เมื่อครั้งที่ เฟาส์โต ค็อปปี อดีตแชมป์ตูร์เดอฟร็องชาวอิตาเลียนเมื่อหลายสิบปีก่อน ถูกถามว่าทำไมคุณถึงแข่งจักรยานได้อย่างไร้เทียมทานเช่นนี้ คำตอบของค็อบปี้สั้น ๆ และง่าย ๆ คือ “ก็ขี่จักรยานให้มากเข้าไว้” ซึ่งหากพูดกันแบบวิทยาศาสตร์แล้วมันก็จริงแค่บางส่วน คุณสามารถขี่จักรยานทางไกลกว่า 100 ก.ม. ได้จริงด้วยการปั่นมาก ๆ เข้าไว้ สะสมไมล์เข้าไว้ แต่ก็ใช่ว่าปริมาณจะเป็นเครื่องชี้ขาดในเมื่อร่างกายมนุษย์นั้นมีระบบอะไร ๆ ที่ซับซ้อนให้คำนึงถึงอีกมาก ทั้งระบบกล้ามเนื้อ จิตใจ ระบบเผาผลาญอาหารและอื่น ๆ ที่รวมกันเป็นตัวขับเคลื่อนให้คุณขี่จักรยานได้ดี
จึงจำเป็นต้องซ้อมหนักอย่างเดียว ใคร ๆ จะออกไปปั่นหนัก ๆ กินระยะทางหลาย ๆ กิโล ก็ได้ แต่กลเม็ดคือมันต้องมีหนทางที่เร็วที่สุด ฉลาดที่สุดและทรงประสิทธิภาพที่สุดเพื่อบรรลุเป้าหมายให้ได้ จงชื่นชมกับความสำเร็จของตัวเอง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับความล้มเหลวด้วยเมื่อไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพื่อจะได้เรียนรู้จากมันไม่ให้เกิดความล้มเหลวซ้ำซาก ซึ่งจะสูญเปล่าทั้งเวลาและพลังงาน จงจำไว้อย่างหนึ่งว่ามีเพียงคุณเท่านั้นที่จะรู้ได้ว่าตัวเองไปได้แค่ไหน ดีหรือเลวอย่างไรในกีฬาประเภทนี้ พรสวรรค์เป็นสิ่งที่สำคัญแต่ต้องไม่ลืมว่าความขยันซ้อมและมีวินัยนี่แหละที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จ ดังนั้นจึงต้องมองภาพให้ออก พวกเราหลายคนที่จริงจังเกินไป เราวางเป้าหมายไว้สูงจนแตะไม่ถึง ก็เลยผิดหวังพอทำได้ไม่เท่าที่ตั้งใจ พาลจะทำให้หมดแรงบันดาลใจถึงกับถอดใจเอาง่าย ๆ
ดังนั้นเมื่อใดที่พบตัวเองว่าเริ่มหมกมุ่นกับเป้าหมายนั้นแล้วต้องเตือนสติตัวเองให้ได้ ต้องไม่ลืมว่าคุณมาขี่จักรยานเพื่อความสนุกก่อนเป็นอันดับแรก มันไม่สำคัญว่าคุณจะแข่งชนะได้ที่หนึ่งหรือตำแหน่งที่ 51 ตราบใดที่คุณยังเตือนตัวเองว่ามาขี่จักรยานเพื่อสุขภาพและเพื่อความสนุกสนาน ต้องระวังว่าอย่าหักโหมเกินไป ต้องขยันและมุ่งมั่นอย่างมีเหตุผล และต่อไปนี้คือกลเม็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อช่วยให้คุณซ้อมปั่นได้สนุกขึ้นโดยไม่ต้องเอาตัวเลขหรือข้อมูลใด ๆ มาอ้างให้ปวดหัว
