ss

11 มี.ค. 2556

ทำไงดี เป็นฝีเพราะขี่จักรยาน

|0 ความคิดเห็น

สิงห์นักปั่นจะรู้บ้างไหมล่ะเนี่ยว่าถ้าคุณ ๆ ไม่ดูแลร่างกายและคอยทำความสะอาดให้ดีแล้วล่ะก็ คุณอาจจะเจอปัญหาใหญ่จากการขี่จักรยานก็ได้

เหล่าเสือภูเขานักปั่นจักรยานตั้งแต่มืออาชีพยันมือสมัครเล่นไปจนกระทั่งลูกเด็กเล็กแดงที่เพิ่งเริ่มหัดขี่จักรยานได้ไม่นานอาจมีโอกาสประสบพบเจอกับปัญหานี้มาก่อนแล้วก็เป็นได้ ปัญหาที่ว่าก็คือ “ฝี” และมันก็ไม่ใช่ผีธรรมดาสามัญซะด้วย แต่เป็น “ฝีที่ก้น” อ้าวเฮ้ย! แล้วทำไมแค่ขี่จักรยาน...ฝีถึงมาขึ้นที่ก้นได้ล่ะ นั่นก็เพราะว่าเจ้าฝีจำพวกนี้เกิดจากการติดเชื้อที่บริเวณผิวหนังอันเป็นเหตุมาจากการรักษาความสะอาดที่ไม่เพียงพอ และบ่อยครั้งตัวการที่ก่อให้เกิดฝีก็คือเชื้อแบคทีเรีย “สแตฟฟิโลคอคคัส” ซึ่งเกิดขึ้นได้หลายบริเวณ ไม่ว่าจะเป็นใบหน้า ลำคอ รักแร้ หรือแม้กระทั่ง “ก้น”


แล้วทำไมการขี่จักรยานถึงเกิดฝีที่ก้นได้น่ะเหรอ...อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับการรักษาความสะอาดที่ไม่เพียงพอ หรือแม้กระทั่งการเสียดสีกับเสื้อผ้าด้วย และแน่นอนว่าการเสียดสีกับอานจักรยานก็ยังผลให้เกิดฝีได้อีกด้วย เพราะระหว่าง “อาน” กับ “ก้น” นั้น ช่างเสียดสีกันไปมาหลายต่อเหลือเกิน ตั้งแต่ก้นกับกางเกงในต่อด้วยกางเกงไปจนถึงอาน


ยัง...ยังไม่หมดเท่านี้เพราะการดูแลรักษาความสะอาดบริเวณก้นเพื่อไม่ให้เปียกแฉะและอับชื้นจนถึงเหม็นหืนก็เป็นเรื่องสำคัญนะจ๊ะ อย่างเช่นว่า อานจักรยานยังเปียกอยู่ แต่ก็ยังขึ้นไปขี่โดยไม่เช็ดให้แห้งเสียก่อนนี่ ก็เป็นอันแน่นอนว่า กางเกงก็ต้องเปียกซึมเข้าถึงเนื้อกางเกงในทะละทะลวงแทรกผ่านจากเนื้อกางเกงในที่บางเฉียบไปยังก้นของคุณ ๆ จนบางรายอาจจะปะปนกับเหงื่อที่ไหลไคลย้อยจนก้นแฉะกว่าเก่าโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ และถ้าเหล่านักปั่นทั้งหลายไม่ทำความสะอาดให้ดี ผลที่อาจตามมาก็คงหนีไม่พ้นเจ้าแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดฝีที่ก้นก็ได้นะ ยิ่งช่วงนี้เข้าหน้าฝนแล้วยิ่งต้องระวังให้ดี ไม่ใช่แค่จักรยานนะ แต่เบาะรถมอเตอร์ไซค์ก็ยังได้ลุ้นแจ็คพอตนี้ด้วยเหมือนกันนะจ๊ะ


ที่เตือนก็เพราะความหวังดี เพราะว่าหากคุณ ๆ เป็นฝีที่ก้นขึ้นมานะ คุณคงขี่จักรยานชมวิวได้อย่างเป็นเป็นสุขแน่ ต้องนั่งขี่แบบไม่ให้ฝีโดนอาน บางคนต้องยืนขี่ตลอดทางจนถึงที่หมาย กลับมาถึงออฟฟิศก็คงไม่พ้นการนั่งทำงานด้วยความหงุดหงิดงุ่นง่าน ที่อันตรายที่สุดก็คือ หากใครเกิดอาการ “คัน” ขึ้นมาล่ะก็ โอ้! พระเจ้าจอร์จ ก็ช่วยท่านไม่ได้ ต้องหาจังหวะเกาให้หายคันถึงจะมีความสุข ใครที่คันตอนขี่จักรยานชมป่านี่ยังไม่เท่าไหร่ ยังจอดหลบเข้าข้างทางไปเกาในหลืบเงาร่มไม้ได้ ดีไม่ดีอาจะเจอสมุนไพรรักษาฝีอย่างขมิ้น ว่านพระกาฬ ฟ้าทะลายโจร ว่านหางจระเข้ ฯลฯ ก็ได้นะจ๊ะ แต่ถ้าใครมาคันในออฟฟิศที่ทำงานนี่สิ ลำบากหน่อยต้องเดินไปเกาในห้องน้ำ ถ้าโชคร้ายถามหา...ห้องน้ำเต็ม...ก็คงต้องเอาก้นถูเก้าอี้ไปพลาง ๆ ก่อนล่ะกันเนอะ

ส่วนวิธีดูแลรักษาไม่ให้เกิดฝีที่ก้นนั้นก็ง่ายแสนง่าย เพียงแค่ใช้สบู่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่มี “ไตรโคลซาน” หรือ “เฮ็กซาคลอโรฟิน” เป็นส่วนผสมก็จะสามารถช่วยขจัดเชื้อแบคทีเรียที่เกาะอยู่บนผิวหนังออกไปได้แล้วนะจ๊ะ หรือจะเอาก้นแช่น้ำอุ่นละลายด่างทับทิม เช้า-เย็น ก็ไม่มีปัญหานะ แต่ถ้าเกิดเป็นฝีที่ก้นขึ้นมาจริง ๆ ก็ต้องหายาแก้อักเสบมารับประทานเพื่อให้ฝียุบและระวังการเป็นฝีเรื้อรังขึ้นมาด้วย หากไม่หายก็ควรจะไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาให้หายขาด จะได้นั่งทำงานแล้วก็นั่งถีบจักรยานชมธรรมชาติได้อย่างมีความสุข


ที่มา runnercorner.blogspot.com/2007/10/blog-post_1573.html

อาชีพเมสเซนเจอร์จักรยาน Bicycle Messenger

|0 ความคิดเห็น

Bicycle Messenger

ทุกครั้งที่เราอยู่บนท้องถนนและได้เห็นบุคคลอาชีพหนึ่งซึ่งใช้มอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะ จากลักษณะการแต่งกายด้วยสีสันคล้ายคลึงกันทำให้ทราบว่าพวกเขาคือ “พนักงานส่งเอกสาร” หรือที่นิยมเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “เมสเซนเจอร์” 


