ss

30 มิ.ย. 2554

เครื่องมือตัดแฮนด์ ซางช็อค

|0 ความคิดเห็น
เครื่องมือตัดแฮนด์ ซางช็อค

ซางเป็นชิ้นส่วนที่ติดกับช็อค เป็นแท่งยาว ๆ เมื่อเรานำช็อคมาประกอบกับรถก็จะมีส่วนของซางที่ยื่นออกมา ในส่วนที่ยื่นออกมานั้นเราสามารถปรับได้ตามความถนัดของแต่ละบุคคล จะให้สั้นลงหรือยาวขึ้นตามแต่ถนัด แต่ถ้าจะตัดออกเลยมันก็ไม่ได้นะครับ เพราะในสรียะของบางคนหากตัดไปเลยและเกิดสั้นไปก็จะทำให้ก้มมากไป เกิดอาการเมื่อยหรือปวดบริเวณไหล่ได้ เพราะฉะนั้นเราควรที่จะเซ็ตให้เหมาะสมกับร่างการและสรีระแล้วจึงตัดออก เพราะถ้าหากตัดสั้นเกิดไปซางที่ได้มาก็จะต่อไม่ได้ ทำให้ช็อคที่ได้มามีขนาดที่สั้นไป ในส่วนของตัววัสดุของซางนั้นก็จะมีอยู่หลัก ๆ อยู่ 3 แบบ คือ Alumium, Stell, Carbon วิธีตัดนั้นก็ง่าย ๆ ครับโดยเมื่อเราได้ขนาดที่จะตัดแล้ว ก็เอาปากกามาขีดบริเวณที่จะตัดออกและเอาซางนั้นใส่กับตัวจับซางซึ่งมีขนาดต่าง ๆ ตามขนาดของผู้ใช้ซางนั้นและก็ทำการตัดครับ

เครื่องมือที่ตัดก็จะมีอยู่หลายชนิดแล้วแต่ขนาดของซางและวัสดุของซาง เพราะในส่วนของเหล็กและอะลูมิเนียม หากเราไม่มีเครื่องมือเฉพาะตัดก็สามารถใช้เครื่องมือตัดท่อแอร์ก็ได้ แล้วใช้ตะไบแต่งที่บริเวณปลายขอบซางเพื่อลบคม แต่ถ้าเป็นแบบคาร์บอนเราจะใช้เลื่อยไฮสปีด เพราะถ้าใช้เครื่องมือแบบตัดอะลูมิเนียมก็จะทำให้ส่วนของบริเวณที่จะตัดนั้นแตกหรือร้าวได้ เช่นเดียวกับแฮนด์หากแฮนด์มีความยากเกินไปมือก็จะกางออกเป็นมุมมากไป อาจทำให้เมื่อยและไม่ถนัดและในตอนที่เลี้ยวต้องโยกแฮนด์เป็นเส้นโค้งที่ยาวกว่าถึงจะได้อาศาเลี้ยวที่เท่ากัน และจะทำให้รู้สึกไม่คล่องแคล่ว ตรงกันข้ามถ้าแฮนด์สั้น เมื่อเวลาเลี้ยวเพียงนิดเดียวก็เข้าโค้งแล้ว แต่ถ้าสั้นไปอาจจะทำให้หายใจไม่สะดวก หน้ารถควบคุมยากได้เช่นกัน เพราะจับแฮนด์ที่แคบไป เราจึงควรตัดให้พอดีกับสรีระและความเหมาะสมกับร่างกายนะครับ ไม่สั้นจนเกินไปและไม่ยาวจนเกินไป

นักปั่นไทยคว้าชัย 3 เหรียญทอง 1 เหรียญทองแดง

|0 ความคิดเห็น
นักปั่นไทยคว้าชัย 3 เหรียญทอง 1 เหรียญทองแดง จากรายการ Asian MTB Championships  2011

เป็นที่น่ายินดีกับความสำเร็จของนักกีฬาจักรยานเสือภูเขา ที่สามารถคว้าชัยชนะในการแข่งขันรายการ Asian MTB Championships 2011 ที่จัดขึ้นที่เมืองซูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน นักปั่นไทยทำผลงานได้ 3 เหรียญทอง 1 เหรีญทองแดง โดยเหรียญทองได้จาก ธนพล จารุเพ็ง ในการแข่งขันประเภทดาวน์ฮิลล์  รุ่นทั่วไปชาย, วิภาวี ดีคาลาเลส  ในการแข่งขันประเภทดาวน์ฮิลล์ รุ่นทั่วไปหญิง, เมษิญา  สุขสวัสดิ์  ในการแข่งขันประเภทคครอสคันทรี่ รุ่นเยาวชนหญิง และเหรียญทองแดง อุษณีย์  ประดับญาติ ในการแข่งขันประเภทดาวฮิลล์ รุ่นทั่วไปหญิง

ขอแสดงความยินดีกับนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จและขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้กับนักกีฬาทุกคน จากนี้ไปกระแสจักรยานคงคึกคักและได้รับการสนับสนุนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะดาวน์ฮิลล์ที่ช่วงหลังดูเงียบเหงาลงไปพอสมควร ยังมีศึกใหญ่รออยู่คือการแข่งขันเอเซียนเกมส์ที่ใกล้เข้ามาแล้ว หวังว่าเราคงได้มีโอกาสเห็นชัยชนะของนักกีฬาจักรยานของไทยอีกนะครับ

23 มิ.ย. 2554

7 สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุจากการขี่จักรยานดาวน์ฮิลล์

|0 ความคิดเห็น
7 สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุจากการขี่จักรยานดาวน์ฮิลล์


     1.ไม่คุ้นชินกับสภาพสนาม หรือเกิดอาการตื่นสนาม
การสำรวจเส้นทางด้วยการเดินเท้า ก่อนการใช้รถจักรยานขับขี่ลงมาเป็นหลักปฏิบัติสากล ในสนามการแข่งขันระดับโลก เพราะกีฬานี้เป็นกีฬาที่ต้องพารถจักรยานวิ่งข้ามผ่านอุปสรรคที่เป็นธรรมชาติในแนวดิ่ง หากคุณไม่รู้ล่วงหน้าว่าข้างหน้าจะมีอะไรแล้วละก็ โอกาสเกิดอุบัติเหตุนั้นมีสูงมาก หลายคนอาจจะคิดว่าก็แค่ขี่ไหล ๆ ดูทางช้า ๆ แต่ในบางพื้นที่ของสนามอาจจะชันมากจนไม่สามารถชะลอความเร็วได้ หรือบางพื้นที่อาจจะมีดร็อปที่ไม่สามารถมองเห็นได้เมื่อคร่อมอยู่บนตัวรถจักรยาน สิ่งเหล่านี้พร้อมจะดึงคุณกับรถจักรยานของคุณให้นอนหมอบอยู่กับพื้นโดยที่คุณแทบจะไม่รู้ตัว การเดินดูเส้นทางด้วยเท้าและมองหาทางวิ่ง หรือไลน์ที่เหมาะสมจึงเป็นทางเลือกอันดับต้น ๆ ที่ว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุลงได้มาก ทั้งยังช่วยประเมินทักษะของตนเองกับสนามด้วยว่าเราเองควรจะขี่บนเส้นทางนี้ด้วยวิธีการแบบไหน หรือไม่ขี่จะดีกว่า แต่หากเป็นเส้นที่ที่ไม่สามารถเดินดูก่อนได้ ยกตัวอย่างเชน ทางที่ไม่ใช่สนามแข่งขัน แต่เป็นเส้นทางลงเขายาว ๆ หลายสิบกิโลเมตร เช่น เส้นดอยปุย ขุนช่างเคี่ยน ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีคนที่รู้ทาง หรือผู้ที่เคยขี่ลงเส้นทางมาก่อนเป็นผู้ขี่นำทางให้ และผู้นำทางก็ควรจะต้องหยุดรถจักรยานก่อนถึงอุปสรรคยาก ๆ เพื่อบอกกับผู้ที่ตามมาถึงอุปสรรคเหล่านั้น รวมทั้งวิธีการขี่ข้ามผ่านมันด้วย

