ss

9 ต.ค. 2553

บางเรื่องของจักรยานที่คุณอยากรู้ แต่ไม่รู้จะถามใคร

          คุณสนุกกับจักรยานมาได้ระยะหนึ่งแล้วแต่ยังมีเรื่องที่อยากรู้อีกมาก ความไม่รู้นั่นคือปัญหา แต่ปัญหาอีกอย่างคือคุณไม่รู้ว่าจะถามใครดี เราจึงรวบรวมมาตอบให้คุณ ด้วยความคิดว่ามันน่าจะช่วยคุณได้บ้าง ลองอ่านดูแล้วคุณอาจจะรู้มากกว่าเดิมในบางแง่มุมที่ตัวเองไม่เคยรู้มาก่อน

1. จำเป็นต้องทำอินเตอร์วัลทุกครั้งที่ซ้อมเลยหรือ จึงจะปั่นได้เร็วขึ้น ?
        ความแข็งแกร่งต่อเนื่องคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณไล่บี้ใคร ๆ ได้ตอนขึ้นเขา หรือระหว่างปั่นทางเรียบสิ่งนี้ก็สำคัญ การปั่นจักรยานโดยเฉพาะเสือหมอบคือการคงสภาพความแข็งแกร่งสุดขีดเอาไว้ให้นานที่สุด เพราะนั่นย่อมหมายถึงความได้เปรียบที่คุณมีต่อคู่ต่อสู้ และจะสร้างความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อได้ก็ต้องเพิ่มภาระให้มันทีละนิด การปั่นจักรยานด้วยความเร็วคงที่นั้นโอเคอยู่แล้วกับการเสริมสร้างความอดทนแบบแอโรบิค แต่จะดีขึ้นด้วยการเพิ่มความเร็วขึ้นฉับพลันชั่วระยะเวลาหนึ่ง สลับด้วยการปั่นสบาย ๆ เพื่อฟื้นสภาพ ถ้าคุณอยากปั่นให้เร็วขึ้น ใช่เลยคุณต้องทำอินเตอร์วับ เพิ่มภาระให้กล้ามเนื้อและหัวใจเพื่อให้พร้อมกับการเร่งฝีเท้าด้วยความเร็วสูง
2. ยางทิวบ์เลสเป็นอย่างไร จะทำอย่างไรกับมันดีเมื่อรั่ว ?
         อันที่จริงมันก็ไม่ต่างจากยางทั่วไปเท่าไรเว้นแต่มีส่วนประกอบอะไร ๆ น้อยกว่า เน้นที่น้ำหนักเบา ทิวบ์เลสทั้งของเมาเท่นไบค์และเสือหมอบประกอบเข้ากับขอบล้อเหมือนยางทิวบ์เลสของรถยนต์ คือขอบยางด้านในมีเส้นลวดหรือพลาสติกแข็งยึดอยู่ ขอบล้อสำหรับทิวบ์เลสโดยเฉพาะก็มีขอบที่สอดรับกับขอบยางได้แน่นสนิท เมื่อสูบลมเข้าแล้วนวดยางไปพร้อม ๆ กัน แรงดันลมจะค่อย ๆ มากขึ้นจนดันขอบยางติดขอบล้อเสียงดังได้ยินชัด ถ้ารั่วก็ปะได้แต่ต้องปะจากภายในด้วยน้ำยาและวัสดุเฉพาะ แต่ถ้าคุณไปทำรั่วกลางทางและไม่อยากเสียเวลาปะยางนาน ๆ วิธีง่ายที่สุดคือหมุนจุ๊บยางออกก่อนแล้วสอดยางในแบบทำธรรมดาเข้าไปแทนให้จุ๊บยางโผล่ออกมาตรงช่องเดิมสูบยางให้แข็งด้วยขวดก๊าซหรือสูบติดจักรยานแล้วขี่กลับบ้าน นำยางทิวบ์เลสที่รั่วนั้นมาหารอยรั่วที่บ้าน ยางทิวบ์เลสจะใช้เวลาปะนานกว่ายางปกติ เราจึงไม่แนะนำให้นั่งปะกันข้างถนน
3. ทำไมนักจักรยานเสือหมอบถึงไม่ค่อยใช้จานหน้าสามใบ?
