ss

27 ส.ค. 2553

# FIXED GEAR : แนวทางการเลือกตกแต่ง รถ FIXED GEAR อย่างมีสไตล์..

|1 ความคิดเห็น
จักรยานฟิกซ์เกียร์ (Fixed Gear)


ปัจจุบันมีการใช้จักรยานฟิกซ์เกียร์ Fixed Gear ในท้องถนนเป็นจำนวนมาก เพราะมี รูปทรง ที่ทันสมัยอุปกรณ์ไม่เยอะและสามารถเก็บรักษาได้ง่าย ถ้าคุณต้องการจักรยานฟิกซ์เกียร์ Fixed Gear สักคันลองมาดูกันนะครับว่าจะมีวิธีการเลือกจักรยานฟิกซ์เกียร์ Fixed Gear อย่างไร


อันดับแรกคุณจะต้องตอบโจทย์ตัวเองให้ได้ก่อนว่าคุณมีงบประมาณเท่าไหร่ ? วัตถุประสงค์ในการใช้จักรยาน ชอบแนวไหน ชอบรถทันสมัย หรือแฟชั่น street เนื่องจากมีเกียร์เดียวคุณจะปั่นไปทำงาน ปั่นไปเที่ยว เล่นท่า หรือขับขี่ชอบความเก่าคลาสสิค วินเทจ สไตล์หมอบ เมื่อรู้ว่าตัวเองชอบแบบไหน ก็ตัดสินใจต่อได้ว่าจะประกอบรถตนเองแนวไหน ซึ่งถ้าเลือกใช้อะไหล่ที่ผลิตมาสำหรับรถลู่ หรือ Fixed Gear ซึ่งแน่นอนว่าอะไหล่จะถูกใจผู้ขับขี่ทุกชิ้น แต่งบประมาณก็สูงทีเดียวนะครับ


ผมมีวิธีการเลือกง่าย ๆ สำหรับคนที่ไม่รู้ว่าตนเองเหมาะกับสไตล์ไหน ผมขอแนะนำว่าควรซื้อรถ Complete สักคันมาลองปั่นก่อน Fuji Classic เป็นอีกทางเลือกหนี่งที่ราคาไม่สูง ปั่นได้สบาย ถ้าจะเล่นทริคก็สามารถแต่งต่อได้ แต่สำหรับมืออาชีพสามารถเลือกได้ตามสไตล์ของตัวเองและเลือกปรับแต่งรถให้เข้ากับการใช้งานและงบประมาณของตนเอง


สำหรับการแต่งรถจักรยานฟิกซ์เกียร์ Fixed Gear ให้โดยใจไม่ยากอย่างงที่คิดเลยครับ วิธีง่าย ๆ โดยการเลือกเปลี่ยนชิ้นส่วนบางชิ้น เช่น ตะเกียบ แฮนด์ ล้อ จาน ซึ่งแนวทริกทั่วไปจะใช้แฮนด์ยก กว้าง น้ำหนักเบา แข็งแรง ใส่ล้อขอบสูง หน้าล้อกว้าง เพื่อให้ใส่ยางใหญ่รับน้ำหนักแรงกระแทกจากการกระโดด ใส่จานหน้าเล็ก ใหม่ได้ไม่เกิน 42 T ใส่ cog(สเตอร์) 19T ให้เบาขึ้นเพื่อให้เล่นท่าง่าย บันได BMX เนื้อพลาสติกชั้นดี มีรูสำหรรับร้อยสาย Foot Strap (สายรัดเท้า) ใส่เพื่อเบรกและให้กระชับเท้า เอาไว้เล่นท่าต่าง ๆ


หากต้องการรถสวยผมขอแนะนำ Fuji Feather ที่มาพร้อมกับความสวยงามเพราะทาง Fuji เขาได้แต่งมาเพื่อให้เข้ากับสไตล์ที่คุณต้องการแน่นอน แต่ถ้าอยากปรับแต่งเพิ่มเติม ก็อาจจะเปลี่ยนสี หรืออาจจะเลือกใช้ยางและล้อที่มีสีสันสวยงามเพื่อให้แมทซ์กับเบาะ แฮนด์ตะกร้อ ก็ได้ครับ แล้วแต่ความชอบของแต่ละบุคคล ซึ่งการแต่งรถก็จะเป็นไปตามความนิยมของแต่ละคนช่วงนั้น ๆ อย่าง TREND ปีที่แล้วก็จะเน้นแฮนด์สั้น ยางสี และรถที่มีสีสันฉูดฉาด


ปีนี้ TREND เราจะแต่งให้เล่นทริคได้มากขึ้น การแต่งรถจะเป็นแฮนด์กว้าง ยางใหญ่ Frame ดำด้าน Frame เปลือยกำลังมาแรง การเลือกหาตะเกียบก็ขึ้นอยู่กับทรงของรถว่าเป็นทรงไหน ตะเกียบตรงแบบ BMX ขนาด 410 มม. เหมาะสำหรับล้อ 700 C ใส่แล้วบาร์สปินได้ แต่ถ้าใช้ล้อ ขนาด 26 หรือ 650 C แนะนำให้ใช้ตะเกียบ 420+ มม. เพื่อให้รถระดับขนานกับพื้น การแต่งรถ Fixed Gear ส่วนใหญ่อะไหล่สามารถสลับสับเปลี่ยนกันได้ครับ


ในตอนต่อไปจะหาเทคนิคการเล่นรถจักรยานฟิกซ์เกียร์ FIXED GEAR มาฝากเพื่อน ๆ ชาว FIXED GEAR กันครับ


บทความที่เกี่ยวข้อง :

>> ทิศทางรถฟิกซ์เกียร์ (Fixed Gear) ปี 2011
>> แนะนำอุปกรณ์ตกแต่งจักรยานฟิกซ์เกียร์ (Fixed Gear)
>> การเลือกซื้อตัวถังให้พอดีกับขนาดร่างกาย [ฟิกซ์เกียร์ Fixed Gear]
>> VDO เทคนิคการปั่นจักรยานฟิกซ์เกียร์ (Fixed Gear)
>> Fixed Gear แหกกฎเซ็ตรถเล่นทริก
>> Fixed Gear Corner : Fixed Gear Development
>> จักรยาน Fixed Gear MASI ต้นตำรับแห่งความคลาสสิค
>> Fixgear Corner : ประเภทของจักรยาน Fixgear
 

 

 
 

100 ก.ม. เซ็นทิวรี่ของจริง

|0 ความคิดเห็น
ในการวัดระยะแบบอังกฤษที่ใช้กันในอังกฤษและสหรัฐฯ การพูดถึงการขี่จักรยานทางไกลแบบเซ็นทิวรี่จะหมายความถึง 100 ไมล์ที่หมายถึง 160 ก.ม. โดยเทียบจาก 1 ไมล์เท่ากับ 1.6 ก.ม. สำหรับเราคนไทยซึ่งไม่คุ้นกับระบบอังกฤษก็คงต้องถือว่าเซ็นทิวรี่เป็น 100 ก.ม. ส่วนใครท่านได้จะไปขี่ให้ไกล 160 ก.ม. เหมือนเซ็นทิวรี่ต้นตำรับก็คงต้องนำเอาวิธีการไปดัดแปลงเอาเองครับ


ต่อไปนี้คือวิธีการที่คุณจะใช้ได้เพื่อให้ตัวเองขี่จักรยานไกลครบ 100 ก.ม. เป็นการฝึกที่ค่อนข้างหนักแล้วยังต้องให้กลุ่มเข้ามาช่วยด้วยคือคุณต้องมีเวลาขี่จักรยานกับเพื่อนเป็นกลุ่ม เพื่อใช้กลวิธีต่าง ๆ ได้เต็มที่ในการพาตัวเองไปให้ถึง 100 ก.ม. เพราะการขี่จักรยานเป็นกลุ่มจะช่วยให้คุณมีประสบการณ์ในการทำงานเป็นทีมที่แต่ละคนมีหน้าที่ต่าง ๆ เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยสงวนพลังงานได้โดยไม่ต้องสูญเสียความเร็ว วิธีการขี่เป็นกลุ่มนี้ใช้เป็นหลักเลยในการแข่งจักรยานทางไกลเช่น ตูร์ เดอ ฟร็องซ์ ที่นักจักรยานหัวหน้าทีมจะหมกตัวอยู่ในกลุ่มแล้วค่อย ๆ ไต่ตำแหน่งขึ้นมาอยู่หน้าแถวเพื่อพุ่งเข้าเส้นชัยเป็นคนแรก หรืออย่างน้อยการได้หมกกลุ่มก็ยังช่วยให้ประหยัดพลังงานได้มากถึง 50-60 % ซึ่งถือว่าประหยัดแรงได้มากเมื่อต้องขี่ไกล 100 กว่าก.ม.ขึ้นไป


ถ้าคุณใช้ตารางการฝึกที่เรารวบรวมให้นี้นาน 8 สัปดาห์ รวมทั้งการเพิ่มระยะทางและเวลาอีก 10 % ในแต่ละสัปดาห์โดยเพิ่มมันขึ้นในการขี่ช่วงสุดสัปดาห์คือวันเสาร์หรืออาทิตย์ ภายใน 8 อาทิตย์นี้แหละที่จะทำให้คุณมีเรี่ยวแรงเหลือเพื่อขี่ไกล 100 ก.ม. แบบสบาย ๆ เอาล่ะเรามาเริ่มกันเลยเพื่อไม่ให้เสียเวลา


วันจันทร์ : เป็นวันหยุด เพื่อฟื้นสภาพจากการขี่ในช่วงสุดสัปดาห์คุณต้องใช้วันจันทร์นี้เพื่อฝึกยกน้ำหนักด้วยถ้ามันเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการ แต่ต้องทำเฉพาะเพื่อให้ร่างกายท่อนบนแข็งแกร่งเท่านั้น ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับขา ปล่อยมันไว้เฉย ๆ มุ่งยกน้ำหนักด้วยแขนและลำตัวอย่างเดียว


วันอังคาร : ให้ปั่นเทรนเนอร์หรือขี่จักรยานกลางแจ้งให้หัวใจเต้นในโซน 2 นาน 75-120 นาที เว้นแต่ในเวลาตั้งแต่ 30-45 นาที เป็นเวลาเพื่อเร่งให้หัวใจเต้นในโซนสูงขึ้นไปอยู่ในโซน 3 สลับกันเป็นครั้งคราว เหมือนคุณจะปั่นแข่งสุดฝีเท้าแบบไทม์ไทรอัล โดยเวลา 30-45 นาที ดังกล่าวนี้รวมทั้งการปั่นสู้ลมปะทะ ปั่นขึ้นเนินและอื่น ๆ ที่ต้องใช้แรงมากกว่าปกติเข้าไปด้วย


วันพุธ : หยุดพักเพื่อฟื้นสภาพหลังจากปั่นหนักมาสองวัน คุณจะออกไปขี่จักรยานนอกบ้านหรือจับมันขึ้นตั้งเทรนเนอร์ก็ได้แต่ควรจะขี่ให้หัวใจอยู่แค่โซน 1 เท่านั้น และนานแค่ 60 นาทีก็พอ เพราะเป็นการขี่เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อไม่ใช่เพื่อเพิ่มภาระให้มัน เสร็จจาก 60 นาทีดังกล่าวนี้แล้วก็มายกน้ำหนักเพิ่มเสริมสร้างความแข็งแกร่งของร่างกายท่อนบนเหมือนในวันจันทร์


วันพฤหัสบดี : ปั่นจักรยานให้หัวใจเต้นในโซน 2 นาน 90 นาที ต้องมีเวลาให้ทำอินเตอร์วัลด้วยตั้งแต่ 30-45 นาทีโดยทำเป็นช่วง ๆ แล้วรวมเวลากันให้ครบตามนี้ แต่การทำอินเตอร์วัลต้องให้อยู่ในขอบเขตที่ต่ำกว่าโซน 3


วันศุกร์ : หยุดพักการปั่นจักรยานอีกวัน คุณจะนอนเฉย ๆ จูงหมาเดินเล่นหรือปั่นจักรยานก็ได้ ทางที่ดีคือต้องไม่เกิน 60 นาที โดยหัวใจยังเต้นในโซน 1 แล้วกลับมายกน้ำหนักเช่นเดียวกับในวันจันทร์


วันเสาร์ : ทีนี้เมื่อทุกคนหยุดงานพร้อมกันก็ถึงคราวปั่นรวมกลุ่มล่ะ ต้องปั่นรวมกลุ่มเล็ก ๆ (หรือถ้าใหญ่ ๆ ได้ก็ดี) บนถนนเรียบเพื่อให้ใช้ความเร็วสูง ถ้าเป็นไปได้หัวใจของคุณควรเต้นอยู่ในขอบเขตค่อนไปทางสูงของโซน 3 ตลอดเวลา ใช้เวลาปั่นเป็นกลุ่มนี้อย่างเหมาะสมที่ 2-3 ชั่วโมง