2.  ขาดการฝึกฝนทักษะ
การขี่จักรยานดาวน์ฮิลล์ในลักษณะนี้การฝึกซ้อมรูปแบบการขับขี่ในแบบต่าง ๆ นั้นสำคัญมาก อย่างที่ทราบกันดีว่าจากจุดเริ่มต้น จนถึงจุดสิ้นสุดของสนามย่อมมีอุปสรรคในแบบต่าง ๆ รอคุณอยู่ไม่ว่าจะเป็นทางดร็อปหน้าตัด เนินโดดแบบต่าง ๆ องศาการเลี้ยวแบบต่าง ๆ ทางชั้น ดงหิน และอีกสารพัดอย่าง เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับสิ่งเหล่านี้ สนามซ้อมในบ้านเรามีความหลากหลายให้เลือกไปฝึกซ้อม แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือนอกจากจะมีสนามให้ซ้อมแล้ว ก็มีผู้ฝึกสอน หรือคนที่มีทักษะประสบการณ์การขี่ที่ได้ในระดับหนึ่งมาคอยชี้แนะให้ ไม่ต้องไปจ้างใครที่ไหนหรอกก็เพื่อน ๆ เรานี้แหละขี่ด้วยกันซ้อมด้วยกันก็แบ่งปันกันไป บางคนอาจจะคิดว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่คน ๆ นั้น บอกมันถูก ผิด หรืออาจถูก แต่ถูกแค่ครึ่งเดียว เรื่องนี้ไม่ยากครับ ก็ให้เขาให้ขี่ให้ดูก่อน ถ้าเขาทำได้และสามารถแนะนำเราได้เราก็ทำตาม หรือถ้าอยากเรียนรู้จากมืออาชีพระดับโลกจริง ๆ ก็ไม่อยาก ลองไปหาซื้อ DVD ที่มีชื่อว่า Fundamentals ของค่าย Dirt Magazine มาศึกษาดู ในนั้นมีทุกสิ่งทุกอย่างที่นักจักรยานดาวน์ฮิลล์ต้องรู้ ของย้ำว่าทุกอย่างจริง ๆ บางครั้งการขาดการซ้อม หรือมีเหตุให้ต้องหยุดขี่ไปนาน ๆ ก็เอาออกมาดูบ้างเพื่อทบทวน 

     3. สภาพร่างกายไม่พร้อม
สภาพร่างกาย ระบบประสาททุกส่วนของร่างกายต้องพร้อมทุกครั้งก่อนขึ้นคร่อมรถ ผมเคยมีประสบการณ์ตรงกับตัวเองเมื่อครั้งเดินทางไปซ้อมที่สนามเกาะล้านพัทยา สนามนี้ต้องนั่งเรือข้ามไป วันนั้นพอมีคลื่นลมนิดหน่อย พอถึงสนามก็รู้สึกวิงเวียนเล็กน้อยก็คิดว่าไม่น่าจะเป็นไรหรอก คือใจและทักษะเรามีระดับหนึ่ง แต่ร่างกายและระบบประสาทมันยังรวน และไม่ตอบสนองตามที่ใจเราต้องการผลสุดท้ายคือ ไหปลาร้าหัก อดแข่ง หากสภาพร่างกายเราไม่พร้อม ก็ไม่ควรรีบร้อนลงขี่ เราอาจักสักนิดเพื่อปรับสภาพร่างกาย หรือขี่วอร์มบนทางปรกติไปเรื่อย ๆ ก่อน แล้วร่างกายจะบอกเราเองว่าตอนนี้พร้อมที่จะขี่แล้ว เพราะต่อให้เรารู้สึกปกติดีทุกอย่างแต่ร่างกายก็ต้องการวอร์ม เพื่อสร้างความพร้อมของกล้ามเนื้อเช่นกัน หากรู้สึกเบลอ ๆ เฉื่อย ๆ งง ๆ ล่ะก็ แนะนำให้ดูเพื่อนขี่ดีกว่าครับ จะได้ไม่เจ็บตัว

4.  ผลักดันตัวเองมากเกินไป
ลักษณะนี้มักจะเจอมากกับกลุ่มคนที่มีทักษะประมาณหนึ่ง ซึ่งต้องการผลักดันให้ตัวเองขึ้นไปให้ถึงอีกระดับให้ได้ หรือต้องการจะเอาชนะคู่แข่งด้วยแรง มากกว่าการใช้ความคิด สิ่งเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยให้เกิดอุบัติเหตุได้ การใช้เวลาให้น้อยลงในเส้นทางต้องผสมผสานกันเป็นหนึ่งเดียว มุ่งไปในทิศทางเดียวกันโดยที่มีจ้อผิดพลาดน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้เท่านั้น เค้นตัวเองมากก็ยิ่งพลาดมาก ต้องประมวลเส้นทางว่าตรงจุดนี้ควรขี่อย่างไรด้วยทักษะที่เรามี มันอาจจะดูนุ่มนวลไม่ตื่นเต้น แต่ในทางกลับกันมันก็เกิดข้อผิดพลาดน้อย ผิดน้อยก็ไม่ต้องแก้เยอะ แก้ไปแก้มาอาจพลาดล้มไปเลยก็เป็นได้ เก็บเล็กผสมน้อยแล้วเวลาจะมาเองครับ

5.   สภาพของรถจักรยานไม่สมบูรณ์
ขาดการบำรุงรักษา ตรวจเช็คจักรยาน อย่าลืมว่าแค่น๊อตตัวเดียวก็สามารถทำให้เราไปนอนเล่นอยู่ในโรงพยาบาลได้ อีกสิ่งที่สำคัญมากคือการปรับตั้งระบบต่าง ๆ ในตัวรถให้เหมาะสม และให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ เพราะรถจักรยานต้องรับภาระอันแสนหนักหน่วง ตลอดเส้นทางการขับขี่ แนะนำให้เปิดอ่านคู่มืออุปกรณ์ต่าง ๆ บนตัวรถดูบ้าง จะช่วยให้เราเข้าใจถึงระบบการทำงาน รวมทั้งการบำรุงรักษา เพราะนอกจากจะลดการเกิดอุบัติเหตุแล้วยังช่วยยืดอายุการใช้งานของจักรยานได้อีกด้วย

