เรามาต่อด้วยเคล็ดลับต่อไปกันเลยครับ
4.อย่าสวมนาฬิกาหรือฮาร์ทเรท มอนิเตอร์แข่ง
สำหรับ เจมส์ คันนามา หนึ่งในนักไตรกีฬามือโปรแห่งแอฟริกาใต้ การแข่งโดยสวมเครื่องวัดชีพจร (ฮาร์ทเรท มอนิเตอร์) จะส่งผลกระทบต่อการรับรู้สภาพร่างกายในวันแข่ง ถ้าคุณจะใช้ฮาร์ทเรท ระหว่างซ้อมก็ได้ แต่สำหรับเจมส์แล้วเขามีเหตุผลที่จะไม่ใช้อุปกรณ์นี้ในวันแข่ง เพราะเขาพบว่าผลจากมอนิเตอร์และเวลามันไม่สัมพันธ์กับความรู้สึกที่ร่างกายสัมผัสได้ ด้วยเหตุผลว่า “มีตั้งหลายสิ่งที่ทำให้คุณเป็นนักกีฬาที่เก่งและปัจจัยเหล่านั้นก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลยกับเรื่องเวลาหรืออัตราชีพจร ผมใช้ซูปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ติดตัวมาตลอดเวลาคือสมองครับ สมองนี่แหละที่รับสัญญาณต่าง ๆ มาจากทั่วทุกส่วนของร่างกาย และนี่คือวิธีการควบคุมการแข่งขันที่ดีที่สุดของผม ไม่ใช่ว่าเครื่องฮาร์ทเรท มอนิเตอร์จะใช้ไม่ได้นะ แต่มันทำให้เราฟังเสียงร่ายกายตัวเองบอกน้อยลง ซึ่งในความคิดของผมแล้วการฟังเสียงจากสมองนี่แหละสำคัญกว่าอะไรทั้งหมด”
คำแนะนำของเจมส์คือ “ถ้าจะแข่งก็ไม่จำเป็นต้องใช้ฮาร์ทเรท มอนิเตอร์ แต่ให้หันมาฟังร่างกายตัวเองให้มากเข้าไว้ ถ้าคุณใช้ฮาร์ทเรท มอนิเตอร์อยู่ก็ลองหยุดใช้มันระยะหนึ่ง แล้วลองสวมใส่มันอีกก็จะรู้ว่าผลจากหน้าปัดของเครื่องมือชนิดนี้แทบจะไม่ต่างจากความรู้สึกของตัวเองเลย”
5.ลดความดันลม
เดวิด จอร์จ ผู้เปลี่ยนจากการแข่งเสือหมอบมาเป็นเมาเท่นไบค์ และปัจจุบันนี้เป็นนักแข่งเมาเท่นไบค์อาชีพให้ทีม 360 ไลฟ์ เรียนรู้ได้มากจากความดันลมยางในระดับต่าง ๆ “ตอนแรกผมก็คิดว่าเหมือน ๆ กันหมด แต่พอลองความดันลมที่ระดับต่าง ๆ แล้วจึงได้รู้ว่ามันทำให้การขี่ของเราเปลี่ยนไป ทั้งยังทำให้รู้สึกเหมือนขี่จักรยานคันใหม่อีกด้วย” ด้วยเมาเท่นไบค์วงล้อ 29 นิ้วแบรนด์ Scott Scale ที่เดวิดใช้แข่งในหลายรายการนั้นเขาอาจต้องปล่อยลมยางออกมาบ้างเพื่อให้ซับแรงกระแทกและเกาะเส้นทางได้ดี นี่เองจึงทำให้รู้ว่ายางที่ความดันลดลงเล็กน้อยนั่นจะทำให้เกาะเส้นทางได้ดีกว่ายางแข็ง ๆ
“ผมเห็นเพื่อนักแข่งหลายคนที่ใช้ความดันลม 30 -43 psi ในขณะที่พวกเราใช้แค่ 20 psi เท่านั้น แต่ถึงคนที่ตัวหนักจะใช้ความดันลม 25 psi มันก็ยังทำให้การเกาะเส้นทางและการบังคับจักรยานง่ายขึ้น นอกจากยางธรรมดาแล้ว เดี๋ยวนี้ยังมียางทิวบ์เลสให้เลือกใช้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ความดันลมยางสูง ๆ ด้วย”
6.คลายน็อตบางตัว
ไดแลน เวน เดอร์เมิร์ฟ ช่างประจำทีม สเปเชียไลส์ คือผู้คร่ำหวอดในโลกของนักจักรยานเสือหมอบ นักไตรกีฬาและนักเมาเท่นไบค์ทั่วโลก ไดแลนรู้ว่าการเซ็ตรถคือสิ่งสำคัญในเมื่อสมรรถนะของคนขี่จักรยานขึ้นอยู่กับความมั่นใจที่นักแข่งมีต่ออุปกรณ์ โดยเฉพาะในโลกของดาวน์ฮิลล์และฟรีไรด์ซึ่งการโดดและลงมาให้ได้อย่างปลอดภัยนั้นขึ้นอยู่กับความไว้เนื้อเชื่อใจในจักรยาน ไดแลน ยอมรับว่าเขาคลายน็อตออกหลายตัวในจักรยานของนักเมาเท่นไบค์ดาวน์ฮิลล์หลายคน รวมทั้ง สเปเชียไลส์ เดโม 8 ของนักจักรยานฟรีไรด์ชาวคานาเดี้ยนคือ ดาร์เรน เบอร์โคลธ
