ss

23 มิ.ย. 2554

7 สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุจากการขี่จักรยานดาวน์ฮิลล์

7 สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุจากการขี่จักรยานดาวน์ฮิลล์


     1.ไม่คุ้นชินกับสภาพสนาม หรือเกิดอาการตื่นสนาม
การสำรวจเส้นทางด้วยการเดินเท้า ก่อนการใช้รถจักรยานขับขี่ลงมาเป็นหลักปฏิบัติสากล ในสนามการแข่งขันระดับโลก เพราะกีฬานี้เป็นกีฬาที่ต้องพารถจักรยานวิ่งข้ามผ่านอุปสรรคที่เป็นธรรมชาติในแนวดิ่ง หากคุณไม่รู้ล่วงหน้าว่าข้างหน้าจะมีอะไรแล้วละก็ โอกาสเกิดอุบัติเหตุนั้นมีสูงมาก หลายคนอาจจะคิดว่าก็แค่ขี่ไหล ๆ ดูทางช้า ๆ แต่ในบางพื้นที่ของสนามอาจจะชันมากจนไม่สามารถชะลอความเร็วได้ หรือบางพื้นที่อาจจะมีดร็อปที่ไม่สามารถมองเห็นได้เมื่อคร่อมอยู่บนตัวรถจักรยาน สิ่งเหล่านี้พร้อมจะดึงคุณกับรถจักรยานของคุณให้นอนหมอบอยู่กับพื้นโดยที่คุณแทบจะไม่รู้ตัว การเดินดูเส้นทางด้วยเท้าและมองหาทางวิ่ง หรือไลน์ที่เหมาะสมจึงเป็นทางเลือกอันดับต้น ๆ ที่ว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุลงได้มาก ทั้งยังช่วยประเมินทักษะของตนเองกับสนามด้วยว่าเราเองควรจะขี่บนเส้นทางนี้ด้วยวิธีการแบบไหน หรือไม่ขี่จะดีกว่า แต่หากเป็นเส้นที่ที่ไม่สามารถเดินดูก่อนได้ ยกตัวอย่างเชน ทางที่ไม่ใช่สนามแข่งขัน แต่เป็นเส้นทางลงเขายาว ๆ หลายสิบกิโลเมตร เช่น เส้นดอยปุย ขุนช่างเคี่ยน ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีคนที่รู้ทาง หรือผู้ที่เคยขี่ลงเส้นทางมาก่อนเป็นผู้ขี่นำทางให้ และผู้นำทางก็ควรจะต้องหยุดรถจักรยานก่อนถึงอุปสรรคยาก ๆ เพื่อบอกกับผู้ที่ตามมาถึงอุปสรรคเหล่านั้น รวมทั้งวิธีการขี่ข้ามผ่านมันด้วย

2.  ขาดการฝึกฝนทักษะ
การขี่จักรยานดาวน์ฮิลล์ในลักษณะนี้การฝึกซ้อมรูปแบบการขับขี่ในแบบต่าง ๆ นั้นสำคัญมาก อย่างที่ทราบกันดีว่าจากจุดเริ่มต้น จนถึงจุดสิ้นสุดของสนามย่อมมีอุปสรรคในแบบต่าง ๆ รอคุณอยู่ไม่ว่าจะเป็นทางดร็อปหน้าตัด เนินโดดแบบต่าง ๆ องศาการเลี้ยวแบบต่าง ๆ ทางชั้น ดงหิน และอีกสารพัดอย่าง เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับสิ่งเหล่านี้ สนามซ้อมในบ้านเรามีความหลากหลายให้เลือกไปฝึกซ้อม แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือนอกจากจะมีสนามให้ซ้อมแล้ว ก็มีผู้ฝึกสอน หรือคนที่มีทักษะประสบการณ์การขี่ที่ได้ในระดับหนึ่งมาคอยชี้แนะให้ ไม่ต้องไปจ้างใครที่ไหนหรอกก็เพื่อน ๆ เรานี้แหละขี่ด้วยกันซ้อมด้วยกันก็แบ่งปันกันไป บางคนอาจจะคิดว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่คน ๆ นั้น บอกมันถูก ผิด หรืออาจถูก แต่ถูกแค่ครึ่งเดียว เรื่องนี้ไม่ยากครับ ก็ให้เขาให้ขี่ให้ดูก่อน ถ้าเขาทำได้และสามารถแนะนำเราได้เราก็ทำตาม หรือถ้าอยากเรียนรู้จากมืออาชีพระดับโลกจริง ๆ ก็ไม่อยาก ลองไปหาซื้อ DVD ที่มีชื่อว่า Fundamentals ของค่าย Dirt Magazine มาศึกษาดู ในนั้นมีทุกสิ่งทุกอย่างที่นักจักรยานดาวน์ฮิลล์ต้องรู้ ของย้ำว่าทุกอย่างจริง ๆ บางครั้งการขาดการซ้อม หรือมีเหตุให้ต้องหยุดขี่ไปนาน ๆ ก็เอาออกมาดูบ้างเพื่อทบทวน 

