ss

11 ส.ค. 2553

ใจถึง กายถึง แต่จักรยานของคุณล่ะ…ถึงหรือเปล่า ?

ใจถึง กายถึง แต่จักรยานของคุณล่ะ…ถึงหรือเปล่า ?


เวลาออกไปขี่จักรยานคุณเคยทราบบ้างหรือเปล่าว่า ชิ้นส่วนไหนของจักรยานคุณกำลังจะจากไปหลังจากใช้งานนั้นมาอย่างสมบุกสมบัน ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าชิ้นส่วนแต่ละชิ้นนั้นมันบอกคุณได้ทั้งนั้นว่าตัวมันจะรับใช้คุณได้อีกนานหรือกำลังจะจากลาไปเป็นเศษเหล็ก

ถ้าจักรยานของคุณเป็นจักรยานทางเรียบ โอกาสที่จะหักพังก่อนเวลาอันควรคงมีน้อยเนื่องจากมันถูกใช้แบบเรียบ ๆ ตามเส้นทางโดยไม่มีการทารุณกรรมเหมือนเมาเท่าไบค์ ไม่ว่าจะเป็นครอส คันทรี หรือดาวน์ฮิลล์ ซึ่งไม่ได้ขี่กันในทางเรียบ ๆ แต่เป็นซิงเกิลแทรกซึ่งทั้งขรุขระและอันตรายต่อทั้งคนและรถ ถ้าคุณใช้เมาเท่นไบค์สม่ำเสมอในเส้นทางดังกล่าวอย่างน้อยก็ควรต้องตรวจสภาพจักรยานคุณสัปดาห์ละครั้ง เราอยากให้คุณตรวจสภาพจักรยานทุกครั้งหลังขี่ หลังจากมันผ่านการใช้งานสมบุกสมบันมาแล้ว และอาจเกิดความบกพร่องขึ้นทั้งในส่วนของโครงสร้างและอุปกรณ์ เมื่อพบแล้วจึงซ่อม เปลี่ยนอะไหล่หรือนำไปให้ช่างที่ร้านจักรยานดู

หัวข้อต่อไปนี้คือแนวทางโดยสังเขป เพื่อให้คุณใช้ตัดสินใจได้เวลาตรวจสอบจักรยานหลังขี่ จะไปคิดเพิ่มเติมขึ้นมาเองหรือเอาของเราไปทั้งดุ้นก็ได้ แต่ควรใช้มันและติดไว้กับผนังบ้านตรงใกล้ ๆ จักรยานเพื่อจะใช้มันเปรียบเทียบตามกระบวนการต่าง ๆ ของการตรวจสอบ

เริ่มต้นด้วยการยกจักรยานขึ้นขาจับ (ถ้ามี) หรือแขวนไว้กับสิ่งก่อสร้างแข็งแรง เช่นวงกบประตู หรือกิ่งไม้ ไม่ว่าจะแขวนไว้กับอะไร ล้อจักรยานต้องลอยจากพื้นเพื่อให้คุณได้หมุนลูกบันไดตรวจสอบได้ถนัดเริ่มกันเลยตามหัวข้อต่อไปนี้

- ถ้าโซ่กระโดดจากเฟืองหลัง ตามปกติหมายถึงตีนผีไม่ได้ศูนย์ ถ้าโช่ข้ามใบเฟืองทีละสองสามใบทั้งที่สับเกียร์ครั้งเดียว ตรงนี้คือมีปัญหากับสายเคเบิลแล้ว

- ถ้าโซ่ไม่วิ่งอย่างนิ่มนวลเมื่อหมุนลูกบันไดถอยหลัง ปรากฎว่าดุมฝืด ต้องดูให้แน่ใจว่ามีความสกปรกหรือเศษสิ่งต่าง ๆ อัดแน่นอยู่หรือเปล่าระหว่างชั้นเฟืองและตรงดร็อปเอาต์ ถ้าตรวจสอบแล้วไม่พบให้ลองโยกแกนดุมดู ถ้าโอเคทั้งหมดแต่อาการยังอยู่แสดงว่าดุมเบี่ยงศูนย์แล้ว ต้องปรับด้วยการหมุนน็อตปลายดุมให้แน่น

