ss

17 ก.ย. 2554

ปฏิวัติการซ้อมด้วย Power Tap

ถึงยุคของการพัฒนาด้านการฝึกซ้อมปั่นจักรยานกันอย่างเต็มขั้นด้วยการปั่นที่รู้ขอบเขต เป้าหมายที่ยากเกินจะไปถึง อาจไม่ใช่ฝันอีกต่อไป  ปัจจุบันการฝึกซ้อมเพื่อเป้าหมายในแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป บางคนเพื่อการแข่งขัน บางท่านเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง หรือแม้บางกลุ่มขอเพียงแค่ ออกทริปกับเพื่อน ๆ ได้อย่างสนุกสนานก็พอ แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทุกคนต่างมุ่งหวังให้ตนแข็งแรงขึ้นกว่าเดิม หากมีอุปกรณ์ที่สามารถทำให้เราแข็งแรงขึ้น ในแบบที่เหมาะสมกับลักษณะการปั่นของเรา แล้วยังเป็นเสมือนโค้ชที่ดูแลการฝึกซ้อมแบบเป็นขั้นตอน คุณว่ามันน่าสนไหมล่ะ เจ้าสิ่งที่ว่านี้ก็คือ “Power Tap”

Power Tap เกิดจากการคิดค้นของบริษัท Cycle Ops ที่ระดมเหล่านักวิทยาศาสตร์ด้านกีฬาและนักกีฬาชั้นแนวหน้าของโลกเพื่อมุ่งหวังให้ศักยภาพในด้านการใช้พละกำลัง ถูกนำมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หลักการทำงานนี้ถูกเรียกว่า Watt ซึ่ง วัตต์ นี้คือพลังงานที่เกิดจากแรงกระทำของกล้ามเนื้อ ส่งถ่ายไปสู่เครื่องรับที่เราเรียกมันว่า Power Meter ซึ่งเจ้าตัวหาค่าวัตต์ในปัจจุบัน มีหลายรูปแบบ วัดค่าจากขาจาน,กะโหลก,ลูกบันไดหรือดุมล้อ แต่ตัวที่มีค่าเฉลี่ยแน่นอนและได้รับความนิยมมากที่สุดคือแบบขาจาน และแบบดุม ในแบบขาจานมีราคาค่อนข้างแพง และจำกัดเพียงแค่รถเพียงคันเดียว ทำให้ไม่เหมาะกับการนำมาฝึกซ้อมในแบบชีวิตประจำวัน การวัดค่าจากดุม จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมในเรื่องลักษณะการใช้งาน อีกทั้งราคาก็ยังไม่แพงจนเกินไป

Power Tap เป็น Power Meter ที่วัดค่าจากดุมล้อหลังของจักรยาน ด้วยการทำงานแบบไร้สาย 2.4GHz ถ้าจะถามว่ามันดีกว่าเครื่องมือที่เรารู้จักอย่างเช่น ไมล์วัดความเร็ว ,ไมล์วัดรอบขา,ตัววัดชีพจร จริงหรือ ตอบ จริงครับ เพราะการทำงานทั้ง 3 อย่าง ความเร็ว รอบขา หัวใจ อาจเพียงพอกับความต้องการในแบบพื้นฐาน ซึ่งแตกต่างจากการทำงานของ Power Tap ที่คลอบคลุมทั้ง 3 อย่างเข้าด้วยกันและเพิ่มจุดขายที่เกิดจากแรงกระทำ

ไม่ว่าจะเป็นการออกแรงเหยียบหรือออกแรงกด ไปบนลูกบันได พลังงานทั้งหมดก็จะถูกส่งถ่ายทอดออกมาสู่หน้าจอ เรียกว่าวัตต์ แล้วเจ้าวัตต์มันดีกว่ายังไง การฝึกซ้อมแบบทั่วไป ง่ายที่สุดคือดูความเร็วในขณะปั่นกับความเร็วเฉลี่ยหลังปั่นเสร็จ ดีขึ้นมาหน่อยก็ดูอัตราการเต้นของหัวใจควบคู่ไปกับความเร็วที่ใช้อยู่ เหนื่อยก็ลดความเร็วลง หายเหนื่อยก็เร่งขึ้นไป หรือแม้แต่ผู้ที่จริงจังขึ้นมาอีกนิด คิดถึงเรื่องค่าเฉลี่ยเป็นหลัก เช่น หัวใจเฉลี่ย ความเร็วเฉลี่ย ซึ่งก็เป็นวิธีที่ถูกต้อง แต่ยังไม่ดีที่สุด เนื่องจากการทำงานของหัวใจในแต่ละวัน อาจมีการคาดเคลื่อนได้จากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น การพักผ่อนน้อย การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ฯลฯ ส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจในวันที่ฝึกซ้อมสูงกว่าปกติ ดังนั้นการซ้อมในค่าเฉลี่ยเดิมคงไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ แล้วความเร็วเฉลี่ยล่ะเกี่ยวข้องกันยังไง “ลม” คือศัตรูตัวฉกาจของจักรยาน เป็นไปไม่ได้ที่ลมจะเหมือนกันทุกวัน ทิศทางลมก็แตกต่างเอาแน่เอานอนไม่ได้เกี่ยวข้องไปถึงรอบขาที่ใช้ ก็ยากที่จะคุมให้อยู่ในรอบที่คุ้นเคย ต่อให้เราดูอัตราการเต้นของหัวใจควบคู่ไปด้วยก็ตาม ดังนั้น การใช้พละกำลัง ซึ่งหมายถึง การออกแรงเหยียบไปบนลูกบันไดจึงเป็นทางออกของเรื่องนี้