วันอาทิตย์ : เป็นการฝึกปั่นขึ้นเขา คุณต้องใช้เวลาทั้งหมดสองชั่วโมงหรือเกินกว่านั้นนิดหน่อยเพื่อปั่นขึ้นเนินให้หัวใจเต้นอยู่ในเขตสูงของโซน 2 แล้วออกแรงปั่นให้หัวใจเต้นแรงขึ้นอีกในโซน 3 ประมาณ 2-3 นาที และระหว่างกำลังไต่เนินนั้นพยายามควบคุมหัวใจให้เต้นอยู่ในช่วงต่ำของโซน 2 ให้ได้


นั่นคือตารางการซ้อมที่คุณควรทำให้ได้สม่ำเสมอนานติดต่อกันแปดสัปดาห์หรือสองเดือนก่อนจะขี่ไกล 100 ก.ม. จริง ๆ ซึ่งจะครอบคลุมสภาพเหมือนจริงทั้งทางเรียบและทางขึ้นเขา (ไม่มีเส้นทางไหนหรอกที่จะไร้สโล้ปตลอดเส้นทาง) โดยเฉพาะการปั่นกับกลุ่มนั้นจะช่วยให้พัฒนาได้เร็วมากทั้งความอดทนและฝีเท้า แต่ใช่ว่าจะมีแค่นี้ที่เราอยากให้คุณลอง ยังมีอีกสองวิธีการซ้อมที่แต่ละวิธีจะกินเวลา 10 สัปดาห์ก่อนการขี่ไกล 100 ก.ม. ไม่ต้องห่วงว่าเราจะโมเมขึ้นเองเพราะคัดลอกมาจากนิตยสารไบซิคลิ่งที่เคยตีพิมพ์ไว้เมื่อสิบปีกว่าที่แล้ว เราเห็นว่ามีประโยชน์จึงค้นมาลงไว้


เหตุผลที่น่าใช้วิธีการนี้ก็เพราะมันเวิร์ค คุณจะพบความเปลี่ยนแปลงได้ชัดทั้งรยะทางและความเร็วที่เพิ่มขึ้นเมื่อทำตามอย่างเคร่งครัด แผนการซ้อมนี้ช่วยนักจักรยานเก่ง ๆ มาแล้วหลายคนในการขี่จักรยานไกลให้ครบ 100 ก.ม . เป็นครั้งแรกโดยเฉพาะแผนแรกซึ่งจะเห็นตัวเลขทางขวาสุดอยู่ใต้หัวข้อว่า Mileage ซึ่งควรปรับเปลี่ยนเป็น ก.ม.แบบของเรา (หรือใครนะใช้ตามระบบเขาก็ไม่ขัดข้อง)


ส่วนความหมายของคำต่าง ๆ ในตารางมีดังนี้


Easy คือปั่นง่าย ๆ สบาย ๆ ให้หัวใจเต้นในโซน 1 เป็นการปั่นไปเรื่อย ๆ สบาย ๆ เพื่อฟื้นสภาพ


Pace คือปั่นให้เร็วขึ้นอีกนิดเพื่อให้หัวใจเต้นในโซน 2 เป็นความเร็วปกติที่คุณต้องคงให้ได้ระหว่างการขี่ไกล 100 ก.ม.


Brisk คือการปั่นให้เร็วกว่าความเร็วปกติของโซน 2 อันหมายความว่าหัวใจต้องเต้นอยู่ในโซน 3 ด้วย ตัวอย่างคือถ้าวันนั้นคุณอยากจะขี่จักรยานให้ไกล 15 ก.ม. อย่างเร็วที่สุด (Brisk) โดยเอาระดับชีพจรเป็นหลักไม่นับระยะทาง ก็ต้องขี่ช่วง 3 ก.ม.แรกโดยคุมหัวใจให้เต้นในโซน 3 ต่อมาอีก 8 ก.ม. ให้อยู่ในโซน 3 ด้วยการปั่นเร็วที่สุด (Brisk) ถ้าการขี่ไกล 100 ก.ม. ของคุณเป็นวันเสาร์แทนที่จะเป็นวันอาทิตย์ก็ควรเลื่อนวันสุดท้ายในสัปดาห์สุดท้ายขึ้นมาหนึ่งวัน ให้ว่างอยู่หนึ่งวันก่อนการขี่ไกล


ให้ใช้วิธีการนี้ถ้าคุณปั่นได้ไกลกว่าสัปดาห์ละ 75 ก.ม. ตารางนี้จะช่วยให้คุณจบ 100 ก.ม. ด้วยแรงเหลือให้กระฉับกระเฉงไม่ใช่ปั่นเสร็จแล้วนอนหลับสลบไสลไปอีกสองวัน และยังเหมาะกับคนที่ขี่ครบ 100 ก.ม.บ่อย ๆ เพื่อใช้ทำลายสถิติตัวเองด้วย

แต่งตัวดีมีสไตล์ ไม่ไร้เหตุผล

|0 ความคิดเห็น
เวลาไปขี่จักรยานรวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ คุณ เคยคิดบ้างหรือเปล่าว่า ทำไมใครถึงต้องแต่งตัวอย่างนั้นอย่างนี้ ยางคนมีเครื่องประดับแปลก ๆ เช่นฮาร์เรทมอนิเตอร์ หรือกระจกมองหลังติดหน้าหมวกกันกระแทก บางคนสวมแว่นตาเลนส์ฉาบปรอทในขณะที่บางคนสวมแว่นตาเลนส์ไส ๆ บางคนนุ่งกางเกงไลคราธรรมดา ขณะที่อีกคนนุ่งกางเกงเอี้ยม ไม่ว่าจะเป็นสไตล์ไหนหรือของใครก็ตาม ทั้งหมดนี้นักจักรยานต่างทำเพื่อความมั่นใจ สะดวกสบายและปลอดภัยของตัวเองทั้งสิ้น บางคนอาจคำนึงถึงแค่ป้องกันอันตรายและเพื่อสะดวก อีกหลายคนบอกว่ามันต้องดูดี ต้องมีสไตล์ด้วย จะได้เข้ากับรถจักรยานราคาแพงระยับของตน ประมาณว่าจักรยานแพงแล้วจะมาแต่งตัวเห่ย ๆ ได้อย่างไร ลองดูเรื่องราวที่จะเล่า แล้วคุณจะทราบว่าเบื้องหลังสไตล์ของแต่ละคนนั้นมีเหตุผลแฝงอยู่


แว่นกันแดด ลม : สวมมันให้ขาแว่นทับสายรัดคาง ไม่ใช่สวมสายรัดคางทับขาแว่น


แฟชั่น : ถ้าคุณใช้แว่นราคาแพงอย่างโอคลีย์หรือรูดี้ หรือแบรนด์ไหนก็ตามที่รู้จักกันในวงการว่าอยู่บนใบหน้านักจักรยานระดับโปรฯมากที่สุด การสวมมันทับสายรัดคางจะช่วยให้โลโก้ดูเด่นเป็นสง่า ไปไหนใคร ๆ ก็รู้ว่าใช้ของจริงของแพง


ประโยชน์ : การให้ขาแว่นพาดทับสายรัดคางจะทำให้สายรัดคางนั้นกดขาเข้ากับกะโหลกของคุณ เป็นความกดดันอันไม่พึงปรารถนา ทั้งเจ็บและน่ารำคาญเมื่อขี่ทางไกลเป็นชั่วโมง การพาดขาแว่นบนสายรัดคางยังช่วยอำนวยความสะดวกให้คุณด้วยเวลาสวมหรือถอดแว่น ถอดง่ายสวมง่ายไม่ต้องกะระยะนาน ไม่อันตรายเพราะสายรัดจะไม่กดขาแว่นจนโค้งแล้วเด้งไปเกี่ยวลูกตาตอนดึงออก ข้อนี้อย่าทำเป็นเล่นไปเพราะมีสิทธิ์ตาบอดได้


กางเกงทรงแบ็กกี้ : สวมเพื่อความคล่องตัวเวลาขี่จักรยานไปทำธุระ


แฟชั่น : ใช้เพื่อขี่จักรยานในละแวกบ้านหรือไปไหนมาไหนใกล้ ๆ บ่งบอกให้รู้รสนิยมอันวิไลของคุณเมื่อใช้กางเกงทรงแบ็กกี้ เสริมเป้าแล้วมีกางเกงผ้าไลคราซ้อนด้านใน ถ้าต้องการความสะดวกสบายหรือไม่จำเป็นต้องเสริมเป้าถ้าไปทำธุระหรือขี่เล่นใกล้ๆ มีแต่พวกบ้าเห่อเท่านั้นที่สวมกางเกงผ้าไลครารัดรูปมาขี่จักรยานไปซื้อของแค่ปากซอยใน เซเว่น อีเลฟเว่น


ประโยชน์ : การมีขากางเกงเปื้อนน้ำมันหยอดโซ่จักรยานเป็นเรื่องเหลือทนจริง ๆ ทั้งสกปรกและดูไม่ดีเอาเสียเลยเผลอ ๆ คุณอาจต้องเสียกางเกงขายาวตัวนั้นไปตลอดกาลเพราะซักคราบน้ำมันไม่ออก การเลือกใช้กางเกงทรงแบ็กกี้จึงดีที่สุด จะให้ดีกว่าแค่แบ็กกี้ก็ควรเป็นกางเกงแบ็กกี้สำหรับขี่จักรยานด้วย เพื่อให้มีกางเกงผ้าไลคราบุเป้าเสริมด้านในสะดวกสบายยามขี่ใกล้ ๆ หรือหากเกิดอารมณ์มันส์ ๆ ขึ้นมาจะเพิ่มระยะทางมันก็จะช่วยได้มาก แล้วยังใช้เพื่อทำธุระอื่นได้ด้วยโดยไม่ต้องกระดากหวาดหวั่นว่าใครจะมามองเป้ากางเกง มีประโยชน์ใช้สอยมากมายด้วยกระเป๋ารอบตัว


ช่วงขาชโลมน้ำมัน : ทำให้ช่วงขาเป็นมัน เน้นกล้ามเนื้อให้ดูเด่นกว่าเดิมดีกว่าปล่อยให้เห็นรอยผิวหนังแห้งแตก


แฟชั่น : การโกนขนแล้วทาขาด้วยน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันนวดหรือโลชั่นให้ความชุ่มชื้นผิว ช่วยให้ขาดูเป็นมันเน้นกล้ามเนื้อ และดูเหมือนพวกโปรที่ปั่นเร็ว ๆ แม้ว่าจริง ๆ แล้วอาจจะปั่นจักรยานไม่เอาไหนก็ตาม

ประโยชน์ : นอกจากจะช่วยให้ดูดีถ้าน้ำมันนวดแล้วร้อนมันจะช่วยให้กล้ามเนื้อของคุณอุ่นขึ้น กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้นด้วย โดยเฉพาะในฤดูฝนเมื่อทาน้ำมันนี้จะทำให้ฝนและโคลนไม่ค่อยจับตัวกับขา ล้างออกได้ง่าย


เสื้อและกางเกงผ้ายึดสแปนเด็กซ์ (บ้างก็เรียกว่าผ้าไลครา) : ฟิตเข้ารูปดูดีเหมือนมือโปรเมื่อสวมใส่


แฟชั่น : เสื้อขี่จักรยานผ้ายึดของคุณควรสั้นเหนือเป้ากางเกง ปลายขากางเกงไม่ควรเปื่อยยุ่ยหรือยาวเลยหัวเข่าเหนือหัวเข่าคือความยาวที่ดี ทั้งเสื้อและกางเกงควรจะเข้ารูปพอดีกับสรีระของคุณ เหมือนผิวหนังชั้นที่สอง ถ้าคุณไม่มีหน้าท้องร่างกายไร้ไขมันอยู่แล้วชุดฟิต ๆ นี้จะช่วยให้ดูดีเซ็กซี่ขึ้นมาก (ขอบอก)


ประโยชน์ : ปัจจุบันนี้ชุดขี่จักรยานจะถูกออกแบบและตัดเย็บด้วยผ้ายึดเทคโนโลยีสูง ระบายได้หมดจดทั้งความร้อนและความชื้นจากเหงื่อ มันหายใจได้ตามคำโฆษณา ช่วยให้คุณสบายตัวตลอดระยะทางที่ควบจักรยานคันโปรด แตกต่างเห็นได้ชัดจากเสื้อกางเกงธรรมดา ถูกออกแบบมาเพื่อขี่จักรยานโดยเฉพาะด้วยกระเป๋าด้านหลังให้ใส่อุปกรณ์และสิ่งของในตำแหน่งหยิบจับได้สะดวก กางเกงสั้นเหนือเข่าช่วยให้เนื้อผ้าไม่เกี่ยวกับหัวเข่าจนรำคาญ คล่องตัวถูกจังหวะของการปั่น