การทำงานแข่งกับเวลาทำให้ต้องใช้พาหนะความคล่องตัวสูง เพื่อลัดเลาะไปตามแถวรถยนต์ขณะจราจรติดขัดให้ถึงที่หมายตามกำหนด แต่จะมีใครนึกบ้างหรือไม่ว่านอกจากมอเตอร์ไซค์ที่เราเห็นกันเจนตาแล้ว จักรยานก็เป็นพาหนะของบรรดาเมสเซนเจอร์เหมือน เคยเป็นมาก่อนจะมีมอเตอร์ไซค์และยังใช้กันอยู่ในหลายเมืองใหญ่ของสหรัฐฯและยุโรป

เรื่องของเรื่องคือหลังจากมนุษย์คิดค้นจักรยานเพื่อทุ่นแรงในการเดินทางเมื่อปลายศตวรรษที่ 18 จักรยานได้ถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันหลายหน้าที่ หนึ่งในหน้าที่เท่าที่มนุษย์จะคิดได้คือการส่งเอกสารระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในหนังสือประวัติศาสตร์จักยานที่เดวิด เฮอร์ลิฮี (David Herlihy มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 1930-1931) ตีพิมพ์เมื่อปี 2005 ได้ระบุไว้ว่าอาชีพเมสเซนเจอร์จักยานนี้มีมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 แล้ว ตลาดหุ้นแห่งกรุงปารีสได้เริ่มใช้พาหนะชนิดนี้เพื่อส่งเอกสารในทศวรรษ 1870 บริษัทเวสเทิร์นยูเนียนคือเจ้าแรกที่นำจักยานส่งเอกสารมาใช้ในมหานครนิวยอร์ก และบริเวณย่านการค้า, ชุมชนหนาแน่นทั่วไป นับแต่นั้นอาชีพเมสเซนเจอร์จักรยานก็กำเนิดขึ้นในสหรัฐ เริ่มที่นิวยอร์ค

"มันไม่กินหญ้า ไม่ป่วย น้ำหนักเบา ไม่ต้องบำรุงรักษามากเพราะอุปกรณ์ไม่สลับซับซ้อน ไม่มีเกียร์!"

ที่กล่าวข้างต้นนั้นจริง และในเมื่อจักรยานคือพาหนะและมนุษย์คือต้นกำเนิดแรงขับเคลื่อน จึงสามารถเลือกสรรมันได้หลายรูปแบบ ทั้งจักรยานถนน (มีแฮนด์เหมือนเสือหมอบ แต่โครงสร้างและระบบขับเคลื่อนแตกต่าง), จักรยานไฮบริด (ลูกผสมระหว่างเสือภูเขากับจักยานถนน ใช้ขี่ในเมือง), จักรยานภูเขา หรือแม้แต่บีเอ็มเอ็กซ์ แม้จะมีเกียร์ให้ใช้อย่างสะดวกสบาย แต่พนักงานส่งเอกสารปัจจุบันยังเลือกใช้จักรยานเฟืองเดี่ยวอยู่ จักรยานแข่งในลู่ก็เป็นที่พิสมัยด้วยเหตุผลคือน้ำหนักเบา ราคาไม่แพง ขี่ง่าย และแทบไม่ต้องซ่อมเลยนอกจากจะหยอดน้ำมันและจารบีเป็นครั้งคราว

นอกจากจักรยานแล้วเมสเซนเจอร์ยังใช้อุปกรณ์ประกอบอีกชนิด คือเป้สะพายเฉียงใส่เอกสารและสิ่งของอื่นแบบมีสายสะพายแถบเดียวพาดจากไหล่ข้างหนึ่งมายังเอวอีกข้าง เพื่อความคล่องตัวในการสวมและถอด ล้วงหยิบของได้โดยไม่ต้องจอดจักรยานหรือถอดเป้จากตัว แทบไม่ต่างจากกระเป๋าของคนอาชีพเดียวกันในบ้านเราที่ใช้มอเตอร์ไซค์ แต่ความพิเศษของเป้เฉพาะอาชีพนี้คือมันมีช่องใส่ของที่ออกแบบไว้สนองความต้องการยามเคลื่อนไหว ให้เจ้าของล้วงหยิบโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือวิทยุพูดสองทางได้ด้วยมือข้างเดียว ขยายขนาดได้ด้วยซิปเพื่อให้ขนของได้มาก ประมาณว่าเป้ใหญ่ ๆ นั้นมีความจุถึง 50 ลิตรหรือ 3,000 ลูกบาศก์นิ้ว ยัดกระดาษ A4 ได้ 10 ห่อสบาย ๆ!

มหานครนิวยอร์คคือเมืองที่ใช้เมสเซนเจอร์จักรยานหนาตาที่สุด เนื่องจากการจราจรคับคั่ง แม้แต่มอเตอร์ไซค์ที่ว่าคล่องตัวแล้ว ยังแทรกตัวลำบาก การสื่อสารในหมู่พนักงานส่งเอกสารใช้อุปกรณ์เท่าที่หาได้ทั้งโทรศํพท์เคลื่อนที่หรือวิทยุพูดสองทาง (วอล์คกี้-ทอล์คกี้) สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกอย่างคือกุญแจล็อกจักรยานกันหาย สัญลักษณ์อย่างหนึ่งของคนอาชีพนี้คือมีโซ่พร้อมกุญแจคล้องไว้รอบเอว ไม่เพียงแต่ใช้ล็อกแต่ยังใช้เป็นอาวุธได้อีกสำหรับคนขับรถยนต์ผู้มีทีท่าคุกคาม (ใช้ฟาดตัวถัง, กระจก ฯลฯ)

ด้วยพัฒนาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน ทั้งอินเตอร์เน็ตและอี-เมลได้ทำให้ผู้ประกอบอาชีพส่งเอกสารด้วยจักรยานบางตาลง แต่พัสดุภัณฑ์บางชิ้นที่ส่งทางอิเลคทรอนิคส์ไม่ได้ก็ยังต้องใช้แรงงานมนุษย์ อาชีพส่งเอกสารด้วยจักรยานก็ยังมีให้เราได้พบเห็นอยู่ประปราย มันเป็นอาชีพสำหรับคนหนุ่มสาว, นักศึกษาผู้รักความท้าทายและตื่นเต้นบนท้องถนน แม้อัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนของคนอาชีพนี้จะค่อนข้างสูง แต่ก็ยังมีผู้หลงใหลความท้าทายกับการขี่จักรยานในเมืองประกอบอาชีพนี้อยู่

ขอขอบคุณบทความดี ๆ จากนิตยสารสปอร์ตสตรีท

9 มี.ค. 2556

ดัดแปลงจักรยานของตัวเองให้กลายเป็นเครื่องดนตรี

|0 ความคิดเห็น
นักแสดงเปิดหมวกในลอนดอนชื่อ Daisy Dumas อายุ 38 ปีได้ดัดแปลงจักรยานของตัวเองให้กลายเป็นเครื่องดนตรีประเภทเคาะจังหวะครบเซ็ท ที่มีทั้งฉาบ กลองสแนร์และที่เคาะจังหวะด้วยเท้า


