ss

23 ต.ค. 2553

Bike Review : KUWAHARA FUNNY BIKE

|0 ความคิดเห็น
Bike Review : KUWAHARA FUNNY BIKE

           ความเป็นเจ้าแห่งตำนานของวงการจักรยาน และเบื้องหลังความดังของจักรยานชั้นน้ำยี่ห้อ KUWAHARA BIKE Works Japan แบรนด์ดังจากดินแดนปลาดิบ เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นได้สร้างกระแส นวัตกรรมใหม่ให้กับวงการจักรยานอีกครั้ง และขอแนะนำจักรยาน Kuwahara Funny Bike
       Kuwahara Funny Bike เป็นจักรยานที่ใช้ในการแข่งขัน Rode Race Time Trial จึงมีการออกแบบลักษณะ Funny Car สมัยปี 1980 มาเพื่อให้มีลูกเล่นที่สนุกสนาน Funny Bike มีลักษณะที่ล้อหน้าเล็กว่าล้อหลัง ก็เพื่อลดแรงต้านของอากาศ อีกทั้ง Top Tube สโลบ จาก Seat Tube ถึง Head Tube แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันเรื่องของขนาดของล้อ 20” X 24” แต่ตำแหน่งในการขี่ไม่ต่างกับจักรยานที่มีล้อขนาดเท่ากน และยังให้ความรู้สึกที่สบายกว่า
Funny SS
          Funny SS (Single Speed) ถูกเพิ่มเข้ามาเพื่อแบ่งประเภทจักรยานของ Lot ที่ 2 ซึ่ง Funny SS รุ่นนี้เป็นรุ่น Single Speed เป็นผสมผสานการทำงานระหว่าง Golden Alomite Hub, Track Pedal กับเบรกประเภท Dia-Compe มี Rear Hub เป็นแบบ Double Thread จึงสามารถที่จะใช้แยกกันได้ในการใส่เกียร์ (เปลี่ยนเกียร์) กับ Free Gear หรือเปลี่ยน Cog ให้เป็น Fixed Gear อย่างสบายไม่ยุ่งยาก สี Mirror Silver, Pearl Black น้ำหนัก 8.8 ก.ก. ราคาประมาณ 32,000 บาท
Funny Standard
         Funny Standard ใช้แฮนด์แบบ Flat Bar, Frame Cro-Moly 100 % มีเกียร์ Handle Shift 8 speed เหมาะกับใช้งานในเมืองอย่างอิสระเสรี ด้วยสีสัน Orange และ Ivory น้ำหนัก 9.8 ก.ก. ราคาประมาณ 34,500 บาท
Funny Type-R
          Funny Type-R เป็นแบบ Type Racing 16 Speed มือจับแบบโค้งไปข้างหน้า ตะเกียบเป็น Aluminum รูปทรงคล้ายกับเสือหมอบมากขึ้น เพิ่มฟังก์ชั่นการเปลี่ยนเกียร์เป็นระบบเปลี่ยน Double Shift Lever เพื่อความสะดวกในการเปลี่ยนเกียร์ในรูปแบบการจับแฮนด์แบบเสือหมอบส่วนเรื่องสี มีสองเฉดสีให้เลือก คือ Pearl White และ Mirror Blue น้ำหนัก 9.2 ก.ก. ราคา 44,900 บาท [Kuwahara Funny Bike]

20 ต.ค. 2553

ปั่นแล้วเหี่ยวจริงหรือ ?

|0 ความคิดเห็น
ปั่นแล้วเหี่ยวจริงหรือ ?

