ss

2 ส.ค. 2553

ลงเขาให้เร็วอย่างมีชั้นเชิง


ลงเขาให้เร็วอย่างมีชั้นเชิง

นักจักรยานทั่วไปมักจะให้ความสำคัญกับการไต่เขา (ในความเป็นจริงคือเนิน คงไม่มีนักจักรยานคนไหนปั่นจักรยานขึ้นหน้าผาได้แน่)
เมื่อการขึ้นเขาได้เร็วกว่าเพื่อนถูกเน้นความสำคัญ จึงทำให้พวกเราหลายคนลืมความสำคัญในด้านตรงข้ามไป ซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน ไม่ได้ยิ่งหย่อนกว่ากันตรงไหน ถ้าคิดง่าย ๆ ก็คือแค่ปล่อยให้แรงโน้มถ่วงทำหน้าที่ของมันไปตามเรื่อง เราก็เพียงแต่ปั่นช่วยอีกนิดหน่อย เพราะยังไงทุกคนต่งก็ลงเขาได้เร็วอยู่แล้ว ไม่เห็นต้องใช้ความสามารถพิเศษ แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่อย่างนั้นหรอกครับ
ถ้าลงดี ๆ รู้จัดทำตัวให้ถูกต้องก็มีสิทธิ์ไล่ตามคนข้างหน้าทันแล้วแซงเข้าเส้นชัยได้เหมือนกัน พวกนักไต่เขาที่ว่าโปรดปรานตอนขาขึ้นมักจะกลัวช่วงขาลงพอ ๆ กัน เนื่องจากช่วยนี้เปิดโอกาสให้ใครก็ตามที่รอดจากการไต่ สามารถไล่กวดจนทันได้ยิ่งถ้าเส้นชันไม่ได้อยู่บนเขาด้วยแล้วพวกนักไต่หรือ “เจ้าแห่งขุนเขา” แทบไร้ความหมาย หมดสิ้นซึ่งความแตกต่าง ถ้าลงเขามาทันกันก่อนเข้าเส้นชัยได้ก็แทบไม่ต้องลุ้น ทั้งคนไต่เก่งและไม่ชอบไต่ต่างมีโอกาสชนะเท่ากัน
ทีนี้เห็นหรือยังว่าการลงเขาให้ดีนั้นสำคัญมาก ถ้าจะให้ครบเครื่องและเอาคู่ต่อสู้ได้แบบอยู่หมัด ก็น่าจะทำให้ได้ดีทั้งขึ้นและลงเขา และต่อไปนี้คือเทคนิค ที่จะนำมาถ่ายทอดให้พวกเราได้นำไปใช้กัน


วางท่าทางให้ดี เพื่อน้ำหนักสมดุล
เทคนิคนี้ทำได้ไม่ยาก เพียงแต่คุณต้องใช้สามัญสำนึกว่าถ้าจะลงให้เร็วต้องลู่ลม เช่นเดียวกับการทำความเร็วทางเรียบต้องทำร่างกายให้ต่ำที่สุดเพื่อไม่ให้ต้านลม ท่าเบสิกคือการจับที่ตำแหน่งต่ำสุดของแฮนด์ งอข้อศอกและพยายามหุบแขนเข้าหาลำตัว เมื่อมองจากข้างหน้าแล้วจะเห็นตัวคุณกับจักรยานเป็นก้อนเล็กที่สุด ถ้าคุณไม่ได้ปั่นลูกบันไดให้วางเท้าทั้งคู่ให้ขนานกับพื้นในตำแหน่ง 9 และ 3 นาฬิกา
ยกก้นขึ้นจากอานเล็กน้อยพร้อมกับก้มหัวให้มาก เพื่อให้ลู่ลมยิ่งขึ้น ตรงนี้คงต้องหาเวลาทดลองกันหน่อยเพื่อให้ได้ท่านทางที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด ลู่ลมที่สุด
“ คุณต้องวางน้ำหนักให้สมดุลที่สุดบนจักรยาน ถ้าเลื่อนตัวไปข้างหลังมากเกินไป ตัวจะไม่ค่อยก้มน้ำหนักจะกดที่ล้อหน้าน้อยและอาจจะพลาดได้ตอนเข้าโค้ง หรือถ้าก้มไปข้างหน้ามากเกินหรือว่าก้มต่ำเกินไป ล้อหลังก็จะแทบไม่มีน้ำหนัก ขาดความสมดุล
กลเม็ดคือการประมาณน้ำหนักตัวเองเพื่อสร้างสมดุลด้วยการเลื่อนตัวไปหน้า-หลัง เพื่อดูว่าน้ำหนักควรจะอยู่ตรงไหนถึงจะสมดุล รู้สึกว่าล้อทั้งคู่เกาะพื้นสนิทเมื่อใดนั่นแหละแจ็กพ็อตตำแหน่งที่สมดุลเป็นรากฐานของความเร็วเกิดขึ้นแล้ว

