ss

5 ก.ย. 2554

คาเดล อีแวนส์ แชมป์ ตูร์ เดอ ฟร็องซ์ ปี 2011

คาเดล  อีแวนส์  แชมป์ ตูร์ เดอ ฟร็องซ์ ชาวออสเตรเลียคนแรก

ตูร์ เดอ ฟร็องซ์ ครั้งล่าสุดนี้ก็เป็นที่ทราบกันแล้วว่าได้แชมป์เป็นชาวออสเตรเลียคือ คาเดล อีแวนส์ ถึงเขาจะไม่ใช่ชาวออสซี่คนแรกที่มาแข่งจักรยานทางไกลระดับโปรทัวร์ แต่ก็เป็นออสซี่คนแรกที่ชนะโอเวอร์ออลในตูร์ เดอ ฟร็องซ์ ปี  2011 แต่ก่อนจะมาค้าแข้งในแวดวงจักรยานถนนทางไกล อีแวนส์เคยโด่งดังมาก่อนในฐานะแชมป์เวิลด์คัพของเมาเท่นไบค์ประเภทครอสคันทรี่ เขาเคยครองแชมป์เมาเท่นไบค์เวิลด์คัพปี 1998 และ 1999 ครองตำแหน่งที่ 7 ในการแข่งเมาเท่นไบค์ครอสคันทรี่ประเภทชายในการแข่งโอลิมปิคปี 2000 ที่นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย เป็นชาวออสเตรเลียคนแรกที่ได้ครองแชมป์โลกประเภทจักรยานถนนของยูซีไอเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2009 ที่เมือง เมนดริซิโอ สวิตเซอร์แลนด์ แล้วในปีนี้เขาก็สร้างเกียรติประวัติด้วยการเป็นออสซี่คนแรกที่ครองแชมป์โอเวอร์ออลของ ตูร์ เดอ ฟร็องซ์ ดังกล่าว

แชมป์ตูร์ เดอ ฟร็องซ์ คนล่าสุดเกิดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 1977 ในชื่อ คาเดล ลี อีแวนส์ ที่เมืองแคเธอลีน นอร์เธิร์น แทริทอรี่ ออสเตรเลีย ไม่มีแวนของนักกีฬาในครอบครัวเลย เพราะ เฮเลน ผู้เป็นแม่เป็นผู้จัดการธนาคาร ส่วน พอล อีแวนส์ ผู้เป็นพ่อนั่นก็เป็นโฟร์แมนคุมงานก่อสร้าง ชีวิตในวัยเด็กของ คาเดล ส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในย่านชาวอบอริจิน แถบบารังกาห่างจากเมืองแคเธอรีนไปทางตะวันออก 80 กม. ถ้าครอบครัวของเขาไม่น่าจะเกื้อกูลต่อการเป็นนักกีฬา มันก็จะยิ่งหนักหนาสาหัสขึ้นเมื่อ อีแวนส์ถูกม้าเตะตอนอายุแค่ 7 ขวบ จนต้องนอนสลบอยู่ในโรงพยาบาลด้วยอาการกึ่งโคม่านานถึง 7 วัน ซ้ำร้ายเข้าไปอีกเมื่อพ่อกับแม่ตัดสินแยกทางกันในปี 1986 หลังจากนั้นเขาก็ย้ายตามแม่ไปอยู่เมืองอาร์มิเดล, นิวเซาธ์เวลส์ แล้วต่อมาก็ย้ายไปวิคทอเรีย ยังเพลิดเพลินอยู่กับการเล่นสเก็ตบอร์ด ตอนนั้นกีฬาจักรยานยังไม่เข้ามาในชีวิต