6.  อุปกรณ์ป้องกันไม่เหมาะสม
ปัจจุบันผู้ผลิตอุปกรณ์ป้องกันส่วนต่าง ๆ ของร่างกายสำหรับกีฬาจักรยานดาวน์ฮิลล์มีมากมายหลายแบบ บ้างเน้นการสวมใส่ที่สบายไม่เทอะทะเยอะแยะ แต่มันอาจจะต้องแลกด้วยการป้องกันที่น้อยลง ก็ต้องเลือกให้เหมาะสมกับตัวเอง ขึ้นชื่อว่าอุบัติเหตุเราไม่มีทางรู้แน่ว่ามันจะเกิดตรงส่วนไหนของร่ายกาย ทางที่ดีควรเลือกแบบที่รัดกุม ครอบคลุมในทุกสัดส่วนนั้นดีที่สุดครับ อาจจะร้อนนิดร้อนหน่อย แต่ไม่ต้องหยุดพักยาวจากอาการบาดเจ็บ ผมว่ามันคุ้มหรือบางท่านทำงานทำการกันแล้ว เกิดมีแผล มีสะเก็ดหมูแดงคงไม่น่าดูเท่าไรเมื่อต้องอยู่ในชุดทำงาน
     
     7. สนุกจนประมาท
ลักษณะนี้จะพบมากเมื่อยามที่ออกไปซ้อมขี่กันเล่น ๆ กับเพื่อนก๊วนใหญ่ ๆ ที่มีบรรยากาศการขี่ที่สนุกสนามเฮฮา รอบแรก ๆ ก็ไม่เท่าไหร่เพื่อมีแรงเราก็มีแรงก็สนุกกันได้ แต่หากเพื่อนยังมีแรงแต่แรงเราเริ่มถดถอยอันนี้เริ่มไม่ดี เราต้องคอยสักเกตุตัวเองว่าเมื่อไหร่รอบไหนที่เราขี่แล้วรู้สึกมันติด ๆ ขัด ๆ หลุดไลน์บ้าง เลี้ยวไม่เข้าบ้าง ทั้งที่มันเป็นเส้นทางเดิม ๆ ที่ขี่มาหลายรอบแล้ว นั่นเป็นสัญญาณว่าร่างการท่านเริ่มล้าแล้ว คือมันเริ่มไม่ตอบสนองตามความต้องการเสียแล้ว จงหยุดเถิด อย่าคิดว่าก็ยังไม่เป็นไรนี่หว่า อีกสักรอบคงไม่เป็นไร เชื่อเถอะครับเก็บร่างกายเอาไว้สนุกกับเพื่อน นาน ๆ ดีกว่า

สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุจากการขี่จักรยานดาวน์ฮิลล์ได้ แต่สิ่งซึ่งสำคัญที่สุดคือ การตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท มีสติ และรู้จักประมาณตน ขอให้ทุกท่านสนุกกับการปั่นจักรยานครับ ...

(ที่มา: นิตยสาร  Sport Street  บทความโดยคุณ Rudy 42)


บทความที่เกี่ยวข้อง:

Prophecy BMX เทคโนโลยี BMX ที่ล้ำสมัย

|0 ความคิดเห็น
Prophecy BMX  เทคโนโลยี BMX ที่ล้ำสมัย

Prophecy BMX เห็นแค่ชื่อก็บ่งบอกถึงการมองเห็นอนาคตของจักรยาน BMX เลยทีเดียวเชียว มันก็น่าจะเป็นอย่างที่ความหมายของชื่อแบรนด์ เนื่องจากเทคโนโลยีล้ำสมัยการเชื่อมต่อของโครงจักรยาน และวัสดุที่เบาที่สุดในตอนนี้ก็เกือบจะว่าได้ คงหนีไม่พ้นวัสดุที่เรียกว่าคาร์บอน ท่านผู้อ่านคงอยากจะรู้แล้วสิว่ามันจะเจ๋งกันแค่ไหน 

บริษัท Prophecy BMX ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 1970 วัสดุ และเทคโนโลยีในยุคนั้นหรืออาจจะถึงยุคปัจจุบันที่ทุกแบรนด์ใช้คงหนีไม่พ้นเหล็ก หรือ อลูมิเนียม เหมือนเป็นมาตรฐานของยุค แต่ Prophecy BMX ไม่ใช่แค่เพียงพัฒนารูปลักษณ์หน้าตา หรือสีของจักรยาน แต่มีการพัฒนาด้านวัสดุล้ำสมัยให้แตกต่างและเป็นจุดขายของแบรนด์ ภายใต้การทดลอง และประมวนผลของการขี่ของนักกีฬาชั้นนำ โดยการนำเอาเทคโนโลยีชั้นสูงการเชื่อมภายในตัวถึงของเจ้า Prophecy BMX จึงไม่เกิดรอยเชื่อมภายนอกตัวถัง และสำหรับทางบริษัทเองก็มุ่งพัฒนาและนำจุดขายนี้แนะนำสู่นักจักรยานทั่วโลก Prophecy BMX น่าจะเป็นสโลแกนเดียวกับผ้าปูที่นอนบ้านเราได้เลนนะครับ “ไร้รอยต่อ ทอเต็มผืน”

เมื่อพูดถึงเรื่องวัสดุคาร์บอนที่มีหลากหลายชนิดในท้องตลาด คุณภาพและลักษณะการใช้งานของแต่ละตัวก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ส่วนวัสดุคาร์บอนที่นำมาใช้ในการผลิตตัวถังของ Prophecy BMX วิศวกรมืออาชีพได้คำนวณการใช้คาร์บอนรหัส TR50 ที่มีคุณลักษณะการยืดหยุ่นของเส้นใยสูงคุณภาพของคาร์บอนที่ผลิตเป็นเฟรมขึ้นอยู่กับเรซิ่นที่ใช้เคลือบ และ Prophecy BMX มีคุณภาพเพิ่มขึ้นเมื่อถูกอัดด้วยเรซิ่นจากประเทศเกาหลีรวมถึงการประกอบแบบ Carbo Layer คือการประกอบแบบสับหว่าง ระหว่างคาร์บอนกับเรซิ่น สับหว่างกันไปเรื่อย ๆ และการเชื่อมคอโดยการหลอมส่วนคอและส่วนตัวถังโดยใช้การสับหว่างของคาร์บอนจนเกิดความแข็งแรง และความหนาในปริมาณที่เปราะบาง และเทคนิคนี้ทำให้ไม่เห็นรอยเชื่อมบนตัวเฟรมหลังการทดสอบด้วยระบบ 3D Ergonomic Designed ได้ประสิทธิภาพของการทำงาน 100 % ทั้งความเสถียร ความแข็งแรงและความเบา ซึ่งทางบริษัทได้ทดสอบเฉพาะเจาะจงบริเวณแผงคอของตัวถังที่เป็นจุดฉีกขาดง่ายของเฟรมจักรยานทุกประเภท และทุกวัสดุ เป็นจุดเปราะบางที่สุด แต่ทาง Prophecy BMX ผ่านการทดสอบได้อย่างสบาย เมื่อการทดสอบด้านมาตรฐาน ด้านวิศวกรรม และด้านความปลอดภัยผ่านเรียบร้อยก็ถึงเวลาทดสอบในสนามรูปแบบต่าง ๆ ทั้งกระโดดข้ามเนินหรืออุปสรรคอย่างลูกระนาด ก็ไหลลื่นอย่างเรียบง่ายด้วยน้ำหนักที่เบา ความยืดหยุ่นของเฟรมจากวัสดุคาร์บอน ที่ทำให้ขับขี่นิ่มขึ้นบนอุปสรรค และการกดน้ำหนักเพื่อรีดหรือปั๊มเนินก็เป็นไปอย่างคล่องตัว