          ใช้น่ะใช้ได้เพราะผู้ผลิตอุปกรณ์เขาสร้างใบจานหน้ามาให้เลือกทั้งแบบสองและสามใบ แต่ที่ไม่เห็นใช้กันก็เพราะมันดูเหมือนไม่โปรฯ พวกเสือหมอบเขาบอกว่ามันไม่เหมือนพวกมืออาชีพในแกรนด์ทัวร์ของยุโรป ถ้าขี่เสือหมอบคุณจะเข้าใจดีว่ามีรายละเอียดแฝงอยู่มากมายรวมทั้งเรื่องจานหน้าสองหรือสามใบนี่ด้วย การใช้จานหน้าแค่สองใบจะทำให้ดูดีกว่าในสายตาของเพื่อนร่วมก๊วน มันแสดงให้เห็นว่าคุณมีพละกำลังมากพอจะรวมกลุ่มกับเขาได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใบจานที่เล็กกว่า นั่นก็เหมือนกับการโกนขนหน้าแข้งนั่นแหละที่พวกเสือหมอบนนิยมกันทั้งที่มันไม่ได้ช่วยให้ปั่นเร็วขึ้นเลยนอกจากจะแสดงสถานภาพความเก๋าของเจ้าของหน้าแข้งและดูสวยงามดีเท่านั้น
4. จะสวมแว่นให้ขาแว่นทับสายรัดคางหรือให้สายรัดคางทับขาแว่นดี ?
          นี่ก็อีกปัญหาหนึ่งที่มีสาเหตุมาจากพวกมือโปรฯ จริง ๆ แล้วจะเอาอะไรไปทับอะไรนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญในเมื่อแว่นมันยังอยู่บนดั้งจมูกเหมือนกันและคุณใช้ขาตัวเองปั่นจักรยานไม่ใช่ขาแว่น ตามแฟชั่นคือ ต้องสวมให้ขาแว่นทับสายรัดคางซึ่งไมได้ช่วยอะไรนอกจากทำให้ดูดี เห็นขาแว่นและเครื่องหมายการค้าที่ขาแว่นชัดเจนดี ไม่เป็นปัญหาเลยถ้าคุณจะสวมแว่นให้สายรัดคางทับขาแว่น สวมอย่างไรก็ได้เพียงแต่แฟชั่นเขานิยมกันแบบหนึ่งเท่านั้น
5. จะเอายางในอะไหล่ติดจักรยานไปกี่เส้นดี ?
         สิ่งที่ต้องเอาไปด้วยเวลาขี่จักรยานแล้วกลัวว่ายางจะรั่ว คือยางในและอุปกรณ์ปะยางอันประกอบด้วยกาว, ยางปะ,กระดาษทราย,สูบ,ขวดก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ อุปกรณ์ปะยางนั้นสามารถแพ็ครวมกล่องเล็ก ๆ ไปเพียงแพ็คเดียวได้ แต่ยางนั้นขึ้นอยู่กับคุณว่าหวาดหวั่นต่อการรั่วแค่ไหน ถ้าจะใช้คนเดียวเอายางไปแค่เส้นเดียวก็พอ หรือถ้ากลัวมากก็พกได้สองเส้น หรือจะมากกว่านั้นก็ได้ถ้ามีน้ำใจอยากจะช่วยเพื่อนในกลุ่ม
6. ควรตรวจสอบอะไรกับจักรยานบ้างก่อนขี่ทุกครั้ง ?
          ที่แน่ ๆ คือความดันลมยางที่ต้องไม่เกินตัวเลขระบุไว้ข้างแก้มยาง ต่อมาคือโซ่ซึ่งหยอดน้ำมันไว้หรือยัง ดุมปลดเร็วและขางัดสกิวเออร์ซึ่งต้องไม่หลวม สามารถกดติดแน่นได้โดยล้อไม่คลอนเมื่อจับโยกยางเบรกวางตัวสนิทแนบดีเมื่อบีบมือเบรค ความสูงของอานและแรงดันของช็อคถ้าคุณใช้เมาเท่นไบค์ เมื่อผ่านการขี่มาแล้วหลายครั้งคุณจะทราบดีว่าควรต้องตรวจสอบอะไรบ้างโดยไม่ต้องทบทวนก่อน
7. ต้องพกขวดก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ไปกี่หลอด ?
          ตามปกติเลยก็คือสองหลอดไม่ว่าจะเป็นยางธรรมดาหรือยางทิวบ์เลสสำหรับยางธรรมดาต้องพก 2 หลอดเพราะหนึ่งหลอดต้องเอาไว้อัดเข้าไปให้ลมรั่วออกมา ปะเสร็จแล้วอีกหลอดเพื่อเติมให้ยางแข็ง สำหรบทิวบ์เลสที่ต้องพกสองหลอดก็เพราะหลอดแรกเพื่อดันให้ขอบยางติดขอบล้อ อีกหลอดเพื่อเติมยางให้แข็งตามต้องการ นี่คืออัตราปกติสำหรับล้อเพียงข้างเดียว ถ้าคุณจะพกมากกว่านั้นก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด นอกจากน้ำหนักมันจะมากขึ้นนิดหน่อยเท่านั้น
8. ต้องอัพเกรดหมวกกันกระแทกบ่อยแค่ไหน ?
