ss

21 พ.ค. 2554

หลักการฝึกซ้อมความอดทนของกีฬาจักรยาน ตอนที่ 1


หลักการฝึกซ้อมความอดทนของกีฬาจักรยาน ตอนที่ 1

Endurance Training 

เรื่องของการฝึกซ้อมกีฬาจักรยานเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนและสลับซับซ้อนมากกว่าที่คนทั่วไปคิดมาก เรื่องของเรื่องก็คือว่าสูตรสำเร็จของการซ้อมกีฬาที่ใช้ได้สำหรับทุกคนไม่มีในโลก ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าร่างกายของคนเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน ความต้องการของแต่ละคนในการพัฒนาร่างกายย่อมจะแตกต่างกันไป แต่ละคนจะมีวิธีและตารางการฝึกซ้อมสำหรับตัวเองโดยเฉพาะ

คนโดยมากคิดว่าตารางฝึกซ้อมที่เจอในหนังสือหรือตำราที่คนเขาพิมพ์มาขายเป็นตารางสำเร็จรูปเอาไปใช้ได้เลยโดยไม่ต้องดัดแปลงการมองแบบนี้เป็นการมองที่ผิด ๆ เพราะผู้ที่ยึดถือเอาตำราเป็นคัมภีร์ ย่อมจะไม่พยายามที่จะวิเคราะห์ว่าสิ่งที่เขาให้มานั้นเหมาะสำหรับตัวเองหรือไม่ และจะไม่พยายามที่จะเข้าใจว่าที่ซ้อมแบบนั้นแบบนี้ ทำไปเพื่ออะไร เพื่อจะได้หาวิธีซ้อมที่เหมาะสมกับตนเองพูดง่าย ๆ เขาว่าอย่างไรก็เชื่อตามนั้น  ตำราย่อมถูกเสมอ (นักปั่นจักรยานผู้ฉลาดต้องรู้จักประยุกต์ใช้)

เมื่อยึดเอาตำราเป็นหลักแล้วคนเราก็ไม่คิดที่จะประเมินขีดความสามารถของตนเอง รวมทั้งจุดอ่อน จุดแข็งของตัวเอง ซึ่งสิ่งที่เป็นหัวใจของการฝึกซ้อมกีฬาก็ว่าได้ ถ้าไม่รู้ว่าตนเองจะต้องปรับปรุงพัฒนาร่างกายด้านไหน อย่างไร ซ้อมไปก็เสียเวลาเปล่า ๆ ที่ได้ก็ได้ไม่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป นักกีฬาก็พลาดโอกาสที่จะพัฒนาขึ้นไปจนถึงขีดสูงสุด

การฝึกซ้อมคืออะไร ?

การฝึกซ้อม (Training) หมายถึงการนำเอาวิธีการต่าง ๆ ที่มีคุณค่ามีประโยชน์มาใช้กระตุ้นร่างกาย ในขนาดที่พอเหมาะทำให้ร่างกายเกิดการปรับตัว (Training Effect) โดยมีการปรับตัวให้เข้ากับภาวะแวดล้อม การเพิ่มสมรรถภาพของร่างกาย ขึ้นอยู่กับความหนัก (Intensity) ความนาน (Duration) และความบ่อย (Frequency) ครั้งของการกระตุ้น หากกระตุ้นเบาเกิน สั้นเกิน และน้อยเกิน ก็จะไม่เกิดการพัฒนา แต่ถ้าการกระตุ้นหนักเกิน ก้อาจทำให้อวัยวะเสื่อมได้

โค้ชจะฝึกอย่างอย่างไร ?

เรื่องนี้มีความสำคัญมากเมื่อมองในด้านของโค้ช หรือผู้ควบคุมการฝึกซ้อม (เมืองไทยยังไม่มีโค้ชส่วนบุคคล) ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า นักกีฬาแต่ละคนมีร่างกาย ขีดความสามารถในการทำงานและรับความเครียด (Intensity) ได้ไม่เท่ากัน มีความต้องการที่จะปรับปรุงในจุดต่าง ๆ ไม่เหมือนกันปัญหาอยู่ที่ว่าทำอย่างไรโค้ชจึงจะสามารถประเมินสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้และวางแผนการฝึกซ้อมให้เหมาะสมกับนักกีฬาจักรยานแต่ละบุคคลได้

โค้ชที่ใช้วิธีการออกแบบให้นักกีฬาทุกคนซ้อมเหมือนกันไม่สามารถที่จะพัฒนานักกีฬาทั้งทีมให้ถึงจุดสุดยอดได้หมดทุกคน ที่อันตรายก็คือ การจับเอานักกีฬาหน้าใหม่ มาลงซ้อมในหลักสูตรเดียวกันกับนักกีฬาหน้าเก่า ซึ่งมีประสบการณ์และชั่วโมงบินมากกว่า การกระทำเช่นนี้อาจะเป็นการทำลายนักกีฬาหน้าใหม่ผู้นั้นอย่างช้า ๆ ได้ เขาอาจจะพัฒนาอย่างรวดเร็วในระยะแรก ๆ ก็ตาม แต่ในระยะยาว 4-5 ปี เขาอาจจะกรอบไปก่อน

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อันตรายมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองไทยของเรา เพราะใคร ๆ ก็อาจจะเป็นโค้ชได้ทั้งนั้น ไม่ต้องมีประกาศนียบัตรเหมือนกับต่างประเทศเขา ถ้าจะว่ากันจริง ๆ แล้ว โค้ชประเภทนี้ไม่มีความรู้พอแม้แต่จะสอนตนเอง อย่าว่าแต่จะสอนหนักกีฬาเลย ส่วนใหญ่ใช้สูตรผีบอก หรือไม่ก็ใช้สามัญสำนักมาว่ากัน โค้ชจักรยานบางคนไม่เคยขี่จักรยานมาก่อนก็มี เขาจะรู้ได้อย่างไรว่าที่สอน ๆ เด็กไปนั้นใช้ได้หรือไม่ ส่วนโค้ชอีกประเภทหนึ่งก็ได้แก่โค้ชที่ไม่ยอมติดตามความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์การกีฬา ยึดถือเอาแต่ความคิดเก่า ๆ อย่างเหนียวแน่น ทำให้เกิดความก้าวหน้าได้ยาก

การขาดความรู้และความมั่นใจในการวางแผนการฝึกซ้อมที่ถูกวิธีให้นักกีฬาแต่ละบุคคลยิ่งเป็นอันตรายมากขึ้น เมื่อมามองถึงระบบการสร้างนักกีฬาในบ้านเรา เราใช้ระบบมองหานักกีฬาเมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องส่งเขาแข่งขันเป็นคราว ๆ ไป เท่านั้น ใครดีในขณะนั้นก็จับมาเข้าทีมใครไม่ไหวก็ไม่สนใจ ใครมีแววก็จับมาเขี้ยวเข็ญ (จับเสือมือเปล่า = ไม่ลงทุน) ให้เรียนลัด พอเสร็จการแข่งขันก็แล้วกันไป คราวหน้าค่อยมาว่ากันใหม่ไม่อยากมานั่งรอให้พัฒนาตามธรรมชาติให้เสียเวลา

(ที่มา: นิตยสาร Race Bicycle  บทความโดย อ.ปราจิน  รุ่งโรจน์)
>หลักการฝึกซ้อมความอดทนของกีฬาจักรยาน ตอนที่ 5

>หลักการฝึกซ้อมความอดทนของกีฬาจักรยาน ตอนที่ 6 




0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความจักรยานที่เกี่ยวข้อง