          คนขี่จักรยานมักจะถูกคนที่ไม่ได้ขี่ถามเอาบ่อย ๆ ว่าปั่นมาก ๆ แล้วนกเขาไม่ขันจริงหรืเปล่า ? เรื่องที่เถียงกันไม่จบนี้เป็นประเด็นขึ้นมาอีกแล้วในหนังสือแทบลอยด์ของอังกฤษคือ “เดอะ ซัน” ที่ขึ้นหัวข่าวเสียใหญ่โตว่า “การปั่นจักรยานทางไกลจะส่งผลเสียต่อความสามารถในการสืบพันธ์” เท่านั้นยังไม่พอ ช่วงก่อนสตาร์ทของตูร์เดอฟร็องซ์ สื่อมวลชนอังกฤษยังเตือนพวกนักปั่นฝีเท้าฉมังเอาไว้ด้วยว่ามนุษย์ชาติกำลังปั่นจักรยานไปสู่จุดมุ่งหมายคือไร้ลูก
          เรื่องที่เดอะซันเสนอนี้มาจากเรื่องจริงในการวิจัยที่เสนอสู่ ยูโรเปี้ยน โซไซตี้ ออฟ ฮิวแมน รีโพรดัคชั่น แอนด์ เอมบรีโอโลจี (จะแปลว่าสมาคมการแพร่พันธุ์มนุษย์และตัวอ่อนแห่งยุโรปได้ไหมนี่) กระทำโดยศาสตราจารย์ไดอานา วามอนเด แห่งคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยคอร์โดบา ประเทศสเปน ถึงกระนั้นรายงานฉบับนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เจาะลึกถึงผลกระทบที่อานจักรยานมีผลต่อสเปิร์ม ย้อนกลับไปในปี 1997 นายแพทย์เออร์วิน โกลด์สไตน์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการไม่แข็งตัวของอวัยวะเพศแห่งมหาวิทยาลัยบอสตัน ได้เคยเผยแพร่ข้อมูลมาแล้วชิ้นหนึ่งทีเน้นเรื่องอาการเจ็บก้นเนื่องจากอานที่ทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางการสืบพันธุ์ เป็นการเสนอรายงานที่หนักแน่นที่สุดเกี่ยวกับผลกระทบสำคัญอันนี้และได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เกรียวกราว อีกครั้งหนึ่งในขณะนี้ที่นักจักรยานถูกเตือนว่าอานจักรยานนี้แหละที่จะทำให้สเปิร์มลดจำนวนลง แม้ว่ารายงานการทดลองจากมหาวิทยาลัยคอร์โดบาจะไม่ได้เน้นที่นักขี่จักรยานไกล แต่ก็มาจากตัวอย่างนักไตรกีฬาอาชีพจำนวน 15 คนที่ยอมมาเข้าร่วมโครงการทดสอบ ต้องยอมรับกันล่ะว่าพวกนักไตรกีฬาต้องขี่จักรยานมากพอสมควร แต่การเอานักกีฬาตัวอย่างมาทดสอบแค่ 15 คนแค่นี้กลุ่มมันจะไม่เล็กไปหน่อยหรือ ? แต่คนทำวิจัยเขาก็มีเหตุผลว่านักกีฬากลุ่มนี้ซ้อมกันอาทิตย์ละเก้าครั้งนานแปดปี จึงน่าเชื่อว่าเพราะซ้อมกันหนักหักโหมเกินไปหน่อยหรือเปล่าสเปิร์มจึงได้น้อย ไม่ได้เน้นหนักที่การขี่จักรยานอย่างเดียว
           นายแพทย์อัลแลน เพซีย์ อาจารย์อาวุโสในแผนกแอนโดรโลจี หรือศาสตร์ที่ว่าด้วยความเป็นเพศชาย (มีศาสตร์ทำนองนี้เรียนกันด้วยนะ ) แห่งมหาวิทยาลัยเซฟฟิลด์ อธิบายไว้ว่า “ไม่เพียงแต่กลุ่มตัวอย่างจะไม่ได้ประกอบขึ้นด้วยนักจักรยานล้วน ๆ แต่ยังเอาเรื่องอุณหภูมิที่สูงในกางเกงผ้าไลคราที่มีผลต่อลูกอัณฑะมาโยงเข้าหากันได้อีกเมื่อไม่ได้ศึกษากันด้วยนักกีฬาจักรยานล้วน ๆ ก็คงจะฟันธงลงไปไม่ได้หรอกว่าการขี่จักรยานแต่เพียงลำพังจะทำให้ด้อยความสามารถในการสืบพันธุ์”