ร่างกายผ่อนคลายถ้าสังเกตให้ดีคุณจะพบว่าในการออกกำลังหรือฝึกอะไรที่เกี่ยวกับการใช้กำลัง แรกสุดคือต้องให้ร่างกายอยู่ในอิริยาบถผ่อนคลาย กล้ามเนื้อไม่เกร็ง เพื่อพร้อมจะให้งานในยามต้องการ กับการลงเขานี้ก็เหมือนกันที่คุณต้องผ่อนคลาย มันคือกุญแจสำคัญ เพราะการเกร็งหรือเครียดใด ๆ ก็ตามย่อมส่งผลสู่จักรยานโดยตรง ตรงนี้มันทำให้เกิด “วงจรอุบาทว์” เป็นทอด ๆ กล่าวคือเมื่อร่างกายแข็งเกร็งจะทำให้จักรยานควบคุมได้ยาก พอควบคุมได้ยากคุณก็จะเกร็งมากขึ้นไปอีก พอยิ่งเกร็งก็ยิ่งควบคุมได้ยากมากกว่าเดิม
เพื่อไม่ให้เกร็งคุณต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา คอยควบคุมตัวเองให้ผ่อนคลาย ทั้งขา แขน ลำตัวและหัวไหล่ ควบคู่ไปกับการงอเข่าและศอก พยายามอย่างให้ไหล่เกร็งและพยายามจับแฮนด์ให้หลวม ๆ เคล็ดลับตรงนี้ “เมื่อใดที่ไหล่เกร็งคุณก็เลี้ยวยาก พอเลี้ยวยากมันก็ควบคุณรถได้ยากตาม”
วิธีง่าย ๆ เพื่อให้เป็นไปตามคำแนะนำ คือการนึกภาพของหุ่นเชิดไร้เอ็นให้ได้ในหัว เจ้าหุ่นเชิดตัวนี้จะแกว่งแขนขาอย่างอิสระเพราะไม่มีแรงได ๆ มากระทำ นั่นแหละคือตัวคุณเมื่อยู่บนอานจักรยานขณะลงเขา