     3. สภาพร่างกายไม่พร้อม
สภาพร่างกาย ระบบประสาททุกส่วนของร่างกายต้องพร้อมทุกครั้งก่อนขึ้นคร่อมรถ ผมเคยมีประสบการณ์ตรงกับตัวเองเมื่อครั้งเดินทางไปซ้อมที่สนามเกาะล้านพัทยา สนามนี้ต้องนั่งเรือข้ามไป วันนั้นพอมีคลื่นลมนิดหน่อย พอถึงสนามก็รู้สึกวิงเวียนเล็กน้อยก็คิดว่าไม่น่าจะเป็นไรหรอก คือใจและทักษะเรามีระดับหนึ่ง แต่ร่างกายและระบบประสาทมันยังรวน และไม่ตอบสนองตามที่ใจเราต้องการผลสุดท้ายคือ ไหปลาร้าหัก อดแข่ง หากสภาพร่างกายเราไม่พร้อม ก็ไม่ควรรีบร้อนลงขี่ เราอาจักสักนิดเพื่อปรับสภาพร่างกาย หรือขี่วอร์มบนทางปรกติไปเรื่อย ๆ ก่อน แล้วร่างกายจะบอกเราเองว่าตอนนี้พร้อมที่จะขี่แล้ว เพราะต่อให้เรารู้สึกปกติดีทุกอย่างแต่ร่างกายก็ต้องการวอร์ม เพื่อสร้างความพร้อมของกล้ามเนื้อเช่นกัน หากรู้สึกเบลอ ๆ เฉื่อย ๆ งง ๆ ล่ะก็ แนะนำให้ดูเพื่อนขี่ดีกว่าครับ จะได้ไม่เจ็บตัว

4.  ผลักดันตัวเองมากเกินไป
ลักษณะนี้มักจะเจอมากกับกลุ่มคนที่มีทักษะประมาณหนึ่ง ซึ่งต้องการผลักดันให้ตัวเองขึ้นไปให้ถึงอีกระดับให้ได้ หรือต้องการจะเอาชนะคู่แข่งด้วยแรง มากกว่าการใช้ความคิด สิ่งเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยให้เกิดอุบัติเหตุได้ การใช้เวลาให้น้อยลงในเส้นทางต้องผสมผสานกันเป็นหนึ่งเดียว มุ่งไปในทิศทางเดียวกันโดยที่มีจ้อผิดพลาดน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้เท่านั้น เค้นตัวเองมากก็ยิ่งพลาดมาก ต้องประมวลเส้นทางว่าตรงจุดนี้ควรขี่อย่างไรด้วยทักษะที่เรามี มันอาจจะดูนุ่มนวลไม่ตื่นเต้น แต่ในทางกลับกันมันก็เกิดข้อผิดพลาดน้อย ผิดน้อยก็ไม่ต้องแก้เยอะ แก้ไปแก้มาอาจพลาดล้มไปเลยก็เป็นได้ เก็บเล็กผสมน้อยแล้วเวลาจะมาเองครับ