           เมื่อพูดถึงรายละเอียดของการทดสอบนักไตรกีฬา ปรากฎว่าพอวัดประมาณสเปิร์มแล้วพบว่ามันเหลืออยู่แค่ 10 เปอร์เซ็นต์จากปริมาณน้ำเชื้อทั้งหมดโดยคนปกติจะมีอยู่ประมาณ 15-20 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นคณะของวามอนเดจึงเจาะลึกลงไปในตารางซ้อมเพื่อดูแต่เฉพาะพวกนักจักรยานที่ขี่กันไกล 300 ก.ม. ต่อสัปดาห์ ก็พบว่านักจักรยานเหล่านี้เหลือสเปิร์มน้อยลงคือเหลือแค่ 4 เปอร์เซ็นต์ ถึงทีมของวามอนเดจะไม่สามารถหาเหตุผลที่ทำให้สเปิร์มลดลงเหลือแค่นี้ได้แต่รายงานการวิจัยที่คาดเอาว่าน่าจะเกิดจากการระคายเคืองและกดทับของน้ำหนักตัวกับอาน หรือไม่ก็เป็นเพราะเสื้อผ้ารัดรูปที่ทำให้อุณหภูมิรอบอัณฑะสูงขึ้นอันจะทำให้กระทบกระเทือนต่อการผลิตสเปิร์ม กระนั้นคุณหมอวามอนเดยังคาดว่าน่าจะเป็นเพราะโมเลกุลเล็ก ๆ ที่เรียกว่ารีแอคทีฟ ออกซิเจน สเปซี อันเป็นโมเลกุลที่เกิดจากการออกกำลังกายหนัก ๆ จะมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ โดยโมเลกุลเหล่านี้จะทำหน้าที่ต่อต้านความเครียดที่ร่างกายพบระหว่างการออกกำลังหรือเล่นกีฬาประเภททนทาน อันจะเป็นอันตรายต่อเซลล์ต่าง ๆ และในที่สุดก็ส่งผลต่อการผลิตสเปิร์ม
          แต่คุณหมอเพซีย์บอกว่านักจักรยานไม่ต้องกังวลกับเรื่องนี้หรอก ซ้ำยังเตือนคนทำวิจัยเอาไว้ด้วยที่จะเสนอเรื่องจักรยานเกี่ยวกับสมรรถภาพทางการสืบพันธุ์ก็ต้องระมัดระวัง เพซีย์บอกว่า “ในทศวรรษที่ 20-40 นั้นการแข่งจักรยานยังธรรมดากว่านี้จนถึงทศวรรษที่ 60 เรื่องความเป็นห่วงต่อสมรรถภาพทางเพศของผู้ชายเริ่มมาปรากฏชัดเอาเมื่อยี่สิบปีนี้เอง” เพซีย์ ยังตั้งขอสังเกตด้วยว่าไม่น่าจะเป็นเพราะการขี่จักรยานหนัก ๆ อย่างเดียว เพราะตามรายละเอียดของตัวอย่างทั้ง 15 นั้นบ่งบอกว่าทุกคนเล่นกีฬาแบบค่อนข้างหักโหม และความเหนื่อยสายตัวแทบขาดนี้แหละที่เป็นผลต่อสเปิร์มหรือพูดกันตรง ๆ คือจะทำอะไรก็ตามถ้ามากไปไม่ค่อยได้หยุดพักสเปิร์มมันก็ลดได้ทั้งนั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะการขี่จักรยานหรือถูกอานกดทับอวัยวะสำคัญหรอก และที่สเปิร์มลดน้อยลงก็จ่าจะเป็นเพราะร่างกายดึงเลือดไปเลี้ยงแขนขามากกว่าจะส่งลงไปตรงอัณฑะ ซึ่งผลิตโดยตรง เพื่อให้นักกีฬาใช้อวัยวะส่วนนั้นไปในการวิ่งหรือปีนป่ายเอาตัวรอด พอความสนใจถูกดึงไปที่อื่นนอกจากตรงอวัยวะเพศแล้วสเปิร์มก็ลดลง ยิ่งพวกที่ขี่จักรยานกันอาทิตย์ละ 300 ก.ม. นี้คงไม่ต้องพูดถึงว่าลำพังขี่จักรยานก็เครียดและเหนื่อยจะตายอยู่แล้ว จะเอาเรี่ยวแรงที่ไหนไปสืบพันธุ์ได้อีก