- ถ้าโซ่กระโดดตรงจุดใกล้กับลูกเฟืองตัวบนของตีนผี แสดงว่าข้อต่อโซ่ในตำแหน่งนั้นแน่นเกินไป อาจเป็นเพราะตอนต่อโซ่แล้วตอกแน่นแต่ไม่โยกโซ่เข้าออกให้ข้อต่อเคลื่อนไหวลื่นไหล ลองค่อย ๆ หมุนที่มีปัญหาจึงทำเครื่องหมายไว้ ถ้าทำให้มันหลวงเองไม่ได้ให้ถอดโซ่ส่งช่าง

- หูจับตีนผี ถ้าคดสามารถดัดได้ แต่ถ้าดัดบ่อย ๆ เข้าเนื้อโลหะตรงนั้นจะล้าและเกิดรอยร้ายในที่สุด ให้ดูในจุดนี้ด้วยว่าร้าวหรือเปล่า ถ้าร้าวก็เปลี่ยนใหม่ (ถ้าเป็นแบบโลหะแยกชิ้นต่างหากจากเนื้อวัสดุของเฟรม)

- ถ้าปรับความตึงของเคเบิลสายเกียร์และเบรกไม่ได้ ปัญหาน่าจะเกิดจากตัวท้อร้อยสายมากกว่า เป็นได้ทั้งมีสิ่งสกปรกเข้าไปอุดตันหรือเป็นสนิม เพราะขาดการดูแล หรือเป็นได้ทั้งตัวสายเคเบิลเองสึกหรอหลุดลุ่ย เปลี่ยนได้ทั้งตัวเคเบิลและเปลือกร้อยสาย

- ลองจับล้อโยกดูว่ามันคลอนไปมาได้แค่ไหน ถ้ามันโยกก็หมายความได้ทั้งน็อตยึดฝาปิดดุมหลวมหรือตัวลูกปืนหลวม สูญเสียรูปทรงหรือแม้แต่แตกได้เหมือนกัน

- ยืนหน้าหรือยังรถ หันหน้าเข้าหายางแล้วจับยางหมุนดูว่าล้อคดหรือไม่ สำหรับดิสก์เบรกจะยอมให้คดเบี้ยวได้ประมาณ 1/8 นิ้ว แต่ถ้าตัวเลขเปลี่ยนเป็น 1 / 4 เมื่อไรหมายความว่าต้องดัดล้อกันล่ะ

- ดูล้อแล้วก็มาดูซี่ลวดกันต่อ ให้หาให้เจอว่าลวดซี่ไหนที่คดหรือขาด แต่ดูจุดที่มันร้อยเข้าวงล้อ ถ้าเป็นล้อน้ำหนักเบาคุณจะเห็นรอยฉีกชัดเจนตรงที่ลวดถูกกระชากจากรู

- ตรวจแก้มยางดูว่ามีร่องรอยความเสียหายใดหรือไม่ ถ้าแก้มยางฉีกจนชั้นผ้าใบมันย่อมมีโอกาสระเบิดหรือรั่วอีกได้ ถ้าตรวจพบเช่นนี้ต้องเปลี่ยนยางใหม่ทันที

- จับปลอกแฮนด์แล้วลองบิด มันต้องไม่เคลื่อนไหวตามือ อย่าขี่จักรยานที่ปลอกแฮนด์หลวม (เราหมายถึงเมาเท่นไบค์) เพราะมันอันตรายเมื่อคุณอาจทำมันลื่นหลุดมือแล้วล้ม จะเปลี่ยนด้ามแฮนด์ใหม่หรือใช้สเปรย์ประเภทล็อควัสดุฉีดใส่แฮนด์ก่อนจะสวมเข้ากับปลอกแฮนด์ก็ได้