สาเหตุของการประดิษฐ์ดัดแปลงจักรยานครั้งนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากเขาต้องการเดินทางจากแอดิเลด ( Adelaide ) ประเทศออสเตรเลียไปลอนดอน เพื่อเข้าไทำงานเกี่ยวกับดนตรีแนว electronic แต่เนื่องจากเขาไม่ต้องการขนกลองขึ้น ๆ ลง ๆ รถไฟใต้ดินเวลาตระเวนเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ในลอนดอน เขาจึงคิดดัดแปลงรถจักรยานให้กลายเป็นกลอง ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกทั้งในการขนย้ายเครื่อนดนตรี และยังเป็นยานพาหนะในการพาเขาไปที่ต่างๆได้ด้วย ในการดัดแปลงจักรยานให้กลายเป็นชุดกลองก็ทำง่ายๆ  ใช้เวลาโดยประมาณแค่ 20 นาทีเท่านั้นเอง และเนื่องจากความแปลกไม่เหมือนใครนี้เอง ที่ทำให้เขาสามารถหารายได้ได้เพียงพอกับค่ากินค่าอยู่ที่ต้องจ่าย ซึ่งเขากล่าวว่า " ทัวร์ครั้งแรกของผมคือที่ Brick Lane ซึ่งผมเปิดหมวกแสดงแค่วันละชั่วโมงในวันธรรมดาเท่านั้น แต่กลับสามารถหาเงินมาจ่ายค่าเช่าได้ทั้งอาทิตย์ ไม่อยากจะเชื่อเลย! " ทั้งนี้ Osborne ยังถูกเชิญให้ไปแสดงในงานเทศกาลดนตรีหลายแห่ง 




ที่มา http://xn--12cn0ch8bcd4im5p.blogspot.com/2012/10/blog-post_7968.html

ทำไมถึงปั่นจักรยานในกรุงเทพ ?

|0 ความคิดเห็น

ทำไมถึงปั่นจักรยานในกรุงเทพ
เคยเป็นไหมที่ต้องตื่นตั้งแต่เช้า เพื่อจะไปนั่ง/ยืนหลับบนรถเมล์เพราะรถติดเคยเป็นไหม โบกแท๊กซี่ 10 คัน ไม่มีคันไหนยอมรับคุณไปส่งเคยเป็นไหมนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างระยะทางไม่ไกลแต่พอถึงจุดหมายปลายทางแล้วต้องขอบคุณพนะเจ้าที่ทำให้มีชีวิตรอดผ่านจากการขี่มอเตอร์ไซค์วิบากเคยเป็นไหมใช้เวลาเดินทางไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมงสำหรับการเดินทางระยะทางแค่ 10 กิโลเมตร

ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาหลักของการจารจรในกรุงเทพที่ไม่มีใครหนีพ้น วันหนึ่งคิดเสียว่านั่งรถจากบ้านไป ที่ทำงานใช้เวลา 2 ชั่วโมง ไปกลับ 4 ชั่วโมง หนึ่งสัปดาห์คุณเสียเวลาไปแล้ว 24 ชั่วโมง แต่ละวันใช้เงินในการเดินทาง 50 บาท ไปทำงานหนึ่งวันหายไปแล้ว 100 บาท หนึ่งสัปดาห์ หายไปแล้ว 600 บาท โอเค มันอาจดูไม่หนักหนาสาหัส แต่เวลาที่คุณเสียไป 24 ขั่วโมง มันสามารถเป็นเวลาที่คุณนอนหลับพักผ่อนต่อได้อีก หรือเงิน 600 บาทที่จ่ายไป เก็บหอมรอมริบเอาไว้ 4 สัปดาห์ก็มีเงินเพิ่มขึ้นแล้ว
ลองหันมาปั่นจักรยานดูดีไหม ระยะทางแค่ 10 กิโลเมตร ใช้เวลาเต็มที่ 40 นาที โอเค ไม่เถียงนะว่าปั่นจักรยานในกรุงเทพไม่น่ากลัว ปั่นมาแล้วทั่วประเทศไทย 8,700 กิโลเมตร ระยะทาง 20 กิโลเมตรสุดท้ายจากนนทบุรีเข้ากรุงเทพเป็นอะไรที่น่ากลัวที่สุด ในทริปแล้ว แต่ถ้ามีคนเริ่ม เราก็เชื่อว่าคนที่สอง คนที่สามก็จะตามมา ถ้าคุณเอาแต่กลัว โลกนี้ก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การปั่นจักรยานช่วยคุณประหยัดค่ารถ ค่ามอเตอร์ไซค์ ค่าแท็กซี่ ค่าน้ำมัน และยังช่วยรักษาชีวิตคุณจากการนั่งรถ แท๊กซี่และมอเตอร์ไซค์วิบาก ช่วยรักษาอารมณ์ ไม่ให้อยากที่จะกระโดดถีบคนขับรถแท็กซี่ทุกคันที่ปฏิเสธคุณ ช่วยทำให้ร่างกายสุขภาพแข็งแรง ถ้าคนมาปั่นเยอะขึ้น ก็จะช่วยลดมลภาวะที่มีมากมายหลือเกินใน กทม สิ่งเดียวที่คุณเสียไปคือ เหงื่อ ที่ต่อมาก็จะตอบแทนกลับมาเป็นร่างกายที่แข็งแรง
ทำไมถึงต้องเป็นจักรยานพับ
ง่ายมาก เพราะจักรยานพับสามารถเอาขึ้น รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน แอร์พอร์ทลิงค์ และเอาลงเรือได้ด้วย จักรยานพับช่วยให้คุณเดินทางเร็วขึ้น หลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆที่กล่าวมาจากข้างต้น โดยส่วนตัวแล้วเราทำงานเป็นไกด์ จะให้ไปรับลูกค้าสภาพเหงื่อโทรมกายคงไม่ดี ก็ได้จักรยานพับนี้เองที่ช่วยพาเราจากบ้านไปสถานีรถไฟฟ้า แล้วก็จากรถไฟฟ้าไปโรงแรมลูกค้า วิธีนี้ช่วยทำให้เราเดินทางได้ไวขึ้นไม่ต้องห่วงว่าจะต้องต่อคิวยาวรอมอเตอร์ไซค์ กลางคืนกลับบ้าน ไม่ต้องห่วงว่ารถไฟฟ้าหมด หรือแท็กซี่งี่เง่าไม่รับ กระโดดขึ้นจักรยานคู่ใจแล้วก็ปั่นไปเลย อ๋อ อย่าลืมไฟด้วยนะ
ทำไมถึงเป็น strida
จริงๆแล้วจักรยานพับยี่ห้อไหนก็คล้ายๆกัน ขอให้มันพับได้ก็สามารถเอาขึ้นรถไฟได้แล้ว แต่ส่วนตัวได้ลองทดสอบพับมาหลายคัน มีความรู้สึกว่า Strida พับง่ายมาก พับแล้วเหลืออันนิดเดียว พับแล้วก็ยังสามารถลากไปมาได้เหมือนเดิม ไม่เทอะทะ ช่วงชั่วโมงเร่งด่วนที่คนแออัดยัดเยียดในรถไฟฟ้า หรือรถไฟใต้ดิน ไม่ต้องแปลกใจถ้าประตูเปิดมาแล้วเจอสายตาประมาณว่า “นี่หล่อนจะเอาเข้ามาจริงๆใช่ไหม” หรือไม่ก็ ‘อย่าเอาเข้ามานะ แค่นี้ก็เต็มแล้ว” ก็อย่าได้แคร์ ขนาดไซส์จักรยานคันนี้ถ้าพับแล้ว ขนาดบางกว่ารถเข็นเด็ก กระเป๋าเดินทาง และคนอ้วนบางคนอีก
แนะนำว่า ลองปั่นคันนี้ดูก่อนสักหนึ่งสัปดาห์ก่อนเอาลงสนามจริง เพราะแฮนด์แคบมากเมื่อเทียบกับจักรยานธรรมดา เลยทำให้การทรงตัวเวลาเลี้ยวค่อนข้างลำบากในระยะแรก ถ้าจะให้พูดกันตรงๆ ถ้าคุณปั่นแต่จักรยานธรรมดาที่แฮนด์กว้างมาตลอด เมื่อคุณมาเจอคันนี้ มันจะเหมือนเริ่มปั่นจักรยานใหม่เลย 555 แต่ไม่ต้องกลัวไม่นานเดี๋ยวก็ชินเอง บางครั้งปั่นจักรยานขึ้นหมอนบนถนน ช่วงแรกๆ ยังไม่ชิน เผลอยกล้อก็มี ดีนะที่ไม่ตก วิธีแก้ข้อนี้เวลาขึ้นหมอนให้กดแรงลงไปที่บาร์มันจะได้ไม่ยกล้อ คันนี้มีทั้งรุ่นมีเกียร์และไม่มี เกียร์ ราคาก็แตกต่างกันไป คันของเราเป็นแบบไม่มีเกียร์ ปั่นแล้วก็แอบแปลกๆ แต่อย่างว่าปั่นในกรุงเทพ ที่รถติดเป็นวิสัยอยู่แล้ว จะมีเกียร์ไป ก็คงไม่ได้ใช้ ข้อดีอีกหนึ่งข้อ ที่ชนะใจเราให้ซื้อมาคือระบบสายพาน ถ้าเป็นจักรยานทั่วไปก็จะเป็นระบบ โซ่ ซึ่งก็ต้องใช้น้ำมันหล่อลื่น ให้เลอะเทอะเปรอะเปื้อนขากางเกง หรือขาเราเองอยู่เป็นประจำ ระบบสายพาน ออกแบบมาให้ไม่ต้องใช้น้ำมันหล่อลื่น เพราะฉะนั้นวางใจได้เลยว่าจะขากางเกงของคุณจะไม่เลอะเทอะแน่นอน
หลังจากที่ใช้มาแล้วเกือบสองเดือน เริ่มชินกับจักรยานคันนี้แล้ว ตอนซื้อมาเจ้าของร้านสาธิตวิธีการ พับให้ดู ไม่ถึง 15 วินาที พับเสร็จเตรียมเข็นได้เลย พอเราลองเอง มันไม่ง่ายอย่างที่คิด ผ่านไป 2 นาทีแล้ว ก็ยังไม่เสร็จ 555 ต้องกลับมาบ้านลองพับอีกรอบ ตอนนี้เซียนแล้ว เวลาพับที่รถไฟฟ้า หรือพับเก็บลงกระเป๋าที่โรงแรม จะต้องมีคนมาดูตลอดเวลา เหมือนเราเล่นกลให้เขาดู ครั้งแรกที่พับนี้ มาดูกันประมาณ 5 คนได้มั้ง อายจริงจัง เพราะยังพับไม่เก่ง อยากจะบอกทุกคนว่า เลิกดูได้ไหมคะ แรงกดดันมันเยอะเกิน เจ้าของร้านตอนที่ซื้อมาบอกว่า น้องปั่นมาไม่ว่าน้องจะเหงื่อแตกขนาดไหน มันไม่สำคัญเท่ากับน้องใช้เวลาพับนานขนาดไหน ถ้าน้องใช้เวลาพับเกิน 30 วินาที พี่แนะนำว่าหิ้วมันไปแบบนี้เลยเถอะ อายเขา 555 คำพูดนี้ยังจำมาจนถึงทุกวันนี้
Article and photos by Natt (ณัฐรีย์)