ต้องมีเป้าหมายแน่ชัดแล้วไปให้ถึง
เท่าที่เราเคยได้ยินเพื่อนนักจักรยานบงคนบ่นคือ “ผมขี้เกียจแข่งมาก ๆ เพราะมันมารบกวนเวลาซ้อม” แน่ล่ะ ไม่ผิดหรอกถ้าจะขี่จักรยานแค่สุขภาพและความสนุกแทนที่จะซ้อมเพื่อแข่ง แต่การซ้อมอย่างเดียวมันไม่ใช่แค่เอาจักรยานออกมาขี่ไปเรื่อย ๆ แล้วก็จบแค่นั้นถ้าจะให้คุ้มกันจริง ๆ ก็ต้องมีเป้าหมายอันแน่ชัดด้วยเพื่อจะได้เป็นแรงจูงใจให้คุณวางแผนขี่จักรยานแล้วทำให้เป็นไปตามนั้น แทนที่จะจูงจักรยานออกไปขี่เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น ลมสงบและตัวเองรู้สึกดีอยากขี่เพียงอย่างเดียว
เป้าหมายที่ว่านี้เป็นอะไรก็ได้ที่จะมากระตุ้นคุณ อาจเป็นความหวังว่าจะขี่ 100 ก.ม. ให้ได้เป็นครั้งแรก หรือคุณอาจจะเคยขี่ไกล 100 ก.ม. มาหลายครั้งแล้วแต่ตอนนี้อยากทำเวลาให้เร็วกว่าเดิม หรือคิดว่าจะแข่งรายการเล็ก ๆ ระยะทางสั้น ๆ อะไรประมาณนี้ หรืออยากจะวางเป้าให้ตัวเองลดน้ำหนักให้ได้ 5 ก.ก. ก็ยังได้
วิธีจะบรรลุเป้าหมายให้ได้นั้นไม่ยาก ก็แค่คุณต้องวางมันไม่ให้สูงเกินไปเท่านั้น ค่อย ๆ เขยิบเป้าหมายไปเรื่อย ๆ ทีละนิดเพื่อให้ไปถึงจะได้เกิดแรงบันดาลใจให้เขยิบมันขึ้นไปอีก ความมั่นใจช่วยให้คุณทำได้ทุกอย่าง อย่าว่าแต่จะปั่นให้ไกลขึ้นเลย จะไต่หน้าผาหรือวิ่งทางไกลก็ทำได้ถ้าไม่วางเป้าหมายไว้สูงเกินไป แต่ค่อย ๆ ทำเพื่อให้ขยายขอบเขตของความลำบากออกไปทีละนิดให้ร่างกายรับได้
กลวิธีเพื่อวางเป้าหมายไว้แล้วไปให้ถึง
จะวางเป้าหมายแล้วไปให้ถึงนั้นไม่ยาก ก็แต่ตั้งธงหรือเป้าหมายขึ้นมาอันหนึ่งแล้วพยายามฝ่าฟันไปให้ถึง ฟังดูแล้วไม่ยากเลยแต่ก็ยังมีหลายคนที่ทำไม่เป็นจนในที่สุดก็หงุดหงิดเพราะทำไม่ได้ตามเป้า ลงท้ายก็ผิดหวังแล้วพาลเลิกซ้อมหันไปเล่นหมากเก็บแทน ขั้นตอนที่เราจะแนะนำท่านทั้ง 6 ข้อนี้คือหลักคิดง่าย ๆ เพื่อความสำเร็จในการซ้อม
1. ต้องเจาจง : ต้องมีเป้าหมายที่แน่นอนมากกว่าจะคิดแบบกว้าง ๆ ตัวอย่างเช่นถ้าเป้าของคุณคือ “ต้องขี่ไกลให้ได้ดีกว่าเดิม” มันก็กว้างไปเพราะอะไรล่ะคือความหมายของคำว่าดีกว่าเดิม จะวัดผลได้ยังไงหรือว่าแค่การขี่จนครบระยะทางแล้วไม่หมดรงคือความสำเร็จ งั้นหรือเปล่า ถ้ามีตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ต้องการขี่ไกล 100 ก.ม. ให้ได้ภายในสี่ชั่วโมงล่ะ เห็นไหมว่าเงื่อนเวลาคือตัวกำหนด คุณอาจจะเคยขี่ได้นาน 4 ชั่วโมงครึ่งแต่พอลดลงมาอีกครึ่งชั่วโมงนั่นหมายความว่าเร็วขึ้นอีกและวัดเป็นตัวเลขได้คือ 30 นาที
