ss

17 ต.ค. 2553

Trick&Tips : การปรับเซตรถให้เข้ากับรูปร่างของคนขี่

การปรับเซตรถให้เข้ากับรูปร่างของคนขี่



          คนเรานั้นมีขนาดตัวและรูปร่างที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเลือกสวมใส่เสื้อผ้าและสิ่งของเครื่องใช้จึงต้องมีการเลือกให้เหมาะสมกับรูปร่างและขนาดของร่างกาย ทำให้ผู้ผลิตสินค้าที่มีขนาดแตกต่างกันออกมาจำหน่าย เพื่อให้เหมาะสมกับร่างกายของผู้ใช้ จะได้ใช้งานอย่างถูกต้อง
           จักรยานก็เช่นเดียวกันกับเสื้อผ้าครับ มีการผลิตขนาดของตัวถังให้มีขนาดที่แตกต่างกันออกมาจำหน่าย เพื่อให้เหมาะสมกับขนาดของร่างการผู้ใช้งานที่มีขนาดและรูปร่างที่แตกต่างกัน หลายท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมจะต้องเลือกขนาดของจักรยานให้เหมาะสมกับร่ายการของตัวเองด้วย ทั้งที่เสื้อผ้าบางทีใส่หลวม ๆ ก็ทำให้สวมใส่สบายเลย แล้วการเลือกจักรยานทำไมจะเลือกหลวม ๆ บ้างไม่ได้ ทำไมต้องเลือกให้พอดี
          การเลือกจักรยานให้พอดีกับร่างกายนั้นจะช่วยให้การขี่และควมคุมรถเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสามารถขี่ได้อย่างยาวนานโดยไม่เกิดอาการเมื่อยล้าได้ง่าย นอกจากจะเลือกขนาดของจักรยานให้พอพีกับร่างกายแล้ว ยังต้องมีการปรับแต่งจักรยานให้เข้ากับร่ายกายอีก เพื่อให้การขี่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
           ร่างกายของคนเรานั้นนอกจากจะมีความสูง – ต่ำที่แตกต่างกันแล้ว ยังมีตัวแปรหลัก ๆ อีกสองตัวที่เราต้องนำมาใช้ในการพิจารณาในการเลือกขนาดตัวถึงคือ ระยะช่วงขากับระยะลำตัว ซึ่งตัวแปรทั้งสองนั้นจะไปสัมพันธ์กับตัวแปรหลักสองตัวของตัวถังคือ ความยาวท่อนั่งกับความยาวท่อบน ช่วงขาเป็นตัวแปรหลักในการเลือกขนาดของตัวถังมาใช้ คนที่มีความสูงเท่า ๆ กันอาจจะมีช่วงขาที่แตกต่างกันได้ ตัวอย่างเช่น นาย ก. มีความสูง 170 ซม. แต่มีช่วยลำตัวที่ยาวมาก (กระดูกสันหลังยาว) ทำให้นาย ก. มีช่วงขายาวเพียง 70 ซม. (ค่าสมมุติ) ขณะที่ นาย ข. มีความสูงของร่างกาย 170 ซม. แต่มีช่วงลำตัวที่สั้น ทำให้นาย ข. มีช่วงขายาวถึง 90 ซม. (ค่าสมมุติ) ค่าความยาวช่วงขา 70 ซม. ของนาย ก. และค่าความยาวช่วงขา 90 ซม. ของ นาย ข. จะถูกใช้เป็นตัวแปรหลักในการเลือกขนาดของตัวถัง ซึ่งจะเห็นว่าแม้ทั้งสองจะมีความสูงเท่ากัน แต่ในการเลือกขนาดตัวถังนั้น นาย ก. จะใช้ตัวถังที่มีขนาดเล็กกว่า นาย ข. เพราะว่ามีช่วงขาสั้นกว่า ทั้งที่ทั้งสองคนมีความสูงเท่ากัน
          อีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องเลือกขนาดรถให้พอดีตัวก็คือ การเลือกรถที่มีขนาดเล็กเกินไป จะทำให้ต้องทำการชักหลักอานขึ้นสูงเพื่อที่จะได้ตำแหน่งการนั่งขี่ที่พอดี เป็นผลให้การยึดเบาะมีความแข็งแรงมากกว่า การวัดขนาดความยาวท่อนั่งของตัวถังจะมีการวัดอยู่สองมาตรฐานคือ การวัดแบบวัดจากท่อกะโหลกถึงปากท่อของท่อนั่ง (Center to top) และการวัดแบบวัดจากท่อกะโหลกถึงจุดกึ่งกลางของท่อบน ที่จุดเชื่อมต่อของท่าบนกับท่อนั่ง (Center to Center) สรุปสั้น ๆ ก็คือความยาวช่วงขาจะเป็นตัวแปรหลักในการเลือกว่าจะขี่รถขนาดเท่าไร ตัวแปรตัวที่สองที่นำมาพิจารณาในการเลือกขนาดของตัวถังคือความยามของท่อบน ซึ่งจะมีการวัดอยู่สองแบบคือการวัดแบบความยาวท่อบนจริง (วัดความยาวของท่อบนระหว่างจุดกึ่งกลางของท่อนั่งโดยวัดขนานพื้น) ความยาวของท่อบนของตัวถังจะสัมพันธ์กับความยาวของช่วงลำตัวของผู้ขี่อย่างพอดีเหมาะสม ตัวถังที่มีขายอยู่ในท้องตลาดอาจจะมีขนาดความยาวท่อนั่งที่เท่ากัน แต่จะมีขนาดความยาวของท่อบนที่แตกต่างกันตามมิติของรถแต่ละยี่ห้อ ตัวอย่างเช่น รถยี่ห้อ T มีท่อนั่งยาว 16 นิ้ว มีท่อบนยาว 19 นิ้ว และรถยี่ห้อ G มีท่อนั่ง 16 นิ้วเท่ากัน แต่มีท่อบนยาว 21 นิ้ว หากพิจารณาดูที่ท่อนั่งจะพบว่า รถทั้งสองยี่ห้อเหมาะกับช่วงขาของคนขี่คนเดียวกัน แต่ถ้าคนขี่ช่วงตัวสั้นเขาจะเหมาะกับรถยี่ห้อ T หรือหากคนขี่มีช่วงตัวยาวเขาจะเหมาะกับรถยี่ห้อ G การเลือกตัวถังที่มีความยาวท่อบนเหมาะสมกับช่วงตัวจะทำให้ใช้คอแฮนด์ที่มีขนาดความยาวพอดี ไม่สั้นไม่ยาวเกินไป
           การเลือกตัวถัง เป็นสิ่งที่สำคัญอันดับแรกในการปรับรถให้เข้ากับร่างกาย เพราะขนาดและมิติของตัวถังเป็นตัวแปรหลักในการปรับรถเข้ากับร่างกาย หากเลือกตัวถังได้เหมาะสมกับร่างกายแล้ว การปรับอย่างอื่นก็สามารถทำได้ง่ายเมื่อเราเลือกตัวถังได้แล้ว ขั้นต่อไปจะเป็นการปรับส่วนอื่น ๆ ดังนี้
1. ปรับความสูงของเบาะ
          ความสูงของหลักอานจะสัมพันธ์กับความยาวของช่วงขา โดยทั่วไปจะมีสูตรในการปรับคร่าว ๆ ว่าความสูงเขาเบาะวัดจากจุดศูนย์กลางกะโหลกถึงระนาบเบาะ = 0.883 X ความยาวช่วงขา ตัวอย่างเช่น ผู้ขี่มีความยาวช่วงขา 82 ซม. จะต้องปรับความสูงของเบาะประมาณ 82 X 0.003 = 72.4 ซม. ซึ่งสูตรนี้เป็นการคำนวณความสูงของเบาะสำหรับผู้ขี่ทั่ว ๆ ไป ผู้ขี่อาจจะปรับเบาะให้สูงหรือต่ำกว่าค่าที่คำนวณได้ อีกนิดหน่อยตามรสนิยมการขี่