นีโอเตรียมจัดงาน BANG KOK BIKE EXPO 2013

|0 ความคิดเห็น
ธุรกิจนักปั่นมาแรง “นีโอ” เตรียมจัดงาน BANGKOK BIKE EXPO 2013 “มหกรรมจักรยานของผู้ที่มีใจรักการปั่น"
BANGKOK BIKE EXPO 2013
  
บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด(นีโอ)  รุกสร้างตลาดธุรกิจจักรยานอย่างครบวงจร  โดยจับมือร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย พร้อมพันธมิตรเอกชนอีกมากมาย กำหนดจัดงาน BANGKOK BIKE EXPO 2013 “มหกรรมจักรยานของผู้ที่มีใจรักการปั่น”  ภายใต้แนวคิด Riding together ด้วยหวังเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ สนับสนุนกระแสการใช้จักรยานเพื่อการเดินทาง และการท่องเที่ยวภายในประเทศ อีกทั้งยังเป็นการรณรงค์ให้เกิดการออกกำลังกาย ลดปริมาณการใช้รถยนต์ ลดมลภาวะ รวมถึงช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย ในฐานะเป็นประเทศที่สนับสนุนการขับขี่จักรยานอย่างจริงจังและยั่งยืน
นางสาวบุษยา  ประกอบทอง   รองผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอ็น.ซี.ซี.เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด (นีโอ) เปิดเผยว่า จากข้อมูลทางการตลาดในปีที่ผ่านมา ธุรกิจจักรยานในประเทศ มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านจำนวนผู้ใช้จักรยาน และยอดจำหน่ายจักรยานรวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
จากข้อมูลของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี 2554 มีการนำเข้าจักรยาน และชิ้นส่วนจักรยานทุกประเภท โดยเฉลี่ย 120 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 3,000 ล้านบาท มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 20% ในทุกปีโดยประเทศไทย เป็นทั้งแหล่งผลิตจักรยานเพื่อส่งออก รวมถึงมีตัวแทนจำหน่ายอีกหลายราย ซึ่งแต่ละรายนำเข้าจักรยานที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ยังไม่รวมตลาดจักรยานมือสองจากต่างประเทศ และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ อะไหล่ อุปกรณ์ตกแต่งจักรยาน เสื้อผ้า อุปกรณ์เสริม รวมถึงธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยวโดยจักรยาน ซึ่งในแต่ละปี สร้างเงินหมุนเวียนด้านการท่องเที่ยวภายในประเทศ ไม่ต่ำกว่า 900 ล้านบาท
นอกจากนี้ จากปัญหาด้านมลภาวะ และสภาพปัญหาการจราจร ซึ่งเกิดจากปริมาณการใช้รถยนต์ที่มีมากเกินความจำเป็น โดยปัจจุบัน กรุงเทพมหานครมีจำนวนรถยนต์มากถึง 7,000,000 คัน ก่อให้เกิดปัญหาด้านมลภาวะ และปัญหาด้านการจราจร ทั้งนี้ หากมีการส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดกระแสการใช้จักรยานเพื่อการเดินทาง และการท่องเที่ยวภายในประเทศให้มากขึ้น ก็จะสามารถแก้ปัญหาด้านการจราจร รวมถึงลดมลภาวะให้กับประเทศในระยะยาวได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นส่งเสริมให้เกิดการออกกำลังกาย ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมของผู้ขับขี่จักรยานอีกด้วย
จากข้อมูลทางการตลาด พบว่า ปัจจุบันผู้ที่อาศัยในกรุงเทพมหานคร หันมาใช้บริการระบบขนส่งแบบรางมากขึ้น โดยมีบางส่วนหันมาขับขี่จักรยานเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน จากสถิติพบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้จักรยานทั่วประเทศ เพียง  2,250,000 คน โดยแบ่งเป็น ผู้ใช้จักรยานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 150,000 คน  และผู้ใช้จักรยานในจังหวัดอื่นๆ อีก 2,100,000 คน โดยในจำนวนนี้ มีผู้ใช้จักรยานเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวมากถึง 260,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จากสถิติดังกล่าว บริษัทฯ จึงเล็งเห็นช่องทางการตลาด เพื่อขยายธุรกิจการจัดงานไปยังกลุ่มผู้ประกอบการจักรยาน ซึ่งกำลังมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วนี้ ให้สามารถเติบโตได้อย่างมีทิศทาง ขณะเดียวกันยังสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร ร้านกาแฟ  สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ รวมถึงเสื้อผ้าแฟชั่น  อุปกรณ์ตกแต่ง และอุปกรณ์เสริมเกี่ยวกับจักรยานครบวงจร  ซึ่งคาดว่าจะสามารถกระตุ้นตลาดให้เติบโตขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 25% ภายในปีนี้
สำหรับงาน BANGKOK  BIKE   EXPO 2013 “งานมหกรรมจักรยานของผู้ที่มีใจรักการปั่น”    ถือเป็นงานแสดงสินค้าและบริการเพื่อคนที่รักจักรยานเพื่อการเดินทาง และการท่องเที่ยวที่ครบวงจรที่สุด ภายในงานประกอบด้วยโซนต่างๆ  ได้แก่ The Bike Zone รวบรวม จัดแสดง และจำหน่าย จักรยาน อะไหล่ และอุปกรณ์แต่งจักรยานทุกประเภทจากผู้แทนจำหน่ายชั้นนำมากมาย ในราคาสุดพิเศษ
     - Biker Style Zone ครบเครื่องเรื่องแฟชั่นชุดปั่นจักรยาน เสื้อฟ้า Accessories ต่างๆ
     - Biker Gadget Zone อุปกรณ์เสริม Gadget กล้องถ่ายรูป สำหรับนักปั่นจักรยานโดยเฉพาะ
     - Bike Trip Zone  พบกับ โรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร ร้านกาแฟ สถานที่ท่องเที่ยว แหล่งรวมกลุ่มของบรรดาขาปั่นทุกกลุ่ม
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิเช่น การสร้าง Bike lane ในงาน งานเดียวที่สร้างช่องทางจักรยาน สำหรับปั่นเที่ยว ชม ช้อป ได้ทั่วทั้งงาน พร้อมอำนวยความสะดวกให้นักปั่นทุกท่าน กับลานจอดจักรยานในร่ม Exclusive indoor parking ใจกลางงาน กว่า 500 คัน หรือ สนาม Indoor Bike Park ซึ่งถือเป็น Track ปั่นจักรยานสุดมันส์ในร่ม ครั้งแรกในกรุงเทพฯ, รวมถึงข้อมูลเส้นทางท่องเที่ยวทั่วไทยโดยจักรยาน เชิงสร้างสรรค์ Unseen จาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)
งาน BANGKOK BIKE EXPO 2013 จะจัดทั้งหมด 4 วัน คือระหว่างวันที่ 2-5 พฤษภาคม 2556 ณ  ฮอลล์ 3-4  อิมแพค เมืองทองธานี โดยคาดว่าจะมีผู้ประกอบการ ร่วมออกบูธประมาณ 200 บูธ ประมาณการผู้เข้าชมงานไม่น้อยกว่า 100,000 คน ตลอด 4 วันที่จัดงาน โดยคาดว่าจะมีเงินสะพัดสำหรับตลาดจักรยาน และอุปกรณ์เสริมในงาน ไม่ต่ำกว่า 120 ล้านบาท และตลาดจักรยานกับการท่องเที่ยวอีกประมาณ 100 ล้านบาท
สอบถามรายละเอียดต่างๆ ได้ที่ www.nccexhibition.com หรือโทร 02 203 4232-6
ที่มา www.bangkokbiznews.com/home/news/pr-center/detail-news.php?id=25732

4 มี.ค. 2556

แจ้งข่าวงาน Thailand Bike & Vehicle 2013

|0 ความคิดเห็น

แจ้งข่าวงาน Thailand Bike & Vehicle 2013


วันที่จัดกิจกรรม :
14 กุมภาพันธ์ 2556 - 17 กุมภาพันธ์ 2556

TCC ร่วมสนับสนุนการจัดงาน Thailand Bike & Vehicle 2013
วันที่ : 14-17 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 10:30-20:00 น.
สถานที่: อิมแพค Hall 3-4 เมืองทองธานี
พบกับกิจกรรมหลากหลายภายในงาน อาทิ

  • ชมและเลือกซื้อจักรยานคันโปรดจากทั่วโลก
  • อุปกรณ์ตกแต่งและเครื่องแต่งกายหลากหลายยี่ห้อ
  • สัมผัสจักรยานเทคโนโลยีสุดล้ำ ราคา 600,000 บาท
    -------------------------------------------
  • พบกับบูธนิทรรศการของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
  • หนังสั้น: แนะนำชมรมฯ
  • หนังสั้น: ตัวอย่างชุมชนจักรยาน สร้างได้ไม่ไกลเกินจริง 
  • แนะนำการเลือกซื้อจักรยาน   
  • จำหน่ายซื้อเสื้อยืด i bike i walk: เดินไป ปั่นไป 
  • รับของที่ระลึก เอกสารแจกฟรี
  • และกิจกรรมดีๆอีกมากมาย   
     


ขอเชิญรวมพลังปั่นต้าน(พลังงาน)โลภ

|0 ความคิดเห็น

‎"รวมพลังปั่นต้าน(พลังงาน)โลภ

วันนี้เข้า Facebook เจอโพสเชิญชวนร่วมพลังปั่นจักรยานต้าน(พลังงาน)โลภ จึงช่วยนำเอามาแชร์ในบล็อกแห่งนี้เพื่อเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์กิจกรรมดี ๆ ของเราชาวจักรยานอีกทางหนึ่ง โลกจะได้สวยงามและน่าอยู่ขึ้น อีกนิ๊ดก็ยังดี ท่่านใดที่อยากจะเข้าร่วมรวมพลังในครั้งนี้ก็สามารถไปรวมพลได้ตามสถานที่นัดหมายข้างล่างนี้ครับ 

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิสุขภาพไทย ขอเชิญทุกท่านร่วมใจฝ่าวิกฤติความโลภของธุรกิจพลังงาน "รวมพลังปั่นต้าน(พลังงาน)โลภ" ชวนสังคมผูกริบบิ้นขาว-เขียว แสดงพลังบริสุทธิ์เปลี่ยนประเทศไทยสู่ระบบพลังงานยั่งยืนและเป็นธรรม

รวมพลเวลาบ่ายโมงตรง ในวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2556 ณ สวนสันติภาพ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เส้นทางอนุสาวรีย์ชัย-กระทรวงพลังงาน

สำหรับท่านที่อยากร่วมปั่นจักรยานแต่ไม่มีจักรยานหรือไม่สะดวกนำจักรยานมาเอง มูลนิธิฯจะจัดเช่าจักรยานมาให้ยืมปั่น เพียงขอให้ส่งข้อความแจ้งชื่อได้ที่เบอร์ 089-4552710 เพื่อจะได้เตรียมจักรยานได้พอดีคนนะครับ