           ทางด้านนายแพทย์เดวิด ราล์ฟผู้เชี่ยวชาญด้านระบบปัสสาวะแห่งมหาวิทยาลัยลอนดอด พูดถึงอาการกระแทกกระทั้นภายหลังจากขี่จักรยานวิบาก ที่อาจเป็นสาเหตุของความด้อยสมรรถภาพว่าสิ่งนี้ก็ไม่เกี่ยว คุณหมอราล์ฟบอกว่า “การขี่เมาเท่นไบค์อาจสร้างความสั่นสะเทือนให้อัณฑะได้ และน่าจะเป็นเรื่องน่าห่วงเพราะอาจนำไปสู่การกดทับเส้นประสาทและเส้นเลือด แต่มันก็ไม่ได้เกี่ยวกันกับความสามารถในการสืบพันธุ์ถึงงั้นนักจักรยานก็ควรหลีกเลี่ยงการขี่โลดโผน กระแทกระทั้นถ้าไม่อยากเจ็บตัว ก็เท่านั้นเอง”
           เพื่อความปลอดภัยคุณหมอราล์ฟแนะนำให้ใช้อานออกแบบมาพิเศษ ที่นุ่มและเข้ากับสรีระสำคัญ ทั้งยังย้ำว่านักจักรยานควรหลีกเลี่ยงการเบรกกะทันหันแต่กับความด้อยหรือเด่นเรื่องการสืบพันธุ์นั้นคุณหมอว่ากันไปคนละเรื่อง “ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสาเหตุหลัก ๆ ของการที่อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ก็คือการไม่ออกกำลังกายและไม่ยอมฝึกในด้านต่าง ๆ ที่จะทำให้หลอดเลือดแข็งแรง และมีแต่การขี่จักรยานนี้เท่านั้นที่จะช่วยเสริมสมรรถภาพ ผมไม่เห็นว่ามันจะทำให้เสื่อมที่ตรงไหน ยิ่งปั่นยิ่งเตะปิ๊บดังล่ะไม่ว่า “ คุณหมอราล์ฟกล่าว เขาไม่ใช่แค่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่กล้าบอกว่าการขี่จักรยานจะทำให้คึกคักขึ้นเท่านั้น แต่คณะนักวิจัยจากสถาบันโรคหัวใจลานซิซีแห่งอันโคนาประเทศอิตาลีก็พบเช่นกันว่าถ้าปั่นจักรยานกันอย่างเดียวในปริมาณพอเหมาะ มันจะทำให้หัวใจแข็งแรงและส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ดีด้วย ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียก็พบว่าบุคคลที่ออกกำลังกายแบบแอโรบิค บริหารหัวใจและหลอดเลือดอยู่เป็นประจำอยู่แล้วนี่แหละตัวดี เพราะพวกนี้จะมีเซ็กซ์ถี่ ขึ้นอีกสามสิบเปอร์เซ็นต์
           ถ้าการปั่นจักรยานไม่เกี่ยวกับการลดลงของสเปิร์ม สิ่งที่นักจักรยานต้องเลือกให้ดีก็คงเหลือแค่อานซึ่งต้องนั่งสบาย ไม่กดทับเส้นประสาทจนเกิดอาการชา ถ้าอยากขี่จักรยานให้สบายเอาแค่นั้นก็น่าจะพอ เพราะที่เหลือก็ถือว่าพวกเราเดินทางถูกทางกันอยู่แล้ว ปั่นกันต่อไปอย่าได้ย่อท้อ..