ทาง Prophecy BMX ได้ออกขนาดของเฟรมมาเพียง 4 ขนาดแต่ครอบคลุมสรีระของนักแข่งเกือบทั่วโลก และมีน้ำหนักของเฟรมขนาดเล็กโดยประมาณ 1.3 กิโลกรัม ส่วนในเฟรมขนาดใหญ่สำหรับคนตัวใหญ่มีน้ำหนักประมาณ 1.45 กิโลกรัม เมื่อประกอบทั้งคันแล้วน้ำหนักทั้งคันอยู่ประมาณ 7.89 กิโลกรัม ส่วนการเลือกเฟรมต้องดูตามตะรางเปรียบเทียบเพื่อหาขนาดรถให้ตรงกับความสูง และน้ำหนักของผู้ขับขี่
นอกจากจะผลิตเฟรมที่ล้ำสมัยของ Prophecy BMX แล้วทางบริษัทได้ออกแบบส่วนตกแต่งจักรยานอีกด้วยเช่น เบาะ หลักอานคาร์บอน ปลอกมือ ป้ายเบอร์ หางปลา แผ่นป้องกันเฟรมเป็นรอยแหวนรองต่าง ๆ หรือจะเป็นชุดถ้วยคอสุดล้ำจาก Prophecy BMX 

ในขณะนี้นักแข่งในทีมที่พร้อมจะเปิดตัวพร้อมกับ Prophecy BMX ได้แก่มือชั้นนำของโลกอย่าง Joey Bradford จากประเทศสหรัฐอเมริกาที่ย้ายมาจากค่ายดังอย่าง GT BMX  หรือจะเป็น Moana Moocaille นักแข่งจากประเทศฝรั่งเศส ส่วนผู้ออกแบบเป็นถึงแชมป์โลกปี 1988 Denid Labigang อย่างไรก็ตามต้องรอดูผลงานที่จะเกิดขึ้นในการแข่งขันในฤดูการนี้ว่าเจ้า Prophecy BMX จะเจ๋งจริงหรือเปล่า แต่ท่านใดสนในก็ต้องติดตามการเปิดตัว Prophecy BMX ในประเทศไต้หวัน และตามเว็ปไซต์ BMX ทั่วโลก อีกไม่นานเกินรอครับ

18 มิ.ย. 2554

Quintana Roo (คินทาน่า รู) : Inventors of the Triathlon Bike

|0 ความคิดเห็น
Quintana Roo (คินทาน่า รู)  : Inventors of the Triathlon Bike


Quintana Roo จากสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ให้กำเนิดหรือผู้คิดค้นรถจักรยานสำหรับไตรกีฬา เป็นเจ้าแรกของโลก แถมยังเป็นผู้คิดค้นและสร้างรถไตรกีฬา ที่ออกแบบมาตามหลักอากาศพลศาสตร์ และใช้ตัวถังคาร์บอนไฟเบอร์เป็นเจ้าแรกของโลกอีกด้วย (รุ่น The Redstone)


Quintana Roo Seduza 2011 เป็นรถจักรยานสำหรับใช้แข่งไตรกีฬาที่ใช้ตัวถังคาร์บอนไฟเบอร์ ออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์ มาพร้อมชุดขับเคลื่อน Shimano Ultegra, และชุดแฮนด์แอโร่บาร์จาก Vision ชุดค็อคพิทของ Quintana Roo Seduza ประกอบด้วย แอโร่บาร์ยี่ห้อ Vision ที่มาพร้อมทั้งแฮนด์ทรงกลมและเบสบาร์ทรงแบนรุ่นใหม่ที่มีแผ่นรองรับข้อศอกมั่นคงขึ้น แน่นกระชับขึ้น แอโร่บาร์ทรงสกีของ Vision นี้ให้ความรู้สึกที่สบายกว่าทรง S ทั่ว ๆ ไป มือเกียร์ (Shifters) เป็น Shimano Dura-Ace 10 Speed สำหรับ Bar end และที่ปลายแฮนด์แอโร่ชุดนี้ปิดด้วยมือเบรกน้ำหนักเบาแต่แม่นยำ
ตะเกียบหน้าของ Seduza ใช้รุ่น Carbonaero เป็นทรงแอโร่ไดนามิค ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ โดย Quintana Roo ที่เป็นต้นแบบของตะเกียบแอโร่ของรถทุกคันในโลกจักรยานไตรกีฬา Carbonaero เป็นชื่อของประดิษฐกรรมตะเกียบหน้าที่ Quintana Roo ใช้มาตั้งแต่แรกเริ่มจะยังคงความขลังมาจนปัจจุบัน แม้ว่าในรุ่นนี้จะใช้ซางตะเกียบเป็นโครโมลี่และหนักไปนิดหนึ่ง แต่มันก็แลกมาด้วยความมั่นคงและแข็งแรงในการขับขี่ที่ดีมาก ๆ

ความคุ้มค่าของ Quintana Roo Seduza รุ่นใหม่ปี 2011 อยู่ที่เฟรมซึ่งออกแบบมาอย่างดี และมีมุมองศาที่เหมาะสมสุดยอด  ส่วนหน้าสุดของเฟรมคือทอคอยกสูง ที่ได้รับการออกแบบให้เป็นมุมแหลมเพื่อตัดกระแสลม ส่วนท่อบนและท่อล่างยังคงรูปทรงแอโร่ไดนามิคคล้าย ๆ กับรุ่นก่อนหน้าที่ยังใช้งานได้ดีอยู่ ท่อนั่งทรงแอโร่ไดนามิค ที่ตัดเว้าเล็กน้อยเพื่อรองรับล้อหลังที่ถูกร่นให้ใกล้เข้ามาตามหลักการออกแบบรถไตรกีฬา แถมด้วยจุดติดตั้งขวดน้ำคู่ที่สะดวกกว่าการไปติดไว้หลังอาน

ระบบการเดินสายได้รับการออกแบบให้ซ่อนในตัวถังอย่างแนบเนียน ให้การบำรุงรักษาที่สะดวก ตะเกียบหลัง (Seat stay) ได้รับการออกแบบใหม่พร้อมที่ติดตั้งเบรกหลัง ที่ให้ประสิทธิภาพดีกว่าเดิม แถมด้วยการปรับปรุงดรอปเอาท์ที่ได้รับการอออกแบบอย่างดี สามารถปรับตั้งได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือ 

รถที่ผลิตด้วยคาร์บอนไฟเบอร์เหมือนกัน ไม่ได้หมายความว่าจะมีคุณภาพและสมรรถนะในการขับที่เหมือนกัน เช่นเดียวกับ Quintana Roo Seduza 2011 ที่เป็นรถคาร์บอนซึ่งมีคุณภาพและให้ความมั่นคง การตอบสนองในการขับขี่ได้ดีที่สุด เมื่อเทียบกับรถในระดับเดียวกัน หรือดีกว่ารุ่นที่ราคาสูงกว่าด้วยซ้ำไป  หลักอานแอโร่ซึ่งปกติจะหาได้ยากแม้ในรถระดับราคาหลาย ๆ แสน เป็นอีกหนึ่งรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ Quintana Roo ใจดีให้มาใน Seduza แถมด้วยการออกแบบอย่างฉลาด ๆ ให้มีสกรูยึดสองตัวช่วยเฉลี่ยแรงเวลากวดแคลมป์ให้แน่น โดยไม่ต้องเสี่ยงกับการขันหลวมไป หรือแน่นไปจนสกรูขาด ทำให้ไม่ต้องเสียเงินซื้อประแจTorque (Torque Wrench) มาใช้งาน ด้วยวามเป็นผู้นำการออกแบบ ทำให้หลักอานของ Seduza มีคุณสมบัติสำคัญคือสามารถปรับมุมองศาของหลักอานได้หลายมุม ให้เหมาะสมกับสรีระและลักษณะการขับขี่ของนักปั่นแต่ละคน

