ss

27 ก.ย. 2553

ว่าด้วยเรื่อง “Bike Touring”

          ถ้าคุณคิดจะหอบผ้าผ่อนและของอีกมากมายนอกจากขวดติดจักรยานสองใบ ไปไหน ๆ พร้อมจักรยาน นั่นความความว่าคุณต้องขี่มันไกลเกินกว่า 100 ก.ม. แน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เข้ากับแนวความคิดของการขี่จักรยานท่องเที่ยวทางไกลหรือ “ไบค์ ทัวร์ริ่ง” นักจักรยานทั่วไปมองการขี่แบบทัวร์ริ่งว่ามันให้อะไร ๆ กับตัวเองได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการได้ผจญภัย ได้สัมผัสความตื่นเต้น ได้ค้นพบสิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ ได้ผลักดันตันเองให้ออกนอกกรอบความสามารถเดิม ได้เพื่อนใหม่ ๆ ความคิดทำนองนี้สามารถเป็นจริงได้ถ้าคุณหลีกเลี่ยงให้ห่างจากความผิดพลาดต่าง ๆ อันจะทำให้การขี่จักรยานท่องเที่ยวหมดรสชาติ
           ถ้าคุณเกิดความคิดว่าอยากจะปั่นแบบทัวร์ริ่งแบบค่ำไหนนอนนั่น กลเม็ดที่จะได้อ่านเหล่านี้จะช่วยเป็นแนวทางให้คุณได้ คุณจะรู้วิธีการแพ็คของและการขี่ที่ถูกต้องเพื่อการท่องโลกกว้างไม่แน่ว่าหลังจากพิชิตเส้นทางข้ามจังหวัดหลังจากอ่านบทความชิ้นนี้ไปแล้ว คุณอาจเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้เดินทางรอบโลกด้วยจักรยานคันเดียว
           ฝึกร่างกายให้แกร่งก่อนออกทัวร์ : นักจักรยานบางคนคิดว่าตัวเองจะขี่จักรยานให้เข้าที่ได้ในสัปดาห์แรกของการออกทัวร์ ประมาณว่าขี่ไปเรื่อย ๆ ไม่เร่งร้อนมันก็จะแกร่งของมันเอง ทำเช่นนั้นมันก็ได้แต่คงไม่สนุกเพราะคุณไม่มีทางรู้เลยว่าจะทนทานได้แค่ไหนตลอดระยะทาง วิธีที่ฉลาดกว่าคือให้เริ่มฝึกขี่ทางไกลก่อนเดินทางจริง 3 เดือน เป็นอย่างน้อย ถ้าคุณเริ่มจากไม่ทราบวิธีการอะไรเลยสักอย่างก็ให้ขี่จักรยานให้ได้วันละ 24 ก.ม. ขี่ให้ได้อาทิตย์ละสามครั้งแล้วเพิ่มเป็น 32 ก.ม. หลังจากขี่ไปแล้วห้าครั้ง ค่อย ๆ เพิ่มระยะทางขึ้นทีละน้อย
          เมื่อเริ่มคุ้นเคยจนรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา ทีนี้ก็เริ่มตรวจสอบเส้นทางที่จะใช้แล้วหาวันที่มีเวลาว่างมากที่สุด ถ้าเส้นทางที่จะใช้คือ 144 ก.ม. คุณก็ต้องขี่ตอนซ้อมให้ได้ 112 ก.ม. ไม่จำเป็นต้องขี่ให้เต็มระยะทางที่วางไว้ ที่สำคัญคือขี่ด้วยความเร็วและรอบขาที่ตัวเองสบายที่สุด เมื่อยหรือเหนื่อยเมื่อไรก็พักเพราะคุณไม่ได้แข่งกับใครนอกจากตัวเอง ในวันขี่จริงคุณอาจทำระยะทางได้มากเป็นสองเท่าจากระยะทางที่เคยทำได้ตอนซ้อมเสียอีก