พอล บอกว่าลูกชายเป็นนักเรียนที่ดีคนหนึ่ง แต่ก็เป็นเหมือนเด็กซน ๆ ธรรมดาที่ชอบวางของเล่นไว้เกลื่อนบ้าน “ผมไม่นึกไม่ฝันมาก่อนเลยว่าลูกชายจะกลายเป็นนักกีฬาระดับโลกขึ้นมาได้” กระทั่งเติบโตขึ้นสู่วัยรุ่นนี่เองที่เขาเริ่มมาสนใจจักรยานโดยเฉพาะเมาเท่นไบค์ เริ่มแข่งรายการเล็ก ๆ แถว ๆ บ้านมาก่อนตามด้วยการแข่งในรายการใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเริ่มยึดอาชีพเมื่อเข้าร่วมกับทีมออสเตรเลียน อินสติติวต์ ออฟ สปอร์ต เมาเท่นไบค์ คนที่เห็นแววว่าเขามีโอกาสรุ่งในแวดวงเมาเท่นไบค์ในตอนนั้นคือ โค้ชเดเมียน กรันดี
ไม่นานคาเดล ก็ครองเหรียญเงินชิงแชมป์โลกจากจูเนียร์เวิลด์เมาเท่นไบค์ แชมเปี้ยนชิปในปี 1995 และถัดมาอีกเพียง 2 ปี ก็ได้แชมป์โลกประเภทอายุต่ำกว่า 23 ปีในปี 1997 และ 1999 ครองแชมป์มาจนหมดแล้วในเมาเท่นไบค์จนคิดว่าคงไม่มีอะไรให้ลุ้นได้อีก ประกอบกับคำแนะนำจากนายแพทย์มิเคเล เฟอรารี ในปี 2000 คาเดลจึงเบนเข็มมาสู่วงการจักรยานถนนทางไกลหรือเสือหมอบ ลงแข่งกับทีมซาเอโคในปี 2001 ตามด้วยทีมมาเปอีในปี 2002 ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากโค้ช อัลโดซาสซี ผู้ช่วยปรับเปลี่ยนแนวทางการแข่งให้มาเป็นจักรยานทางไกลระดับแกรนด์เต็มตัวเพื่อก้าวไปสู่ ตูร์ เดอ ฟร็องซ์ และอีกสองแกรนด์ทัวร์ที่เหลือ คือ ทัวร์ ออฟ อิตาลี และทัวร์ ออฟ สเปน หลังจากมาเปอี ก็ย้ายมาอยู่ทีม เทเลคอมระหว่างปี 2003 ถึง 2004 แต่ช่วงที่อยู่กับทีมเทเลคอมกลับไม่มีอะไรเป็นไปตามคาดหวัง เพราะแทบจะไม่ได้ขี่แข่งเป็นเรื่องเป็นราว เหมือนกับถูกซื้อตัวไปหมกไว้เฉย ๆ มากกว่า แต่ก็ยังทำสถิติได้ในดอยซ์ลันด์ทัวร์ เมื่องชนะหนึ่งสเตจในปี 2005 ตามด้วยการครองตำแหน่งเจ้าภูเขาในทัวร์ดาวน์อันเดอร์ในปี 2006

ในปี 2006 เช่นกันที่คาเดลชนะตูร์ เดอ โรม็องดี ด้วยการเอาชนะอัลแบร์โต คอนทาดอร์ เวลาสโก กับอาเลฮันโตร บัลเบร์เด ในสเตจสุดท้ายซึ่งเป็นไทม์ ไทรอัล รอบเมืองโลซานน์ ตามด้วยตำแหน่งที่ 5 โอเวอร์ออลในตูร์ เดอ ฟร็องซ์ แต่เลื่อนขึ้นเป็นที่ 4 หลังจาก ฟลอยด์ แลนดิส ถูกปรับแพ้เพราะใช้สารกระตุ้น ถัดมาในตูร์ เดอ ฟร็องซ์ปี 2007 คาเดลเลื่อนขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 โอเวอร์ออลถัดจากที่ 1 คือคอนทาดอร์ ชนะสเตจ 13 ไทม์ ไทรอัล แล้วเข้ามาเป็นที่ 2 ได้สำเร็จ ในสเตจ 19 ไทม์ไทรอัล ครองที่ 4 โอเวอร์ออลในทัวร์ ออฟ สเปน ปี 2007 ได้ที่ 5 ในการแข่งขันชิงแชมป์โลกและที่ 6 จากการแข่งโปรทัวร์ของยูซีไอ คือ จิโร ดิ ลอมบาร์ดี