ที่มา www.facebook.com/BangkokBike/posts/485116454870659

Coyle Wooden Bike Helmets หมวกจักรยานที่ทำมาจากไม้

|0 ความคิดเห็น

Coyle Wooden Bike Helmets หมวกจักรยานที่ทำมาจากไม้

หมวกจักรยานไม้

เราอาจเคยเห็นหมวกจักรยานรูปแบบแปลก ๆ ที่ทำมาจากวัสดุต่าง ๆ อย่างในบ้านเราก็มีการเอาลูกมะพร้าวมาผ่าครึ่งและทำเป็นหมวกจักรยานหลากหลายรูปแบบ ล่าสุดในต่างประเทศก็กำลังอินเทรนด์กับการปั่นจักรยานด้วยชุดหมวกจักรยานที่ทำมาจากไม้ ซึ่งผู้คิดค้นและดีไซน์นี้ขึ้นมาคือ Mr. Dan Coyle ซึ่งหมวกจักรยานที่ทำจากไม้ของเขานั้นมีการนำไม้มาจากหลากหลายสถานที่เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
หมวกจักรยานไม้

หมวกจักรยานไม้จาก Coyle Wooden เป็นหมวกจักรยานที่มีความปลอดภัยในการสวมใส่ และที่สำคัญยังมีสไตล์และลวดลายสวยงามแบบไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร ซึ่งเกิดจากลวดลายของเนื้อไม้ที่แตกต่างกัน พร้อมทั้งยังมีความแข็งแรงทนทานต่อการกระแทกอีกด้วย

หมวกจักรยานไม้

จุดเด่นของหมวกจักรยานไม้นี้คือ การผลิตจากวัสดุธรรมชาติ และลวดลายของไม้ที่แตกต่างกันจากการสรรหาไม้มาจากหลายสถานที่ เพื่อความโดดเด่นของผู้สวมใส่ และที่สำคัญได้มีการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อพิสูจน์คุณภาพด้านการป้องกันศีรษะของผู้สวมใส่

สำหรับท่านที่ต้องการความโดดเด่น และความแปลกใหม่น่าจะลองหาซื้อมาใส่ซักใบ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าสนนราคาแล้วจะตกใบละเท่าไหร่ หรือใครพอมีฝีมือก็ลองทำเองใส่เองก็น่าจะดีไม่น้อย แต่ผมกังวลว่าน้ำหนักของหมวกมันน่าจะหนักกว่าหมวกแบบปกติที่เราใช้กัน ท่านใดเคยใช้แบบนี้แล้วก็ลองมารีวิวแบ่งปันกันบ้างนะครับ


ความสุข ความรักและจักรยาน

|0 ความคิดเห็น

บทความนี้เป็นบทความที่ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ ฺBike lane นิตยสาร a day กุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งเป็นบทความค่อนข้างเก่าเมื่อปีที่แล้ว แต่ผมเห็นว่ายังมีสาระและทัศนะที่เป็นประโยชน์ต่อแวดวงจักรยาน ผมจึงขออนุญาตเอามาลงในบล็อกแห่งนี้ เพื่อเป็นการเผยแพร่ทัศนะคติที่ดีต่อจักรยาน บางท่านอาจจะเคยได้อ่านผ่านตามาแล้ว ก็ถือว่าเป็นการทบทวนอีกครั้ง ส่วนท่านใดที่ยังไม่เคยอ่านก็ลองอ่านดูครับ ทัศนะคติเกี่ยวกับจักรยานของท่านอาจเปลี่ยนไป...
ด้วยรักและจักรยาน