Quintana Roo Seduza ติดตั้งชุดขับเคลื่อนที่ได้รับความเชื่อถือทั่วโลก ประกอบด้วย ตีนผี 10 สปีด Shimano Ultegra RD 6700-SS short cage รุ่นใหม่ล่าสุด พร้อมเฟืองหลัง 28-12 ฟัน สับจานหน้าเป็น Shimano FD-5700 รุ่นใหม่ล่าสุดเช่นกัน มาพร้อมความเรียบลื่นของผิวสับจาน ทำให้คุณหมดกังวลกับการสับจานหน้าขึ้น ๆ ลง ๆ หรือแม้ว่าบางครั้งคุณอาจใช้เฟืองใหญ่สุดกับจานใหญ่สุดโดยไม่รู้ตัวก็ตาม ชุดจานหน้าที่ Seduza คัดสรรมาให้นักกีฬาสะเทินน้ำสะเทินบกคือ จานหน้า FSA Gossamer 50/34 Compact Drive ที่มีแคร้งเป็นอลูมินั่ม กับจานหน้า CNC ที่มีความแม่นยำสูง และให้การถ่ายทอดกำลังที่ลงตัวพร้อมน้ำหนักที่เบากว่า

Quintana Roo Seduza ให้สเปคในรายละเอียดอื่น ๆ มาดีมาก เหมาะสมลงตัวกับตัวถังและอุปกรณ์ต่าง ๆ ชุดเบรกเป็นชุด OEM ที่มีรายละเอียดปลีกย่อยเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น สกูรปรับตั้งสายและยางเบรกเป็นอลูมินั่ม ไม่ได้เป็นพลาสติกแบบทั่ว ๆ ไป โซ่กับเฟืองหลังเป็นของ Shimano ที่ทุกคนเชื่อมั่น

ถ้าคุณกำลังมองหารถจักรยานสำหรับไตรกีฬา และยังหาข้อสรุปไม่ได้ ลองพิจารณา Seduza เปรียบเทียบกับรถคันอื่น ๆ ที่คุณเคยรู้จัก ไม่ว่าจะเป็นรถราคาสูง ๆ หรือรถแบรนด์มาตรฐานทั่ว  ๆ ไป เราเชื่อมั่นว่า Seduza จะเป็นผู้พิฆาต ที่คุณจะเลือกมาเป็นรถคู่ใจในการลงแข่งพิสูจน์ความเป็นยอดคนอึดของคุณในครั้งหน้า อย่างแน่นอน ศักดิ์ศรีของการเป็นผู้ริเริ่ม คิดค้น และพัฒนาจักรยานไตรกีฬาคาร์บอนไฟเบอร์ แอโร่ไดนามิคเจ้าแรกของโลก คือหลักประกันความมั่นใจ

15 มิ.ย. 2554

แอร์เนสโต โคลนาโก ตำนานจักรยานอิตาเลียนที่ยังมีลมหายใจ ตอนที่ 2

|0 ความคิดเห็น

แอร์เนสโต โคลนาโก ตำนานจักรยานอิตาเลียนที่ยังมีลมหายใจ ตอนที่ 2


การเริ่มธุรกิจของแอร์เนสโตนับว่าถูกจังหวะ เมื่อเป็นปีที่เพื่อนร่วมชาติชาวอิตาเลียนสร้างความยิ่งใหญ่ไว้ได้มากทั้งระดับชาติและระดับสากล รางวัลเปรมิโอ ลา รินาสเชนเต คอมปัสโซ โดโร ที่มอบให้สุดยอดนวัตกรรมการออกแบบอุตสาหกรรมได้ถูกมอบเป็นครั้งแรกให้ มาร์โค นิสโซลี ผู้สร้างพิมพ์ดีดกระเป๋าหิ้วแบรนด์โอลิเวตตีและจักรเย็บผ้า แบรนด์ เนคคี ปี 1954 นั้นเช่นกันที่ จินา ลอลโลบริจิดา สุดยอดดาราหญิงชาวอิตาเลียนกำลังโด่งดัง ภาพยนตร์เรื่อง ลา สตราดา จากฝีมือกำกับของ เฟรเดอริโก เฟลลินี ขึ้นจอเงินเป็นครั้งแรก ในขณะภาพยนตร์เรื่อง คอมมีเดีย อัลลิตาเลีย ได้ส่งให้ดาราอย่าง อัลแบร์โต ซอร์ดี ดังเป็นพลุแตก


ในวงการกีฬานั้นเล่า อาร์เจนติเน ฮวน มานูเอล ฟันจิโอ คือนักแข่งรถมือฉมัง ที่ต้องต่อสู้กับทั้งนักแข่งชาติเดียวกันคือ อัลแบร์โต อัสคารีม อุมแบร์โต มากลิโอลีม จูเซ็ปเป ฟารินา และไมค์ ฮอว์ธอร์น จากอังกฤษเพื่อชิงความยิ่งใหญ่ในฐานะแชมป์ฟอร์มิวล่า 1 ทีมฟุตบอลอินเตอร์ มิลานเช่น ยูเวนตุสหมอบราบคาบ ได้ครองตำแหน่งแชมป์ในกัลป์โซ เซเรียอา แต่กลับไปได้ไม่สวยนักกับการแข่งฟุตบอลโลกในสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อทีมชาติอิตาลีโดนเจ้าบ้านถล่มเสียฟอร์ม 2 ประตูต่อ 1 ต้องกลับบ้านอย่างหงอย ๆ ในรอบแรก

แต่ในปีเดียวกันนี้ที่ จิโน บาร์ตาลี ผู้กลายเป็นตำนานของวงการจักรยานอิตาเลียนกำลังอยู่ในช่วงขาลง หลังจากเจ็บหนักในอุบัติเหตุรถยนต์ชนเมื่อปี 1953 และการดวลครั้งประวัติศาสตร์ที่แทบจะแบ่งอิตาลีออกเป็นสองฝ่ายกลายเป็นแค่ความทรงจำ ฟิออเรนโซ มังงี ตั้งทีมจักรยานที่ผู้อุปถัมภ์ไม่ได้มีกิจกรรมใด ๆ เกี่ยวกับจักรยานเลยชื่อทีมนีเวีย-ฟุค


ปรากฎการณ์ด้านกีฬาที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันในปี 1954 ประจวบเหมาะกับการเริ่มกิจการจักรยานของ แอร์เสโต โคลนาโก ทำให้มันดำเนินไปได้ค่อนข้างสวย โคลนาโกผู้มีประสบการณ์เพียบอยู่แล้ว จนเป็นที่เลื่องลือจากการเป็นช่างจักรยาน ได้ความรู้ในการสร้างเฟรมจักรยานแข่งมาจากบริษัท กลอเรียเดิมที่เริ่มต้นอาชีพ เศรษฐกิจช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เติบโตเร็วก้าวกระโดด เพราะชาวอิตาเลียนมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น จึงให้ความสนใจต่อแบรนด์จักรยานใหม่ของตัวเองกันมาก เพราะอิตาลีเป็นประเทศคลั่งจักรยานไม่น้อยหน้าชาติไหนในยุโรปอยู่แล้ว จึงไม่แปลกที่สร้างจักรยานออกมาแล้วขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