มองไกลไปข้างหน้า
รู้กันอยู่แล้วว่าตอนลงเขานั้นความเร็วต้องสูงกว่าทางเรียบหรือช่วงขึ้นเขา สิ่งต่าง ๆ ทั้งข้างหน้าและข้าง ๆ จะผ่านคุณไปเร็วมาก ไม่มีเวลาใส่ในในรายละเอียดและระวัง เมื่อทำทั้งสองอย่างนี้ไม่ได้ก็ไม่จำเป็นต้องทำ แต่คุณทำให้ดีที่สุดได้ด้วยการจ้องไกลไปข้างหน้า โดยเฉพาะพวกนักจักรยานสามสี่คนข้างหน้าคุณ การมองให้ไกลเช่นนี้ทำให้มีเวลาสำรวจพื้นถนนและร่องรอยต่าง ๆ มีเวลาเตรียมตัวหลบหลีก
ถ้าไม่ได้ขี่รวมกลุ่มก็ต้องจำไว้ว่ายิ่งลงเร็วยิ่งต้องมองไกลความเร็วทำให้สมองมีเวลาสั่งการน้อย มองไกลไว้ก่อนช่วยให้มีเวลาสำหรรับความปลอดภัยมากขึ้น อีกประการที่สำคัญมากไม่แพ้กันคือ ต้องพยายามให้เบรกให้เบาและน้อยครั้งที่สุด “ทันทีที่คุณกำก้ามเบรก น้ำหนักตัวจะโถมพุ่งไปข้างหน้า ถ้ามากเกินไปอาจตัดสินใจแก้ปัญหาไม่ทัน บางครั้งการไม่ใช้เบรกก็เป็นวิธีปลอดภัยที่สุดในช่วงขาลง” ดังนั้นจงมองให้ไกลเข้าไว้ก่อนเป็นอันดับแรกเพื่อคุณจะได้ไม่ต้องพึ่งเบรก โดยเฉพาะขาลงนั้นยิ่งใช้มันมากขึ้นเท่าไรยิ่งอันตรายเท่านั้น

เข้าโค้งให้เป็น
ความเข้าใจผิด ๆ ในการเข้าโค้งคือ “บางคนชอบเข้าโค้งเร็วแบบไม่แตะเบรก แต่ตอนออกจากโค้งความเร็วกลับลดลง” นั่นเพราะเมื่อเข้าโค้งเร็วแรงส่งจะจมไปกับแรงหนีศูนย์กลางช่วงกลางโค้ง นักจักรยานเสียแรงไปอีกส่วนเพื่อต่อต้านแรงหนีศูนย์นี้ไม่ให้ตัวเองหลุดโค้ง แนะนำว่า “นั่งไม่ใช่สิ่งที่คุณควรทำช่วงลงเขาเข้าโค้ง ต้องทำตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง”
เพื่อให้มองภาพออกง่ายขึ้น แนะนำให้ดูการแข่งมอเตอร์ไซค์ทางเรียบ คือ พวกที่ใช้มอเตอร์ไซค์แรงสูง ๆ แข่งกันในสนามทางเรียบเหมือนรถแข่งสูตร 1 นั่นเอง สังเกตให้ดีตอนเข้าโค้ง เพราะพวกนักบิดจะเข้าโค้งช้าแต่เร่งความเร็วช่วงถึงทางตรง ให้จำไว้เสมอว่า “เข้าโค้งช้าออกโค้งเร็ว” นี่คือการเข้าโค้งที่ฉลาดสำหรับนักจักรยานทางเรียบ (หรือแม้แต่เสือภูเขาที่มาขี่ทางเรียบก็ทำได้ ไม่สงวนลิขสิทธิ์) หลักการคือคุณไม่ต้องเสียแรงมากโดยเปล่าประโยชน์ตอนเข้าโค้ง มันอันตรายเพราะอาจแหกโค้งและบังคับรถได้ยาก เก็บแรงไว้อัดกันสุด ๆ ช่วงทางตรงดีกว่า ง่ายกว่าด้วย
เพื่อการทรงตัวที่ดีคุณต้องถ่ายน้ำหนักมาลงเท้าข้าที่อยู่ด้านนอก เพื่อต้านแรงหนีศูนย์กลางและเพื่อควบคุมรถได้ดี เมื่อออกจากโค้งมาแล้วค่อยปรับท่าทางให้อยู่ในสมดุลอีกครั้งก่อนเร่งเครื่องทางตรง พร้อมกับวาดภาพโค้งต่อไปไว้ในสมองได้เลย ก่อนจะทำซ้ำแบบเดียวกันนี้อีกครั้ง