          เตรียมใจให้พร้อม : นักจักรยานบางคนถอดใจก่อนหมดระยะทางเพราะท้อเสียก่อน ไม่ใช่ปัญหาด้านความแข็งแกร่งทางกายหรอกแต่เป็นเรื่องของใจมากกว่า คุณต้องทำใจให้ได้ ต้องพร้อมรับสถานการณ์อันยากลำบากและผ่านมันไปให้ได้ ต้องเชื่อมั่นในตนเองว่าทุกสิ่งจะดีขึ้นแน่ ๆ เมื่อคุณยังสู้ต่อ ทำนองว่าต้องสะกดใจตัวเองให้ได้แล้วมุ่งมั่น ทุกสิ่งจะประสบความสำเร็จเมื่อคุณไม่ถอย คำพูดว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น “ ยังใช้ได้เสมอ
          ฝึกขี่จักรยานพร้อมน้ำหนักบรรทุก : กลวิธีการขึ้น ลง และเดินเข็นจักรยานที่ได้ผลคือไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตามจักรยานต้องตั้งตรง ตั้งฉากกับพื้นดินอยู่เสมอเพื่อให้น้ำหนักสัมภาระกดลงตรง ๆ บนล้อทั้งคู่ หลักการนี้เป็นแนวคิดเดียวกับการยืนคร่อมหรือจูงมอเตอร์ไซค์หนัก ๆ คุณจะพบว่ายกมันตั้งตรงได้ยกหรือยกไม่ขึ้นเลยเมื่อล้มตะแคง แต่ถ้ายังคร่อมอานหรือลงมายืนโดยที่ตัวมอเตอร์ไซด์ยังตั้งอยู่ จะเข็นหรือเลี้ยวยังไงก็ไม่ยาก ไม่ค่อยต้องใช้เรี่ยวแรงเท่าไรก็พามอเตอร์ไซด์คันนั้นเคลื่อนที่ไปได้
          จักรยานพร้อมสัมภาระก็เช่นกัน ไม่ว่าจะขี่อยู่หรือลงมาจูงต้องทำให้มันตั้งฉากอยู่เสมอ โดยเฉพาะถ้าคุณไม่เคยใช้ตะแกรงขนของ เจ้าอุปกรณ์ชิ้นนี้จะทำให้การขี่จักรยานของคุณต่างไปจากเดิมแบบตัวเปล่า ๆ ราวฟ้ากับเหวเมื่อน้ำหนักที่กดทับมันจะทำให้สมดุลของจักรยานเปลี่ยนไป ทำให้บังคับทิศทางได้ยากขึ้น ทรงตัวก็ยาก อันหมายคามว่าเทคนิคการขี่ของคุณหลาย ๆ อย่างก็ต้องเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
           เมื่อมีน้ำหนักบรรทุกคุณต้องเผื่อระยะเบรกไว้เพราะแรงส่งจะทำให้มันไถลไกลขึ้น ต้องเพิ่มระยะเบรกให้ยาวกว่าเดิม การหักเลี้ยวเปลี่ยนทิศทางก็ยากและต้องระวังเมื่อเจอเส้นทางขรุขระ ให้มากกว่าเดิม เพื่อลดแรงกระแทกกับล้อ คุณอาจจะขี่ไต่ที่สุดได้ไม่ดีนักเมื่อลุกยืนจากอาน ดังนั้นจึงควรนั่งและพยายามปั่นเกียร์เบาที่สุดไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่ตอนที่ขึ้นที่สูงเท่านั้น ที่จะก่อปัญหาให้ ขาลงก็ยิ่งอันตรายเพราะน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจะทำให้จักรยานพุ่งลงเนินมาเร็วกว่าตัวเปล่า ๆ ยิ่งต้องเผื่อในเรื่องต่าง ๆ ไว้มากทั้งระยะเบรกและระยะเลี้ยว ต้องมองให้ไกลขึ้นเพื่อตัดสินใจหยุดหรือเปลี่ยนทิศทางก่อนเป็นอันตราย อาการที่เกิดบ่อยเพราะน้ำหนักบรรทุกคือจักรยานจะเป๋ไปมาแฮนด์ส่ายควบคุมไม่ได้ คุณลดอาการนี้ได้ทั้งด้วยการเร่งความเร็ว ชะลอความเร็วและโน้มตัวไปข้างหน้าให้น้ำหนักกดแฮนด์ไว้ จะช่วยลดอาการส่ายได้ มีอยู่บ่อย ๆ ทีพวกมือโปรแนะว่าให้หนีบท่อบนของเฟรมไว้ให้แน่นระหว่างขาทั้งคู่ เพราะเมื่อแฮนด์ส่วนเฟรมก็จะส่ายตาม ถ้าหนีบเฟรมไว้ให้นิ่งได้อาการส่ายและสั่นก็จะลดจนทำให้คุณกลับมาควบคุมทิศทางได้อย่างเดิม