แล้วปรากฎการณ์ครั้งสำคัญที่สร้างชื่อให้โคลนาโกก็มาถึงในปี 1960 เมื่อ ลุยจี อาริเอนตี คว้าเหรียญทองได้ในการแข่งโอลิมปิคที่กรุงโรม และจักรยานที่เขาใช้ก็ไม่ใช่แบรนด์ไหนนอกจากโคนาโกหลังจากนั้นเป็นต้นมาตลอดทศวรรษที่ 1960-70 แอร์เนสโต โคลนาโก และโรงงานของเขาที่หมู่บ้านคัมบิอาโกก็เป็นที่รู้จัก ในฐานะหนึ่งในผู้สร้างเฟรมจักรยานแข่งคุณภาพสูงที่นักกีฬาทั้งในและนอกประเทศต้องเรียกหา

การหนีคู่แข่งให้ได้ว่ายากแล้วการหนีตัวเองยิ่งยากกว่า โคลนาโก ทำสำเร็จอีกครั้งด้วยการสร้างเฟรมเหล็กเบาเป็นพิเศษให้ เอ็ดดี้ แมร์กซ์ นักจักรยานฝีเท้าฉกาจชาวเบลเยี่ยมใช้ในปี 1972 ผลคือ แมร์กซ์สามารถทำลายสถิติโลกประเภทหนึ่งชั่วโมงได้สำเร็จ จักรยานคันนี้เลยถูกนำไปตระเวนตั้งแสดงทั่วโลก รวมทั้งตั้งแสดงอยู่ในสถานีรถไฟใต้ดินกรุงบรัสเซล เอ็ดดี้บอกว่าเขาไม่เคยคิดจะขายมันเลย แต่ได้บริจาคให้พิพิธภัณฑ์แทน 


ประวัติการณ์ต่อมาคือการผลิตเฟรมเหล็ก (โคลัมบัส ทิวบ์) ให้สุดยอดนักจักรยานอีกคนของอิตาลีคือ จูเซ็ปเป ซารอนนี ชนะการแข่งขันแชมป์โลกประเภทจักรยานอาชีพได้สำเร็จ ถึงจักรยานจะเป็นส่วนประกอบและผู้ขับขี่เคลื่อนมัน คือคนก็จริง จักรยานเบา ๆ และเข้ากับสรีระก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้นักแข่งชนะได้ ทศวรรษที่ 1970 – 80 ซูเปอร์ คือหนึ่งในสุดยอดเฟรมแข่งระดับไฮเอนด์ของโคลนาโก ช่วงเวลาเดียวกันนี้เองที่โคลนาโกส่งเฟรมรุ่น มาสเตอร์ และต่อมาเมื่อพัฒนาเทคโนโลยีได้ถึงระดับก็ส่ง มาสเตอร์ – ไลต์ ออกสู่ตลาดอีกรุ่น  นอกจากตัวเฟรมแล้วในช่วงเวลาเดียวกันนี้ยังผลิตตะเกียบแบรนด์ พรีซิซา (Precisa) ออกจำหน่ายคู่กัน ความพิเศษของพรีซีซาคือมันเป็นตะเกียบหน้าขาตรง นี้มีเหตุผลคือแทนที่จะให้ตะเกียบโค้งงอนออกด้านหน้าก็ให้มันทำมาเสียตั้งแต่ที่บ่าตะเกียบแทน ส่วนขาที่ตรงนั้นก็ยังทำหน้าที่ดูดซับแรงกระแทกจากถนนที่ส่งขึ้นมาได้เหมือนเดิม แต่ที่ดีกว่าคือความตรงทำให้สปริ้นต์เร่งฝีเท้าเพิ่มความเร็วได้ดียิ่งขึ้น ด้วยการออกแบบอันล้ำสมัยของโคลนาโกในเวลานั้น พริซีซาจึงเป็นทั้งตะเกียบของสปริ้นเตอร์และตะเกียบที่เบาที่สุด มันเป็นตะเกียบเหล็กกล้าแต่กลับแข็งแรงและเบากว่าตะเกียบอลูมินั่มหรือแม้แต่คาร์บอนร่วมสมัยในขณะนั้น กระนั้นรูปทรงของตะเกียบตรงยังเป็นที่นิยมใช้ต่อมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะตะเกียบสร้างด้วยวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์


เมื่อกิจการไปได้สวย เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โคลนาโกก็สนับสนุนทีมจักรยานต่าง ๆ เพื่อสร้างชื่อจากการแข่งในระดับโลกและระดับภูมิภาค บริษัให้การสนับสนุนทีมจักรยานมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ด้วยการเป็นกลไกขับเคลื่อนทีมโมลเตนี ที่นักจักรยานนามกระเดื่อง เอ็ดดี้ แมร์กซ์, จูเซ็ปเป ซารอนนี ควบโคลนาโกเข้าเส้นชัยตลอดเวลาที่ยังแข่งจักรยานอาชีพ จนถึงปัจจุบันที่ยังคงสนับสนุนทีมจักรยานอิตาเลียนอยู่สม่ำเสมอ เห็นได้จากแกรนด์ทัวร์ทั้งสามรายการ และในรายการแข่งจักรยานใหญ่ ๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกา


ในตอนต่อไปจะนำบทสัมภาษณ์ของ แอร์เนสโก โคลนาโก มาลงให้ได้อ่านกันครับ ..




บทความที่เกี่ยวข้อง:

>> แอร์เนสโต โคลนาโก ตำนานจักรยานอิตาเลียนที่ยังมีลมหายใจ ตอนที่ 1

แอร์เนสโต โคลนาโก ตำนานจักรยานอิตาเลียนที่ยังมีลมหายใจ ตอนที่ 1

|0 ความคิดเห็น
แอร์เนสโต โคลนาโก ตำนานจักรยานอิตาเลียนที่ยังมีลมหายใจ ตอนที่ 1


ถ้าคุณเป็นคนชอบความเร็วทางเรียบ แน่นอนว่าคุณต้องชอบขี่จักรยานถนน หรือ เสือหมอบ ไม่ว่าคุณจะขี่จักรยานแบรนด์ใด ไม่ว่ามันจะเป็นแบรนด์ไต้หวัน อิตาเลียน หรืออเมริกา ชื่อในภาษาอิตาเลียนที่คุ้นเคยคงหนีไม่พ้น เบียงคี (Blanchi), คัมปานโญโล (Campagnolo), บาตากลิน (Bataglin) และอื่น ๆ แต่ที่โดนเด่นมานานและยังเป็นดาวค้างฟ้าอยู่คงไม่มีชือใดที่ชวนให้นึกถึงได้อีกนอกจาก โคลนาโก (Colnago) บริษัทผู้สร้างเฟรมจักรยานอันเก่าแก่สัญชาติอิตาเลียนที่ยังคงสร้างประวัติศาสตร์ต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นสังเวียนแบบคลาสสิค (แข่งจบภายในวันเดียว) สเตจเรซ (แข่งทางไกลเป็นสเตจติดต่อกันทีละหลายวัน ทำนองเดียวกับแกรนด์ทัวร์ คือ ตูร์ เดอ ฟร็องซ์, จิโร ดิตาเลีย, และบวล ตา อาเอสปานญา) ถ้าคุณชอบขี่จักรยานเสือหมอบ การบอกว่าไม่รู้จักแบรนด์โคลนาโกก็เหมือนกับการบอกให้ใคร ๆ รู้โดยไม่ตั้งใจว่าตัวเองไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ของเสือหมอบนั่นเอง และต่อไปนี้คือเรื่องราวตลอดเวลาเกือบ 60 ปีของโคลนาโก ตั้งแต่เริ่มก่อร่างสร้างตัวจนถึงปัจจุบัน