19 ต.ค. 2553

อัพเดทเสือหมอบปี 2011 จากงาน 2010 EUROBIKE [เสือหมอบ Rode Bike]

|0 ความคิดเห็น
อัพเดทเสือหมอบปี 2011 จากงาน 2010 EUROBIKE (The Global Show) [เสือหมอบ Rode Bike]



          ปี 2010 เหมือนจะเป็นปีทองของเสือหมอบ Specialized ที่ Alberto Contador ชนะเลิศการแข่งขัน Tour De France 2010 รวมถึงการได้ตำแหน่งอันดับสองในรายการเดียวกันของ Andy Schleck ซึ่งทั้งคู่ได้ใช้รถ Speacialized ลงเข้าร่วมการแข่งขัน ทำให้บูธของ Specialized ดูจะเป็นที่สนใจของผู้คนนอกจากนั้น บูธของ Specialized ยังเป็นบูธของผู้ผลิตจักรยานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในงาน Eurobike 2010 ซึ่งภายในบูธได้มีการจัดแสดงเสือหมอบรุ่นต่าง ๆ จาก Specialized ไม่ว่าจะเป็นเสือหมอบ Racing เสือหมอบ Cyclocross และเสือหมอบ Time Trial
          สำหรับทิศทางของรถเสือหมอบ Racing ในปีหน้าเริ่มแบ่งออกเป็นสองประเภทอย่างชัดเจนประเภทแรกคือ ประเภทที่ใช้ซางตะเกียบขนาด 1.125 นิ้วเหมือนเดิม ส่วนอีกประเภทที่กำลังมาแรงคือประเภทที่ใช้ซางตะเกียบสองขนาด (ขนาดที่โคนตะเกียบโต 1.5 นิ้ว แล้วคอดเล็กลงจนเหลือ 1.125 นิ้ว) ซึ่งจากการประสบความสำเร็จของ Trek และ Specialized ในการได้รับชัยชนะในการแข่งขัน Tour De France ในปี 2009 และปี 2010 ก็ทำให้ค่ายอื่น ๆ เริ่มที่จะเปลี่ยนมาใช้ระบบซางตะเกียบแบบนี้ [เสือหมอบ Rode Bike]
          ส่วนในรถ Time Trial นั้นทุกยี่ห้อต่างเปลี่ยนไปใช้ระบบตะเกียบแบบบานพับเป็นส่วนใหญ่ แทบจะเป็นกระแสนิยมของรถประเภทนี้แล้ว ส่วนเรื่องที่อาจจะเป็นปัญหาสำหรับท่านที่จะประกอบจักรยานก็คือ มาตรฐานของกะโหลกของเสือหมอบนับวันยิ่งจะมีมากหมายหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นกะโหลกอังกฤษ กะโหลก BB90 กะโหลก BB30 ยังไม่นับรวมกับมาตรฐานกระโหลกอิตาลี ซึ่งท่านผู้ใช้ก็ต้องศึกษาข้อมูลของระบบกะโหลกในตัวถังและขนาดของกะโหลกที่ขาจานให้ถูกต้อง เพื่อที่จะได้ติดตั้งใช้งานได้อย่างลงตัว ไม่เช่นนั้นท่านอาจจะปวดกะโหลกของท่านเองได้
          สำหรับระบบเกียร์ของเสือหมอบในปีหน้าคงจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากปีนี้มากนัก Shimano เองยังคงเป็นผู้นำทางด้านการตลาดจากการผลิตชุดเกียร์ไฟฟ้า DI2 ออกมาจำหน่ายแต่เพียงเจ้าเดียวส่วน Campagnolo เองก็ชูจุดเด่นที่ระบบเกียร์ 11 สปีด ส่วนน้องใหม่อะไหล่เสือหมอบอย่าง Sram ก็ยังคงร้อนแรงแซงรุ่นพี่ จากการคว้าชัยชนะในการแข่งขัน TDF ติดต่อกันสองปี