กางเกงเอี้ยม (Bibs) : กางเกงต่อสายรั้งไหล่ ช่วยให้พุงไม่กระเพื่อม (ถ้าคุณมีพุง)น่าเกลียด


แฟชั่น : มันน่าสวมใส่เพราะพวกโปรในเปโลต็องชอบสวม เท่โคตร ๆ เวลาปล่อยซิปเสื้อทั้งหมดชายเสื้อปลิวไสวดูเหมือนพวกโปรช่วงท้าย ๆ สเตจ ใคร ๆ ประมาทฝีมือคุณไม่ได้แน่เมื่อเห็นคุณสวมกางเกงเอี้ยม


ประโยชน์ : นอกจากสวยงามเหมือนพวกมือโปรแล้วมันยังกระชับกับสัดส่วนคุณด้วย โดยเฉพาะจะให้ความสะดวกสบายจริง ๆ กับช่วงกลางของลำตัวปราศจากสายรัดเอวที่จะรั้งเข้าไปจนพุง (ถ้ามี) กระเพื่อมหลามออกมา ไม่ต้องเสี่ยงกับการกลั่นแกล้งของเพื่อน ที่ขอบขี่มาใกล้ ๆ ด้านหลังแล้วชอบดึงกางเกงคุณลงมาเกี่ยวไว้กับอาน


วางตำแหน่งวาล์วไว้ตรงกับแบรนด์ของยาง : เท่และดูดีเป็นระเบียบ


แฟชั่น : ช่วยให้คุณดูดีและใคร ๆ ที่พบเห็นจะเข้าใจได้ว่าคุณใส่ใจในรายละเอียด เวลาประกอบยางเข้ากับล้อหากไม่ทำเช่นนี้ก็เหมือนกับเดินในห้างสรรพสินค้าโดยไม่รูดซิปกางเกงนั่นเอง


ประโยชน์ : การวางตำแหน่งแบรนด์ยางไว้ให้ตรงกับวาล์ว ไม่ใช่แค่สะดวกแต่ยังช่วยให้จำได้ง่ายถึงขนาดและหน้ายาง ค้นหาได้รวดเร็วเมื่อจะทำธุระอื่นดับยางเช่นจำหน้ายางไปซื้อใหม่มาเปลี่ยน หรือต้องการทราบความดันลมยางที่ถูกต้องก่อนเติมลม เพียงกวาดตามองที่จุดเดียวคือตรงวาล์วยางคุณก็รู้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาหมุนวงล้อเป็นรอบ


โกนขนหน้าแข้ง : ดูเหมือนโปรและสวยงามในส่วนของเนื้อขาที่โผล่พ้นกางเกง


แฟชั่น : เพราะนักจักรยานระดับโลกชอบโกนกัน คุณจึงต้องโกนขนหน้าแข้งเพื่อให้ดูเหมือนพวกมือโปรเหล่านั้นความเชื่อบางแระแสบอกว่ามันช่วยให้ลู่ลมยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในทางเรียบ แต่เราเชื่อว่าคุณโกนขนหน้าแข้งเพื่อให้ขาสวยตอนซอยรอบถี่ ๆ บนบันไดและเหมือนพวกนักจักรยานระดับโลกเหล่านั้น มากกว่าอย่างอื่น


ประโยชน์ : นอกจากจะสวยงามประโยชน์ที่แท้จริงของการโกนขนหน้าแข้งคือช่วยให้สะอาด ล้างสิ่งสกปรกออกง่ายไม่ว่าคุณจะขี่ทางเรียบหรือวิบาก โดยเฉพาะเมื่อพลาดท่าล้มเป็นแผลที่ขาจะทำให้ดูแลยาดแผลได้ง่ายและสะอาดกว่าปล่อยให้มีขนรุงรัง การทาโลชั่นหรือน้ำมันนวดให้ร้อนก็ทำได้สะดวกกว่าปล่อยขนไว้เหมือนกัน


ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นเส้นผมบังภูเขาที่เรา ๆ ไม่เคยสนใจเท่าไร พอเห็นใครทำอะไรเท่ ๆ หน่อยก็ทำตามไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องการโกนขนหน้าแข้งหรืออื่น ๆ อ่านแล้วคงทราบนะครับว่าเบื้องหลังความเท่นั้นมีเหตุผลและความจำเป็นแฝงอยู่

26 ส.ค. 2553

แนะนำไมล์จักรยาน VDO CYCLECOMPUTING

|0 ความคิดเห็น
สวัสดีครับ วันนี้จะมาแนะนำไมล์จักรยานยอดนิยม ที่มีคนนิยมใช้กันมากพอสมควร ยี่ห้อ VDO มีรุ่นอะไรบ้างมีคุณสมบัติอะไรบ้างเชิญอ่านต่อได้เลยครับ..

VDO Z1


DIGITAL WIRELESS ALTIMETER CYCLE COMPUTER


รุ่นนี้มีฟังค์ชั่นวัดระดับความสูงมาให้ด้วย และวัดรอบขาได้ วัดกำลังวัตต์ได้ และเป็นแบบไร้สาย ตัวส่งสัญญานเป็นระบบดิจิตอลไม่รบกวนกัน ทั้งตัววัดความเร็วและวัดรอบขา

VDO Z2


DIGITAL WIRELESS HEART RATE MONITOR CYCLE COMPUTER


รุ่นนี้ มีเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจ (Heart Rate Monitors) วัดรอบขาได้เช่นกัน วัดการเผาผลาญแคลลอรี่ และไร้สายระบบดิจิตอล






VDO Z2 PC-LINK


DIGITAL WIRELESS HEART RATE MONITOR CYCLE COMPUTER WITH


รุ่นนี้ เพิ่มระบบเชื่อมต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์เพื่อแสดงข้อมูลการขับขี่บนจอคอมพิวเตอร์ได้ด้วย มากับซอฟแวร์ของ VDO พร้อม ฟังค์ชั่นต่าง ๆ เหมือนรุ่น VDO Z2 คือ มีเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจ (Heart Rate Monitors) วัดรอบขาได้ วัดการเผาพลาญแคลลอรี่ และไร้สายระบบดิจิตอล



VDO Z3


DIGITAL WIRELESS HEART RATE MONITOR ALTIMETER CYCLE COMPUTER


รุ่นนี้ วัดความสูงได้ วัดอัตราการเต้นของหัวใจได้ด้วย วัดกำลังวัตต์ได้ วัดอัตราการเผาผลาญแคลลอรี่ได้ วัดรอบขาได้ ไร้สายระบบดิจิตอล






VDO Z3 PC-LINK


DIGITAL WIRELESS HEART RATE MONITOR ALTIMETER CYCLE COMPUTER


รุ่นนี้ เพิ่มระบบเชื่อมต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์เพื่อแสดงข้อมูลการขับขี่บนจอคอมพิวเตอร์ได้ ฟังค์ชั่นต่าง ๆ เหมือนรุน Z3 คือ วัดความสูงได้ วัดอัตราการเต้นของหัวใจได้ด้วย วัดกำลังวัตต์ได้ วัดอัตราการเผาผลาญแคลลอรี่ได้ วัดรอบขาได้ ไร้สายระบบดิจิตอล

บทความที่เกี่ยวข้อง :

>> DH Corner: Rockshox Boxxer World Cup 2011

วอร์มอัพ ,คูลดาวน์,และยืดเส้น : ตอนที่ 1

|0 ความคิดเห็น

การจะขี่จักรยาน เพื่อสุขภาพเพื่อความฟิตย่อมแตกต่างจากการขี่มันจ่ายตลาดแน่นอน เมื่อมันเป็นการออกกำลังจริงจังแบบแอโรบิก เช่นเดียวกับกล้ามเนื้อและหัวใจให้พร้อมจะช่วยให้คุณขี่จักรยานได้นานขึ้นและลดอาการบาดเจ็บได้อีกมาก


เสน่ห์ของการขี่จักรยานคือมันง่ายไม่กระทบกระแทกกับข้อต่อและได้เคลื่อนไหวต่อเนื่อง การเคลื่อนไหวต่อเนื่อง การเคลื่อนไหวต่อเนื่องนี้เองทำให้ต้องเตรียมร่างการให้พร้อม ด้วยการอบอุ่นร่างกายหรือ “วอร์มอัพ” ที่ควรกระทำอย่างยิ่งไม่ว่าคุณจะขี่เมาเท่นไบค์ จักรยานฟิตเนสอยู่กับที่หรือจักรยานใด ๆ ก็ตาม ก่อนจะออกกำลังกายต่อเนื่องและต้องค่อย ๆ ผ่อนแรงหรือ “คูลดาวน์” หลังจากออกกำลัง เพื่อให้กล้ามเนื้อปรับสภาพตัวเองจากสภาพการทำงานหนักเข้าสู่สภาพปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไป


เหตุผลที่ต้องวอร์มอัพก็เพราะเมื่อคุณอยู่เฉย ๆ กล้ามเนื้อจะมีอุณหภูมิเป็นปกติ เลือดจะยังไม่ฉีดมาเลี้ยงมากกว่าเดิมเพราะไม่ได้เคลื่อนไหวรวดเร็ว แต่เมื่อเคลื่อนไหวเร็วและต่อเนื่องกล้ามเนื้อต้องการออกซิเจนต่อเนื่องเช่นกัน เพื่อลดการก่อตัวของกรดแลคติกสาเหตุของความปวดเมื่อย อยู่ดี ๆ แล้วเร่งปั่นจักรยานโดยไม่วอร์มอัพเลือดจะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่ทัน ไม่มีออกซิเจน สุดท้ายก็ปวดเมื่อยอ่อนล้าเร็วเพราะกรดแลคติกก่อตัวเร็วกว่าการวอร์มอัพจึงช่วยให้กล้ามเนื้ออุ่นขึ้นแล้วกระตุ้นให้มีเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อรอท่าไว้ก่อนกรดแลคติกจะเกิด


ลองมาดูเหตุผลที่คุณต้องวอร์มอัพกันก่อนจะออกกำลังกายจริงจัง แบ่งเป็นข้อ ๆ ให้ง่ายต่อการจดจำดังนี้


- การออกกำลังต่อเนื่องทุกประเภทต้องเริ่มด้วยการวอร์มอัพง่าย ๆ ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อเตรียมให้หัวใจและกล้ามเนื้อพร้อมกับการทำงานหนักที่จะตามมา


- การวอร์อัพเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปสู่กล้ามเนื้อทำงานหนัก เลือดเพิ่มคือความร้อนในกล้ามเนื้อเพิ่ม พร้อมรับภาระหนักและลดการบาดเจ็บเช่นปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อฉีกขาด หัวใจวาย


- ต้องวอร์มอัพอย่างค่อยเป็นค่อยไป ค่อย ๆ เพิ่มความหนักให้ความร้อนในกล้ามเนื้อค่อย ๆ เพิ่ม โดยปราศจากความอ่อนล้าและบั่นทอนพลังงานมาก กๆ โดยสูญเปล่าตามปกติการวอร์มอัพควรนาน 5 – 10 นาทีก่อนจะเข้าสู่กระบวนการออกกำลังกายจริงจัง


- ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาหลายคนยืนยันว่าไม่จำเป็นเสมอไปที่จะต้องยืดเส้นยืดสายหลังการวอร์มอัพทุกครั้ง เว้นแต่จะปวดเมื่อยหรือเกร็งกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน ซึ่งจำเป็นต้องบำบัดให้หายก่อนออกกำลังเต็มรูปแบบ


- หลังวอร์มอัพแล้ว เมื่อกล้ามเนื้อและหัวใจพร้อมแล้วนั่นแหละจึงเข้าสู่การออกกำลังจริง ๆ ได้ เราขี่จักรยานค่อนข้างได้เปรียบนักวิ่งหรืออื่น ๆ ตรงที่วอร์มอัพได้ง่ายและเบาแรงกว่า ทั้งด้วยเทรนเนอร์แค่เอาจักรยานขึ้นตั้งแล้ววอร์มบนนั้น หรือจะขี่สบาย ๆ ด้วยรอบขาห่าง ๆ ประมาณ 60 – 80 รอบ/นาที นาน 10 – 15 นาทีก็ได้ก่อนออกกำลังกายหนักด้วยการขี่ทางไกลนานเป็นชั่วโมง หรือนานเท่าไรก็ได้เท่าที่คุณขี่ไหว แต่เมื่อจะจบเส้นทางสิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือคุณต้องคูลดาวน์อีกครั้งปิดท้ายเพื่อให้กล้ามเนื้อปรับสภาพคืนสู่สภาวะปกติได้โดยไม่บอบช้ำ