ผมเป็นไอ้หนุ่มจักรยานที่ไม่ว่าจะไปไหนมาไหนก็มักใช้บริการเจ้าสองล้อคันโปรดเสมอครับ เพราะแน่นอนว่ามันทั้งสะดวก คล่องตัว อิสระ และฟรี จะแวะหยุดจอด ทำธุระที่ไหน เมื่อไหร่ นานแค่ไหน ก็ไม่ต้องเสียสตางค์ จากวันมาเป็นปี การขี่จักรยานทำให้รู้สึกมีความสุขอย่างบอกไม่ถูก เมื่อไม่ต้องเผชิญกับการจราจรติดขัดซึ่งเหมือนเป็นปัญหาพื้นฐานที่คนกรุงเทพทุกคนต้องเจอ    
ตอนเด็กๆ ผมเบื่อกับปัญหารถติดมากจนคิดว่าโตขึ้นเราจะต้องแก้ไขมันให้ได้ แต่ทุกวันนี้ เพียงแค่จับจักรยานขึ้นมาขี่ ปัญหารถติดสุดแสนเบื่อหน่ายก็ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องกวนใจอีกต่อไป
จักรยาน
มีบางคนบอกว่า “จักรยานเปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ได้” ผมไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนหรือต้องมีคนปั่นมากเท่าไหร่โลกจึงจะน่าอยู่ แต่สิ่งที่สัมผัสได้ทันทีเมื่อผมเปลี่ยนวิถีการเดินทางมาอยู่บนหลังอานคือ ผมเห็นโลกในอีกมุมหนึ่งที่ไม่เคยเห็นจากการโหนรถเมล์หรือนั่งรถยนต์ จังหวะหมุนของวงล้อที่ดูเฉื่อยช้าไม่ทันใจใครหลายคน กลับกลายเป็นเสน่ห์ที่ค่อยๆ หมุนเปลี่ยนความคิด แม้โลกไม่ได้เปลี่ยนทันใด แต่ใจที่เรามองโลกนั้นเปลี่ยนไป อาจเพราะความช้าแบบพอดีๆ ทำให้เราเห็นในความงามรอบข้าง อาจเพราะไม่มีสิ่งใดขวางกั้นจึงสัมผัสได้ถึงมิตรภาพของชีวิตระหว่างสองข้างทาง แม้เมืองไทยยังห่างไกลจากคำว่าเมืองจักรยาน แต่เพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่ไอ้หนุ่มคนนี้จะตกหลุมรัก
ของอย่างอื่น ยิ่งรักต้องยิ่งทะนุถนอม แต่กับจักรยานยิ่งรักต้องยิ่ง “ถีบ” เมื่อถีบบ่อยๆ ก็ต้องดูแลรักษากันบ้างตามการใช้งาน อะไรเสียนิดหน่อย ผมจะชอบซ่อมเอง แต่ถ้าอาการไหนหนักหนาเกินปัญญาก็ต้องพึ่งพาร้านซ่อม ระหว่างช่างกำลังซ่อมแซม ผมมักจะเฝ้าดูหรืออาสาเป็นผู้ช่วยอยู่เสมอ คอยสังเกตและสอบถามเทคนิคการซ่อมไว้เผื่อซ่อมเองในครั้งต่อไป การไปร้านแต่ละครั้งจึงเหมือนการไปหาความรู้เพิ่มเติมด้วย  ทำไปทำมา การซ่อมแซม ตกแต่ง เช็ดถูรถถีบก็กลายเป็นงานอดิเรกที่เมื่อเริ่มทำ มักจะเพลินจนลืมเวลาเสมอ 
ความสนุกของการดูแลจักรยานเองคือ ได้ค่อยๆ ทำความเข้าใจในแต่ละส่วนประกอบของจักรยานมากขึ้น อุปกรณ์เล็กๆ บางชิ้นเราไม่เคยรู้เลยว่ามันมีประโยชน์อย่างไร จนได้มาสังเกตดูจริงจัง  โชคดีที่กลไกจักรยานไม่ซับซ้อนเกินกว่าคนทั่วไปจะเรียนรู้และซ่อมแซมได้เองครับ ยิ่งได้ลองผิดลองถูกจนสำเร็จ แม้อาจดูเล็กน้อยแต่ก็รู้สึกภูมิใจอยู่ลึกๆ “แค่นี้ เราก็ทำได้โว้ย” พอรู้หลักการต่างๆ การปรับแต่งจักรยานให้เหมาะกับตัวเรา ก็สามารถทำได้ดั่งใจ ไม่ว่าจะเป็นระยะเบรก เกียร์ องศาเบาะ ความสูงแฮนด์ หรือจะตกแต่งแสงสีโคมไฟ ติดกระดิ่ง หรือแม้กระทั่งทำสีใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก และไม่แพงเลย ไม่สะเทือนขนหน้าแข้งของ (อดีต) นักศึกษาจนๆ อย่างผมด้วยซ้ำ  การดูแลจักรยานเองทำให้รู้สึกอุ่นใจเวลาขี่เพราะรู้ว่าจักรยานมีความพร้อมแค่ไหน แถมช่วยให้อายุการใช้งานยาวนานขึ้น เพราะเราใช้แบบเข้าใจว่าอะไรทำได้ อะไรไม่ควรทำ และเมื่อได้ดูแล ได้ใช้กันมานานๆ ก็ย่อมรู้สึกผูกพันเป็นธรรมดา จักรยานสำหรับผมจึงเป็นยิ่งกว่าของรักของหวง เพราะมันแฝงไปด้วยเรื่องราว ความทุ่มเท การเอาใจใส่ดูแล และมากด้วยความทรงจำครับ
จักรยาน