รู้ขีดจำกัดของตัวเอง
ข้อนี้คือหลักสำคัญของการเล่นกีฬาทุกอย่าง คุณต้องรู้ว่าตัวเองทำอะไรได้แค่ไหน แล้วพยายามไปให้สุดในเบื้องแรก โดยไม่พยายามออกให้พ้นขีดจำกัดนั้น “การขี่เท่าที่ทำได้คือหนทางแน่นอนที่สุดในการพัฒนาฝีมือ” การขี่ตามนักจักรยานคันข้างหน้าตอนลงนั้นไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่าไปใช้ความเร็วตามเขาถ้าคุณยังไม่คล่องหรือชำนาญเส้นทางตรงนั้นพอ ปล่อยให้พวกนั้นพาคุณไปถึงที่สุดแห่งความสามารถได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่อย่าทำอะไรที่เกินกำลังเพราะผลที่สุดอาจล้ม แหกโค้ง บาดเจ็บ หรืออาจรุนแรงถึงกับเสียชีวิต
จงจำไว้ว่า “ให้นำคุณไปไดถึงแค่ขีดจำกัดเท่านั้น ไม่ใช่ให้ข้ามมันไป” ถ้าเริ่มรู้สึกว่าไม่ค่อยจะมั่นคงหรือขาดความมั่นใจ กลัวจะเป็นอันตรายจงอย่าฝืน ให้ผ่อนความเร็วลงมาขี่แบบที่คุณถนัด หรือปรับท่าทางให้ต้านลมขึ้นเพื่อลดความเร็ว จะทำให้ช้าลงแล้วกลับมาอยู่ในท่าทางที่ปลอดภัยตามเดิม ก่อนจะเร่วความเร็วได้ในช่วงปลอดภัย

ลงเขาให้เร็ว ต้องลงเขาอย่างฉลาด
ลงเขาให้เร็วไม่ได้ขึ้นอยู่กับพละกำลังและการวางท่าทางอย่างเดียว ต้องฉลาดด้วยในการเลือกใช้สถานการณ์ให้เข้าข้างตัวเอง ถ้าคุณอยู่หน้ากลุ่มแล้วอยากจะอยู่ตรงนั้นตลอดไปหรือถ้าอยู่หลังเพื่อน ๆ แต่ต้องการจะเร่งขึ้นมาเป็นหัวลากช่วงลงเขา วิธีที่ปลอดภัยและอยู่รอดจนใช้ความเร็วได้ดีกว่า คือการไม่ผลีผลาม ต้องคำนึงไว้เสมอว่ามีคนอื่นขี่อยู่กับเราด้วย การเปลี่ยนทิศทางกะทันหันไม่บอกกล่าวจะทำให้เป็นอันตรายกับเพื่อนในกลุ่ม จึงควรระวังเมื่อจะเร่ง ออกอาการให้เพื่อนเห็นเสียก่อนว่า จะทำอะไรระหว่าลงเขาความเร็วสูง ไม่ควรลุกขึ้นยืนโยกเด็ดขาด การโถมน้ำหนักไปข้างหน้าช่วงขาลงเขาอันตรายมาก น้ำหนักที่โน้มไปข้างหน้าอยู่แล้วจะยิ่งโถมยิ่งขึ้น ล้อหน้ากดระหว่างล้อหลังยก ทำให้ควบคุมรถได้ยากพร้อมกับท้ายมีโอกาสส่ายและตามด้วยเสียการทรงตัวในที่สุด

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่คุณควรคำนึงเวลาลงเขา จัดเป็นช่วงอันตรายช่วงหนึ่งของการขี่จักรยานเป็นกลุ่ม แม้แต่มือโปร หลาย ๆ คนยังพลาดท่าเลือดตกยางออกมาแล้ว ถ้าไม่อยากเป็นเช่นนั้นก็ต้องระวังให้ดีและทำอะไรอยู่ในขีดความสามารถของตนเอง การขี่จักรยานของคุณไม่ว่าจะแข่งหรือขี่รวมกลุ่มวันหยุดจะเป็นไปด้วยความสนุกสนาน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความจักรยานที่เกี่ยวข้อง