ถ้าการวอร์มอัพคือด้านหนึ่งของเหรียญ การคูลดาวน์ก็เป็นด้านตรงข้ามถ้าวอร์มอัพทำให้กล้ามเนื้ออุ่นขึ้นการคูลดาวน์ก็ช่วยให้มันเย็นลงอย่างปลอดภัยเป็นการลดอุณหภูมิกล้ามเนื้อช้า ๆ กระทั่งร่างกายปรับสภาพเข้าสู่ปกติอย่างปลอดภัย ป้องกันไม่ให้เลือดคั่งในกล้ามเนื้อเพราะหัวใจจะดูดกลับได้หมดจด การลดอัตราเต้นชีพจรช้า ๆ ยังจะช่วยลดกรดแลคติกและลดความปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลังออกกำลังได้ด้วย ถ้าคุณเป็นอีคนหนึ่งที่ปวดแข้งปวดขา ลองวอร์มอัพ แล้วคูลดาวน์ตามที่เราแนะนำ เชื่อว่าความเจ็บจะบรรเทาลง


อัตราชีพจรที่น่าพอใจสำหรับการคูลดาวน์ของคุณ ควรจะอยู่ต่ำกว่า 120 ครั้ง/นาที ภายใน 3 นาทีหลังจากเริ่มคูลดาวน์ และควรลดต่ำกว่า 100 หลังคูลดาวน์ไปแล้ว 5 นาที นี่คืออาการปกติของคนที่ทำคูลดาวน์ถูกต้อง แต่มีโอกาสลดลงเร็วกว่านี้อีกถ้าคุณฟิตมากขึ้น ยิ่งฟิตยิ่งใช้เวลาคูลดาวน์น้อยและชีพจรลดลงเร็ว ถ้าหัวใจยังเต้นแรงหลังจากคูลดาวน์แล้ว 5 – 10 นาที แสดงว่าต้องเกิดความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นแน่ ๆ กับคุณ ควรลดความหนักของการออกกำลังลง ถ้าลดลงแล้วอัตราชีพจรยังไม่ลดก็ต้องพบแพทย์ครับ การใช้ฮาร์ทเรทมอนิเตอร์เป็นเรื่องสำคัญเราจึงอยากให้คุณมีไว้กับตัว ถ้าอยากออกกำลังกายด้วยจักรยานให้ได้ผล การควบคุมอัตราชีพจรเป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้ หลังการออกกำลังหนักถ้าคุณหยุดเลยทันทีหัวใจจะเร่งดูดเลือดจากที่ต่าง ๆ คืนทั้งกล้ามเนื้อและสมอง ขี่มาหนัก ๆ แล้วหยุดอาจหน้ามืดเป็นลมได้ดังเคยมีเรื่องมาแล้วจากผู้มีประสบการณ์ที่ชอบถามกันในเว็บไซต์จักรยาน


ที่สำคัญอีกอย่างคือเวลาการคูลดาวน์ มันสัมพันธ์กับระยะเวลาการขี่ ยิ่งขี่นานร่างกายทำงานหนักยิ่งต้องคูลดาวน์นานตามไปด้วย ความหนักและนานจากการขี่จึงเป็นอัตราส่วนโดยตรงกับการคูลดาวน์ ถ้าอัตราชีพจรของคุณสูงอยู่นานหลังการออกกำลัง ก็ต้องลดความหนักของการขี่เช่นความเร็วและระยะทางเพื่อให้ความฟิตเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอัตราการลดลงของชีพจรสู่ปกติต้องอยู่ที่ 3 – 5 นาทีลงมาต่ำกว่า 100


และหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการคูลดาวน์แล้วลงจากอาน ควรจอดจักรยานไว้แล้วเดินไปมาสัก 3 – 4 นาที ก่อนจะผ่อนคลายกล้ามเนื้อด้วยการเนไปมาและทำท่าผ่อนคลายกล้ามเนื้อซึ่งเราจะคุยกันต่อไป


การฟื้นสภาพระหว่างการคูลดาวน์เป็นเรื่องสำคัญ เป็นช่วงเวลาแห่งการเสริมสร้างทดแทนส่วนสึกหรอและปรับตัวในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย และกรดแลคติกจะสลายไปเร็วกว่าปกติด้วยในระหว่างคูลดาวน์ ถ้าไม่คูลดาวน์มันจะหลงเหลือในกล้ามเนื้อและสลายไปช้ากว่า เป็นเหตุให้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้ออยู่นานแม้หลังออกกำลังแล้ว นอกจากนี้ยังพัวพันไปถึงการพักอ่อนนอนหลับพอเพียง ที่จะช่วยให้เซลกล้ามเนื้อได้สร้างส่วนทดแทนที่สึกหรอระหว่างนั้น ก่อนจะกลับมากออกกำลังอีกครั้ง


นอกเหนือจากการวอร์มอัพและคูลดาวน์ อีกสิ่งที่ควรทำคือการยืดเส้นแต่ทำไมต้องยืดด้วยละ ?


ต้องยืดเพราะความยืดหยุ่นเป็นสิ่งสำคัญในการเล่นกีฬาทุกประเภท แต่กับจักรยานแล้วมันค่อนข้างถูกละเลยด้วยความคิดว่าไม่จำเป็น ที่จำเป็นเพราะที่จริงแล้วนักจักรยานได้เคลื่อนไหวเกือบทุกส่วน ยิ่งเคลื่อนไหวบ่อยและนานยิ่งเสี่ยงต่อการบาดเจ็บกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะเส้นเอ็น การยืดเส้นช่วยได้มากในด้านการเคลื่อนไหว ด้วยการฝึกให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้มากทิศทางก่อนเข้าสู่กระบวนการออกกำลัง และหลังจากนั้นเพื่อปรับเข้าสู่สภาพเดิม


นักจักรยานที่ใส่ใจกับการวอร์มอัพ ,คูลดาวน์และการยืดเส้น จะไม่ค่อยบาดเจ็บกล้ามเนื้อและไม่ปวดข้อ กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นตึงจะทำให้ปวดเมื่อยร้าวไปทั้งตัวไม่เฉพาะบริเวณเคลื่อนไหวมาก ๆ เท่านั้น การไม่ยืดหยุ่นทำให้กล้ามเนื้อทำงานได้ไม่สมดุลและบ่อยครั้งเข้าก็จะบาดเจ็บ


การยืดเส้นมีประโยชน์จริง เรารวมมาให้คุณอ่านเป็นข้อ ๆ แล้วเพื่อง่ายแก่การจดจำ


- ลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อการทำหลังคูลดาวน์จะช่วยลดความเจ็บปวดหลังขี่จักรยาน


- เพิ่มสมรรถนะของคุณ ข้อต่อต่าง ๆ ที่ยืดหดได้อิสระจะช่วยให้เคลื่อนไหวได้สะดวก


- ช่วยให้ท่าทางการขี่ถูกต้องและง่ายขึ้น ไม่ว่าจะก้ม เงย โดยเฉพาะการขี่จักรยานเสือหมอบซึ่งสามารถเปลี่ยนตำแหน่งจับแฮนด์ได้หลายแห่ง การยืดเส้นจึงช่วยตรงนี้ได้มาก


นั่นคือข้อดีของการยืดเส้น และต่อไปนี้คือองค์ประกอบอื่น ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับความยืดหยุนของข้อต่อและเส้นเอ็นที่ได้จากการยืดเส้น


ได้ความร้อน : อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจะช่วยเพิ่มทิศทางการเคลื่อนไหวและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ เปรียบเทียบกับพลาสติกที่แทบไม่ต่างจากกล้ามเนื้อ มันดัดเป็นรูปร่างต่าง ๆ ได้ง่ายเมื่อถูกความร้อน กล้ามเนื้อก็เช่นกัน นี่จึงเป็นสาเหตุให้การออกกำลังในอากาศเย็นต้องการเวลาการยืดเส้นนานกว่าในอากาศร้อน


อายุ : กล้ามเนื้อตึงและความลำบากในการยืดหดของข้อต่อมักมาพร้อมกับอายุ กล้ามเนื้อหลายแห่งยังยืดหดได้ตามปกติแต่ความคล่องแคล่วเริ่มหายไปตามวัย ทำให้มันตึงเคลื่อนไหวยากกว่าแต่ก่อน อีกเรื่องหนึ่งคือเมื่ออายุมากขึ้นก็เคลื่อนไหวน้อยลงตามเวลาที่ล่วงเลย การคงกิจกรรมเคลื่อนไหวไว้ให้ได้สม่ำเสมอ (การบริหารหัวใจด้วยการขี่จักรยานให้ได้ครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ปละ 5 ครั้ง) และยืดเส้นให้ได้บ่อย ๆ จะช่วยให้แก่ช้าและลดอาการตึงในทุกส่วนของร่างการคุณด้วย


เพศ : รายงานการทดลองหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงมีความยืดหยุ่นสูงกว่าผู้ชาย ถึงจะยังหาสาเหตุชัด ๆ ไม่ได้ก็ตาม แต่ก็สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเกี่ยวเนื่องจากประสบการณ์ในวัยเด็กและความอ่อนตัวกว่าของกระดูกในผู้หญิงที่มีมากกว่าผู้ชาย


เรื่องการยืดเส้นก่อนและหลังการออกกำลังยังมีเนื้อหาอีกมาก ในตอนต่อไปจะมาต่อในเนื้อหาการยืดเส้นในด้านอื่น ๆ ด้วยครับ

อยากขี่ไกลเกิน 100 กิโลเมตร คุณ ! ต้องมีเวลา...

|0 ความคิดเห็น
ใครที่เรียนมาถึงม.6 เป็นอย่างน้อยเกือบทุกคนต้องรู้จัก อัลเบิร์ต ไอน์สไตล์ นักวิทยาศาสตร์ชาวยิว-เยอรมัน เจ้าของทฤษฎีสัมพันธภาพ อันลือเลื่อง ผู้สร้างทฤษฎีการแตกตัวของอะตอมจนได้สูตรคำนวณบันลือโลก E=MC2 ที่ทำให้เกิดระเบิดปรมาณูในเวลาถัดมา ทั้งที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องแต่มีคนรู้น้อยมากว่าไอน์สไตน์ชอบสีไวโอนลินและขี่จักรยาน เขาพูดบ่อย ๆ ว่าตัวเองคิดอะไรออกเมื่อขี่จักรยาน


คำพูดที่บอกว่าเกิดความคิดใหม่ ๆ ระหว่างขี่จักรยานนอกจากจะบอกเราได้ว่าการออกกำลังกายทำให้สมองโล่งปลอดโปร่ง ยังบอกได้อีกว่าคนพูดนั้นอยากมีเวลาขี่จักรยานเยอะ ๆ หรือเอามาเชื่อมโยงกับเรื่องของเราได้คือถ้าคุณอยากมีสุขภาพดีหรืออยากขี่ให้ไกลก็ต้องหาเวลาขี่ แต่ต้องทำอย่างถูกต้องและมีเวลาพักผ่อนให้ร่างกายฟื้นตัว เฟาส์โต ค็อปปี อดีตแชมป์ตูร์ เดอ ฟร็อง หลายสมัยชาวอิตาเลียนก็เคยพูดเอาไว้เมื่อถูกผู้สื่อข่าวยุคนั้นถามว่า ทำมาถึงครองแชมป์ไว้ได้และชนะเลิศหลายรายการ คำตอบของค็อปปีสั้น ๆ และง่ายคือ “ Ride a lot “ ขี่ให้บ่อย ๆ ให้มากเข้าไว้แล้วจะเก่งเอง


สำหรับผู้ต้องการเอาชนะตัวเองด้วยการเอาตัวเลข 100 เป็นหลัก ไม่ว่ามันจะเป็นระบบเมตริก (100 ก.ม.) หรืออังกฤษ ( 100 ไมล์ = 160 ก.ม.) ก็ตาม ถ้าไม่หาเวลาขี่ก็คงยากที่จะทำระยะให้ถึง หรือถ้าทำได้ก็คงกะปรกกะเปรี้ยเต็มทนและดูไม่ดีเลยเมื่อขี่ครบ ต้องหาเวลาให้ได้และถ้าระยะทางยาวขึ้นก็ต้องมีเวลาขี่จักรยานซ้อมมากขึ้นอีก ความท้าทายของพวกนักจักรยานวันหยุดหรือปั่นเพื่อสุขภาพก็คือการหาเวลาให้ได้ ในเมื่อต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว มีกิจกรรมนอกบ้านเป็นประจำ พอกลับมายังต้องดูแลบ้านช่องอีก ดูเหมือนว่าจะหาเวลาได้ยากเหลือเกิน อย่าว่าแต่จะไปขี่จักรยานเลยจะให้ทำเรื่องบันเทิงอื่น ๆ ก็ยังยาก


