บ่อยครั้งที่เรามักจะละเลยในเรื่องของความปลอดภัย การป้องกันก่อนที่เหตุจะเกิดเมื่อยังไม่เกิดอุบัติเหตุก็ไม่คิดที่จะใส่ใจป้องกันแต่เมื่ออะไรมากได้โอกาสครั้งที่สองก็ยังกลับมาเริ่มใหม่ได้ แต่ถ้าเกิดโชคร้ายมีโอกาสครั้งเดียวจะทำอย่างไร ในเมื่อไม่รู้ว่าเราจะมีโอกาสกี่ครั้ง เรามาป้องกันไว้ก่อนไม่ดีกว่าหรือครับ
สำหรับจักรยานมีเครื่องป้องกันอยู่ไม่กี่ชิ้น หลัก ๆ เลยก็คือหมวกกันกระแทกหรือที่เราชอบเรียกกันว่าหมวกกันน็อก ถ้าเพื่อน ๆ ผู้อ่านท่านใดเคยเข้าแข่งไม่ว่าจะรายการไหนก็ตาม ในใบสมัครจะระบุไว้เป็นข้อต้น ๆ เลยว่า “ผู้เข้าแข่งขันจักรยานทุกท่านต้องสวมหมวกกันกระแทก” ถึงอย่างนั้นก็เป็นแค่การบังคับให้สวมเท่านั้น ไม่ได้บอกว่าต้องสวมให้ถูกด้วย ถ้าสวมไม่ถูกแต่ไม่ล้มหรือล้มไม่แรงหรือล้มแรงแต่หัวไม่โดนก็ไม่เป็นไร แล้วจะมีอะไรรับประกันได้ว่า เมื่อพลาดล้มหัวของเราจะไม่ไปกระแทกกับอะไรเข้า คำตอบคือไม่มี จะบอกว่าถ้าเจ็บตัวถือเป็นโชคร้าย ถ้าปลอดภัยถือเป็นโชคดี คิดจะฝากความปลอดภัยของตัวเองไว้กับโชคชะตาแค่นั้นหรืออย่างไร ต่อไปนี้เราขอแนะนำเกี่ยวกับการใส่หมวกกันน็อกอย่างถูกวิธีเพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง
ก่อนที่จะใส่หมวกก็ต้องมีหมวกก่อน หมวกกันน็อกมีให้เลือกหลายทรง หลายยี่ห้อ ตามแต่ความชอบและกำลังทรัพย์ สิ่งแรกที่ต้องใส่ใจและให้ความสำคัญคือเรื่ององขนาด ต้องไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป อย่าซื้อหมวกแบบเผื่อโต หรือเล็กหน่อยจะได้สวย เลือกหมวกที่พอดีกับศีรษะมากที่สุด หมวกกันน็อกจะบอกขนาดเป็นเซนติเมตร เช่น M(53-56) หรือ L(56-62) ตัวเลขที่บอกคือเส้นรอบวงของหัวที่จะใส่ได้ เราสามารถวัดได้โดยการใช้สายวัด วัดรอบหัวเหนือแนวใบหูเมื่อมีหมวกกันน็อกแล้ว มาดูวิธีการใส่กันบ้างว่าการที่จะใส่ให้ถูกต้องควรทำอย่างไร
ตำแหน่งของหมวกด้านหน้าจะอยู่บนหน้าผากเหนือคิ้วเล็กน้อย ปรับตัวปรับความกระซับด้านหลังให้กระซับพอดีกับหัวไม่แน่นหรือหลวมเกินไป ทดสอบว่าหลวมเกินไปหรือไม่ ด้วยการยืนตรงและก้มหัวมองที่เท้าค้างไว้ประมาณ 10 วินาที ถ้าหมวกหลวมเกินไปหมวกจะหล่นออกจากหัวแต่ถ้าแน่นเกินไปจะรู้สึกได้ถึงการรัดและเลือดไม่ไหลเวียน
เมื่อได้ความกระชับที่พอดีแล้ว มาที่สายรัดคางกันบ้าง หมวกกันน็อกสำหรับจักรยานจะมีสายรั้ง 2 เส้น เส้นหนึ่งมาจากด้านหน้า อีกเส้นหนึ่งมาจากด้านหลัง ทั้ง 2 เส้นจะมารวมกันเป็นรูปตัว Y ผ่านตัวปรับและกลายเป็นสายรัดคาง ตำแหน่งของตัวปรับนี้ควรอยู่ใต้ใบหูเล็กน้อย สายเส้นหน้าจะอยู่ด้านหน้าใบหู ส่วนสายเส้นหลังจะผ่านมาใต้ติ่งหู เพื่อเป็นการรั้งหมวกไว้กับใบหู ไม่ให้หมวกขยับ จุดนี้เป็นจุดที่ถูกละเลยมากที่สุดในการใส่หมวกกันน็อกหลายคนมักจะไม่ดึงตัวปรับขึ้นไปรั้งกับหูส่วนหนึ่งคงมาจากการปรับที่ต้องจุกจิกนิดหน่อย คิดว่าปรับยากซึ่งอันที่จริงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรยิ่งถ้าให้เพื่อนช่วยปรับจะยิ่งง่ายเข้าไปอีก ขั้นแรกปลดล็อคออกก่อน ปล่อยสายทั้ง 2 เส้นเป็นอิสระ ปรับทีละสาย เช่นปรับสายหน้าใช้มือหนึ่งเลื่อนตัวปรับเข้าหาใต้ติ่งหูจนติด ปรับสายหลังด้วยวิธีแบบเดียวกัน จากนั้นจับปลายสายทั้ง 2 ไว้แล้วเลื่อนตัวปรับให้ห่างจากหูเล็กน้อยแต่ไม่ควรเกิน 1 เซนติเมตรหรือถ้าจะให้เรียกง่าย ๆ คือใกล้ที่สุแต่ต้องไม่โดนสายรั้งทั้ง 2 ต้องตึงพอดีไม่หย่อน ปรับให้เท่ากันทั้ง 2 ข้าง
สุดท้ายคือสายรัดคาง ถึงจะเรียกว่าสายรัดคางแต่อันที่จริงเราไม่ได้เอาไปรัดกันที่คาง สายนี้จะรัดไว้ใต้คางถ้ารัดแน่นเกินไปจะทำให้หายใจไม่สะดวก แต่ถ้าหลวมเกินไปหมวกจะหลุดเอาได้ ให้รัดแล้วใช้นิ้วมือสอดลอดระหว่างสายรัดกับใต้คางได้สัก 2 นิ้วโดยประมาณ เป็นอันจบขั้นตอนการใส่ ลองขยับดูหน่อยว่าเข้าที่หรือไม่ด้วยการเขย่าหัวไปมา หมวกจะขยับได้เล็กน้อยแต่ไม่ควรเกิน 1.5 เซนติเมตร
คงไม่ยุงยากเกินไปนะครับสำหรับวิธีการใส่หมวกกันน็อกให้ถูกวิธี ถึงแม้จะยุ่งยากสักหน่อยแต่เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตก็ควรเสียสละเวลาซักเล็กน้อยเพื่อปรับหมวกกันน็อกให้กระชับพอดีกับศีรษะของเราครับ