เคยได้ยินคำว่า “หนึ่งแรงม้าเท่ากับ 746 วัตต์” กันบ้างหรือเปล่าครับ ใครพอได้ยินมาบ้างก็จะถึงบางอ้อเลยทีเดียว แรงม้าก็เปรียบเสมือนแรงคนนั่นเอง ซึ่งรถยนต์ที่แรง ๆ ก็ต้องมีแรงม้าเยอะ ๆ คนเราก็เช่นกัน นักปั่นระดับโลกอย่ากง มาร์ค คาเวนดิช เจ้าของเสื้อเขียน Tour de France 2011 คนล่าสุด ก็สามารถออกแรงสปริ๊นต์เรียกม้ามาใช้ได้ถึง 2 ตัวแบบเหลือ ๆ เลยทีเดียว เมื่อวัตต์เท่ากับการออกแรง คำว่าการเฉลี่ยแรงจึงเกิดขึ้น การเฉลี่ยแรง หมายถึง การออกแรงปั่นให้อยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ยวัตต์ที่เราทำได้ นั่นก็คือ การรู้จักตัวเอง ก่อนการรู้จักตัวเองก็ต้องมีการทดสอบร่างกายกับเจ้า Power Tap กันเล็กน้อย ซึ่งคู่มือการใช้งานจะมีให้มาด้วยและอธิบายการทำงานอย่างละเอียด หลังทดสอบจนทราบข้อมูลพื้นฐาน และวางเป้าหมายในการปั่น เจ้า Power Tap จะเป็นตัวควบคุม การออกแรงปั่นของเราให้อยู่ในค่าเฉลี่ยที่เราทำได้โดยดูตัวเลหน้าจอ ค่าวัตต์ ที่เป็นเปอร์เซ็นต์ หรือเป็น AV ตามแต่เราจะต้องการ ใช้ควบคู่กับอัตราการเต้นของหัวใจ รอบขา และความเร็ว ซึ่งคงจะไม่มองแล้วละครับว่า ความเร็วจะวิ่งเท่าไหร่ก็แล้วแต่ ลมจะแรงเท่าใดก็ไม่สน สนแต่ตัวเลขที่อยู่ด้านหน้าจอ มันต้องไม่เกินหรือต่ำกว่าที่เราทำได้ เรียกกันง่าย ๆ ว่าการเฉลี่ยแรง

เมื่อรู้ขีดจำกัดของร่างกาย รู้ระยะทำการของแรงที่ทำได้ เข้าใจถึงระยะเวลาของการปั่นที่เหมาะสม การพัฒนาก็เริ่มขึ้น พร้อมกับการบันทึกข้อมูลการฝึกซ้อมของตัวเราด้วยคอมพิวเตอร์จะถูกนำมาใช้ และโปรแกรมนี้ใช้เก็บข้อมูลการฝึกซ้อมที่มีชื่อว่า Power Agent จะช่วยให้เรารู้ขีดความสามารถในทุก ๆ ครั้งที่ออกปั่น และยังสามารถต่อยอดการพัฒนาในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งเป้าหมายของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป เริ่มออกดอกออกผล คนที่ไม่เคยรู้เลยว่าในหนึ่งชั่วโมง เราสามารถทดความเหนื่อยล้าได้ขนาดไหนก็จะเข้าใจและบริหารแรงอย่างถูกต้อง นักปั่นที่ต้องการหนีคู่แข่งในระยะเป้าหมายก็สามารถกำหนดระยะทางในแบบที่ตนทำได้ หรือแม้แต่ผู้ที่ต้องการเอาชนะตัวเอง เพื่อพิชิตเส้นทางที่ท้าทายก็สบายใจได้เมื่อมีเจ้า Power Tap อยู่เคียงข้าง

มันเหมือนกันว่าคุณมีโค้ชคอยติดตามตัวไปตลอดทุกที่ คำว่าหมดก่อนถึงหรือไปไม่รอดจะจางหายไปจากตัวผู้ฝึกซ้อม แชมป์ตูร์เดอฟร็องซ์ คนล่าสุดอย่าง ดาเดล อีแวนส์ ก็เริ่มจากการใช้ Power Tap ในการฝึกซ้อมและสามารถคว้าแชมป์โลกในปี 2009 ได้สำเร็จ  หากมองถึงอนาคตและคิดจะพัฒนาพละกำลังเพื่อเป้าหมายที่ใจต้องการ Power Tap อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ทำให้ชีวิตการปั่นของเรา ๆ ท่าน ๆ เป็นเรื่องที่สนุก และท้าท้ายความสามารถอย่างแท้จริง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความจักรยานที่เกี่ยวข้อง