ss

9 ธ.ค. 2554

ทางจักรยานในกรุงเทพฯ และพฤติกรรมแบบไทย ๆ ตอนที่ 1

ทางจักรยานในกรุงเทพฯ และพฤติกรรมแบบไทย ๆ ตอนที่ 1

ข้อมูลล่าสุดจากสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กรุงเทพมหานคร ระบุว่า ถนนในกรุงเทพฯ มีความยาวรวมกัน 8,000 กิโลเมตร พื้นผิวถนนคิดเป็นร้อยละ 10 ของพื้นที่ทั้งหมด (1,568 ตารางกิโลเมตร) มีระบบขนส่งแบบรางร้อยละ 3 จากสัดส่วนระบบขนส่งมวลชนทั้งหมดและช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีการขยายเส้นทางร้อยละ 4 ของพื้นที่ทั้งหมด นี่คือหนึ่งในเงื่อนไขที่ทำให้การจราจรในกรุงเทพฯ เป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้
และก็เป็นที่ทราบกันดีว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน การเวนคืนที่ดินและการตัดถนนเพิ่มก็มีต้นทุนสูงและไม่คุ้มค่า ดังนั้นทางออกหนึ่งคือการสร้างระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ ซึ่งต้องใช้งบประมาณและเวลา อีกทางหนึ่งคือการส่งเสริมการใช้จักรยานซึ่งจะช่วยบรรเทาและแก้ไขสถานการณ์ได้มาก ด้วยจักรยานใช้พื้นที่บนท้องถนนน้อยกว่ารถยนต์ และการสร้างทางจักรยานนั้นมีต้นทุนไม่มากนัก

ศ.ดร.ธงชัย  พรรณสวัสดิ์ ให้ข้อมูลว่า ทางจักรยานโดยเฉลี่ยมีต้นทุนราว 8 แสนบาทต่อ 1 กิโลเมตร ขณะที่ต้นทุนตัดถนนอยู่ที่ 8 ล้านบาทต่อ 1 กิโลเมตร ต่างกันถึง 10 เท่า และผลในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก็คุ้มค่ากว่าการตัดถนนมาก กรณีศึกษาที่น่าสนใจที่สุดของบ้านเรา ในแง่ความพยายามสร้าง “ทางจักรยาน” เพื่อแก้ปัญหาการจราจรและปัญหาโลกร้อนในเมืองใหญ่ ดูเหมือนจะเป็นกรุงเทพมหานคร ด้วยผู้บริหารมีนโยบายเรื่องจักรยานปรากฏให้เห็นบ้าง แม้การดำเนินการจะไม่ชัดเจนและประสบอุปสรรคมาตลอด แต่เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นซึ่งนโยบายจักรยานมักอยู่ในขั้นตอน “ศึกษาวิจัย” ความพยายามเกี่ยวกับทางจักรยานในกรุงเทพฯ ก็ถือว่าเป็นรูปเป็นร่างที่สุด ที่ผ่านมา ผู้บริหาร กทม.เริ่มด้วยการเลือกสร้าง “ทางจักรยาน” ก่อนใช้มาตรการอื่นเพื่อจูงใจให้คนหันมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน

อรวิทย์  เหมะจุฑา  ผู้อำนวยการสำนักงานวิศวกรรมจราจร สจส. เล่าว่าเท่าที่มีบันทึก ทางจักรยานสายแรกของกรุงเทพฯ เกิดขึ้นเมื่อปี 2535 เป็นทางยกระดับเลียบคลองประปาฝั่งตะวันตก ปัจจุบันทางสายนี้ก็ยังอยู่ เพียงแต่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นฟุตบาท ขณะที่อาจารย์ธงชัยให้ข้อมูลอีกด้านว่าในความทรงจำของเขา ทางจักยานสายแรกอยู่ที่ถนนรามคำแหง เริ่มต้นตั้งแต่สี่แยกคลองตันไปถึงบริเวณสนามกีฬาหัวหมาก แต่ปัจจุบันหายไปแล้ว

เอกสารของ สจส. ยังให้ข้อมูลว่าหลังปี 2535 มีการสร้างทางจักรยานในกรุงเทพฯ เป็นระยะ แต่ไม่ต่อเนื่องล่าสุดปี 2553 กรุงเทพฯ มีทางจักรยาน “ที่อยู่บนถนนและทางเท้า” 25 เส้นทาง รวมระยะทาง 193 กิโลเมตร มีการทำจุดจอดรถจักรยานทั้งหมด 21,298 คัน (ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS 26 คัน) และมีโครงการสร้างทางจักรยานอีก 5 เส้นทางในปี 2554

ข้อมูลนี้บอกว่า กทม. ซึ่งมีงบประมาณนับหมื่นล้านบาทในแต่ละปี สร้างทางจักรยาน 193 กิโลเมตร (นับจากทางจักรยานสายแรก) โดยใช้เวลาทั้งหมดเกือบ 2 ทศวรรษ เทียบกับการขยายถนนไปทั่วเมืองภายในเวลาไม่กี่ปี ที่ผ่านมาการสร้างทางจักรยานจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. แต่ละยุค โดยในยุคผู้ว่าฯ พิจิตต รัตตกุล (2539-2543) และผู้ว่าฯ อภิรักษ์  โกษะโยธิน (2549-2551) มีการก่อสร้างทางจักรยานถี่กว่ายุคอื่น


อ่านต่อ >> ทางจักรยานในกรุงเทพฯ และพฤติกรรมแบบไทย ๆ ตอนที่ 2 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความจักรยานที่เกี่ยวข้อง