ตำนานแห่งความยิ่งใหญ่ของ Colnago เริ่มต้นขึ้นเมื่อเกือบแปดสิบปีก่อน เมื่อ แอร์เนสโต โคลนาโก ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ปี 1932 ที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ชื่อคัมบิอาโก ทางตอนเหนือของอิตาลีใกล้เมืองมิลาน ดินแดนแห่งแฟชั่นและศิลปะ เมื่อโตขึ้นถึงวัยที่พอขี่จักรยานได้ พ่อแม่ของแอร์เนสโตจึงมอบจักรยานคันแรก ให้กับเขา มันมีสีดำและถูกตั้งชื่อว่า แปร์ตา (Perla) และด้วยจักรยานคันแรกนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ที่สืบต่อมา เมื่อมีคนพบเห็นแอร์เนสโตก็ต้องมีแปร์ลาอยู่ข้างกาย

เมื่อมีจักรยานก็ต้องแข่ง เป็นเรื่องธรรมดาของชายหนุ่มอิตาเลียนที่อยู่ในประเทศซึ่งคลั่งกีฬาจักรยาน รักการขี่จักรยานไม่เป็นรองใครในยุโรป ชีวิตของการแข่งจักรยานของแอร์เนสโต เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเขามีอายุสิบห้าปี จากการแข่งในรายการค็อปปากาเบลลินี แล้วหลังจากนั้นก็ตามด้วยชัยชนะในการแข่งขันรายการน้อยใหญ่อีกถึงสิบสองครั้ง แต่โชคกลับไม่เข้าข้างชายหนุ่มจากคัมบิอาโก เมื่อเขาล้มในการแข่งขันรายการหนึ่ง ขาที่หักทำให้จำต้องนอนนิ่ง ๆ และเคลื่อนไหวไปไหนไกล ๆ ไม่ได้ต่อมาอีกห้าสิบวัน เรื่องขี่จักรยานคงไม่ต้องพูดถึง เขาเริ่มสร้างล้อให้บริษัทกลอเรียที่บ้าน และนับจากนั้นมาแอร์เนสโต โคลนาโก ก็รู้จักตัวตนของตนเองแล้ว รู้ว่าเขาไม่ใช่นักแข่งแต่เป็นนักออกแบบชิ้นส่วนจักรยาน ที่สำคัญคือเฟรมจักรยานซึ่งต่อมาจะกลายเป็นแบรนด์ดังสัญชาติอิตาเลียน ประหนึ่งเป็นแฟรารีหรือลัมบอร์กินีของจักรยาน
ด้วยวันที่ยังหนุ่มแน่นเอามาก ๆ แอร์เนสโตได้เริ่มกิจการจักรยานของตัวเองขึ้นในปี 1954 ด้วยการเปิด ออฟฟิชินา (เวิร์คช็อป) ขึ้นที่บ้านในหมู่บ้านคัมบิอาโกนั่นเอง เวิร์คช็อปเพื่อสร้างเฟรมจักรยานนี้ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามภัตตาคารดังในเมืองนั้นคือ อิล ดู อี วินต์

ถึงจะอยู่ในอิตาลี แต่การเริ่มธุรกิจของโคลนาโกแทบจะไม่ต่างจากสองพี่น้องตระกูลไรท์ในสหรัฐฯ ที่เริ่มกิจการร้านจักรยานเมื่อห้าสิบปีก่อนเขาเลย หากสองพี่น้องจะคิดเอาจริงด้านจักรยานก็คงจะได้อยู่ แต่เมื่อพบกับสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าคือการสร้างเครื่องบิน ประกอบกับวัฒนธรรม จักรยานนิยม ไม่ใช่ของอเมริกา ทั้งสองจึงหันเหความสนใจไปทุ่มเทให้กับการบินและสร้างเครื่องบินเสียหมด

แอร์เนสโกมีความคิดแหวกแนว และดี ๆ อยู่มาก ตั้งแต่ทำงานอยู่ในโรงงานของจักรยานยี่ห้อกลอเรียใกล้เมืองมิลาน เพราะตัวเองก็เป็นนักจักรยานอยู่แล้ว เมื่อเอาความคิดมาผนวกกับประสบการณ์ที่ตระเวนแข่งมาทั่วภาคเหนือของอิตาลี แบรนด์โคลนาโกจึงถือกำเนิดขึ้นด้วยความคิดง่าย ๆ เพียงแค่ “อยากได้จักรยานแบบที่ตัวเองชอบแต่ไม่มีใครทำขายให้”

ทั้งที่บ้านเมืองและเศรษฐกิจของอิตาลีเพิ่งจะฟื้นตัวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้แค่สิบปี เสถียรภาพทางการเมืองยังไรความมั่นคง เมื่ออุตสาหกรรมการบินของอิตาลีคืออีกหนึ่งที่กระทบกระเทือนน้อยที่สุดและเริ่มฟื้นตัวได้ก่อนใคร หนุ่มแอร์เนสโตจึงตั้งเป้าไว้ว่าต้องสร้างแบรนด์จักรยานของตนให้ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะในอิตาลีแต่ต้องถึงระดับโลก ในเวทีการแข่งขันสากลด้วย โดยมุ่งมั่นผลิตแต่เฟรมจักรยานแข่งเพียงอย่างเดียว การเริ่มต้นกิจการของเขาเกิดขึ้นในช่วงหลังการถึงอนิจกรรมของ อัลชิเอ เดอ กัสปารี นายกรัฐมนตรีอิตาลีคนแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ อาร์เอได ซึ่งเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์ของอิตาลีเปิดให้บริการในปีนั้นเอง...


บทความที่เกี่ยวข้อง:

>> แอร์เนสโต โคลนาโก ตำนานจักรยานอิตาเลียนที่ยังมีลมหายใจ ตอนที่ 2

10 มิ.ย. 2554

อุปกรณ์ในการป้องกันตัวก่อนขี่จักรยาน บีเอ็มเอ็กซ์ (BMX)

|0 ความคิดเห็น
อุปกรณ์ในการป้องกันตัวก่อนขี่จักรยาน บีเอ็มเอ็กซ์ (BMX)


     1.   หมวกกันน็อคแบบเต็มใบ
เนื่องจากการขับขี่จักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ (BMX) เป็นกีฬาที่ต้องมีการกระโดดเนินและความเร็วค่อนข้างสูง ดังนั้นการป้องกันจึงต้องทำด้วยความรอบคอบและรัดกุมโดยการใส่หมวกกันน็อคแบบเต็มใบจะช่วยป้องกันอันตรายที่ศีรษะของผู้ขับขี่ดีกว่าหมวกกันน็อคแบบครึ่งใบ ซึ่งมีให้เลือกมากมายไม่ว่าจะเป็นหมวกกันน็อคของจักรยานโดยเฉพาะก็มีให้เลือก ทั้งที่ทำจากไฟเบอร์พลาสติก หรือวัสดุไฮเทคอย่างคาร์บอนไฟเบอร์ก็ยงมีสนนราคาถูกแพงตามชนิดของวัสดุนั้น ๆ ราคาก็มีตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่นกันเลยทีเดียว หรือถ้าใครอยากจะลองเอาหมวกกันน็อคมอเตอร์ไซค์วิบากมาใช้ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด แต่อาจจะต้องแบกรับน้ำหนักมากกว่าหมวกที่ออกแบบมาใช้กับจักรยานจริง ๆ เรื่องราคาถูกแพงไม่ใช่ประเด็นสำคัญนะครับ แต่ขอให้เป็นหมวกกันน็อกแบบเต็มใบที่มีมาตรฐานการผลิตที่ดีก็เป็นอันใช้ได้ครับ