- ตรวจสอบแฮนด์หาร่องรอยตรงบริเวณใกล้จุดยึดจับโดยเฉพาะแฮนด์อลูมินัม เช่น ใกล้คอแฮนด์ ถ้าพบรอยร้าวเพราะคุณเองเอามันไปกระแทกตามทางซิงเกิลแทรคมา จงอย่าได้ใช้แฮนด์นี้เด็ดขาด แม้มันจะแพงแสนแพงแต่เมื่อร้าวแล้วย่อมหาประโยชน์อะไรไม่ได้ ต้องเปลี่ยนใหม่สถานเดียว

- สำหรับแฮนด์คาร์บอนหรือหลักอานคาร์บอนที่ไม่มั่นใจว่ายังคงสภาพอยู่หรือไม่ ดูออกง่าย ๆ ด้วยการแตกร่อนของวัสดุชั้นนอกสุด ถ้าพบว่าสีแตกจงหยุดใช้หลักอานนี้ทันที ส่งขอเคลมถ้าใช้งานตามคู่มือ แต่ถ้าใช้ผิดวิธีจนพังแล้วเคลมบริษัท เขาไม่เปลี่ยนให้ก็จงยอมจ่ายสตางค์เสีย ดี ๆ

- จับอานแล้วลองบิดซ้ายขวาดูว่าให้ตัวหรือไม่ ถ้าแข็งแสดงว่าโอเคไม่มีปัญหา แต่ถ้าคุณบิดมันได้ตามมือให้ดูชั้นรองพลาสติกหรือคาร์บอนใต้อาน ตรงนั้นอาจแตกหรือร้าว

- เดินออกห่างจักรยานยิ่งขึ้นเพื่อดูหลักอานอลูมินัมและตัวท่อคออานของเฟรม หลักอานต้องสอดในท่อคออานเป็นแนวเส้นตรงเดียวกัน ถ้าพบว่าคดงอต้องเปลี่ยนใหม่เพราะมันได้สูญเสียคุณสมบัติทั้งการรับน้ำหนักและรับแรงกระแทกไปแล้ว

- นำจักรยานลงตั้งพื้น มือข้างหนึ่งบีบเบรกหน้าไว้ไม่ให้ขยับ มืออีกข้างจับอานแล้วโยกจักรยานเป็นเส้นตรงในแนวหน้า-หลัง ต้องไม่โยกคลอน ถ้าโยกต้องปรับชุดถ้วยคอใหม่ให้แน่น

- ยืนหน้าจักรยาน หันหน้าเข้าหาหน้าจักรยานใช้เข่าหนีบล้อจักรยานไว้แล้วใช้มือนับแฮนด์บิดในแนวราบค่อย ๆ เพื่อทดสอบว่าคอแฮนด์ได้ถูกขันติดไว้กับคอตะเกียบแน่นหนาดีหรือเปล่า

- ตรวจดูตามรอยเชื่อมต่อของท่าเฟรมว่ามีรอยร้าวหรือไม่ เฟรมจักรยานคาร์บอนจะดูง่ายกว่าอลูมินัม เพราะเมื่อมันแตกร้ายรอยแตกจะบิดตัวจนเรซิ่นและสีเคลือบชั้นหน้าสุดกะเทาะออก มีทางเลือกสองทางเมื่อเฟรมร้าว 1. ซื้อเฟรมใหม่ ถ้าคุณไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขใบรับประกัน และ 2. ขอเคลมกับทางร้านถ้าขี่ในสภาพปกติแต่ยังหัก ซึ่งอาจต้องให้บริษัทแม่ในต่างประเทศตรวจสอบ ถ้าเคลมได้ก็ถือว่าโชคดี แต่ถ้าเคลมไม่ได้ให้ปฏิบัติตามทางเลือกข้อ 1

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความจักรยานที่เกี่ยวข้อง