ss

9 ธ.ค. 2554

การกลับมาของ “จักรยาน” ในเมืองหลวง ตอนที่ 1

การกลับมาของ “จักรยาน” ในเมืองหลวง ตอนที่ 1

ในเมืองไทย ยังไม่มีหน่วยงานใดสำรวจหรือทำสถิติเกี่ยวกับการใช้จักรยานของคนไทยอย่างจริงจัง แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมาเฉพาะบนถนนในกรุงเทพฯ จะพบเห็นผู้ใช้จักรยานเพิ่มขึ้น ยังไม่นับประชากรจักรยานในต่างจังหวัดซึ่งน่าจะมีอีกจำนวนมาก เริ่มมีการรวมตัวของคนขี่จักรยานในหลายพื้นที่ทั่วประเทศในนามชมรมและกลุ่มต่าง ๆ อย่างเป็นเรื่องเป็นราว รวมถึงการเลือกใช้จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทางในชีวิตประจำวันมากขึ้น

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ในกรุงเทพฯ มีการเดินทางราว 17 ล้านเที่ยวต่อวัน และร้อยละ 60 คือการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคล (ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังปี 2551) เท่าที่สืบค้นได้ การกลับมาของจักรยานและคนขี่จักรยานในเมืองไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทว่ากระแสนี้ได้ก่อตัวขึ้นอย่างช้า ๆ เป็นเวลาหลายปีแล้ว จุดเริ่มต้นคงต้องย้อนกลับไปเมื่อ 19 ปีก่อน
16 มีนาคม 2534 อาสาสมัคร 40 คนรณรงค์ปั่นจักรยานทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งอาจถือเป็น “คาร์ฟรีเดย์” (วันรณรงค์งดใช้รถยนต์ด้วยการปั่นจักรยาน) แบบไม่เป็นทางการครั้งแรกของเมืองไทย ก่อนจะเกิดวันคาร์ฟรีเดย์ครั้งแรกอย่างเป็นทางการเมือปี 2543 วันนั้นเองความพยายามของคนที่หันมาขี่จักรยานแทนการใช้รถยนต์ถูกประกาศต่อสังคมเป็นครั้งแรก

“ผมและเพื่อน ๆ พยายามบอกสังคมไทยว่าจักรยานเป็นคำตอบในการแก้ปัญหาน้ำมันแพง แก้ปัญหาได้ร้อยแปด ตั้งแต่สุขภาพ ความสูญเสียจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ลดมลพิษในอากาศ ฯลฯ ดังนั้นต้องร่วมรณรงค์และใช้กัน แต่สิ่งที่เราทำก็ไม่ต่างจากการพูดกับกำแพง เกิดคำถามมากมายเพราะขณะนั้นสังคมไทยไม่มีเรื่องจักรยานในจิตนาการ” ศ.ดร.ธงชัย  พรรณสวัสดิ์ อดีตประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เล่าจุดเริ่มต้นของความพยายามคืนจักรยานกลับสู่ชีวิตคนกรุงในฐานะผู้ริเริ่มและแกนนำคนสำคัญ

อาจารย์ธงชัยเล่าต่อว่าหลังการรณรงค์ครั้งนั้น เขาและกลุ่มเพื่อนก็พยายามปรับกลยุทธ์เพื่อสื่อสารกับสังคม ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวทำกิจกรรมและพุ่งเป้าให้สื่อมวลชนทำข่าวเผยแพร่หลายครั้ง “แต่ก็ไม่ได้ทำให้กระแสการขี่จักรยานของคนกรุงกระเตื้องเท่าใดนัก” 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พวกเขาทำก็ถือเป็นการจุดประกายการเดินทางด้วยจักรยานให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง วัฒนธรรมการใช้จักรยานห่างหายจากสังคมไทยไปนานทั้งยังส่งผลให้มีการก่อตั้ง “ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย” (ปัจจุบันคือ สมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย) องค์กรที่ผลักดันและรณรงค์การใช้จักรยานมาอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลทางวิชาการแทบทุกด้านหนุนหลังพวกเขาอย่างแน่นหนา สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ) ศึกษาพบว่าในเมืองใหญ่ของประเทศกำลังพัฒนากว่าร้อยละ 60 ของการเดินทาง จุดหมายปลายทางจะอยู่ห่างไม่เกิน 3 กิโลเมตร ถ้าหากใช้จักรยาน เดิน หรือใช้พาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อมส่งผลดีหลายด้านต่อคุณภาพชีวิตคนเมือง


อ่านต่อ >> การกลับมาของ “จักรยาน” ในเมืองหลวง ตอนที่ 2 (จบ)

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความจักรยานที่เกี่ยวข้อง