ss

27 ก.ย. 2553

ประเภทและการเลือกใช้ยางเสือภูเขา

สำหรับยางที่ใช้ในจักรยานเสือภูเขานั้นจะแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
   1. แบ่งตามประเภทของการใช้งาน
   2. แบ่งตามลักษณะทางกายภาพของยาง


       1. แบ่งตามประเภทของการใช้งาน ได้แก่ ทางขรุขระ ทางโคลน ทางเรียน นักปั่นจักรยานที่ชอบขี่ไปในแทรกทางขรุขระ ทางลูกรังที่เป็นทางที่แห้ง ก็ควรใช้ยางที่มีดอกยางบั้งถี่ ๆ ซึ่งจะช่วยในการยึดเกาะได้ดี ถ้าหากวันไหนจะต้องไปลุยกับโคลนพื้นเฉอะแฉะเป็นดินเหนียว ยางที่ใช้ก็ควรจะมีดอกยางที่ห่างซึ่งจะช่วยในการสะบัดโคลนไม่ให้ติดยางมากเกินไป และส่วนใหญ่ขี่บนถนนทางเรียบเป็นส่วนใหญ่ ก็ให้เลือกใช้ยางที่ไม่มีดอกยาง (ยาง Slick) และถ้าผิวถนนมีน้ำหรือฝนตกก็ให้เลือกใช้ยางที่มีดอกยางละเอียด (Semi Slick) ซึ่งดอกยางที่ละเอียดจะช่วยรีดน้ำและช่วยในการยึดเกาะกนนที่เปียกน้ำได้ดีครับ และยางอีกประเภทคือยางที่ใช้กับยางเสือภูเขาประเภทดาวน์ฮิลล์ ซึ่งจะมีดอกยางที่ใหญ่มากเป็นพิเศษ เพื่อรองรับการกระแทกและช่วยในการยึดเกาะในการลงมาจากที่สูง
2. แบ่งตามลักษณะทางกายภาพของยาง ซึ่งแบ่งได้อีก 4 ประเภทดังนี้
     2.1 ยางขอบแข็งหรือที่เราชอบเรียกกันว่ายางงัด เป็นยางยุคบุกเบิกเริ่มแรกที่ใช้ในจักรยานจนถึงปัจจุบัน โดยขอบของยางจะมีความแข็งซึ่งขอบของยางชนิดนี้จะทำด้วยเส้นลวด ข้อเสียของยางงัดคือมันมีน้ำหนักมากถอดเปลี่ยนลำบาก ต้องมีอุปกรณ์ในการช่วยงัดยางออกมา เปลืองเนื้อที่ในการเก็บ พกพาไม่สะดวก มีโอกาสที่จะทำให้ยางในขาดได้ง่าย ตอนที่งัดยางกลับเข้าวงล้อ ข้อดีของยางงัด มีราคาถูก มีอายุการใช้งานทนทานกว่า
        2.2 ยางขอบอ่อนหรือยางพับ ซึ่งเป็นยางที่พัฒนาขึ้นมาใหม่จากยางยุคแรก ขอบของยางจะทำมาจากวัสดุที่มีความยึดหยุ่นสูง สามารถพับเก็บได้สะดวก มีน้ำหนักเบา ประหยัดเนื้อที่ในการเก็บ พกพาสะดวก ข้อเสียคือราคาแพงอายุการใช้งาน ความทนทานน้อยกว่าแบบแรก
        2.3 ยางนอกประเภทที่ใช้ยางใน ซึ่งก็เป็นแบบที่ใช้กันมานาน โดยจะมียางชั้นในทำหน้าที่กักเก็บลมเอาไว้ และมีจุกเติมลมโผล่ทะลุออกมาจากขอบล้อยาง ยางในจะทำหน้าที่คอยพยุงยางนอกให้ทรงตัวอยู่ได้ ข้อดีคือมีน้ำหนักพอประมาณ ราคาไม่แพง อัตราการซึมของลมมีน้อย
       2.4 ยางนอกประเภทที่ไม่ใช้ยางใน ทู๊ปเลส (Tube less) เป็นยางที่ไม่ใช้ยางในในการกักเก็บลม แต่ใช้ตัวมันเองและวงล้อในการกักเก็บลม ซึ่งจะใช้หลักการเดียวกันกับยางรถยนต์แต่เมื่อนำมาใช้ในรถจักรยานประสิทธิภาพในการกักเก็บลมจะด้อยกว่า เวลาใช้จะต้องเติมน้ำยากันรั่วซึมเข้าไปด้วย ข้อดีคือไม่ต้องเสียเวลามานั่งปะยาง เมื่อมีของแข็งแทงทะละยาง ก็ยังสามารถขี่ต่อไปได้ ข้อเสียคือมีน้ำหนักค่อนข้างมาก มีการรั่วซึมของลมยางค่อนข้างสูง และมีราคาแพง
           หวังว่าเพื่อน ๆ คงจะเลือกใช้ยางได้ถูกตามสถานการณ์ และกำลังทรัพย์ของแต่ละคนนะครับ

1 ความคิดเห็น:

  • ไม่ระบุชื่อ says:
    22/11/54 00:18

    มีการแนะนำอย่างนี้ดีมาก มือใหม่จะได้ถือเป็นแนวปฏิบัติ

    ขอบคุณ

แสดงความคิดเห็น

บทความจักรยานที่เกี่ยวข้อง