ss

6 ก.ย. 2553

คำถามถามบ่อยและความเข้าใจอันคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับฮาร์ทเรทมอนิเตอร์ (ตอนที่ 1)

ฮาร์ทเรทมอนิเตอร์หรือ HRM อาจจะเป็นอุปกรณ์ที่คุ้นเคยสำหรับบางคนหรืออาจเป็นของแปลกที่ไม่เคยคิดว่าจะมีมันอยู่ในโลก แต่เมื่อมันเป็นเครื่องจักรนิดหนึ่งและมีขั้นตอนการใช้ ก็เป็นธรรมดาอยู่ที่มนุษย์จะเข้าใจการทำงานและจุดประสงค์การใช้งานแตกต่างกันไป ทั้งถูกและผิด ต่อไปนี้จะเป็นการรวบรวมปัญหาการใช้งานและไขข้อข้องใจบางประการเกี่ยวกับการใช้ HRM ลองอ่านดูแล้วคุณจะเข้าใจเครื่องมือชนิดนี้มากขึ้น บางทีอาจจะพบด้วยว่าตัวเองก็เคยเจอปัญหาทำนองเดียวกันมาก่อน


คำตอบปัญหาเหล่านี้มาจากคุณ แซลลี่ เอ็ดเวิร์ด และแซลลี่ รีด ผู้เขียนหนังสือ “ฮาร์ทเรทมอนิเตอร์ บุ๊ค ฟอร์ ไซคลิสต์”

1. HRM ของผมคงพังแน่ ๆ เพราะตัวเลขแสดงอัตราชีพจร (HR) ของมันสูงผิดปกติ
เราเคยทราบความคิดเห็นนี้จากคนที่ชอบซ้อมปั่นในย่าน HR สูง ๆ เป็นกลุ่มนักจักรยานที่รู้แต่การอัดลูกบันไดเร่งความเร็วสูง ๆ เอาแต่ลากคนอื่นอยู่หัวขบวน ไม่คุ้นเคยกับการปั่นเพื่อฟื้นสภาพ หรือพูดให้ถนัด ๆ ว่าไม่สนใจจะหย่อนฝีเท้าเลย เอาแต่จะกระทืบลูกบันไดอย่างเดียว ตามปกติก็คือ HRM มันทำงานได้ดีแล้ว เพียงแต่พวกนักจักรยานแรงดีพวกนี้ควรจะรู้จักทั้งการเร่งฝีเท้าและชะลอฝีเท้า เพื่อให้ร่างกายฟื้นสภาพบ้างเท่านั้น ค่า HR ของเขาก็จะไม่สูงเกินไปตามที่เข้าใจผิด คิดว่ามันพังแล้ว

2. ยิ่งผมขี่จักรยานด้วยความเร็วคงที่นาน ๆ ค่า HR ของผมก็ยิ่งสูงขึ้นไม่หยุด
ปรากฎการณ์นี้ถูกเรียกกันวา “คาดิแอก ดริฟต์” หมายความว่าเมื่อใดก็ตามที่คุณขี่จักรยานท่ามกลางอากาศร้อน ความร้อนจะทำให้สูญเสียน้ำในกายมาก น้ำที่สูญเสียไปมากนี้จะทำให้ปริมาณน้ำในเลือดน้อยลงเช่นกัน ส่งผลให้หัวใจต้องบีบรัดเพื่อสูบฉีดเลือดแรงขึ้น เว้นแต่คุณจะดื่มน้ำเข้าไปทดแทนเพื่อรักษาปริมาณน้ำในเลือดให้คงที่ เมื่อใด ที่คุณรู้สึกดังที่ถามมาก็ต้องย้อนมาพิจารณาตัวเองเสียก่อนว่าดื่มน้ำเข้าไปพอหรือยัง เมื่อหิวน้ำขณะปั่นจักรยานแล้วยังทนหิวอยู่หรือเปล่า ถ้าพบว่าตัวเองไม่ชอบดื่มน้ำทดแทนขณะปั่นจักรยานสาเหตุแห่งหัวใจเต้นแรงจนค่า HR สูงก็มาจากการขาดน้ำนั่นเอง

