ss

9 ธ.ค. 2554

ทางจักรยานในกรุงเทพฯ และพฤติกรรมแบบไทย ๆ ตอนที่ 2

ทางจักรยานในกรุงเทพฯ และพฤติกรรมแบบไทย ๆ ตอนที่ 2

การทำงานเพื่อส่งเสริมการใช้จักรยานของ กทม. นั้นมีให้เห็นมากที่สุดในยุคผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โดยมีการบรรจุเรื่องการส่งเสริมการใช้จักรยานไว้ในนโยบาย มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ “โครงการเรารักกรุงเทพฯ เรารักจักรยาน” โดยกรรมการส่วนมากเป็นตัวแทนชมรมจักรยานและผู้ขี่จักรยานในพื้นที่ต่าง ๆ มีหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านนโยบายเกี่ยวกับจักรยาน และมีความพยายามในการสร้างทางจักรยานบนถนนหลายสาย จนเมื่อหมดวาระผู้ว่าฯ อภิรักษ์ คณะกรรมการชุดนี้ก็สิ้นสภาพไปโดยปริยาย

ล่าสุด ผู้ว่าฯกทม. คนปัจจุบันคือ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ออกนโยบาย “9 มาตรการ สู่การขนส่งอย่างยั่งยืน” และ 1 ใน 9 มาตรการคือ พัฒนาเส้นทางจักรยาน  ส่วนทางจักรยานที่มีอยู่เดิม จากการสำรวจและพูดคุยกับผู้ใช้จำนวนมาก ทุกคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ทางจักรยานที่ว่านี้ สภาพเส้นทางส่วนใหญ่เหมาะกับการขี่จักรยานผจญภัยมากกว่าขี่จักรยานโดยปลอดภัย เนื่องจากเต็มไปด้วยอุปสรรคให้ผู้ใช้ต้องหลบหลีกและเอาตัวรอดพอ ๆ กับที่ต้องใช้ความระมัดระวังยานพาหนะประเภทอื่นบนท้องถนน

ศิระ  ลีปิพัฒนวิทย์  เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษา มูลนิธิโลกสีเขียว หนึ่งในคนกรุงเทพฯ ที่ขี่จักรยานจากบ้านไปทำงานเป็นประจำ เล่าว่าประสบการณ์ของเขาเกี่ยวกับทางจักรยานส่วนใหญ่ล้วนเป็นในแง่ลบ “บนผิวทางมีอุปสรรคมากมาย ตะแกรงท่อน้ำบนถนน ที่วางตามแนวล้อทำให้มีโอกาสที่ล้อจักรยานจะลงไปติดแล้วเกิดอุบัติเหตุ มีหลุมจำนวนมากซึ่งถ้ามันอยู่ตรงเชิงสะพานจะอันตรายมากเพราะหักหลบยาก วิ่งลงไปก็อาจล้ม รถสาธารณะบางคันก็ไม่เอื้อเฟื้อจักรยาน ขับปาดหน้า บีบแตรไล่ ทางจักรยานหลายจุดมีรถยนต์จอดทับ มีหาบเร่แผงลอย หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างจอดขวาง”

ศิระเป็นคนหนึ่งที่เห็นปัญหาและเขาไม่อยู่เฉย เขารวบรวมเพื่อนจากเครือข่ายเฟสบุ๊กทำกิจกรรมรณรงค์เรื่องทางจักรยานแล้วหลายครั้ง เพื่อพยายามแก้ปัญหาเหล่านี้ในนาม “กลุ่มผู้อยากขี่จักรยานอย่างปลอดภัย”  การรณรงค์ครั้งแรกคือรณรงค์ “ไม่จอดรถทับเลนจักรยาน” โดยศิระและเพื่อน ๆ ทำใบปลิวระบุข้อกฎหมายจราจรที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้จักรยานและข้อความรณรงค์ให้ผู้ใช้รถไม่จอดรถทับทางจักรยาน นำไปแจกตามจุดที่มีปัญหา โดยเขาเลือกทำกิจกรรมบนเส้นทางจักรยานบริเวณอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ และทางจักรยานบนถนนลาดหญ้า ผลคือใบปลิว หมาดภายในเวลาไม่ถึง 20 นาที จากวงเวียนใหญ่ไปสุดที่หน้าเซ็นทรัลลาดหญ้า นั่นหมายถึงระยะทาง 100 เมตร มีรถจอดทับทางจักรยานถึง 70 คัน

ต่อมาศิระรณรงค์ในพื้นที่เดิม แต่เปลี่ยนวิธีด้วยการหันมาสำรวจสิ่งกีดขวางบนทางจักรยานในถนน 4 สายรอบอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชคือ ถ.ลาดหญ้า ถ.อินทรพิทักษ์ ถ.ประชาธิปก และ ถ.สมเด็จพระเจ้าตากสิน ผลคือทางจักรยาน 8 กิโลเมตรบนถนน 4 สาย มีสิ่งกีดขวาง 483 อย่าง เฉลี่ยมีสิ่งกีดขวาง 60 อย่างต่อ 1 กิโลเมตร สิ่งกีดขวางที่ว่านี้มีสารพัด ตั้งแต่รถยนต์ หาบเร่แผงลอย ร้านก๋วยเตี๋ยว ตั้งโต๊ะกีดขวาง ถังขยะ ฯลฯ

แม้ พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 จะระบุชัดเจนว่าจักรยานเป็นพาหนะที่มีสิทธิ์ใช้พื้นผิวถนนเท่าเทียมกับพาหนะประเภทอื่น และตำรวจจะต้องดูแลทางจักรยานไม่ให้มีสิ่งกีดขวางก็ตาม สิ่งที่ศิระทำคือการสะท้อนภาพรวมสถานการณ์ทางจักรยานในกรุงเทพฯ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความจักรยานที่เกี่ยวข้อง