ทั้งที่หาเวลาขี่ได้ยาก มีเวลาขี่จักรยานได้น้อยกว่าที่ต้องการแต่ก็ใช่ว่านั่นคือความด้อย คุณก็เป็นคนธรรมดาเหมือนคนทั่วไปนั่นแหละ เมื่อมีเวลาขี่น้อยแต่อยากขี่จึงต้องชดเชยด้วยการวางแผนและบริหารเวลาให้เป็น วิธีหนึ่งคือหาเวลาขี่ให้ได้ และอีกหนึ่งคือใช้เวลาเท่าที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการขี่จักรยาน

บริหารเวลาให้เป็น

เมื่อเวลาเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การขี่จักรยานทางไกลบรรลุผล คุณมีแนวทางในการปฏิบัติดังนี้


ตั้งเป้าหมาย : ต้องมีวันและเวลาแน่นอนในการขี่จักรยาน ถ้ากลัวจะลืมก็วงไว้ในปฏิทิน จะให้เป็นทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันพุธทุกสัปดาห์ก็ได้จะได้ไม่ลำบากในการจำ ปล่อยให้วันจันทร์-อังคารและพฤหัสฯ-ศุกร์ เป็นวันพักผ่อนให้ร่างกายฟื้นสภาพ พอได้วันที่ต้องการแล้วต่อไปก็จัดระเบียบชีวิตให้พร้อมสำหรับวันนั้น คือยึดวันและเวลาขี่จักรยานเป็นหลักแล้วปรับชีวิตการทำงานให้ลงตัวสอดคล้อง คุณต้องว่างเสมอเมื่อถึงเวลาขี่ งานต้องเสร็จต้องไม่มีนัดหมายประชุมใด ๆ (ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ) มาขัดขวางเมื่อถึงเวลาขี่จักรยาน ตั้งใจจริงแล้วต้องไม่มีอุปสรรคใดมาขัดขวางคุณไว้จากจักรยาน


ต้องรู้ความต้องการของตัวเอง : สมมุติว่าคุณมีเป้าหมายว่าจะขี่ 100 ก.ม. ให้ครบกับกลุ่มเพื่อนฝูง นั่นคือเป้าและตามความเข้าใจของคนทั่วไปที่ว่ายิ่งขี่มากยิ่งทน แต่ก็ไม่จริงเสมอไปหากคุณใช้โปรแกรมการซ้อมที่ถูกต้อง มีเทรนเนอร์ไว้ประกอบจักรยานปั่นในบ้านจำลองสภาพเส้นทางทั้งทางเรียบและขึ้นเขานักจักรยานที่ขี่มานานรู้ดีว่าเขาสามารถรับมือกับระยะทางและเวลานานกว่าที่เคยขี่ปกติสองถึงสามเท่าได้สบาย ๆ ตราบใดที่ยังรักษารอบขาไว้ได้และมีน้ำกับอาหารไว้ดื่มกินตลอด เมื่อเหนื่อยก็หยุดช่วงสั้น ๆ ไม่จำเป็นต้องขี่ตลอดเวลา เพราะจุดหมายคือระยะทาง เพื่อชนะใจตัวเองไม่ใช่ชนะการแข่งขันกับใคร ๆ ดังนั้นถ้าคุณขี่ได้ทุกวันแบบสบาย ๆ วันละ 40-50 ก.ม. นานติดต่อกันหลาย ๆ เดือน เจอระยะ 100 ก.ม. สักครั้งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก


จะขี่ช่วงเช้าหรือบ่ายต้องกำหนดให้แน่ : ตรงนี้ขึ้นอยู่กับการวางแผนในหัวข้อ “ตั้งเป้าหมาย” ด้วย ว่าเมื่อคุณมีเวลาขี่แล้วจะให้มันอยู่ในช่วงไหนของแต่ละวัน ที่แน่ ๆ คือมันต้องไม่รบกวนงานประจำ เรื่องนี้อาจไม่เป็นปัญหาสำหรับคนทำงานอิสระหรือมีกิจการของตัวเองอยู่ที่บ้าน แต่เป็นเรื่องใหญ่แน่กับคนทำงานออฟฟิศมีเวลาเข้าและเลิกงานตายตัว วันเสาร์อาทิตย์ อาจหาเวลาขี่ได้แต่วันธรรมดาคงแทบหมดสิทธิ์ ถ้าไม่ชดเชยด้วยการปั่นเทรนเนอร์ในบ้านการซ้อมคงขาดช่วง ถ้าจัดเวลาได้ก็ต้องมาดูกันอีกล่ะว่าขี่ตอนเช้า ๆ หรือตอนบ่ายดี มาดูกันว่าเช้ากับบ่ายจะให้ความรู้สึกในการขี่จักรยานต่างกันแค่ไหน


การขี่ตอนเช้าให้ประโยชน์กับคุณหลายอย่าง ยามเช้าไม่ค่อยร้อนไม่ว่าจะเป็นหน้าร้อนหรือหน้าฝน ยิ่งหน้าหนาวยิ่งเย็นอากาศช่วงเช้าสะอาดกว่าช่วงบ่ายเพราะรถรายังไม่ค่อยออกมาพ่นมลพิษบนถนน คุณแต่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมด้วยการเข้านอนแต่หัวค่ำเพื่อให้สดชื่นเมื่อตื่นแต่เช้าตรู่ เท่านั้นก็พอแล้ว ถ้ารู้ว่าอาจไปทำงานไม่ทันก็เลื่อนเวลาขี่ให้เร็วขึ้นอีก นอนให้เร็วกว่าเดิมเพื่อชดเชยกัน การนอนดึกตื่นเช้าจะทำให้เพลียก่อนจะขี่ไม่เป็นผลดีต่อร่างกายเลย


ถ้าไม่มีเวลาขี่ช่วงเช้าก็เหลือแค่ตอนบ่ายและเย็นหลังเลิกงานดูจะเหมาะที่สุด ถ้าคุณคิดว่าจะเป็นอันตรายก็ต้องเลือกเส้นทางให้ดี ๆ โดยอาจจะสำรวจก่อนในตอนกลางวันก็ได้ ให้ได้ทางที่เรียบ การจราจรไม่พลุกพล่านและมีไฟส่องสว่างตลอดทาง ข้อดีคือไม่ต้องเตรียมตัวมากนอกจากต้องเคลียร์งานประจำให้เสร็จก่อนเย็นเท่านั้น คนในเมืองอาจได้ประโยชน์ตรงที่การจราจรเบาบางลงแล้วหลังเลิกงาน ส่วนคนต่างจังหวัดสบายกว่าเพราะกลับถึงบ้านได้เร็วและการจราจรเบาบางลงเร็วกว่ากรุงเทพฯเว้นแต่จังหวัดใหญ่ ๆ อย่างเชียงใหม่ที่การจราจรหนาแน่นตลอดเวลา


เพื่อความปลอดภัยสิ่งที่ต้องติดตัวและจักรยานตลอดเวลาคือไฟหน้าและหลัง แถบสะท้อนแสงก็ต้องมีและควรยกเลิกการขี่ถ้าฝนตกหรือหมอกลง โอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงมากทั้งจากทัศนวิสัยไม่ดีและสภาพถนนลื่นที่บังคับรถยนต์ได้ยาก


ถ้าขี่ไปทำงานได้ ใช้ซ้อมซะเลย : คำแนะนำเก่าแก่ที่ยังใช้ได้เสมอสำหรับการซ้อมให้ขี่ไกล ๆ คือการขี่จักรยานไปและกลับจากที่ทำงานหรือที่ใด ๆ ที่ไปทำธุระเสียเลย สมมุติว่าที่ทำงานของคุณอยู่ห่างจากบ้าน 20 ก.ม. ขี่ไปกลับก็ 40 ก.ม.แล้ว ใน กทม.เดี๋ยวนี้เห็นคนขี่จักรยานไปทำงานกันมากขึ้น คาดว่าด้วยสภาพจราจรที่ไม่หนาแน่นเหมือนกรุงเทพฯ คนต่างจังหวัดน่าจะเอื้ออำนวยให้ขี่จักรยานทำงานได้มากกว่า มันอาจด้อยคุณภาพบ้างเมื่อเทียบกับการขี่ในที่ ๆ คุณเลือกได้ เพราะต้องเจอกับสัญญาณไฟจราจรให้เคลื่อน ๆ หยุด ๆ ตลอดเวลา แต่ก็เป็นทางออกที่ดีสำหรับคนที่อยากปั่นและที่ทำงานมีห้องอาบน้ำพร้อม และอย่าได้ทำเป็นเล่นไปเพราะนักจักรยานในรายการแข่งข้ามประเทศเอมริการ (Race Across America หรือ RAAM) มีจำนวนไม่น้อยที่ซ้อมทางไกลด้วยการปั่นไปและกลับจากที่ทำงาน และใช้มันแทนรถยนต์ในชีวิตประจำวัน


ขี่จักรยานไปเที่ยว ให้คนในครอบครัวขับรถตาม : เป็นวิธีที่ดีสำหรับการท่องเที่ยวโดยเฉพาะกับคนมีครอบครัว หรือใครก็ตามที่มีคนขับรถตามเมื่อจะไปท่องเที่ยวในจุดหมายเดียวกัน คุณและเพื่อนหรือครอบครัวไปถึงที่หมายด้วยกัน ไม่ว่าจะให้เขาขับรถไปรอหรือขับรถตามไปก็ตาม เมื่อถึงแล้วใช้เวลาพักผ่อนหย่อนใจที่ปลายทางตามสบายก่อนจะยกจักรยานขึ้นรถยนต์ขับกลับบ้าน ได้ทั้งความสนุกสนานระหว่างคนในครอบครัวและได้ซ้อมไปด้วย ถ้ายังไม่เคยทำเราบอกได้เลยว่าเป็นวิธีที่สนุกเฮฮามาก ถ้าคิดว่าการขี่ไปถึงแล้วยกขึ้นรถอาจจะน้อยไปคุณจะขี่เองทั้งไปและกลับก็ได้ พวกนักจักรยานทางไกลแบบกินระยะทางใช้วิธีนี้กันเยอะ


เน้นคุณภาพมากว่าปริมาณ : คำว่าคุณภาพยังใช้ได้ดีไม่ว่าจะเป็นวงการไหน ถ้าคุณภาพที่ดีมีมากกว่าปริมาณย่อมหมายถึงประสิทธิภาพของคุณเอง ถ้าคุณมีโอกาสขี่เป็นกลุ่มนั่นคือโอกาสที่ดีสำหรับการฝึกทักษะต่าง ๆ เช่นการลาก การดูดกลุ่ม ซุกอยู่กลางวงเพื่อประหยัดพลังงาน ซึ่งเหมาะหากคุณตั้งใจว่าจะขี่กับกลุ่มทางไกล ๆ และถ้าขี่คนเดียวโอกาสเพิ่มความแข็งแกร่งก็มีด้วยการปั่นรอบจัด ๆ หรือทำอินเตอร์วัลไปตลอดทางได้เพื่อความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ


หาโอกาสขี่ขึ้นเขา : ในบรรดาการฝึกเพื่อพลังวัดกันนาทีต่อนาที ไม่มีอะไรเกิดฝึกปั่นขึ้นเขา หรือจำลองการปั่นขึ้นเนินชัน ๆ ด้วยเทรนเนอร์ ยืนยันด้วยคำพูดของ เกรก เลอม็องด์ ที่บอกว่า “ไม่มีการซ้อมอะไรจะดีเท่าขี่ขึ้นเขา” และแลนซ์ อาร์มสตอรง ที่วัดขีดความสามารถของตัวเองด้วยการขี่ขึ้นเขาโคล เดอ ลา มาโดน ถ้าทำเวลาที่ภูเขามาโดนได้ดีนั่นหมายถึง แลนซ์ พร้อมแล้วที่จะเป็นแชมป์อีกสมัย