ที่เราว่าต้องเจาะจงก็คือเป้าหมายนั้นต้องวัดปริมาณได้ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขระยะทางหรือน้ำหนักที่ลดลงภายในเงื่อนเวลาที่กำหนด หรืออะไรก็ตามคุณต้องวัดได้ชัด ๆ เพื่อประมาณความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม แล้วจะเกิดแรงบันดาลใจ แรงจูงใจให้ซ้อมหนักขึ้นอีกเพื่อขยายขีดจำกัด
2. ขยายขีดจำกัดไปทีละขั้น : ง่าย ๆ คือต้องวางเป้าไว้ทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวเพื่อค่อย ๆ เพิ่มขีดความสามารถไปเรื่อย ๆ มากกว่าแค่วางเป้าหมายระยะยาวอย่างเดียว คือถ้าคุณหมายใจไว้ว่าจะขี่ให้ได้ 150 ก.ม. ก็ต้องวางแผนเอาไว้ก่อนว่าสามเดือนแรกหลังจากเริ่มซ้อมจะขี่ให้ได้ 70 ก.ม. แล้วเดือนถัดมาก็เพิ่มเป็น 120 ก.ม. กับอีกสองเดือนหลังสุดจึงขี่ให้ได้ 150 ก.ม. สบาย ๆ การค่อย ๆ เพิ่มจะช่วยได้ทั้งความคุ้นเคยของกล้ามเนื้อและระบบประสาท ช่วยได้ทั้งด้านจิตใจคือเมื่อคุณทำได้ก็จะมีแรงกระตุ้นให้ขยายขีดจำกัดของตัวเองออกไปเรื่อย ๆ เช่นกัน
ต้องวางเป้าให้ยาก แต่อย่าให้สาหัสความหมายก็คือยิ่งยากขึ้นไปคุณก็ยิ่งเก่ง พอผ่านจุดนั้นไปได้แล้วก็จะสบายพร้อมวางเป้าให้ยากขึ้นไปอีก พอผ่านของยากไปได้ก็ควรจะตั้งเป้าให้ยากกว่าเดิมอีกนิดแล้วจะท้อ เช่น การวางเป้าว่าจะขี่ให้ไกล 100 ก.ม. ถ้าไม่เคยขี่ไกลกว่า 30 ก.ม.มาก่อนควรเขยิบขึ้นมาให้ได้สัปดาห์ละ 10 ก.ม. และควรมีเวลาขี่อย่างน้อยสัปดาห์ละสามวัน ไม่ใช่เคยขี่จักรยานได้ไกล 30 ก.ม. แล้วเพิ่มขึ้นฮวบฮาบเป็น 100 ก.ม. เลยรวดเดียว ระบบของคุณจะเสียหมด จะปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรืออาจถึงกับฉีก ปวดหลัง ปวดไหล่
ยังไม่จบครับ ยังมีอีกหลายข้อโปรดติดตามตอนที่ 2 ครับ....
24 ก.ย. 2553
Home »
100 ก.ม.UP
» 100 กม. UP : ซ้อมอย่างฉลาด ไม่ได้เน้นแค่ปริมาณ ตอนที่ 1
100 กม. UP : ซ้อมอย่างฉลาด ไม่ได้เน้นแค่ปริมาณ ตอนที่ 1
Related Posts
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น