2. การเลื่อนเบาะไปข้างหน้า – หลัง
           หลักอานที่มีขายในท้องตลาดจะมีทั้งแบบตรงแบบเยื้องหลัง เราจะรู้ได้อย่างไรก็จะต้องปรับเบาะไว้ตรงไหน ซึ่งขั้นตอนการปรับเบาะนี้จะมีความสำคัญเป็นอย่างมากกับการกำหนดตำแหน่งการขี่ เพราะจะมีผลในการวางตำแหน่งเท้าเพื่อกดบันไดรถ ซึ่งการหาตำแหน่งเบาะบนหลักอานจะมีวิธีหาง่าย ๆ ดังนี้คือ
           2.1 ยึดรถไว้บนเทรนเนอร์ หนุนล้อหน้าให้ตัวรถขนาดกับพื้น
           2.2 ให้ผู้ขี่นั่งบนตัวรถ ใช้เท้ากดบันไดให้บันไดอยู่ในตำแหน่ง 9 และ 15 นาฬิกา หรือให้บันไดขนานพื้น ปรับตำแหน่งเท้าให้นิ้วก้อยกดพาดเลยแกนบันไดไปด้านหน้าเล็กน้อย แล้วปรับท่านั่งบนเบาะให้สบาย ๆ
           2.3 ให้ผู้ช่วยใช้ ตุ้มถ่วงน้ำหนักทิ้งดิ่งเพื่อวัดระดับแนวหัวเข่ากับแกนบันไดโดยวัดกับขาที่กำลังกดบันไดด้านหน้า
           2.4 ตำแหน่งของแนวเชือกที่วัดได้ควรจะอยู่พอดีหรือห่างจากแกนบันไดไปด้านหน้าไม่เกิน 6 ซม. (ระยะที่แนะนำคือ 4 ซม.)
           2.4.1 ถ้าวัดแล้วแนวเชือกตกอยู่หลังแกนบันไดให้เลื่อนเบาะไปด้านหน้า
           2.4.2 ถ้าวัดแล้วแนวเชือกตกอยู่ก่อนแกนบันไดเกิน 6 ซม. ให้เลื่อนเบาะไปด้านหลัง
3. การปรับระดับเบาะก้มหรือเงย
          โดยทั่วไปแนะนำให้ปรับเบาะขนานพื้น การปรับด้านหน้าเบาะเชิดขึ้นจะทำให้การขึ้นลงรถทำได้ลำบาก แต่การปรับด้านหน้าเบาะก้มลงนิดหนึ่งจะช่วยให้การขึ้นลงรถทำได้ง่ายขึ้น
4. ตำแหน่งเท้า
          สำหรับคนที่ใช้บันไดแบบคลิปเลสควรจะปรับตั้งตำแหน่งครีทให้เหาะสมเมื่อกดล็อกรองเท้ากับบันไดแล้วให้พื้นเท้าส่วนหน้ากดทับแกนบันได้ตรงกลาง ประมาณว่าแนวแกนบันไดอยู่หลังนิ้วก้อยของเท้าเล็กน้อยตามความเหมาะสม นอกจากนั้นยังต้องทำการปรับตำแหน่งครีทใต้รองเท้าให้ง่ายต่อการบิดเท้าปลดครีทเพื่อที่เวลาปลดเท้าออกจากบันไดจะได้ทำได้สะดวกไม่ต้องบิดเท้ามากเกินไป
5. ความยาวของขาจาน
          ความยาวของขาจานจักรยานเสือภูเขาโดยทั่วไปในบ้านเราจะนิยมใช้สองขนาดคือ 170 มม. กับ 175 มม. ซึ่งความยาวขาจาน 170 มม. เหมาะสำหรับผู้ที่สูงน้อยกว่า 165 ซม. หรือผู้ที่ต้องการใช้รอบขาสูง และความยาวขาจาน 175 มม. เหมาะสำหรับผู้ที่มีความสูง 165 ซม. ขึ้นไป
6. มิติของวงเลี้ยว
