ss

28 พ.ย. 2554

เปิดใจและเปิดทาง บทเรียนต่างแดนสู่วิถีจักรยาน

เปิดใจและเปิดทาง บทเรียนต่างแดนสู่วิถีจักรยาน

แม้ว่าจักรยานปั่นสองล้อและรถยนต์หัวสูบเผาน้ำมันจะเริ่มผลิตขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกันช่วงกลาง ๆ คริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ศตวรรษที่ 20 กลายเป็นศตวรรษแห่งรถยนต์ เมื่อ เฮนรี่ ฟอร์ด ปฏิวัติอุตสาหกรรมรถยนต์ให้ผลิตได้จำนวนมากในราคาถูกจนชนชั้นกลางทั่วไปสามารถซื้อใช้ได้ ด้วยความเร็วและความสะดวกสบายที่เหนือกว่า และขนาดใหญ่โตกินที่มากกว่า รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังน้ำมันจึงเบียดการเดินทางที่ขับเคลื่อนด้วยพลังขาทั้งพลังขาสัตว์และขาคนตกไปจากท้องถนน ถนนหนทางในเมืองเปลี่ยนจากพื้นที่สาธารณะที่คนใช้ชีวิตทำกิจกรรมต่าง ๆ ไปเป็นที่รถวิ่งสัญจร


แต่เมื่อรถยนต์เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนหมดพื้นที่ขยายถนน ศักยภายในการสัญจรด้วยรถยนต์ในเมืองกลับลดลง ที่เคยวิ่งได้ฉิวกลายเป็นติดขัด บ่อยครั้งถึงขั้นอาการอัมพาต แถมปล่อยไอเสียกันจนอากาศเป็นพิษ อัตราคนเป็นมะเร็งปอดในเมืองเกือบทั่วโลกสูงกว่าในชนบทเป็นเท่าตัว ยังให้ผู้คนพากันหนีเข้าไปอยู่ในห้องแอร์และรถติดแอร์ ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่สามารถกรองละอองพิษขนาดเล็กว่า 10 ไมครอนได้ จ่อท้ายรถคันอื่นก็สูดเข้าปอดอยู่ดีทั้งคายร้อยแอร์ ไอเสีย พื้นผิวคอนกรีตและถนนลาดยาง ช่วยกันเพิ่มอุณหภูมิเมืองให้ร้อนผ่าวแทนที่จะเป็นกุยแจสู่อิสรภาพคล่องตัวตามที่โฆษณาอยากให้เราเชื่อ รถยนต์กลับเป็นเทคโนโลยีที่สร้างปัญหาต่อสุขภาพกาย รถติด สร้างปัญหาต่อสุขภาพจิต เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิต ในยุคที่ทั่วโลกต้องหันมาใส่ใจกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน รถยนต์ก็ต้องตกเป็นจำเลยอย่างช่วยไม่ได้ ในกรุงเทพฯ มันเป็นตัวการปล่อยก๊าชเรือนกระจกถึงกว่าร้อยละ 40 นับเป็นการใช้ทรัพยากรเชื้อเพลิงฟอสซิลอันมีค่าอย่างออกจะไร้ประสิทธิภาพ

เมืองต่าง ๆ จึงกำลังตื่นตัว หาวิธีลดการใช้รถยนต์อย่างจริงจัง ส่งเสริมขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพ และวาระสำคัญที่ขาดไม่ได้คือการส่งเสริมการใช้จักรยาน พาหนะสัญจรบนบกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด และราคาถูกสุดถ้าไม่นับการเดิน

หลายเมืองกำลังพยายามเปลี่ยนตัวเองให้เป็นเมืองจักรยาน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องลุกขึ้นขี่จักรยาน แต่หมายถึงเมืองที่มีวัฒนธรรมและวิถีที่เอื้อต่อการขี่จักรยาน เอื้อต่อการเดินถนน เอื้อต่อการสัญจรทางเลือกและวิถีชีวิตที่หลากหลาย สามารถพบประสังสรรค์กันริมทางร่มรื่นนอกห้องแอร์ สามารถคำนวณเวลาเดินทางได้เที่ยงตรง อยากแวะหยุดที่ไหนก็แวะได้เพราะจอดพาหนะได้ รวมถึงเอื้อต่อการใช้รถยนต์เมื่อจำเป็นต้องใช้รถยนต์ พูดสั้น ๆ คือ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับมนุษย์ ไม่ใช่ลานจอดรอากาศเสีย
กระแสมาแรงชัดเจน ศตวรรษที่ 21 จะเป็นศตวรรษแห่งจักรยาน โบราณว่าตั้งเป้าได้มีชัยไปกว่าครึ่ง แต่โจทย์ใหญ่อยู่ที่ทำอย่างไรจะเพดินทางถึงเส้นชัย การเปลี่ยนสังคมเมืองวัฒนธรรมรถยนต์สู่เมืองวิถีจักรยานไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับเมืองอย่างกรุงเทพฯ ที่ไม่เคยคิดจะฝันกันด้วยซ้ำ แค่เอ่ยถึงก็พากันส่ายหน้าว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่ต้องคิด บ้านเราไม่เหมือนเมืองฝรั่ง อย่างนี้แล้วเราจะเปลี่ยนแปลงกันได้อย่างไร

ขอบอกว่าเมืองอื่น ๆ ที่คนขี่จักรยานได้สบาย ก็ใช่จะประสบความสำเร็จกันได้ง่าย ๆ เสมอไป ส่วนใหญ่ใช้เวลาหลายสิบปี  และพอจะสรุปโจทย์ได้ 2 ข้อหลัก ๆ เป็นข้อสรุปออกจะกำปั้นทุบดินตามประสาคนคิดง่าย ๆ นั่นคือ เราต้องเปิดใจและเปิดทางให้จักรยาน ขอเริ่มที่การเปิดทางก่อน


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความจักรยานที่เกี่ยวข้อง