          ตามตำราบอกว่าถ้าคุณขี่จักรยานบ่อยด้วยระยะทางเดือนละ 3,200 ก.ม. ปีเดียวก็เปลี่ยนได้แล้ว หรือถ้าน้อยกว่านั้นก็คือประมาณสามปี แต่ต้องเปลี่ยนทันทีที่เกิดอุบัติเหตุหัวฟาดเพราะโครงสร้างของหมวกได้สูญเสียความแข็งแกร่งเพื่อปกป้องศีรษะของคุณไปแล้ว หมวกกันกระแทกกระชับและปลอดภัยราคาย่อมแพงอย่าไปเสียดายกับเงินที่ต้องจ่ายเพราะคุ้มมากเมื่อใช้มันป้องกันการพิการถาวรหรือมากกว่านั้นคือเสียชีวิต
9. ต้องหยอดน้ำมันโซ่บ่อยแค่ไหน ?
          วิธีหยอดน้ำมันที่ถูกต้องคือหยอดน้อย ๆ และหยอดบ่อย ๆ คำว่าน้อย ๆ คืออย่าให้น้ำมันเคลือบโซ่จนเยิ้มเพราะมันจะเป็นตัวดูดฝุ่นละอองเข้าไปติดจนทำให้อายุการใช้งานสั้น ให้หยอดลงตรง ๆ ตามข้อโซ่แล้วทิ้งไว้สักชั่วโมงก่อนรูดทั้งเส้นด้วยผ้าเพื่อเอาน้ำมันส่วนเกินออก เหลือแต่ส่วนที่ใช้งานติดในข้อโซ่อย่างเดียว ส่วนจะหยอดได้บ่อยแค่ไหนนั้นตามปกติคือ หลังจากการขี่จักรยานทุกครั้ง ที่คุณมาทำความขั้นตอนที่แจกแจง และควรเช็ดโซ่ หยอดน้ำมันทันทีเมื่อขี่จักรยานตากฝน ไม่ควรปล่อยให้ข้ามคืนเพราะโซ่และเฟืองจะเป็นสนิมเร็วมาก ทำได้ตามนี้ทั้งโซ่และเฟืองของคุณจะใช้งานได้นานขึ้น
10. จำเป็นต้องหล่อลื่นลูกบันไดด้วยหรือเปล่า ?
          ไม่ต้องหล่อลื่น เพราะบันได้ถูกผลิตมาให้ใช้งานได้ตลอดอายุจนพัง ไม่ต้องหยอดจาระบีหรือน้ำมันหล่อลื่นเลยไม่ว่าจะตรงจุดหมุนติดกับขาบันไดหรือในสปริงบนตัวลูกบันได การทำให้ผิวหน้าบันไดลื่นนั้นอันตรายอย่างยิ่งเพราะอาจทำให้เกี่ยวเท้าพลาดและหน้าคะมำได้
11. จำเป็นต้องสวมถุงมือด้วยหรือ ?
          สวมเถอะ ถึงมันจะไม่ช่วยให้คุณปลอดภัยได้เหมือนหมวกกันกระแทกแต่ก็ช่วยได้เวลาล้มนะ ถุงมือจะช่วยไม่ให้อุ้งมือคุณเป็นรอยถ้าเอามือลงถูถนนก่อนอวัยวะส่วนอื่น ถุงมือบางรุ่นบุเจลไว้ตรงส้นมือเว้นร่องไว้ให้เลือดเดินผ่านเส้นเลือดตรงนั้นได้สะดวก ผลคือทำให้มือคุณไม่ชาเมื่อปั่นไกล ๆ หรือจับแฮนด์ท่าเดียวนาน ๆ เมาเท่นไบค์ที่ไม่มีบาร์เอนด์ไว้เปลี่ยนอิริยาบถจะรู้ซึ้งดีถึงความหมายของคำว่ามือชา ยิ่งถ้าปั่นในหน้าหนาวหรือไปปั่นในต่างประเทศที่เป็นเขตหนาวด้วยแล้วถุงมือมีประโยชน์มาก มันกันไม่ให้มือชาและยังรับรู้ความรู้สึกได้ชัดเจนระหว่างเบรกหรือเปลี่ยนเกียร์ กันหิมะกัดก็ยังได้
12. ควรพกพาเจลให้พลังงานไปกี่ถุงดีเวลาขี่จักรยานแต่ละครั้ง ?