          ส่วนเรื่องของวัสดุผลิตตัวถัง เดี๋ยวนี้หันไปทางไหนทุกค่ายก็ใช้คาร์บอนไฟเบอร์มาผลิตตัวถังกันหมดแล้ว ซึ่งก็มีให้เลือกหลายระดับราคาตั้งแต่ราคาหลักหมื่นจนถึงระดับราคาเกินแสน แทบจะเรียกได้ว่าตัวถังอลูมินั่มมีให้เลือกใช้งานกันน้อยลงเลยทีเดียว ไม่เว้นแม้แต่ Litespeed ผู้ผลิตตัวถังเสือหมอบโดยใช้ไทเทเนียมอันเลื่องชื่อ ก็ยังต้องหันมาออกผลิตภัณฑ์ตัวถังเสือหมอบคาร์บอนไฟเบอร์ตามกระแสนิยมเหมือนกัน แต่ก็ยังคงผลิตตัวถังเสือหมอบไทเทเนี่ยมควบคู่กันไปด้วย พูดถึงคาร์บอนไฟเบอร์แล้วก็ชวนให้นึกถึงว่าเมื่อไรจะมีโซ่จักรยานที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ซักที เพราะแทบทุกชิ้นส่วนในจักรยานเสือหมอบก็มีอะไหล่ที่ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์กันหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวงล้อ ซี่ เฟืองหลัง จานหน้า เบา คอแฮนด์ และอื่น ๆ ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้เราอาจจะได้เห็นโซ่จักรยานที่ทำมาจากคาร์บอนไฟเบอร์กันก็ได้
           ในส่วนเรื่องยางเสือหมอบ แต่เดิมนั้นมีให้เลือกใช้แค่ยางอาร์ฟกับยางงัด กระแสในปีหน้าก็เริ่มมีผู้ผลิต ผลิตยางจักยานเสือหมอบแบบ Tubeless ออกวางจำหน่ายหลายราย หลังจากที่ Hutchinson ผู้ผลิตจากฝรั่งเศสได้เปิดตัวยางเสือหมอบแบบ Tubeless ก่อนหน้านี้ ในวงการเสือหมอบผู้ขี่ส่วนใหญ่ อาจจะนิยมใช้ชุดล้อสำเร็จรูป แต่ก็มีบางส่วนใช้ชุดล้อประกอบเอง ซึ่งในปีหน้า Chris King ผู้ผลิตอะไหล่ ดุมล้อและถ้วยคอชื่อดังจากอเมริกา ก็ได้เปิดตัวดุมล้อเสือหมอบรุ่นใหม่ ที่มีน้ำหนักเบาขึ้นแต่ยังคงประสิทธิภาพและอายุการใช้งานของชุดลูกปืนยาวนาน เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับท่านนักปั่นที่ชอบความแตกต่างได้เลือกใช้
           ในเรื่องของวงล้อ ปัจจุบันมีชุดล้อสำเร็จรูปให้เลือกใช้งานกันมากมายหลายรุ่นและหลายขนาดความสูงของขอบล้อ ไม่ว่าจะเป็น Zipp Mavic Shimano หรือยี่ห้ออื่น ซึ่งก็ถือว่าเป็นข้อดีให้กับผู้บริโภคที่ได้มีโอกาสเลือกใช้สินค้าได้หลายหลาย แต่สำหรับจักรยานที่ดูแปลกแหวกแนวกว่าผู้ผลิตรายอื่น ๆ ก็ต้องยกให้จักรยาน Boo ที่ตัวถังผลิตจากไม้ไผ่ โดยใช้คาร์บอนไฟเบอร์เป็นตัวเชื่อม ซึ่งก็สามารถใช้งานได้จริง เพียงแต่ว่าอายุความทนทานของไม้ไผ่นั้นจะยาวนานแค่ไหนก็เป็นเรื่องที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ [เสือหมอบ Rode Bike]

