่อย ๆ เพราะพรุ่งนี้คือวันพรุ่งนี้ใม่ใช่วันนี้ซึ่งเป็นปัจจุบัน เขียนเป้าหมายไว้เพื่อจะได้เป็นเครื่องจูงใจว่าต้องทำทุกอย่างเพื่อบรรลุผล รวบรวมอุปกรณ์และทรัพยากรทั้งหมดที่มีไว้เพื่อสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนนักจักรยานในละแวกบ้านและโค้ช อุปกรณ์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นจักรยานที่ได้ขนาด รองเท้าสวมสบาย เสื้อผ้าระบายเหงื่อ หมวกกันกระแทกที่พอดีหัว แว่นกันแดด ฯลฯ เมื่อใดที่คุณวางแผนไว้เป็นรูปร่างด้วยการเขียนมันลงไป การจะทำให้สำเร็จย่อมไม่เกินความสามารถ จงวงวันที่ไว้บนปฏิทินแล้วนับย้อนกลับมาถึงวันนี้ จงออกแบบการฝึกของตัวเองด้วยการทำเป็นั้นเป็นตอน ค่อย ๆ เพิ่มภาระให้ร่างกายและจิตใจไปทีละนิด อาจต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง ๆ เพื่อรวบรวมสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกันก็จริงแต่บอกได้เลยว่าคุ้มค่ามาก เมื่อคุณใช้เวลาเพื่อแลกกับจุดมุ่งหมายที่แน่นอน มีขั้นตอนการปฏิบัติชัดเจนและสามารถบรรลุเป้าหมายนั้นได้
การมีร่างกายพร้อมและโดยเฉพาะจิตใจที่พร้อม คือคุณสมบัติของนักกีฬาที่วัดความสามารถด้วยความอดทนไม่ว่าจะเป็นจักรยานหรือกีฬาประเภทไหนก็ตาม จิตใจที่มุ่งมั่นมาจากการซ้อมที่สม่ำเสมอและถูกหลักจนร่างกายสามารถฝ่าฟันผ่านขีดจำกัดที่เคยปิดกั้นศักยภาพไว้แต่เดิมออกไปได้
ในตอนหน้าเราจะว่ากันถึงเรื่องการฝึกซ้อมอย่างฉลาด ในเมื่อใครก็ได้สามารถเอาจักรยานออกไปปั่นให้ไกลแค่ไหนก็ได้ แต่ก็ใช่ว่าจะทำได้ดีเหมือนกัน กลเม็ดคือมันต้องมีหนทางที่เร็วที่สุด ฉลาดที่สุด และทรงประสิทธิภาพที่สุดเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ เมื่อทำได้เช่น นี้แล้วคุณจะดีใจและยินดีเมื่อประสบความสำเร็จ ทำใจได้ เมื่อล้มเหลวเพราะได้ทำทุกอย่างมาอย่างสุดความสามารถแล้ว ความผิดพลาดคือคุณจะเรียนรู้ข้อบกพร่องจากมันและสามารถหลีกเลี่ยงความล้มเหลวครั้งต่อไปได้ ไม่ต้องสิ้นเปลืองทั้งเวลาและพลังงานอันมีค่า จงจำไว้ว่าตัวคุณคนเดียวเท่านั้นที่จะกำหนดได้ว่าตัวเองจะดีหรือเลวแค่ไหนในกีฬานี้ พรสวรรค์คือสิ่งสำคัญแต่ต้องไม่ลืมความมุ่งมั่นแบบกัดไม่ปล่อยเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายด้วย ตอนหน้านี้จะเป็นเทคนิคการฝึกอย่างฉลาดที่ไม่เน้นเฉพาะแค่ปั่นให้ไกลอย่างเดียว แล้วคุณจะทราบว่าการจะขี่จักรยานไกลกว่า 100 ก.ม.ขึ้นให้ได้และดีนั้นต้องประกอบด้วยรายละเอียดอีกหลายสิ่ง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น