          เพิ่มความสบายให้มากที่สุดในจุดสัมผัส : จุดสัมผัสในที่นี้คือจุดที่ร่างกายสัมผัสกับจักรยาน มีทั้งหมด 3 จุดคือ อาน บันได และปลายแฮนด์ทั้งซ้ายขวา เริ่มที่อาน ต้องให้อานนั่งได้สบายที่สุด ไม่ได้หมายความว่าอานนั้นต้องบุเจลหรือฟองน้ำเสียนุ่มนิ่ม ความนุ่มไม่ใช่คำตอบของความสบายเสมอไป เพราะระหว่างขี่น้ำหนักตัวคุณจะกดลงบนอานตลอดเวลา ไม่ว่าจะนุ่มแค่ไหนถ้าขี่ไกลก็ก่อความรำคาญได้ไม่แพ้อานเล็ก ๆ อานที่ดีสำหรับขี่ทางไกลคืออานที่คุณใช้แล้วสบายก้นมากกว่าอานเน้นที่นิ่มอย่างเดียว และไม่ควรจะประกอบอานใหม่กับจักรยานช่วยก่อนออกทัวร์ ถ้าอยากใช้อานใหม่ที่เข้าใจว่าสบายควรประกอบมันก่อนออกทัวร์สัก 2-3 สัปดาห์ ขี่ซ้อมกับมันเพิ่มความคุ้ยเคยก่อน
           นอกจากอานนั่งสบายแล้ว ส่วนประกอบอื่น ๆ คือการสวมกางเกงสะอาดทุกวัน และใช้สารหล่อลื่นหนังชามัวร์รองก้นเพื่อป้องกันการเสียดสี สำหรับมือคุณนั้นการใช้ถุงมือเสริมฟองน้ำช่วยลดอาการนิ้วชาและฝ่ามือด้านได้มาก แต่ก็ยังจำเป็นต้องเปลี่ยนตำแหน่งการวางมือบ่อย ๆ ด้วยเหตุนี้รถทัวริ่งแท้ ๆ จึงทำแฮนด์เหมือนเสือหมอบเพราะมีตำแหน่งการวางมือมาก ทั้งบน ข้าง และด้านล่างสุดของโค้ง จะใช้แอโร่บาร์ติดแฮดน์ด้วยก็ไม่ผิดกติกาเผื่อพักข้อศอกเมื่อเมื่อย
           สำหรับเท้าซึ่งเป็นจุดสัมผัสสัมคัญเพราะเป็นตัวขับเคลื่อนบันได เมื่อจะขี่แบบทัวริ่งคุณควรเลือกใช้รองเท้าคลิปเลสของเมาเท่าไบค์ หรือจะใช้รองเท้าคลิปเลสแบบทัวร์ริ่งโดยเฉพาะก็ได้ ข้อสำคัญคือพื้นต้องไม่แข็งเกินจนเดินไม่ไหว เพราะการขี่แบบทัวร์ริ่งนี้บางครั้งต้องลงจากรถมาเข็นเมื่อพบสิ่งกีดขวาง ถ้าใช้รองเท้าคลิปเลสแบบเสือหมอบแท้ ๆ จะเดินยากมากเพราะมันไม่ได้ออกแบบมาให้คนขี่ลงจากจักรยานมาเข็น
ขนไปแต่ของที่จำเป็น : น้ำหนักสัมภาะไม่ควรเกิน 18 ก.ก.
รับประทานอาหารให้พอ เฉลี่ยน้ำหนักตัวให้ดี
หลีกเลี่ยงการบดเฟืองเมื่อเปลี่ยนเกียร์ และใช้เบรกหน้า วิธีการเบรกหน้าที่ถูกต้องคือต้องเบรกหลังก่อนค่อย ๆ เพิ่มแรงบีบที่เบรกหน้าทีละนิด จะช่วยให้หยุดจักรยานได้ดีกว่าใช้เบรกหลังอย่างเดียว
          ทั้งหมดนี้น่าจะช่วยให้คุณมีแนวทางตัดสินใจก่อนออกปั่นทางไกล เมื่อคุณเดินทางไกลด้วยจักรยานจริง ๆ นั่นแหละคุณอาจจะพบอะไรที่เป็นประโยชน์มากกว่าที่แนะนำไปก็ได้

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความจักรยานที่เกี่ยวข้อง