17 ต.ค. 2553

Trick&Tips : การปรับเซตรถให้เข้ากับรูปร่างของคนขี่

|0 ความคิดเห็น
การปรับเซตรถให้เข้ากับรูปร่างของคนขี่



          คนเรานั้นมีขนาดตัวและรูปร่างที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเลือกสวมใส่เสื้อผ้าและสิ่งของเครื่องใช้จึงต้องมีการเลือกให้เหมาะสมกับรูปร่างและขนาดของร่างกาย ทำให้ผู้ผลิตสินค้าที่มีขนาดแตกต่างกันออกมาจำหน่าย เพื่อให้เหมาะสมกับร่างกายของผู้ใช้ จะได้ใช้งานอย่างถูกต้อง
           จักรยานก็เช่นเดียวกันกับเสื้อผ้าครับ มีการผลิตขนาดของตัวถังให้มีขนาดที่แตกต่างกันออกมาจำหน่าย เพื่อให้เหมาะสมกับขนาดของร่างการผู้ใช้งานที่มีขนาดและรูปร่างที่แตกต่างกัน หลายท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมจะต้องเลือกขนาดของจักรยานให้เหมาะสมกับร่ายการของตัวเองด้วย ทั้งที่เสื้อผ้าบางทีใส่หลวม ๆ ก็ทำให้สวมใส่สบายเลย แล้วการเลือกจักรยานทำไมจะเลือกหลวม ๆ บ้างไม่ได้ ทำไมต้องเลือกให้พอดี
          การเลือกจักรยานให้พอดีกับร่างกายนั้นจะช่วยให้การขี่และควมคุมรถเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสามารถขี่ได้อย่างยาวนานโดยไม่เกิดอาการเมื่อยล้าได้ง่าย นอกจากจะเลือกขนาดของจักรยานให้พอพีกับร่างกายแล้ว ยังต้องมีการปรับแต่งจักรยานให้เข้ากับร่ายกายอีก เพื่อให้การขี่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
           ร่างกายของคนเรานั้นนอกจากจะมีความสูง – ต่ำที่แตกต่างกันแล้ว ยังมีตัวแปรหลัก ๆ อีกสองตัวที่เราต้องนำมาใช้ในการพิจารณาในการเลือกขนาดตัวถึงคือ ระยะช่วงขากับระยะลำตัว ซึ่งตัวแปรทั้งสองนั้นจะไปสัมพันธ์กับตัวแปรหลักสองตัวของตัวถังคือ ความยาวท่อนั่งกับความยาวท่อบน ช่วงขาเป็นตัวแปรหลักในการเลือกขนาดของตัวถังมาใช้ คนที่มีความสูงเท่า ๆ กันอาจจะมีช่วงขาที่แตกต่างกันได้ ตัวอย่างเช่น นาย ก. มีความสูง 170 ซม. แต่มีช่วยลำตัวที่ยาวมาก (กระดูกสันหลังยาว) ทำให้นาย ก. มีช่วงขายาวเพียง 70 ซม. (ค่าสมมุติ) ขณะที่ นาย ข. มีความสูงของร่างกาย 170 ซม. แต่มีช่วงลำตัวที่สั้น ทำให้นาย ข. มีช่วงขายาวถึง 90 ซม. (ค่าสมมุติ) ค่าความยาวช่วงขา 70 ซม. ของนาย ก. และค่าความยาวช่วงขา 90 ซม. ของ นาย ข. จะถูกใช้เป็นตัวแปรหลักในการเลือกขนาดของตัวถัง ซึ่งจะเห็นว่าแม้ทั้งสองจะมีความสูงเท่ากัน แต่ในการเลือกขนาดตัวถังนั้น นาย ก. จะใช้ตัวถังที่มีขนาดเล็กกว่า นาย ข. เพราะว่ามีช่วงขาสั้นกว่า ทั้งที่ทั้งสองคนมีความสูงเท่ากัน
          อีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องเลือกขนาดรถให้พอดีตัวก็คือ การเลือกรถที่มีขนาดเล็กเกินไป จะทำให้ต้องทำการชักหลักอานขึ้นสูงเพื่อที่จะได้ตำแหน่งการนั่งขี่ที่พอดี เป็นผลให้การยึดเบาะมีความแข็งแรงมากกว่า การวัดขนาดความยาวท่อนั่งของตัวถังจะมีการวัดอยู่สองมาตรฐานคือ การวัดแบบวัดจากท่อกะโหลกถึงปากท่อของท่อนั่ง (Center to top) และการวัดแบบวัดจากท่อกะโหลกถึงจุดกึ่งกลางของท่อบน ที่จุดเชื่อมต่อของท่าบนกับท่อนั่ง (Center to Center) สรุปสั้น ๆ ก็คือความยาวช่วงขาจะเป็นตัวแปรหลักในการเลือกว่าจะขี่รถขนาดเท่าไร ตัวแปรตัวที่สองที่นำมาพิจารณาในการเลือกขนาดของตัวถังคือความยามของท่อบน