ข้อดีอีกอย่างหนึ่งที่ได้จากการขี่จักรยานคือทำให้เรารู้จักเมืองที่เราอยู่ดีขึ้น เพราะจักรยานสามารถไปได้แม้แต่ตรอกซอกซอยแคบๆ ไม่เหมือนรถใหญ่ ไม่กลัวหลง ถ้าเจอทางตันอย่างมากก็แค่หมุนรถกลับออกมา ดังนั้นถ้ามีเวลาว่างๆ ผมมักสนุกกับการปั่นจักรยานเข้า-ออกซอยเล็กซอยน้อยเพื่อสำรวจหาทางใหม่ๆ ผมพบว่าแม้แต่แถวบ้านที่ผมอยู่มากว่า 20 ปี ก็ยังมีอีกหลายที่ที่เจ๋งมากๆ เช่น ผมพบว่าจากบ้านแถวท่าพระไปที่ทำงานแถวท่าเตียน ผมสามารถขี่จักรยานทะลุเข้าออกซอกซอยโดยไม่ต้องวิ่งบนถนนใหญ่เลย หรือแถวบ้านผมที่ดูเหมือนตั้งอยู่กลางเมือง ยังสามารถพบพื้นที่สวนเก่าที่มีต้นไม้ใหญ่ตั้งตระหง่าน อยู่ตามตรอกเล็กๆ ที่รถยนต์เข้าไม่ถึง เหมือนเป็นอีกอาณาจักรหนึ่ง แต่เราเพิ่งรู้จักเมื่อมาขี่จักรยาน เพราะการเดินทางด้วยรถยนต์หรือรถเมล์ มันมีเงื่อนไขจำกัดเส้นทางทั้งเรื่องค่าโดยสารและสภาพจราจร หรือกลัวไม่มีที่จอด จะซี้ซั้วแวะออกนอกลู่นอกทางก็ไม่ค่อยได้ มันไม่อิสระเหมือนจักรยาน
ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ บรรยากาศกรุ่นด้วยความรักอย่างนี้ ผมคิดว่าคู่รักหนุ่มสาวคงกำลังลองมองหากิจกรรมโรแมนติกมาทำเซอร์ไพรส์กันครับ หากใครหันซ้ายหันขวาแล้วคิดไม่ตกว่าจะทำอะไรดี ผมคิดว่าจากข้อดีต่างๆ ของการขี่จักรยานที่ว่ามาแล้ว น่าจะเอื้อต่อบรรยากาศในโอกาสพิเศษเช่นนี้ครับ เพราะว่ากรุงเทพฯ ยังมีอีกหลายที่ที่สวยงามและเหมาะสำหรับขี่จักรยานที่สุด น่าชวนไปเดตด้วยจักรยานกันดูครับ บางทีชีวิตคนเมืองที่รีบเร่งมาตลอด อาจต้องการช่วงเวลาสบายๆ ให้ยืดย้วยกับเขาบ้าง จักรยานเหมาะกับการพักผ่อนแบบชีวิตช้าๆ มากเลยละครับ ส่วนสถานที่ที่แนะนำสำหรับมือใหม่หัดขี่ อาจเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการชวนกันไปปั่นที่สวนรถไฟก็ได้ครับ ที่นั่นมีจักรยานหลากหลายแบบให้เช่าในราคาย่อมเยาและภายในสวนก็มีที่ทางให้ขี่จักรยานได้เป็นสัดส่วน ร่มรื่นและปลอดภัยครับ อาจเพิ่มเสน่ห์ด้วยการนัดกันหิ้วปิ่นโตนำอาหารมาแบ่งกันทานก็น่ารักดีครับ นอกจากพื้นที่ปั่นจักรยานกว้างขวางแล้ว สวนรถไฟยังมีที่เที่ยวอีกหลายแบบครับ ถ้าใครชอบดูผีเสื้อหรือแมลง ในสวนมีอุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ เปิดให้บริการฟรี มีมุมพายเรือ ว่ายน้ำ  นอกจากนั้นหากอยากฟังธรรมก็มีสวนโมกข์ฯ กรุงเทพอยู่บริเวณปากทางเข้า มุมประติมากรรมสวยๆ ก็มีอยู่ทั่วให้ถ่ายรูปอัพเฟซบุ๊กกันได้สบายๆ มาที่นี่อยู่เที่ยวได้ทั้งวันครับ
ส่วนคู่ไหนที่มีทักษะการปั่นจักรยานตามถนนอยู่บ้าง สถานที่ที่มีบรรยากาศโรแมนติก มีอยู่มากมายทั่วกรุงเทพเลยครับ แต่ที่ผมเคยไปและชื่นชอบมากคือแถบเขตกรุงเทพชั้นใน โดยเฉพาะแนวเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นเพกรุงเทพฯ เราเป็นเมืองที่สัญจรทางน้ำเป็นหลัก ทั้งโบสถ์ วัด อาคารบ้านเรือนสวยๆ สมัยก่อนจึงตั้งอยู่ริมแม่น้ำเสียส่วนใหญ่ ผมว่าการได้หาโอกาสไปเยี่ยมเยียนสถานที่เหล่านั้นสักครั้งหนึ่ง เป็นอะไรที่วิเศษมากๆ เลยครับ และการเดินทางไปหลายๆ ที่ ที่ไม่ไกลกันมาก วิธีที่สะดวกที่สุดก็คือการขี่จักรยานนั่นเองครับ ถ้าคุณวางแผนจัดเส้นทางให้ดี ไม่ไกล ไม่ร้อน และไม่ฝืนเกินไป (โดยเฉพาะถ้าคู่ของคุณไม่คุ้นกับการขี่จักรยาน เราต้องประเมินสถานการณ์ให้ดี อาจต้องเตรียมแผนสำรองไว้เผื่อฉุกเฉินครับ) ปิดท้ายด้วยการแวะชมวิวพระอาทิตย์ตกริมน้ำ หาร้านดินเนอร์เก๋ๆ การเดตด้วยการปั่นเที่ยวชมสถานที่สำคัญริมน้ำ ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าประทับใจนะครับ ใครได้ลองเดตด้วยจักรยานแล้ว เล่าสู่กันฟังได้นะครับ
ที่มา : คอลัมน์ bike lane นิตยสาร a day กุมภาพันธ์ 2555

ระเบิดศึกจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ ชิงแชมป์ประเทศไทยประจำปี 2556 สนาม 2

|0 ความคิดเห็น

ระเบิดศึกจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ ชิงแชมป์ประเทศไทย ฟิชเชอร์แมนเฟรนด์ 2556

จักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ ชิงแชมป์ประเทศไทย ฟิชเชอร์แมนเฟรนด์

วันนี้หยิบเอาข่าวคราวการแข่งขันจักรยาน บีเอ็มเอ็กซ์ ชิงแชมป์ประเทศประจำปี 2556  สนาม 2 ในวันอาทิตย์ที่ 10 มี.ค. 2556 นี้ ประเดิมสนามใหม่พัทยาพีอาซี จ.ชลบุรี ไทยพีบีเอสถ่ายทอดสดบ่าย 2 โมง ฝ่ายจัดยืนยันสนามพร้อมและนักปั่นบางส่วนเข้ามาฝึกซ้อมแล้วต่างพอใจ

พล.ท.เดชา  เหมกระศรี เลขาธิการสมาคมจักรยานฯ เปิดเผยว่า การแข่งขันจักรยาน “ฟิชเชอร์แมน เฟรนด์ บีเอ็มเอ็กซ์ ชิงแชมป์ประเทศไทย” ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2556 สนามที่ 2 เก็บคะแนนสะสม จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 10 มี.ค. 2556 โดยใช้สนามบีเอ็มเอ็กซ์แห่งใหม่ พัทยาพีอาซี เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เปิดสังเวียนประชันความมันชิงชัยสองล้อเล็ก สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถ่ายทอดการแข่งขันเพิ่มความมันส์ในการแข่งขังถึงผู้ชมทางบ้านอย่างสะใจ ระหว่างเวลา 14.00-16.00 น.

บีเอ็มเอ็กซ์ ชิงแชมป์ประเทศไทย

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมการแข่งขันสนามที่ 2 ในวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2556 สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครเข้าร่วมการแข่งขันได้ที่สมาคมจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์  โทรศัพท์ 0-2719-3340-2  โทรสาร 0-2719-3343 หรือส่งใบสมัครมาที่อีเมล์ของสมาคมจักรยานฯที่  taca1959@yahoo.com โดยดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www. thaicycling.or.th ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หมดเขตรับสมัครวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2556

การสมัครแข่งขันสามารถชำระค่าสมัครล่วงหน้าได้ โดยโอนผ่านบัญชี พันตรีชมชาย  ขำต้นวงษ์ เจ้าหน้าที่การเงินสมาคมจักรยานฯ ธนาคารกรุงไทย สาขารามคำแหง 65  บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 5690123404 ค่าสมัครหรือรายละเอียดอื่น ๆ ตามระเบียบการแข่งขันจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ ประจำปี 2556 และจะไม่มีการรับสมัครในวันแข่งขันโดยเด็ดขาด  หากท่านใดสนใจจะลงสมัครแข่งขันก็ให้ไปสมัครได้แต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันความผิดพลาด ครับ

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

1 มี.ค. 2556

BMW เปิดตัว นวัตกรรมจักรยานพับไฟฟ้า

|0 ความคิดเห็น

จักรยานพับไฟฟ้า BMW

BMW เปิดตัวนวัตกรรมจักรยานที่เหมาะใช้งานร่วมกับรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบขนาดเล็ก BMW i3 โดยมีแนวคิดเพิ่มความสะดวกในการไปไหนมาไหนในเขตเมือง จักรยานพับไฟฟ้า BMW มีชื่อรุ่นว่า BMW i Pedelec (Pedal Electric Cycle) การชาร์จแบตเตอรี่สามารถทำได้ทั้งการชาร์จแบตปกติและชาร์จจากการปั่นจักรยานที่จะช่วยสะสมพลังงานไปชาร์จแบตอีกที ตัวถังทำมาจากอลูมิเนียมและคาร์บอนไฟเบอร์ทำให้น้ำหนักเบา โดยมีน้ำหนักรวมประมาณ 20 กิโลกรัม ใช้ดิสก์เบรคทั้งล้อหน้าและล้อหลัง มี 3 เกียร์ BMW ออกแบบให้พับจัดเก็บได้ง่ายมากจนเป็นหนึ่งในจุดเด่นของจักรยานคันนี้
จักรยานพับไฟฟ้า BMW

ที่มา : BMW Blog

สุดยอดจักรยานแอสตัน มาร์ติน เทคโนโลยีจักรยานแนวคิดจากรถสปอร์ต

|0 ความคิดเห็น
จักรยานแอสตัน มาร์ติน

รถสปอร์ตแอสตัน มาร์ติน รุ่น One-77 ถือเป็นหนึ่งในรถที่มีราคาแพงที่สุดในโลก โดยมีราคาประมาณ 60 ล้านบาท (2 ล้านเหรียญ) แต่ถ้างบไม่ถึงลองหันมาดูสุดยอดจักรยานแอสตัน มาร์ติน รุ่น One-77 บ้างดีไม๊ จักรยานคันนี้ถูกออกแบบโดยอ้างอิงแนวคิดจากรถสปอร์ต One-77 ให้เป็นจักรยานที่มีเทคโนโลยีทีทันสมัยสุดล้ำ

จักรยานแอสตัน มาร์ติน

โดยแอสตัน มาร์ตินร่วมมือกับแฟคเตอร์ ไบค์ ที่เคยผลิตจักรยานต้นแบบ F001 จนสร้างความฮือฮามาแล้วจากการออกแบบ การเลือกใช้วัสดุ และนำเทคโนโลยีเข้าไปผสมผสานกับจักรยาน จักรยานแอสตัน มาร์ตินก็ได้เลือกใช้สุดยอดวัสดุและเทคโนโลยี อาทิ เฟรมทำจากคาร์บอนเพื่อให้มีน้ำหนักเบา ตะเกียบและแฮนด์ใช้วัสดุน้ำหนักเบาแต่แข็งแรง ขอบล้อคาร์บอน อานเบาะหนังใช้แบบเดียวกับในรถสปอร์ต One-77 เกียร์ใช้ของชิมาโน ดูราเอซ 21 สปีด ฝังระบบไฟหน้าและไฟท้ายแบบ LED ที่ให้ไฟส่องสว่างมาก ขนาดเล็ก และกินพลังงานน้อย ติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์แบบทัชสกรีนที่แฮนด์ สามารถวัดความเร็ว กำลังวัตต์ ระบบจีพีเอส วัดค่าน้ำหนักแรงขา วัดอัตราการเต้นหัวใจ และค่าสถิติอื่นๆ อีกนับ 100 แบบ สำหรับราคาค่าตัวไม่ต้องสงสัยเลยว่าใช้ของสุดยอดเทคโนโลยีซะขนาดนี้ คาดว่าจะวางจำหน่ายที่คันละประมาณ 1,200,000 บาท (4 หมื่นเหรียญ)

จักรยานแอสตัน มาร์ติน
จักรยานแอสตัน มาร์ติน

มาดูวิดีโอกันครับ...

ที่มา : Aston Martin One-77, Factor Bike, Gizmag

บทความจักรยานที่เกี่ยวข้อง