ss

2 ธ.ค. 2554

การมาถึงและการจากลาของ “รถจักรยาน”

การมาถึงและการจากลาของ “รถจักรยาน”

ครั้งแรกที่จักรยานหรือ รถถีบ มาถึงเมืองสยามเมื่อกว่า 100 ปีมาแล้วนั้น สถานะของมันคือ “พาหนะ” ที่ทันสมัย ไม่มีหลักฐานปรากฎว่าชาวสยามคนแรกที่ใช้รถถีบชื่ออะไร เท่าที่สืบค้นได้ คนกลุ่มแรก ๆ ที่มีโอกาสใช้จักรยานคือชนชั้นสูงในราชสำนักสยาม


อเนก  นาวิกมูล นักสืบค้นเรื่องเก่าสมัยต้นรัตนโกสินทร์ให้ข้อมูลว่า หลักฐานที่มี “จักรยาน” ปรากฏในสยามเป็นครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 5 คือ จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน จ.ศ.1241 (พ.ศ. 2423) บันทึกไว้ว่าวันที่ 3 และ 4 มกราคม รัชกาลที่ 5 “เสด็จขึ้นทรงรถไตรซิเคอล ที่พญาภาษซื้อมาถวาย” ในพระราชวังบางปะอิน โดยเสด็จไปถึงศาลเจ้าแล้วทรงกลับเข้ามาทางประตูมุขข้างสระ

เมื่อนำมาปะติดปะต่อกับหลักฐานอื่นก็พบว่า จักรยานถูกนำเข้ามาในสยามโดย “พญาภาษ” เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุญนาค) น้องชายคนเล็กของสมเด็จเจ้าพญาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง  บุญนาค) ซึ่งช่วงนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นทูตพิเศษไปกรุงลอนดอนเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ระหว่างราชสำนักสยาม กับเซอร์ทอมมัส ยอร์ซ น็อกซ์ กงสุล อังกฤษ ว่าด้วยเรื่องจับกุมพระปรีชากลการ (สำอาง  อมาตยกุล) บุตรเขย เซอร์ทอมมัตที่ทุจริตในหน้าที่จนส่งผลให้เรือรบจากฮ่องกงมาปิดปากอ่าว ทำให้กรุงเทพฯ ตกอยู่ในภาวะวิกฤตถึงเดือนเศษ ก่อนที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์จะเจรจากับรัฐบาลอังกฤษสำเร็จ จนสยามรอดวิกฤตการณ์นี้มาได้  เมื่อพญาภาษกลับจากยุโรปคราวนี้เอง ได้นำจักรยานจำนวนหนึ่งกลับมาด้วย

มีหลักฐานอีกมากมายที่เล่าเรื่องจักรยานในสยามช่วงนั้น อาทิลายพระหัตถ์สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารสรี พระอัครราชเทวีในรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2444 ทรงเล่าให้พระโอรสฟังว่ามีคนขี่จักรยานแพร่หลายทั้งในพระราชวัง กระทั่งโขลน (พนักงานเผ้าประตูวัง) ก็มีใช้ หรือในบันทึกของเจ้าพระยามหิธรฯ ก็ระบุว่าปี 2441-2442 จักรยานเป็นพาหนะที่ใช้อย่างแพร่หลายในกรุงเทพฯ แม้ระบุจำนวนผู้ขี่ไม่ได้ แต่ข้อความเหล่านี้บอกเราว่าเพียง 10 ปีนับแต่ปรากฏในสยาม จักรยานกลายเป็นพาหนะสำคัญไม่ต่างกบในยุโรปที่จักรยานเป็นส่วนหนึ่งของวิถีคนเมือง

ในระยะแรกที่ชาวสยามรู้จักจักรยาน จักรยานที่ผลิตในอังกฤษนั้นได้รับความนิยมที่สุด มีการนำเข้าจำนวนมากโดยแบ่งประเภทเป็นรถผู้ชาย รถผู้หญิง (แตกต่างกันที่คานบนของรถ ของผู้ชายจะวางคานเป็นแนวนอนขนานพื้นถนน ส่วนของผู้หญิงวางคานลาดเอียงเพื่อสะดวกแก่ผู้สวมใส่กระโปรงหรือนุ่งซิ่น)  ว่ากันว่า จากจุดนี้ “ยุคทอง” ของจักรยานได้เกิดขึ้นและกินเวลายาวนานหลายทศวรรษ ทางการรับรู้ถึงตัวตนของพาหนะชนิดนี้ มีการขึ้นทะเบียนออกกฎหมาย กระทั่งการออกใบอนุญาตขับขี่สำหรับผู้ขี่จักรยานโดยเฉพาะ โดยถือว่าเป็นยานพาหนะประเภทหนึ่งซึ่งมีสิทธิในการใช้ถนนเท่าเทียมกับยานพาหนะอื่น ๆ ปี 2474 รายงานของกรมทางหลวงระบุว่า มีจักรยานขึ้นทะเบียนในสยาม 11,867 คัน ซึ่งน่าจะเป็นปริมาณที่มากกว่ารถยนต์ในกรุงเทพฯ สมัยนั้น

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุคสมัยของการพัฒนายานยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิลนั่นเองเป็นเหตุให้ผู้ใช้จักรยานทั่วโลกลดจำนวนลง ในยุโรป โรงงานจักรยานหลายแห่งปิดตัว บางแห่งแบ่งพื้นที่ให้การผลิตรถจักรยานยนต์ เมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ความนิยมจักรยานก็ยิ่งลดน้อยลง สวนทางกับความนิยมรถยนต์และจักรยานยนต์ แนวโน้มนี้ส่งผลต่อร้านจักรยานในเมืองไทยอย่างมาก หลายร้านเปลี่ยนไปจำหน่ายจักรยานยนต์แทน  ยิ่งเมื่อมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทุนต่างชาติก็แห่มาสร้างโรงงานรถยนต์และจักรยานยนต์ในประเทศไทย คนนิยมซื้อรถยนต์มากขึ้น ปริมาณรถยนต์บนถนนเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่านิยมที่ว่ารถยนต์เป็นเครื่องแสดงสถานะทางสังคมชนิดหนึ่ง ทำให้ในที่สุดกองทัพรถยนต์และจักรยานยนต์ยึดครองพื้นที่ถนน

จักรยานยังคงมีชีวิตอยู่ในชนบทอีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะถูกกระแสนิยมรถมอเตอร์ไซค์พัดพาไปในที่สุด และนั่นก็ทำให้จักรยานหลายคันโดนทิ้งสนิมจับอยู่หลังบ้าน ในที่สุดจักรยานก็ลดบทบาทลง กลายเป็นพาหนะเพื่อการออกกำลังกายและแข่งขัน มิใช่ “พาหนะในการเดินทาง” อีกต่อไป ภาพคนขี่จักรยานในกรุงเทพฯ ภาพสาวเหนือขี่จักรยานส่งจดหมาย ค่อย ๆ เลือนหายกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ในที่สุด
แม้ว่าจะมีความพยายามทำให้จักรยานกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางอยู่บ้าง แต่ก็ชั่วครั้งชั่วคราว และที่ผ่านมารัฐบาลไทยไม่เคยมีนโยบายระดับชาติเกี่ยวกับเรื่องจักรยานแต่อย่างใด “จักรยาน” กลายเป็นพาหนะที่ดูเชย ล้าสมัย แล้วก็จางหายไปจากชีวิตประจำวันของคนไทยในที่สุด...

อ่านต่อเรื่อง >> การกลับมาของ “จักรยาน” ในเมืองหลวง





0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความจักรยานที่เกี่ยวข้อง