ถ้าไปข้างนอกไม่ได้ ให้ขี่ในบ้าน : คุณทำได้ทั้งด้วยจักรยานฟิตเนสที่ได้มาตรฐานหน่อย อาจต้องลงทุนเท่า ๆ กับจักรยานจริงแต่ก็คุ้ม ในจักรยานฟิตเนสดี ๆ จะมีอุปกรณ์และเครื่องวัดให้คุณพร้อม ทั้งปริมาณแคลอรี่ อัตราชีพจร วัดเปอร์เซ็นต์ไขมัน ระยะทาง ความเร็ว มีหมด หรือจะใช้ขาจับ (เทรนเนอร์) ยึดล้อหลังจักรยานคันเก่งของคุณก็ได้ ตารางการซ้อมทั้งแบบอินเตอร์วัลและขึ้นเขามีให้ดาวน์โหลดในเน็ตเกี่ยวกับจักรยานอยู่แล้ว การได้ปั่นเหงื่อตกบนจักรยานฟิตเนสหรือเทรนเนอร์สัก 40 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมง ช่วยคุณได้มากในด้านกำลังขา การเร่งฝีเท้าสปรินต์และความแข็งแกร่งตอนขึ้นที่ชันขอเพียงคุณมีเวลาและจัดสภาพแวดล้อมให้ดีไม่น่าเบื่อ การซ้อมในร่มจะช่วยได้มหาศาล แม้แต่นักจักรยานระดับโปรในแกรนด์ทัวร์ยังต้องปั่นเทรนเนอร์ก่อนแข่ง และถ้าเทรนเนอร์ไม่ดีจริงคงไม่มีการพัฒนาซอฟต์แวร์และสร้างเทรนเนอร์ขายกันถึงทุกวันนี้


ทั้งหมดคือการซ้อมเมื่อคุณบริหารเวลาได้ เมื่อจัดแบ่งเวลาได้ มีวินัยกับตัวเองคุณก็มีเวลาซ้อมด้วยเป้าหมายหลักว่าต้องขี่ให้ไกลให้ได้ ถ้าคุณมีจิตใจมุ่งมั่นแล้วคำว่า “ไม่มีเวลา” จึงไม่ใช่ทางเลือกเพราะถ้าเอาเวลาไปเที่ยวเตร่ดูหนังฟังเพลงหรือเฮฮากับเพื่อนฝูงได้ คุณก็น่าจะแบ่งเวลามาใช้กับจักรยานได้เหมือนกัน ขึ้นอยู่แต่ว่าจะ “ทำ” หรือ “ไม่ทำ” เท่านั้น แล้วคุณเล่าจะเป็นคนแบบไหน มีหรือไม่มีเวลาก็เลือกเอาถ้าโจทย์คือระยะทางไกล ๆ







23 ส.ค. 2553

เทคนิคการใช้เกียร์ในทางที่เป็นทราย

|0 ความคิดเห็น
การขี่ในเส้นทางที่เป็นทรายก็เป็นที่น่าเบื่อหน่ายของหลาย ๆ คนเพราะบางครั้งถึงขั้นต้องลงจากรถแล้วจูงเดินไปอย่างไม่อายตัวเองเอาเสียเลย แต่หากคุณลองหัดให้ชำนาญกับการใช้เกียร์ในเส้นทางทรายแล้ว คุณจะพบกับความท้าทายที่สนุกสนานมากกว่าขี่ทางเรียบ ๆ เอามากที่เดียว และจะภูมิใจมากเมื่อสามารถพิชิตทางทรายมาเป็นระยะทางหลาย ๆ กีโลเมตร บางครั้งจะมีความรู้สึกว่าในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดจะมาหยุดยั้งความต้องการของเราได้อีกแล้ว แต่กว่าเราจะเดินทางมาถึงจุดนี้ บางคนถึงกับต้องล้มเลิกความตั้งใจเอาเสียง่าย ๆ แต่หากคุณ ลองมาหัดใช้เกียร์ให้ถูกต้อง สักวันหนึ่งคุณจะเป็นคนหนึ่งที่ชอบในสิ่ง ๆ ที่คนอื่นไม่ชอบ

1. ประการแรก เมื่อล้อเริ่มสัมผัสพื้นทรายควรจะเปลี่ยนเกียร์ให้เบาลงเล็กน้อย ไม่ควรเปลี่ยนให้เบาสุด ๆ (ใช้ความรู้สึก หรือหนัก เบา เช่นเดียวกับการขี่ขึ้นเขา)

2.หาจังหวะเกียร์ที่รู้สึกว่าเหมาะสมกับกำลังของเราให้มากที่สุด โดยจะประมาณจากรอบขาที่เรารู้สึกว่ากำลังพอดี ไม่เร็วเกินไป หรือช้าเกินไป

3.กำแฮนให้พอดี ๆ อย่าเกร็ง รักษารอบขาอย่าให้ตก ช่วงไหนทรายหนืดก็เปลี่ยนเกียร์ให้หนักขึ้นบ้าง

4.สายตาพยายามจดเส้นทางที่จะไปข้างหน้าให้ไกล ๆ ตัว ไม่มองเฉพาะเส้นทางที่วงล้อกำลังสัมผัส

5.หากมีเครื่องกีดขวางอยู่ข้างหน้า เช่นขอนไม้ ฯลฯ หากไม่อยากเลี้ยงให้ขี่ข้าไปเลย หากไม่อยากขี่ข้าม ต้องเลี่ยงไปทางอื่น โดยตีทางหนีให้ห่าง ๆ มาก ๆ เข้าไว้

6.ไม่ควรหลีกเครื่องกีดขวางในระยะกระชั้นชิด เพราะจะทำให้การทรงตัวในการขี่บนทางทรายเปลี่ยนไป รถอาจจะเสียหลัก บางครั้งอาจจะขี่ต่อไปไม่ได้ ต้องลงเข็นก็ได้

7.เมื่อต้องการขี่ผ่านทางทรายอย่างรวดเร็วให้เปลี่ยนเกียร์ให้หนักขึ้น

8.หากต้องขี่ทางทรายที่เป็นทางลงเขาให้คุณเปลี่ยนเกียร์ โดยใช้ใบจานหน้าเป็นจานที่ 3 หรือใบใหญ่สุด

9.ไม่พยายามเปลี่ยนเกียร์ใด ๆ เมื่อล้อจมทราย หรือหยุดหมุนแล้ว เพราะไม่มีประโยชน์ใด ๆ อีกแล้ว นอกจากจะทำให้โซ่ขาดหรืออุปกรณ์อื่นพังเสียหายได้ เมื่อถึงตอนนี้คุณต้องดีดตัวลงจากรถอย่างรวดเร็ว ยกรถหมุนล้อเปลี่ยนเกียร์ให้เบาที่ แล้วกระโดดขึ้นไปปั่นเริ่มต้นใหม่ทันที

10.ทำตัวสบาย ๆ ไม่เกร็ง อาศัยกำลังขาและรอบขาในการปั่นให้สม่ำเสมอ ถ้ารู้สึกว่ารอบขาเร็วไป ก็เปลี่ยนเกียร์ให้หนักขึ้น เมื่อรู้สึกว่ารอบขาช้าลงก็เปลี่ยนเกียร์ให้เบาลง ร้องเพลงให้จังหวะกับการปั่น เช่น คุณไปไหน ฉันไปด้วย หรือ ถึงก็ไป ไม่ถึงก็ไป

วิธีการใช้เกียร์สำหรับมือใหม่

|0 ความคิดเห็น
โดยทั่วไประบบเกียร์ของ Mountain Bike ที่ใช้กันอยุ่จะมีจำนวนเกียร์ 21, 24 และ 27 เกียร์ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ


ส่วนที่ 1 ส่วนของชุดจานหน้า จะมีทั้งหมด 3 ใบ แต่ละใบจะมีขนาดต่างกันตั้งแต่เล็กไปใหญ่ เช่น 22, 32, 42 ฟัน

ส่วนที่ 2 ส่วนของชุดเฟืองหลัง จะมีตั้งแต่ 7, 8 และ 9 ชั้น ซึ่งถ้าเรานำเฟือง 7 ชั้น มาใส่กับใบจานหน้า 3 ใบ ก็จะได้เกียร์ 21 สปีด เช่นเดียวกัน ถ้านำเฟืองหลัง 8 ชั้น หรือ 9 ชั้น มาใส่ก็จะได้จำนวนสปีด 24 และ 27 ตามลำดับ (นำจำนวนเฟืองคูณกับใบจาน จะได้จำนวนสปีด)

ส่วนที่ 3 มือเปลี่ยนเกียร์ แบ่งออกเป็นสองแบบคือ


3.1 แบบหมุน การเปลี่ยนเกียร์ทำได้โดย การบิดข้อมือขึ้นลงโดยเกียร์แบบหมุนจะติดอยู่ที่ปลายแฮนด์ด้านใน ก่อนถึงมือจับ ซึ่งจะแยกเป็นสองข้าง ข้างขวาเป็นตัวเปลี่ยนเฟืองหลัง ข้างซ้ายเป็นตัวเปลี่ยนใบจานหน้า


3.2 แบบใช้นิ้วกดเกียร์ แบบนี้จะได้รับความนิยมมากกว่าแบบใช้มือหมุน จะมีตัวเปลี่ยนเกียร์ 2 ส่วน ส่วนแรกจะใช้นิ้วชี้กด ส่วนที่สองจะใช้นิ้วโป้งกด วิธีใช้กันง่ายๆ คือ นิ้วชี้กดคือการเปลี่ยนเกียร์ลง ใช้นิ้วโป้งกดคือการเปลี่ยนเกียร์ขึ้นทั้งด้านซ้ายและขวาใช้งานเช่นเดียวกัน


ที่มา www.probike.co.th


เรื่องช็อค ๆ ! ของคนขี่เมาเท่นไบค์

|0 ความคิดเห็น
ตะเกียบช็อคที่เด้งดึ่ง ๆ เวลาตกหลุมหรือเมื่อกระโจนลงจากที่สูง ลองอ่านบทความที่พวกนักทดสอบของนิตยสารเมาเท่นไบค์ชั้นนำของอเมริการเขาทดสอบไว้ คุณจะได้แง่คิดที่ไม่เคยคิดมาก่อนอีกมาก กับช็อคของคุณ จะได้รู้ว่ามันมีเรื่องน่า “ช็อค” มากว่าเป็นแค่ “ช็อค”เฉย ๆ


1.คุณไม่รู้สึกหรอกว่าเกิดความเปลี่ยนแปลง


ตะเกียบช็อคของคุณจะทำงานแน่ ๆ อยู่แล้วแม้จะทิ้งไว้นานก็ตาม ความคิดนึ้แหละที่หลอกพวกเรา เพราะประสิทธิภาพที่ด้อยลงเพราะขาดการดูแลรักษาจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และจะเป็นไปอีกเรื่อย ๆ จนกว่าจะเกิดอันตรายคือคุณล้มคว่ำหน้าแหก ที่เราจะบอกคุณก็คือมันทำงานได้ก็จริง เวลาเอามาขี่อีกทีมันยังหนืดยังกระเด้งอยู่ แต่ความทนทานต่อแรงกระแทกตลอดเส้นทางหลังจากไม่ดูแลแล้วนี่แหละที่จะทำให้อายุมันสั้น ดังนั้นเพื่อให้แน่ใจว่าช็อคคู่โปรดของคุณจะรักษาชีวิตและความสะดวกสบายไว้ได้ตลอดเวลา คุณต้องใช้ปฏิทินซึ่งกำหนดเองว่าจะนำมันไปให้ช่างดูแลภายในกี่เดือนหรือกี่สัปดาห์ ไม่ใช่วัดเอาด้วยความรู้สึก


2. จงเปลี่ยนน้ำมันตามเวลา ถ้าคุณใช้ช็อคน้ำมัน


น้ำมันที่ไหลเวียนอยู่ในระบบดูดซับแรงกระแทกของตะเกียบช็อคมีสองหน้าที่หน้าที่หนึ่งคือดูดซับพลังงานจากการกระแทกและอีกหน้าที่คือเพื่อหล่อลื่นชิ้นส่วนเคลื่อนไหว เมื่อโมเลกุลของน้ำมันแตกตัวฟิล์มที่เคยเป็นโล่ป้องกันการสึกกร่อนก็จะหายไป มันแตกตัวได้ก็เพราะคุณใช้มันโดยไม่สนใจจะเปลี่ยนน้ำมันจนหมดสภาพ ถ้าอยากใช้ช็อคให้นาน ๆ ก็จงศึกษาคู่มือให้ชัดเจนก่อนใช้งาน เปลี่ยนถ่ายน้ำมันตามระยะเวลาที่กำหนด ช็อคดี ๆ คู่หนึ่งราคาเท่ากับจักรยานรุ่นต้น ๆ ทั้งคันคุณคงไม่อยากเสียเงินบ่อย ๆ ทั้งที่ป้องกันได้ แน่ ๆ