3. เมื่อผมเริ่มปั่นจักรยาน ค่า HR ของผมพุ่งสูงขึ้นถึง 150 กว่าครั้งต่อนาทีแต่ความรู้สึกของตัวเองบอกว่ามันไม่น่าจะเต้นแรงได้ขนาดนั้น ความรู้สึกของผมถูกต้องหรือไม่
เหตุการณ์เช่นนี้อาจจะตอบได้ยากหน่อย เราเองมักจะขี่จักรยานกับเพื่อน ๆ ที่มีประสบการณ์ทำนองเดียวกับคุณเสมอ ๆ ในเบื้องต้นนี้ถ้าหากยังไม่คิดว่าตัวเองผิดปกติในด้านใดด้านหนึ่ง อยากให้ลองแก้ปัญหาที่น่าจะเกิดจากตัวแพบรัดหน้าอกก่อน ด้วยการรัดมันให้แน่นกว่าเดิม เพราะถ้าหลวมก็มีโอกาสแสดงตัวเลขเพี้ยนได้มาก หรืออีกอย่างหนึ่งคือการขี่จักรยานใกล้กับคนใช้ HRM เหมือนกันการส่งคลื่นของเขาเข้ามารบกวนเครื่องของคุณอาจทำให้ค่า HR สูงผิดปกติได้ พอปรับสายรัดหน้าอกเสร็จแล้วอยากให้ใจเย็น ๆ รอให้มันปรับสภาพการทำงานให้เข้ากับร่างกายคุณสักสองสามนาที ถ้าใช้แล้วหลาย ๆ ครั้งแม้จะขี่คนเดียวแต่ยังเกิดเรื่องเช่นนี้อยู่ อาจเป็นไปได้ว่าเกิดความผิดปกติขึ้นแล้วกับ HRM ของคุณ


4. บางครั้ง HRM ของผมก็ไม่แสดงค่า
ตามปกติปัญหานี้น่าจะเกิดจากระยะทางการส่งสัญญาณของ HRM ตามปกติทั้งจอแสดงผลและแถบรัดหน้าอกจะต้องห่างจากกันไม่เกิน 32 นิ้ว เพื่อให้สัญญาณที่ส่งมาแม่นยำชัดเจน พอจะแสดงค่าตัวเลขบนจอได้ ถ้าหากแอโรบาร์กับมอนิเตอร์บนข้อมือของคุณมีระยะไกลเกิน 32 นิ้ว จากหน้าอก มันอาจไกลเกินไปสำหรับการส่งสัญญาณชีพจรมาบนจอภาพ ในเบื้องต้นนี้แก้ไขด้วยการเลื่อนมอนิเตอร์ให้เข้าใกล้จุดส่งสัญญาณคือแถบรัดหน้าอกมากขึ้น สาเหตุที่จอไม่แสดงค่ายังอาจมาจากการมีน้ำเข้าไปทำให้ชอร์ตการทำงานของเครื่อง หรือแถบรัดหน้าอกปิดฝาไม่สนิทตอนที่เปลี่ยนถ่านจนทำให้น้ำซึมเข้าไปก็ได้ ต้องดูที่สองสาเหตุนี้ด้วย

5. ผมไม่สามารถกดปุ่มเพื่อการใช้งานอย่างถูกต้องได้ รู้สึกว่ามันเป็นเครื่องมือที่ใช้ยาก
ไม่แปลกหรอก เพราะตามปกติพวกเราก็ปวดหัวกันอยู่แล้วเวลาเรียนรู้วิธีการโปรแกรมเจ้า HRM นี้ คำตอบก็คือถ้าคุณรู้สึกว่ามันใช้งานยาก ก็จงหาเวลาให้ได้สักวันเพื่อทุ่มเทอ่านคู่มือและทดลองใช้งานมันให้คล่อง พยายามจำขึ้นตอนที่ปรากฏในคู่มือให้ได้ แนะนำได้เลยว่าสำหรับพวกมอนิเตอร์ราคาแพงและมีระบบการทำงานซับซ้อนนั้น คุณต้องเสียเวลากับการอ่านคู่มือและทดลองใช้งานประมาณ 3 ชั่วโมง เชื่อว่าในเวลาเพียงสามชั่วโมงนี้น่าจะเพียงพอสำหรับการเรียนรู้การใช้ปุ่มฟังก์ชั่นต่าง ๆ แล้วหลังจากนั้นก็พยายามใช้มันบ่อย ๆ ภายใน 2 สัปดาห์คุณน่าจะใช้ HRM ได้คล่องแคล่ว

ยังมีคำถามอีกหลายข้อ โปรดติดตามตอนที่ 2 ครับ

1 ความคิดเห็น:

  • ไม่ระบุชื่อ says:
    2/2/55 00:00

    ขอบคุณมากนะคะ

แสดงความคิดเห็น

บทความจักรยานที่เกี่ยวข้อง