           หลักการขั้นพื้นฐานมีอยู่ว่าควรจะกินเจลพลังงานนี้ก่อนสตาร์ท 15 นาที แล้วพอขี่ไปได้ทุก ๆ สี่สิบห้านาทีก็ฉีกกินเสียหนึ่งถุง ถ้าอยากรู้ว่าต้องพกเจลนี้ไปครั้งละกี่ถุงก็ลองคำนวณเอาเอง ตามปกติถ้าเป็นเสือหมอบซึ่งขี่กันครั้งหนึ่งหากไม่เกิน 100 ก.ม. ก็ไม่เกินสามชั่วโมงกว่า ๆ คุณก็ควรพกเจลพลังงานไปได้สองถุงหรือ 3 ก็ยังได้ซึ่งไม่หนักเกินไป
13. จำเป็นต้องพกขวดน้ำคู่ด้วยหรือสำหรับเสือหมอบ ?
          ไม่จำเป็นเสมอไป เพราะแค่ขวดเดียวติดเฟรมจักรยานก็ให้น้ำทดแทนเหงื่อของคุณได้พอแล้วตลอด 45 นาที ร่างกายคุณเก็บกักน้ำเอาไว้ใช้ได้เพียงพอตลอดเวลาหนึ่งชั่วโมง ดังนั้นถ้าขี่กันนานแค่ 2 ชั่วโมง น้ำขวดเดียวก็น่าจะพอแล้ว ถ้านานกว่านั้นคุณก็ยังมีทางเลือกอีกถ้าไม่อยากพกน้ำไปสองขวดให้หนัก คือการแวะเติมข้างทางหรือให้เพื่อนคอยขับรถตามส่งน้ำให้ถ้าไปกันเป็นหมู่คณะ นอกจากน้ำจะช่วยให้ระบบการทำงานของร่างกายเป็นปกติแล้วมันยังใช้เทราดตัวได้ด้วยเมื่อรู้สึกว่าร้อนสุดขีด
14. อะไรคือจานหน้าแบบคอมแพคต์ ทำไมไม่ค่อยเห็นใครเขาขี่กันเลย ?
          จานคอมแพคต์ ก็คือจานหน้าของเสือหมอบที่มีซี่เฟืองน้อยกว่าปกติ ตามปกติจานหน้าจะมีสองใบคือเฟือง 53 ซี่กับเฟือง 39 ซี่ ซึ่งเป็นทางเลือกของพวกมือโปร ฯ แรงเยอะมาเกือบห้าสิบปีแล้ว แต่คอมแพคต์จะเล็กกว่าคือมีเฟืองแค่ 50 ซี่ในจานใบใหญ่และ 34 ซี่ในจานใบเล็ก ต้องมีจานคอมแพคต์ก็เพื่อให้เข้ามาอุดช่องว่างระหว่ามือโปร ฯ กับมือสมัครเล่นที่ขี่เพื่อเพลิดเพลิน เพราะจานใหญ่มาตรฐานนั้นค่อนข้างหนักสำหรับคนที่ไม่ได้ซ้อมสม่ำเสมอจนกล้ามเนื้อแข็งแรง เมื่อมาใช้จานมาตรฐานก็เลยต้องทดเฟืองหลังให้ใหญ่ตามจนทำให้ใช้เฟืองหลังได้ไม่ครบทุกใบ จานคอมแพคต์ทำให้ปั่นได้เบาแรงขึ้นเพราะซี่ฟันน้อยกว่า นักจักรยานขี่ได้สบายทั้งทางเรียบและขึ้นเขาโดยไม่ทรมานกล้ามเนื้อมาก ความเร็วก็ไม่แตกต่างกันเลยแล้วยังจะเร็วกว่าด้วยซ้ำถ้ามีความสามารถในระดับเดียวกัน แต่คนหนึ่งใช้จานคอมแพคต์ เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แค่นักปั่นสมัครเล่นเท่านั้นที่ใช้คอมแพคต์ มืออาชีพระดับโปรทัวร์ก็เปลี่ยนมาใช้กันมากโดยเฉพาะสเตจขึ้นเขาทั้งทัวร์ออฟอิตาลี, ตูร์เดอฟร็องซ์ และทัวร์ออฟสเปน
          ทั้งหมดนี้น่าจะพอสำหรับคำถามที่ใคร ๆ ก็อยากรู้แต่ไม่กล้าถามในตอนนี้เราเชื่อว่าน่าจะมีเรื่องที่คุณไม่รู้อีกมากซึ่งเราจะได้หามาให้ได้อ่านกันต่อไป

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความจักรยานที่เกี่ยวข้อง