3. ถ้าอ่านหนังสือออก จงอ่านคู่มือ


ช็อคติดจักรยานทุกคันไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดเทลหรือฟูล-ซัสเพนชั่นมีคู่มือ ในนั้นจะอธิบายวิธีดูแลรักษาตะเกียบช็อคคู่เก่งอย่างละเอียด ถ้าคุณมีช็อคที่มาพร้อมCarteidge damping unit มันก็ไม่ยากที่จะดูแลรักษาด้วยตัวเองเพียงแค่อ่านคู่มือถ้าคุณใช้ช็อคระบบอาบน้ำมัน (0il bath)อาจต้องให้ร้านทำให้ เสียค่าบริการ เว้นแต่ว่าคุณจะเป็นช่างเสียเอง ช็อคต่างระบบต้องการการดูแลรักษาต่างกัน การอ่านคู่มือแล้วจะทำให้ทราบว่าตัวเองทำอะไรได้แค่ไหนไม่มั่วจนเสียของ


4. ต้องใส่ใจบำรุงรักษา


ตะเกียบช็อคและช็อคหลังคือส่วนที่ถูกทารุณกรรมมากที่สุดในชิ้นส่วนของเมาเทนไบค์ มันไม่ต่างกันกับรถยนต์ของคุณเลยที่ต้องให้เปลี่ยนน้ำมันเครื่องทุก ๆ 5,000 ก.ม. อย่างไรก็ตามตะเกียบช็อคของคุณต้องการให้คุณดูแลเหมือนกันไม่ ว่ามันจะราคาแพงหรือถูกแค่ไหนก็ตามเมื่อต้องยืด ๆ หด ๆ ถูกกระแทกกระทั้นตลอดเวลายิ่งต้องดูแลมันอย่างเคร่งครัด ถ้าไม่อยากให้มันจากไปก่อนเวลาอันสมควร


5. วางแผนไกล


จงอย่าซื้อจักรยานเพียงเพราะจะได้มาอัพเกรดช็อคกันทีหลัง ขณะที่การอัพเกรดบางอย่างจะเข้าทีก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วเราบอกคุณได้เลยว่าการอัพเกรดนั้นไม่ค่อยคุ้มค่าเท่าไร เพราะมันทำได้อย่างดีก็แค่เบาขึ้น ลื่นไหลขึ้น แล้วไง ? ทางที่ดีเพื่อความคุ้มค่าคุณควรเลือกซื้อจักรยานพร้อมช็อคดี ๆไปเสียเลยจะได้ไม่ต้องมาเสียเงินสองต่ออัพเกรดช็อคกันอีก


6. ถ้าเต็มที่กับตะเกียบช็อคเก่า ให้ซื้อใหม่ทั้งอันไปเลย


คุณเฟรมเจ๋ง ๆ อยู่แล้ว ระบบขับเคลื่อนก็ดีแต่ตะเกียบช็อคเองกลับไปกันไม่ค่อยได้กับเฟรม จะอัพเกรดช็อคเก่าด้วยชุดคิทที่มีขายหรือจะซื้อช็อคใหม่ทั้งอัน ? อยากให้คุณเชื่อเหลือเกินว่าช็อคใหม่นั้นราคาแทบไม่ต่างกันกับการอัพเกรดช็อคเก่าด้วยชุดคิทเลย อัพทำไมถ้าจ่ายเท่ากัน ? ซื้อใหม่ทั้งอันเลยดีกว่า ได้ทั้งความสบายใจและประสิทธิภาพที่สูงกว่าที่แน่ ๆ คือมันเป็นของใหม่ซิง ๆ (ถ้ามีเงินนะ)


7. ถ้าลดช่วงชักไม่ได้ ให้ลดสเปเซอร์แทน


ถ้าคุณตัวไม่สูงแต่เปลี่ยนช็อคใหม่ที่ช่วงชักยาวจนทำให้หน้ายก คุณไม่ชินเพราะไม่เคยขี่จักรยานหน้ายกสูงมาก่อนแต่จะลดช่วงชักของตะเกียบช็อคก็ไม่ได้ ยังเหลืออีกวิธีคือลดวงแหวนรองให้คอแฮนด์(stem) ลงมาตามใจชอบ ทำได้ตั้งแต่ดึงออก 1 -2 อันจนถึงเหลือแค่อันเดียว ช่วงชักที่ว่าสูงก็จะลดลงมาพอดีกับสรีระของคุณ


8. จำคำคมนี้ไว้


"ตะเกียบช็อคเจ๋ง ๆ ทำให้จักรยานห่วย ๆ ดูดีขึ้นมาได้” แค่นี้แหละ


9. ทดลองเองง่าย ๆ เมื่ออยากให้ตะเกียบช็อคใช้งานได้ดี


นักจักรยานหลายคนแทบไม่มีเวลาเลยที่จะทดสอบเพื่อปรับแต่งระบบกันสะเทือนของตะเกียบช็อค จริงๆ แล้วมันไม่ยากเลยแค่หาทางเป็นวงสั้น ๆให้ได้เข้าสักที่ที่มีพื้นที่สูง ๆต่ำ ๆให้ได้บริหารช็อค ขี่จักรยานในวงนั้นด้วยการตั้งค่าการใช้งานตามปกติจากโรงงาน เปลี่ยนการตั้งการใช้งานให้ยุบตัวได้เต็มที่แล้วขี่ในทางนั้นจะกี่รอบก็ตาม แล้วกลับมาปรับให้มันไม่ยุบตัวเลยในเส้นทางเดิมด้วยรอบที่เท่ากันด้วยความรู้สึกนี้เองที่คุณจะใช้ปรับแต่งการทำงานของตะเกียบช็อคให้ตรงกับความเป็นจริง ในสภาพใช้งานจริงมากที่สุด


10. ปรับสปริงตามน้ำหนัก


ตามปกติสปริงของตะเกียบช็อคจะถูกตั้งค่ารับน้ำหนักไว้ที่ 150- 170 ปอนด์ (65.5-77 ก.ก.) เป็นสามัญสำนึกอยู่แล้วว่าถ้าคุณตัวเบาก็ต้องปรับสปริงให้อ่อนลง แต่ถ้าหนักก็ต้องปรับสปริงให้แข็งขึ้นได้อีกเล็กน้อย การปรับสปริงไปในทิศทางตรงกันข้ามไม่เหมาะสมกับน้ำหนักตัวจะทำให้อายุสปริงเสื่อม ลูกสูบ กระบอกสูบพังยับเยินหมดเพราะกระแทกกระทั้นเสียการทรงตัวจนอาจจะถึงกับหัวทิ่มตีลังกาข้ามแฮนด์ได้ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่


11. หาของฟรีใช้ให้เป็น


ในการแข่งเมาเท่นไบค์แต่ละแมทช์ นั้นบางครั้งจะมีบริษัทช็อคไปตั้งวงเซอร์วิส ให้ด้วย เขาไม่ได้บริการแค่นักแข่งแต่มักจะหาโอกาสโฆษณาสินค้าไปด้วย ด้วยการให้บริการต่อใครก็ตามที่ใช้สินค้าแบรนด์ของเขา อันนี้เราพูดถึงในสหรัฐฯ แต่ถ้าใครจะเห็นโอกาสทำตลาด ด้วยกิจกรรมแบบนี้ในเมืองไทยบ้างก็ไม่ขัดข้องถ้าคุณรู้ว่ามีแข่งที่ไหนและมีบริการดังกล่าวก็ลองจูงจักรยานเข้าไป เลียบ ๆ เคียง ๆ ดู อาจได้รับบริการดูแลช็อคของตัวเอง ฟรี ๆ


12. จงอย่าถูกช็อคมันหลอกเอา


ตะเกียบช็อคสมัยใหม่นี้เปี่ยมทั้งประสิทธิภาพและน้ำหนักเบากว่าช็อคหนักอึ้งสมัยก่อนมาก การเปลี่ยนค่าการใช้งานแค่หมุนแป้นอะไรไปนิดเดียวเท่านั้นความรู้สึกของคุณอาจผิดเพี้ยนไปเลย ไม่ว่าจะเป็นตะเกียบช็อคหน้าหรือช็อคหลังจำเป็นต้องทำให้เกิดความสมดุลระหว่างช็อคหน้าและช็อคหลังแล้วคุณจะขี่ได้สนุกและปลอดภัย ปรับแต่งให้เกิดความสมดุลได้ด้วยการทดลองขย่มจักรยานระหว่างขี่บนทางเรียบ ดูเองหรือให้คนใกล้ชิดคอยดูให้ว่าช็อคหน้าและหลังยุบตัวหรือเปล่าถ้าอันใดอันหนึ่งแข็งตัวหรือแข็งทั้งคู่ต้องปรับแต่งให้ยุบได้ตามสมควร ปรับแต่งค่าความยุบตัวตามน้ำหนักดังที่อ้างไว้ในข้อ 10 ดูคู่มือแล้วทำตามคำแนะนำในนั้น อย่าให้ความรู้สึกมาหลอกเอาว่าทุกอย่างใช้ได้แล้ว คุณจะเจอของจริงตอนเข้าทางซิงเกิลแทรคเมื่อมันสะบัดสะบิ้งไม่ยอมทำตามใจคุณ เมาเท่นไบคไม่ได้สร้างไว้พื่อขี่ทางเรียบนะเพ่


13. คุณเพิ่มระยะช่วงชักได้อีกนิด


การปรับเพิ่มระยะช่วงชักอีกนิดไม่ได้ทำให้การบังคับทิศทางและการทรงตัวเสียไป บางทีคุณอาจต้องเพิ่มช่วงชักได้เล็กน้อยเมื่อปรับให้มันอ่อน เพื่อให้มีระยะยุบเพิ่มขึ้น การปรับช่วงชักเพิ่มจะทำให้หน้ารถเชิดขึ้นได้อีก 3/4 ซ.ม. อันหมายความว่าคุณอาจก้มตัวลงโดยอัตโนมัติประมาณ1 องศาต่อการปรับช่วงชักเพิ่มขึ้นเกือบนิ้วประโยชน์ของช่วงชักที่มากขึ้นคือทำให้คุณบังคับรถได้ง่ายขึ้นในเส้นทางช่วงยาก ๆ เช่นตอนสาดโค้งหรือตอนกระโดดลงมาจากเนินเพื่อมาเข้าเนินอีกลูก แต่คำเตือนของเกจิที่ต้องรับฟังไว้สักนิดคือเพิ่มช่วงชักให้ช็อค อาจทำให้เคลมประกันไม่ได้


14. เพิ่มเครื่องป้องกันให้ของแพง


เป็นที่ทราบกันอยู่นานแล้วว่าตะเกียบช็อคคู่งาม ๆ ระดับแข่งขันนั้นราคาโหด ถ้าคุณอยากอัดเมาเท่นไบค์คันโปรดท่ามกลางสภาพภูมิประเทศสุด ๆ ขั้วคงต้องไม่อยากให้มีอะไรมากระแทกสูบช็อคอันเก่งของตัวเองแน่ หรืออย่างน้อยก็ต้องการผ่อนหนักให้เป็นเบา เอ็มบีแอ็คชั่นแนะนำให้ไช้ Fork Boots ที่ตอนนี้มีขึ้นชื่ออยู่คือของแบรนด์ Lizard skins เป็นแผ่นยางนีโอปรีนอ่อนนุ่มหุ้มตะเกียบช็อคคู่โปรดราคาแพงของคุณไว้ให้พ้นจากแรงกระแทกและรอยขีดข่วน เรื่องนี้เป็นเรื่องออปชั่นของคนรักของเท่านั้น มีหรือไม่มีบูทส์ที่ว่านี้ก็ไม่ได้ทำให้ตะเกียบช็อคของคุณดีขึ้นหรือเลวลงแต่อย่างใด


15. สังเกตช่วงชักด้วยเข็มขัดรัดสายไฟซิป


เข็มขัดรัดสายไฟแบบรูดเข้าแล้วถอดไม่ได้ ที่เรียกว่า ซิป ไท (zip tie) นั้นมีประโยชน์มากกว่าแค่รัดสายไฟ เอามาใช้สังเกตช่วงชักของตะเกียบช็อคก็ได้ด้วยการรัดมันไว้ตรงก้านช็อค รูดลงให้สุดถึงกระบอกสูบ แล้วขี่จักรยานในสภาพที่มั่นใจว่าทางแย่ที่สุดสะเทือนที่สุด ดูว่ากระบอกสูบดันเข็มขัดซิปขึ้นถึงแค่ไหน ถ้ายังไม่สุดถึงบ่าช็อคแสดงว่าคุณเติมลมช็อคมากเกินขันคอยล์สปริงแข็งเกิน หรือปรับระบบแดมปิ้งให้แข็งเกินเช่นกัน ควรปรับให้อ่อนลงเล็กน้อยเพื่อลดความเครียดของชิ้นส่วน ยืดอายุการใช้งานลองทำดูให้ครบทุกข้อ แล้วคุณจะทราบว่าประหยัดเงินค่าช็อคได้อีกหลายหมื่นบาทมีเงินไปซื้อหมวกกันกระแทกสวย ๆ หรือล้อดี ๆได้อีกเป็นคู่...เราบอกคุณแล้วว่าไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่