“น็อตทุกตัวบนจักรขานของเขาไม่ได้ขันให้ตรงตามกำหนดหรอกครับ คุณสามารถหมุนแฮนด์ ขยับเบรก ซิฟเตอร์ และหลักอานได้ด้วยมือเปล่า ๆ เราทำไว้เพื่อว่าถ้าเขาล้มแล้วจะได้เอาชิ้นส่วนพวกนี้มาขันกลับเข้าที่ได้รวดเร็วระหว่างแข่ง เราไม่ต้องการให้อะไรมันหักหรืองดจากการถูกระแทก ถ้าจักรยานต้องถูกกระแทกกระทั้นบ่อย ๆ และมีโอกาสที่ชิ้นส่วนจะหักพังแล้ว การให้มันเลื่อนได้ด้วยมือย่อมจะดีกว่าให้ติดแน่นแล้วหักเมื่อถูกกระแทก”
เทคนิคอีกอย่างที่ไดแลนทำก็คือการเจาะรูชุดกะโหลก “เราทำเช่นนี้เพื่อจะได้สอดแผ่นพลาสติกเข้าไปขัดไม่ให้มันหมุนได้ไงครับ ตรงนี้แหละที่ทำให้นักจักรยานมั่นใจว่าบันไดของตัวเองจะยังอยู่ที่เดิม ระหว่างกำลังตีลังกาอยู่กลางอากาศ พอกลับลงมาที่พื้นจะได้ไม่ต้องพะวงกับตำแหน่งของบันไดอีก”
การเปลี่ยนรูปแบบการแข่งจากเสือหมอบมาเป็นเมาเท่นไบค์ของ เดวิด จอร์จ ทำให้ได้มุมมองแปลก ๆ ในการปรับแต่งจักรยาน แม้เดวิดจะสูงปานกลางคือ 177 ซม. เขาก็ยังเชื่อว่านักเมาเท่นไบค์ที่ตัวเล็กกว่าน่าจะใช้ขาจานสั้นกว่า หลังจากการแข่งเสือหมอบมาตลอดด้วยขาจานยาว 172.5 มม. เดวิดก็คิดว่ามันแปลกที่การเปลี่ยนมาแข่งเมาเท่นไบค์ทำให้ต้องเปลี่ยนมาใช้ขาจานยาย 175 มม. “มีเรื่องเล่าในวงการจักรยานอย่างนี้ครับว่า ยิ่งขาจานยาวเท่าไรยิ่งช่วยให้มีแรงส่งผ่านไปปั่นจานมากขึ้นเท่านั้น ผมคิดว่ามันไม่น่าจะใช่ครับ คนตัวเล็กก็ต้องใช้ขาจานสั้นลงสิ เพื่อให้มันเข้ากับสรีระของพวกเขาเองโดยเฉพาะกับผู้หญิงที่มีแรงปั่นน้อยกว่าผู้ชาย การใช้ขาจานสั้นนี่แหละจะช่วยลดพลังงานได้ในเมื่อคุณสามารถปั่นมันได้เร็วและด้วยช่วงที่สั้นกว่า ช่วงขึ้นเขาก็จะเร่งขึ้นได้เร็วกว่าด้วยเช่นกัน”
ดังนั้น เดวิดกับเพื่อนในทีม 360 ไลฟ์ คือ เควิน อีแวนส์ สูง 171 ซม. จึงเริ่มใช้ขาจานแบรนด์ โรเตอร์ หนึ่งในไม่กี่แบรนด์ที่มีขาจานยาง 172.5 มม. และเขาเองก็เชื่อว่ามีทางเลือกสองทางเท่านั้นในการแข่งจักรยานคือ “ปั่นเกียร์หนักหรือปั่นบันไดให้ไว” เขาเชื่อมั่นว่าขาจานสั้นจะช่วยให้นักจักรยานตัวเตี้ยปั่นลูกบันไดได้เร็วกว่า ซึ่งจะมีผลดีต่อเนื่องคือคงกำลังเอาไว้ได้นานและในที่สุดก็จะเหนื่อยล้าได้น้อยกว่าการปั่นขาจานยาว ๆ โดยไม่ดูสรีระของตัวเอง
ทั้งหมดนี้คือความคิดของนักจักรยานและช่างมือโปรฯ ซึ่งใช้ประสบการณ์ของตัวเองมาเพื่อบอกเล่า ในทำนองเดียวกันคุณ ๆ ต่างก็มีประสบการณ์ของตัวเองที่แตกต่างออกไป ขึ้นอยู่ว่าจะเลือกใช้ข้อไหนให้เป็นประโยชน์เท่านั้น ใช่ว่าจะต้องหลับหูหลับตาเชื่อกันตลอดครับ...
บทความที่เกี่ยวข้อง:
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น