5.   สภาพของรถจักรยานไม่สมบูรณ์
ขาดการบำรุงรักษา ตรวจเช็คจักรยาน อย่าลืมว่าแค่น๊อตตัวเดียวก็สามารถทำให้เราไปนอนเล่นอยู่ในโรงพยาบาลได้ อีกสิ่งที่สำคัญมากคือการปรับตั้งระบบต่าง ๆ ในตัวรถให้เหมาะสม และให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ เพราะรถจักรยานต้องรับภาระอันแสนหนักหน่วง ตลอดเส้นทางการขับขี่ แนะนำให้เปิดอ่านคู่มืออุปกรณ์ต่าง ๆ บนตัวรถดูบ้าง จะช่วยให้เราเข้าใจถึงระบบการทำงาน รวมทั้งการบำรุงรักษา เพราะนอกจากจะลดการเกิดอุบัติเหตุแล้วยังช่วยยืดอายุการใช้งานของจักรยานได้อีกด้วย

6.  อุปกรณ์ป้องกันไม่เหมาะสม
ปัจจุบันผู้ผลิตอุปกรณ์ป้องกันส่วนต่าง ๆ ของร่างกายสำหรับกีฬาจักรยานดาวน์ฮิลล์มีมากมายหลายแบบ บ้างเน้นการสวมใส่ที่สบายไม่เทอะทะเยอะแยะ แต่มันอาจจะต้องแลกด้วยการป้องกันที่น้อยลง ก็ต้องเลือกให้เหมาะสมกับตัวเอง ขึ้นชื่อว่าอุบัติเหตุเราไม่มีทางรู้แน่ว่ามันจะเกิดตรงส่วนไหนของร่ายกาย ทางที่ดีควรเลือกแบบที่รัดกุม ครอบคลุมในทุกสัดส่วนนั้นดีที่สุดครับ อาจจะร้อนนิดร้อนหน่อย แต่ไม่ต้องหยุดพักยาวจากอาการบาดเจ็บ ผมว่ามันคุ้มหรือบางท่านทำงานทำการกันแล้ว เกิดมีแผล มีสะเก็ดหมูแดงคงไม่น่าดูเท่าไรเมื่อต้องอยู่ในชุดทำงาน
     
     7. สนุกจนประมาท
ลักษณะนี้จะพบมากเมื่อยามที่ออกไปซ้อมขี่กันเล่น ๆ กับเพื่อนก๊วนใหญ่ ๆ ที่มีบรรยากาศการขี่ที่สนุกสนามเฮฮา รอบแรก ๆ ก็ไม่เท่าไหร่เพื่อมีแรงเราก็มีแรงก็สนุกกันได้ แต่หากเพื่อนยังมีแรงแต่แรงเราเริ่มถดถอยอันนี้เริ่มไม่ดี เราต้องคอยสักเกตุตัวเองว่าเมื่อไหร่รอบไหนที่เราขี่แล้วรู้สึกมันติด ๆ ขัด ๆ หลุดไลน์บ้าง เลี้ยวไม่เข้าบ้าง ทั้งที่มันเป็นเส้นทางเดิม ๆ ที่ขี่มาหลายรอบแล้ว นั่นเป็นสัญญาณว่าร่างการท่านเริ่มล้าแล้ว คือมันเริ่มไม่ตอบสนองตามความต้องการเสียแล้ว จงหยุดเถิด อย่าคิดว่าก็ยังไม่เป็นไรนี่หว่า อีกสักรอบคงไม่เป็นไร เชื่อเถอะครับเก็บร่างกายเอาไว้สนุกกับเพื่อน นาน ๆ ดีกว่า

สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุจากการขี่จักรยานดาวน์ฮิลล์ได้ แต่สิ่งซึ่งสำคัญที่สุดคือ การตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท มีสติ และรู้จักประมาณตน ขอให้ทุกท่านสนุกกับการปั่นจักรยานครับ ...

(ที่มา: นิตยสาร  Sport Street  บทความโดยคุณ Rudy 42)


บทความที่เกี่ยวข้อง:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความจักรยานที่เกี่ยวข้อง