เทคนิคการปั่นจักรยาน : 6 วิธีเบื้องต้นในการฝึกขี่จักรยาน

|0 ความคิดเห็น

ซึ่งทั้ง 6 วิธีนี้เป็นพื้นฐานในการปั่นจักรยานให้ดีขึ้น และฝึกทักษะในการควบคุมรถ ซึ่งหากเราทำการฝึกฝนบ่อย ๆ ให้คล่อง ๆ จะทำให้การควบคุมรถได้คล่องขึ้น เรียกว่าสามารถควบคุมอาการพยศของมันได้ ลองมาดูกันครับว่ามีอะไรบ้าง

1. หัดขี่เป็นวงกลมสลับไปมาเป็นรูปเลข 8 พยายามให้รัสมีวงกลมเล็กที่สุดเท่าที่ จะทำได้ โดยค่อยๆหัดจากวงกลมใหญ่ๆก่อนนะครับ จะทำให้เราสามารถเข้าโค้งที่ แคบๆ ยากๆได้

2. ฝึกเบรค โดยการขีดเส้นบนพื้น สมมุติว่าเป็นจุดที่ต้องหยุด ให้ขี่มาแล้วพยายาม ใช้เบรคหยุดรถที่เส้นให้ได้ ห้ามเลย และเพิ่มความเร็วขึ้นเรื่อยๆ และหัดกระจายการ เบรคทั้งเบรคหน้า และเบรคหลัง

3. ฝึกหยุดทรงตัวและไปต่อ โดยการขีดเส้นสมมุติบนพื้น ให้ขี่รถตรงมายังเส้นแล้ว เบรคหยุดรถ โดยไม่เอาขาลงพื้น แล้วปล่อยเบรคออกรถไปต่อ ช่วงเวลาที่หยุดพยา ยามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจจะเป็น 5 วิ 10 วิ และเปลี่ยนจากทางราบเป็นทางลาด ทำอย่าง เดียวกันทั้ง uphill และ Downhill

4. ข้ามสิ่งกีดขวาง ให้หาหินหรือท่อนไม้ขนาดเล็กๆมา คิดว่าท่อนไม้น่าจะดีกว่านะครับ สูงซัก 3 นิ้วก่อนวางขวางไว้ แล้วขี่รถช้าๆไปที่ท่อนไม้ ถ่ายน้ำหนักมาด้านหลังเล็กน้อย ให้ล้อหน้าชนแล้วข้ามไป ถ่ายน้ำหนักมาข้างหน้าอีกเล็กน้อย ให้ล้อหลังปีนข้ามไป จะได้ หัดการถ่ายน้ำหนักเล็กๆ และหัดข้ามอุปสรรค สิ่งกีดขวาง ให้เพิ่มความสูงถ้าชำนาญมาก ขึ้น  ไม่ให้กระโดดข้ามนะครับ ผิดวัตถุประสงค์

5. หัดลงพื้นต่างระดับ ง่ายสุดคือหัดลงจากฟุตบาทล่ะครับ โดยถ่ายน้ำหนักมาข้างหลังแล้ว หย่อนล้อหน้าลงไป แล้วรีบถ่ายน้ำหนักมาหน้าหย่อนล้อหลังลงมา ถ้าใครทำได้คล่องแล้ว จะลองหัดลงจากก้อนหินใหญ่ พอดี ๆ น่าจะสนุกไม่เบาครับ

6. หัดปล่อยมือขณะขี่ โดยการขี่ในพื้นราบ ช้าๆ แล้วปล่อยมืออกมา 1 ข้างเพื่อหยิบกระ ป๋องน้ำ หยิบ PowerBar ออกมาแทะ หรือทำกิจกรรมต่างๆ โดยที่ขายังคงปั่นต่อไปเรื่อยๆ ให้หัดทั้งทางราบ และ Uphill แต่ห้าม !!! ทำตอน downhill ครับ



ผู้ที่เริ่มขี่ให้หัด 6 วิธีนี้ครับ เพื่อเป็นพื้นฐานในการขี่ครับ ขอให้เพื่อน ๆ หมั่นฝึกซ้อมกันไว้นะครับ จะได้เก่ง ๆ เป็นมือโปรในวันข้างหน้า

21 ส.ค. 2553

เสือภูเขา : Cannondale เปิดตัวจักรยานรุ่นใหม่

|1 ความคิดเห็น
Cannondale ผู้ผลิตจักรยานชื่อดังของโลก ได้เปิดตัวจักรยานสำหรับปี 2011 สามรุ่นด้วยกันคือ Claymore , Scalpel, Jakyll



Canondale Scalpel 2011 เป็นการนำรถรุ่นเดิมมาทำการปรับปรุงให้มีน้ำหนักน้อยลงด้วยการปรับปรุงตัวถัง, และส่วนประกอบใหม่ รวมถึงการใช้อะไหล่ที่น้ำหนักเบาขึ้น ตัวอย่างเช่น ตัวถึงของ Scalpel 2011 จะมีน้ำหนักไม่รวมโช๊คหลัง 1,365 กรัม ซึ่งจัดว่าเบามาก ๆ สำหรับรถ Full-suspension นอกจากนั้นยังมีการใช้คอแฮนด์แบบรวมกับซางโช๊ครุ่นใหม่ที่มีน้ำหนักเบาขึ้น โช๊คหน้า Leffy รุ่น Speed carbon ที่ใช้ก็ได้มีการปรับปรุงให้มีน้ำหนักเบามากขึ้น โดยมีน้ำหนัก 1,481 กรัม โดยโช๊ครุ่นนี้มีการใช้ระบบล็อกเอ๊าด้วยน้ำมัน และระบบสปริงห้องลมเดี่ยวจาก Rock shox Scalpel 2011 รุ่นสุงสุดคือรุ่น Ultimate มีน้ำหนักทั้งคันอยู่ที่ 8.4 กิโลกรัม


Cannondale Jakyll รุ่นใหม่ที่มีการใช้โช๊คหลังแบบรังแรงกระแทกด้วยการดึง (โช๊กหลังจักรยาน ส่วนใหญ่จะรับแรงกระแทกด้วยแรงกด) โดย Cannondale ได้ร่วมกับ Fox Racing shox ผลิตโช๊ครุ่นใหม่ที่มีการรับแรงกระแทกด้วยการดึง รถรุ่นนี้ตังถึงผลิตขึ้นจากคาร์บอนไฟเบอร์ ทำให้ตัวถังมีน้ำหนักเบา โดยตัวถังเปล่า ไม่รวมโช๊คหลังมีน้ำหนัก 2,200 กรัม ซึ่งถึงว่าเบามากสำหรับรถที่มีช่วงยุบ 150 มม. Jekyll ใช้ค่อคอแบบ 1.5 นิ้วตามมาตรฐานของ Canondale จักรยานรุ่นนี้ออกแบบมาสำหรับการใช้งานแบบ All-Mountain ที่สามารถขี่รถได้อย่างสนุกทั้งขาขึ้น และขาลงภูเขา


Cannondal Claymore เป็นรถมีพื้นฐานแบบเดียวกับ Jekyll แต่จะแตกต่างกันที่วัสดุทำเฟรม ช่วงยุบ และการนำไปใช้งาน Claymore ถูกออกแบบมาเพื่อเน้นการใช้งานแบบ Free-ride ที่เน้นการขี่ลงเขามากกว่าการขี่ขึ้น และสามารถขี่กระโดดลงจากที่สุงได้ ซึ่งการขี่แบบนี้ต้องการรถที่มีความแข็งแรงสูง ดังนั้น Claymore จึงใช้อลูมินั่มมาเป็นวัสดุผลิตตัวถัง Claymore ใช้ระบบการทำงานแบบเดียวกับ Jekyll คือรับแรงกระแทกด้วยการยืดตัวของโช๊ค จุดหนึ่งที่แตกต่างกันคือ Claymore ให้ดุมหลัง มาตรฐานใหม่ คือมีความกว้างของดุมหลัง 142 มม. โดยยึดดุมล้อหลังเข้ากับตัวถังด้วยแกนร้อยทะลุขนาด 12 มม.

RACE BICYCLE NEWS

|0 ความคิดเห็น
อะไหล่ต้นแบบ Shimano XTR 2011
หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงอะไหล่บางตัวในชุดอะไหล่า XT ให้เป็น 10 สปีดแล้ว เป็นที่แน่ชัดว่า Shimano มีแผนที่จะเปิดตัวชุดอะไหล่ XTR รุ่นใหม่ในช่วงปลายปีนี้ โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไหล่ทุกชิ้นในรุ่น แต่ตอนนี้ทาง Shimano เองก็ยังไม่ได้เปิดตัว XTR รุ่นใหม่อย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้มีข่าวหลุดออกมาทาง Internet ซึ่งเราได้ติดตามข่าวหารูปภาพมาให้ท่านได้ดูกัน ซึ่งภาพที่เห็นนี้ยังเป็นเพียงอะไหล่แบบยังไม่ใช่อะไหล่ที่ผลิตออกมาขายจริง แต่ก็พอจะช่วยให้เดาได้ว่าอะไหล่ตัวที่ผลิตขายจริงหน้าตาจะออกมาประมาณไหน


SRAM เปิดตัวอะไหล่รุ่นใหม่


SRAM ได้ทำการเปิดตัวชุดอะไหล่ XO, X9, X7 รุ่นใหม่ โดยชุดอะไหล่รุ่นนี้จะเป็นอะไหล่ 10 สปีดเหมือนรุ่น XX โดยชุดอะไหล่เหล่านั้นจะประกอบด้วย ชุดขับเคลื่อน (จาน/โซ่/เฟือง) ชุดเกียร์ (สับจาน/ตีนผี/มือเกียร์) และชุดีสเบรก ส่วนที่พิเศษกว่ารุ่นอื่น ๆ คือชุดอะไหล่ X7 จะมีดุมล้อให้เลือกใช้ด้วย


Cane Creek ผลิตถ้วยคอปรับองศาได้

Cane Creek ผู้ผลิตถ้วยคอชั้นนำของโลกได้เปิดตัวถ้วยคอใหม่ คือรุ่น AngleSet โดยถ้วยคอรุ่นนี้จะเป็นถ้วยคอที่มีความสามารถพิเศษในการปรับองศาของโช๊คหน้า ให้เยื้องกับองศาท่อคอของรถ 6 ระดับคือ -1.5, -1, -0.5, 0.5, 1 , 1.5 องศา โดยถ้วยคอรุ่นนี้จะสามารถใช้กับรถที่ใช้มาตรฐานท่อคอ 1.5 นิ้วเท่านั้น

Shimano เปิดตัวชุดอะไหล่จักรยานไฟฟ้า


Shimano ปรารถนาที่จะผลิตชุดอะไหล่จักรยานที่สามารถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และสามารถขับเคลื่อนด้วยผู้ขี่ เพื่อที่ทำให้แนวความคิดนี้เกิดขึ้นจริง Shimano จึงได้ทำการออกแบบชุดอะไหล่ใหม่ที่สามารถใช้งานได้ตามเงื่อนไขดังกล่าว Shimano ได้เปิดตัวชุดอะไหล่จักรยานรุ่นใหม่ ที่มีชื่อว่า STEPS (Shimano Total Electric Power System) โดยชุดอะไหล่รุ่นนี้จะประกอบไปด้วยดุมหน้ามอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 250 วัตต์ ชุดตรวจสอบแรงบิดที่กะโหลก ชุดขาจาน ชุดแบตเตอรี่ รวมไฟท้าย ชุดมือเบรกที่มีสวิทช์ควบคุมไฟหน้า และมีชุดคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งกับแฮนด์ และชุดดุมล้อแบบมีเกียร์ภายใน 8 สปีด ซึ่งเปลี่ยนเกียร์ด้วยระบบอีเลคโทรนิคส์ ชุดอะไหล่ STEPS มีคุณสมบัติที่ทันสมัย ใช้แบตเตอรี่แบบ Li-Ion ชาร์ทแบตเตอรี่หนึ่งชั่วโมงสามารถขี่ได้ไกล 25 ถึง 37 ไมล์ ขึ้นอยู่กับโหมดการใช้พลังงาน และมีความเร็วสุงสุด 15 ไมล์ต่อชั่วโมง Shimano จะจัดแสดงชุดอะไหล่นี้ในงาน Euro Bike 2010 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนกันยายนนี้ หลังจากนั้นก็จะนำออกจำหน่ายสู่ท้องตลาด

บทความจักรยานที่เกี่ยวข้อง