2.   สนับหัวเข่าและข้อศอก
อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ควรจะมีไว้เป็นอย่างยิ่งเพราะอุบัติเหตุส่วนใหญ่จะทำให้เข่าและข้อศอกบาดเจ็บได้บ่อยกว่าบริเวณอื่น เพราะเมื่อรถล้มลงระบบร่างกายอัตโนมัติจะสั่งให้ข้อศอกและหัวเข่ารับแรงกระแทกทันที ดังนั้นทั้งสองส่วนนี้ควรได้รับการป้องกันเอาไว้ด้วยนะครับ มาดูตัวสนับหัวเข่ากันก่อน แนะนำว่าควรเป็นแบบที่มีขนาดยาวมาปิดหน้าแข้งด้วยจะดีมาก เพราะว่าบ่อยครั้งที่บันไดรถมันจะหมุนขั้นมาฟาดที่หน้าแข้งของผู้ขับขี่ได้ จึงควรป้องกันเอาไว้ด้วย ส่วนสนับข้อศอกก็เช่นเดียวกันอาจจะเลือกแบบที่ความยาวมาคลุมถึงแขนด้วยจะช่วยปกป้องแขนของเราได้ แต่บางท่านอาจจะรู้สึกเกะกะไม่ถนัดแบบยาว ๆ ก็เลือกใช้แบบคลุมข้อศอกอย่างเดียวก็ได้ครับ 

3.  ถุงมือ
จะมีการล้มลุกคลุกคลานกันอยู่บ่อยครั้งไม่ว่าจะตอนที่ทำการฝึกซ้อมหรือแข่งขันดังนั้น เราก็ควรปกป้องมือของเราให้ดีที่สุดด้วยการใส่ถุงมือแบบเต็มนิ้วจะดีที่สุดสำหรับกีฬาชนิดนี้
 4.  เสื้อและกางเกง
ควรจะเป็นเสื้อที่มีแขนยาวส่วนกางเกงแนะนำว่าควรจะใช้กางเกงขายาวจะช่วยป้องกันรอยขีดข่วนได้ดี ยิ่งถ้าเป็นกางกางสำหรับจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์โดยเฉพาะก็จะดีมาก ๆ เพราะกางเกงพวกนี้ถูกออกแบบตัดเย็บมาเป็นอย่างดี ช่วยให้การขับขี่เป็นไปอย่างราบรื่นไม่ติดขัดการระบายอากาศก็จะทำได้ดีกว่ากางเกงยีนส์ทั่ว ๆ ไป แต่หากไม่มีจริง ๆ จะใช้กางเกงขายาวแบบไหนก็ได้ครับ ส่วนบางคนอาจจะชอบขาสั้นก็ไม่ว่ากันเพราะเทรนด์ขาสั้นก็มาแรงในต่างประเทศ นักกีฬาอาชีพเขาก็ใช้กันเยอะแยะไปแต่ไม่ลืมใส่สนับเข่าเข้าไปด้วยครับ ถึงจะช่วยป้องกันการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุได้ดียิ่งขึ้น

5.  รองเท้า
อันนี้สำคัญนะครับ ควรจะใช้รองเท้าแบบหุ้มส้นจะเป็นแบบใส่คลิปเลสด้วยหรือเป็นรองเท้าผ้าใบธรรมดาก็ได้ครับ แล้วแต่ความถนัดจองแต่ละคน อย่าเผลอไปใส่รองเท้าแตะขี่รถเข้าล่ะ ถ้าเกิดล้มคว่ำลงมาเดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน

6.  เสื้อเกราะคลุมไหล่
อันนี้จริง ๆ แล้วเค้าออกแบบมาใช้กับพวกขี่มอเตอร์ไซค์วิบาก ซึ่งมีความเร็วและแรงมากกว่าจักรยาน แต่ว่าเนื่องจากมันมีน้ำหนักไม่มากเกินไปนัก ผู้ขับขี่บางคนก็เอามาใช้กับกีฬาจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ ซึ่งเสื้อเกราะแบบนี้จะสามารถป้องกันลำตัวช่วงบนจากหัวไหล่ลงมาถึงซี่โครงได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับน้อง ๆ หนู ๆ ตัวเล็ก ๆ และผู้ขับขี่มือใหม่ ๆ ครับป้องกันไว้ก่อนดีกว่า

7.  การ์ดป้องกันคอ
เจ้าสิ่งนี้เป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดในวงการกีฬาอย่างโมโตครอส ซุปเปอร์ครอส ใจต่างประเทศ ซึ่งเขาออกแบบมาเพื่อป้อยกันการบาดเจ็บของส่วนคอ ในเมืองไทยก็ได้รับความนิยมเช่นกัน รวมถึงนักกีฬาจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ หลายคนก็ยังเอามาใช้ในการแข่งขันด้วย ซึ่งแน่นอนว่าการมีอุปกรณ์ป้องกันดี ๆ นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะช่วยลดการบาดเจ็บที่รุนแรงให้น้อยลง แต่เนื่องด้วยราคาต่อชิ้นของเจ้าการ์ดป้องกันคอยังค่อนข้างสูง จึงมีผู้นิยาหามาใช้งานน้อยอยู่ ถ้าใครพอมีกำลังที่จะหามาใส่ได้โดยไม่เดือดร้อยก็แนะนำครับ

สรุปว่า ก่อนการฝึกซ้อมหรือแข่งขัน เราก็ควรจะมีเครื่องป้องกันให้ครบถ้วนก็จะดีไม่น้อย แม้ว่าบางคนอาจจะมีไม่ครบตามที่ได้กล่าวมาแล้วก็ไม่เป็นไรครับ แต่ขอให้มีหลัก ๆ คือหมวกกันน็อค สนับเข่าและแขน รองเท้าผ้าใบซักคู่ก็ถือว่าได้ปกป้องร่างกายของเราได้ดีระดับหนึ่งแล้วครับ ส่วนอุปกรณ์อื่น ๆ ถ้ามีโอกาสและกำลังซื้อเพียงพอก็ค่อยหามาเพิ่มเติมได้ในภายหลัง

กีฬาบีเอ็มเอ็กซ์เป็นกีฬาที่มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้บ่อยครั้งไม่ว่าจะจากตัวผู้ขับขี่เองหรือจากคู่แข่งขัน ดังนั้นการเตรียมการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่นักกีฬาควรจะทำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการสวมใส่หมวกกันน็อคและชุดป้อยกันต่าง ๆ ควรฝึกให้เป็นนิสัยติดตัวเพื่อป้อกันการบาดเจ็บที่รุนแรงหรือช่วยผ่อนจากหนักเป็นเบาได้ ขอให้ทุกท่านสนุกกับการขับขี่ที่มาพร้อมกับความปลอดภัยนะครับ

(เครดิตบทความโดย คุณจักรี  ศรีกสิกิจ)

บทความที่เกี่ยวข้อง :

 


บทความจักรยานที่เกี่ยวข้อง