          ในขั้นตอนนี้ให้ขึ้นไปนั่งบนรถแล้วทดลองขี่แล้วทำการเลี้ยวดูว่าเวลาแล้วมือที่จับแฮนด์ติดหัวเข่าหรือเปล่า ซึ่งหากติดอาจจะทำให้วงเลี้ยวของท่านทำได้แคบ วิธีแก้คือการใช้คอแฮนด์ที่ยาวขึ้น
7. ตำแหน่งและความสูงของคอแฮนด์
          การปรับคอแฮนด์สามารถทำได้สามอย่างคือการเลือกใช้คอแฮนด์ที่มีความยาวต่างกัน การเลือกใช้คอแฮนด์ที่มีความยาวต่างกัน การเลือกใช้คอแฮนด์ที่มีองศาการก้มหรือเงยต่างกัน และการรองแหวนเพื่อปรับระดับความสูงต่ำของคอแฮนด์ ซึ่งการปรับในส่วนนี้จะมีผลต่อมุมของการก้มซึ่งก็จะมีผลต่อการถ่ายน้ำหนักตัวลงไปยังล้อรถขณะขี่ หากเลือกใช้คอแฮนด์ยาวไปอาจจะทำให้ต้องก้มมากส่งผลให้ปวดหลัง หรือหากใช้คอแฮนด์สั้นไปอาจจะทำให้หลังตั้งมากไป น้ำหนักถ่ายไปอยู่ที่ล้อหลังมาก เวลาขี่แล้วรถไม่พุ่ง (หากนึกไม่ออกให้นึกถึงการขี่รถจ่ายจับข้าวที่หลังตั้งตรงครับ)
8. ชนิดของแฮนด์และความกว้างของแฮนด์
          ปัจจุบันแฮนด์ยกได้รับความนิยมใช้กับเป็นอย่างมากเพราะว่าทำให้การควบคุมรถทำได้ง่ายกว่า ซึ่งแฮนด์ยกมีหลายระดับการยก ส่วนแฮนด์ตรงนั้นแม้จะมีการควบคุมรถที่ยากกว่านิดหน่อยแต่ให้ประสิทธิภาพการขี่ที่ดีกว่า ในการซื้อแฮนด์มากจะมีความกว้างมาตรฐาน ซึ่งหากผู้ขี่มีรูปร่างเล็กจะต้องมีการตัดปลายแฮนด์ออก เพื่อที่จะทำให้การควบคุมรถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนขนาดความกว้างของแฮนด์นั้น โดยทั่วไปจะให้แฮนด์กว้างกว่าช่วงหัวไหล่ของผู้ขี่เล็กน้อย
9. การปรับมุมของบาร์เอ็น
          การปรับมุมของบาร์เอ็นให้ทำการปรับอยู่ที่มุมเงยประมาณ 21 -45 องศา ให้มีความสะดวกในการจับเมื่อยืนขี่
10. การปรับมุมเบรก
          การปรับมุมเบรกโดยทั่วไป ให้ปรับในแนวเดียวกับแนวแขนของผู้ขี่ขณะจับแฮนด์หรือหากผู้ใช้จับแล้วไม่ถนัดก็สามารถปรับมุมของมือเบรกให้ก้มหรือเงยมากกว่านั้นเล็กน้อย


เป็นยังไงบ้างครับกับ 10 จุดในการปรับรถให้เข้ากับตัว ซึ่งมีหัวใจหลักอยู่ที่การเลือกขนาดตัวถังให้เหมาะสมกับตัว หากเลือกตัวถังได้เหมาะสมแล้ว การปรับรถให้เข้ากับตัวก็ทำได้ง่าย การปรับรถให้เข้ากับตัวไม่มีอะไรตายตัว สามารถยืดหยุ่นตามรสนิยมและความพอใจของผู้ขี่ ซึ่งก็จะช่วยให้ท่านสามารถขี่รถของท่านได้เป็นเวลานาน ๆ โดยไม่ปวดเมื่อยหรืออาจจะมีปวดเมื่อยบ้างก็ในช่วงปรับตัวแต่เมื่อปรับตัวแล้วก็จะทำให้ท่านขี่รถได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความจักรยานที่เกี่ยวข้อง