คาเดลถูกคาดหวังว่าจะเป็นตัวเก็งในตูร์ฯ ปี 2008 เพราะอัลแบร์โต คอนทาดอร์ ไม่ได้รับอนุญาตให้ลงแข็งด้วยเพราะทีม อัสตานาของเขาไม่ถูกเชิญให้เข้าร่วมแข่ง เขาครองเสื้อเหลืองได้ตั้งแต่สเตจ 10 ถึงสเตจ 14 แต่พอถึงทางขึ้นเขา อัลป์ ดูเอซในสเตจที่ 17 คาร์ลอส ซาสเตรจากทีม ซีเอสซี ก็ทำเวลาได้เร็วกว่า ทิ้งห่างคาเดลไปถึง 2 นาที 15 วินาที ในสเตจไทม์ไทรอัล ที่จะชี้ชะตาถัดมานั้นคาเดลจึงต้องทำเวลาให้เร็วกว่า ซาสเตรอย่างน้อย 1 นาที 3 วินาทีจึงจะเอาชนะได้ เขาทำได้จริง แล้วเลื่อนอันดับมาเป็นที่ 2 โอเวอร์ออลตามหลังแชมป์อยู่ 58 วินาที

อีแวนส์ ย้ายมาอยู่ทีม บีเอ็มซี เรซิ่ง แล้วครองแชมป์ในรายการ เฟลเช่อะ วัลโลน ปี 2010 ได้สวมเสื้อสีชมพูในสเตจ 2 ของทัวร์ ออฟ อิตาลี ในปีเดียวกัน เขาชนะสเตจ 7 ของรายการนั้นด้วยการสปริ้นนำหน้ากลุ่มเล็กแล้วจบรายการแข่งด้วยตำแหน่งที่ 5 โอเวอร์ออล กลับมาครองเสื้อเหลืองอีกครั้งในสเตจที่ 9 ของตูร์ เดอ ฟร็องซ์ปี 2010 ทั้งที่กระดูกข้อศอกร้าวหลังจากล้มในสเตจก่อน แต่สเตจต่อมาก็ต้องเสียเวลาไปอีกเพราะอาการบาดเจ็บดังกล่าวจนทำให้ถึงกับเสียเสื้อเหลืองให้คนอื่นไป และหมดโอกาสครองแชมป์โอเวอร์ออล คาเดลจบตูร์ฯ ปี 2010 ด้วยตำแหน่งที่ 26 ตามหลังคอนทาดอร์ ผู้ครองแชมป์อยู่ 50 นาที 27 วินาที และในปีนี้เขาคือแชมป์โอเวอร์ออลของ ตูร์ เดอ ฟร็องซ์ อย่างใสสะอาดหลังจากเชือดเฉือนกันสองพี่น้องชเล็คกันมาตลอดสิบกว่าสเตจ

นางจูเลีย จิลลาร์ด นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียถือโอกาสประกาศยกย่องคาเดล อีแวนส์ ในวาระเปิดสภา ก่อนจะอภิปรายถึงปัญหาของชาติเรื่องอื่น ๆ ว่า “คาเดล คือชื่อจากภาษาเวลส์โบราณที่แปลว่า การต่อสู้ และเขาได้ต่อสู้อย่างเข้มแข็งเพื่อแสดงให้รู้ว่าคนที่แกร่งที่สุดเท่านั้นจึงจะชนะในตูร์ เดอ ฟร็องซ์ได้” นับเป็นครั้งแรกที่นักกีฬาได้รับการยกย่องจากฝ่ายการเมืองถึงขั้นนำเอาเรื่องราวของเขาไปกล่าวก่อนเปิดสภา เขาจะครองแชมป์ในทัวร์ ออฟ สเปน ปีนี้กับแกรน์ทัวร์และรายการแข่งขั้นอื่น ๆ ของปีหน้าได้หรือไม่ ก็ต้องรอคอยชมกันต่อไป

นี่คือเรื่องราวของ "คาเดล ลี อีแวนส์" แชมป์ ตูร์ เดอ ฟร็องซ์ ปี 2011 ที่เราได้สรรหานำมาฝากเพื่อน ๆ หวังว่าเพื่อน ๆ คงได้รับแรงบันดาลใจไม่มากก็น้อยในการฝึกซ้อมปั่นจักรยานต่อไปครับ...


ขอบคุณบทความดี ๆ จาก: นิตยสาร Sports Street


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความจักรยานที่เกี่ยวข้อง