ซึ่งจะมีการวัดอยู่สองแบบคือการวัดแบบความยาวท่อบนจริง (วัดความยาวของท่อบนระหว่างจุดกึ่งกลางของท่อนั่งโดยวัดขนานพื้น) ความยาวของท่อบนของตัวถังจะสัมพันธ์กับความยาวของช่วงลำตัวของผู้ขี่อย่างพอดีเหมาะสม ตัวถังที่มีขายอยู่ในท้องตลาดอาจจะมีขนาดความยาวท่อนั่งที่เท่ากัน แต่จะมีขนาดความยาวของท่อบนที่แตกต่างกันตามมิติของรถแต่ละยี่ห้อ ตัวอย่างเช่น รถยี่ห้อ T มีท่อนั่งยาว 16 นิ้ว มีท่อบนยาว 19 นิ้ว และรถยี่ห้อ G มีท่อนั่ง 16 นิ้วเท่ากัน แต่มีท่อบนยาว 21 นิ้ว หากพิจารณาดูที่ท่อนั่งจะพบว่า รถทั้งสองยี่ห้อเหมาะกับช่วงขาของคนขี่คนเดียวกัน แต่ถ้าคนขี่ช่วงตัวสั้นเขาจะเหมาะกับรถยี่ห้อ T หรือหากคนขี่มีช่วงตัวยาวเขาจะเหมาะกับรถยี่ห้อ G การเลือกตัวถังที่มีความยาวท่อบนเหมาะสมกับช่วงตัวจะทำให้ใช้คอแฮนด์ที่มีขนาดความยาวพอดี ไม่สั้นไม่ยาวเกินไป
           การเลือกตัวถัง เป็นสิ่งที่สำคัญอันดับแรกในการปรับรถให้เข้ากับร่างกาย เพราะขนาดและมิติของตัวถังเป็นตัวแปรหลักในการปรับรถเข้ากับร่างกาย หากเลือกตัวถังได้เหมาะสมกับร่างกายแล้ว การปรับอย่างอื่นก็สามารถทำได้ง่ายเมื่อเราเลือกตัวถังได้แล้ว ขั้นต่อไปจะเป็นการปรับส่วนอื่น ๆ ดังนี้
1. ปรับความสูงของเบาะ
          ความสูงของหลักอานจะสัมพันธ์กับความยาวของช่วงขา โดยทั่วไปจะมีสูตรในการปรับคร่าว ๆ ว่าความสูงเขาเบาะวัดจากจุดศูนย์กลางกะโหลกถึงระนาบเบาะ = 0.883 X ความยาวช่วงขา ตัวอย่างเช่น ผู้ขี่มีความยาวช่วงขา 82 ซม. จะต้องปรับความสูงของเบาะประมาณ 82 X 0.003 = 72.4 ซม. ซึ่งสูตรนี้เป็นการคำนวณความสูงของเบาะสำหรับผู้ขี่ทั่ว ๆ ไป ผู้ขี่อาจจะปรับเบาะให้สูงหรือต่ำกว่าค่าที่คำนวณได้ อีกนิดหน่อยตามรสนิยมการขี่
2. การเลื่อนเบาะไปข้างหน้า – หลัง
           หลักอานที่มีขายในท้องตลาดจะมีทั้งแบบตรงแบบเยื้องหลัง เราจะรู้ได้อย่างไรก็จะต้องปรับเบาะไว้ตรงไหน ซึ่งขั้นตอนการปรับเบาะนี้จะมีความสำคัญเป็นอย่างมากกับการกำหนดตำแหน่งการขี่ เพราะจะมีผลในการวางตำแหน่งเท้าเพื่อกดบันไดรถ ซึ่งการหาตำแหน่งเบาะบนหลักอานจะมีวิธีหาง่าย ๆ ดังนี้คือ
           2.1 ยึดรถไว้บนเทรนเนอร์ หนุนล้อหน้าให้ตัวรถขนาดกับพื้น
           2.2 ให้ผู้ขี่นั่งบนตัวรถ ใช้เท้ากดบันไดให้บันไดอยู่ในตำแหน่ง 9 และ 15 นาฬิกา หรือให้บันไดขนานพื้น ปรับตำแหน่งเท้าให้นิ้วก้อยกดพาดเลยแกนบันไดไปด้านหน้าเล็กน้อย แล้วปรับท่านั่งบนเบาะให้สบาย ๆ
           2.3 ให้ผู้ช่วยใช้ ตุ้มถ่วงน้ำหนักทิ้งดิ่งเพื่อวัดระดับแนวหัวเข่ากับแกนบันไดโดยวัดกับขาที่กำลังกดบันไดด้านหน้า
           2.4 ตำแหน่งของแนวเชือกที่วัดได้ควรจะอยู่พอดีหรือห่างจากแกนบันไดไปด้านหน้าไม่เกิน 6 ซม. (ระยะที่แนะนำคือ 4 ซม.)
           2.4.1 ถ้าวัดแล้วแนวเชือกตกอยู่หลังแกนบันไดให้เลื่อนเบาะไปด้านหน้า
           2.4.2 ถ้าวัดแล้วแนวเชือกตกอยู่ก่อนแกนบันไดเกิน 6 ซม. ให้เลื่อนเบาะไปด้านหลัง
3. การปรับระดับเบาะก้มหรือเงย
          โดยทั่วไปแนะนำให้ปรับเบาะขนานพื้น การปรับด้านหน้าเบาะเชิดขึ้นจะทำให้การขึ้นลงรถทำได้ลำบาก แต่การปรับด้านหน้าเบาะก้มลงนิดหนึ่งจะช่วยให้การขึ้นลงรถทำได้ง่ายขึ้น
4. ตำแหน่งเท้า
          สำหรับคนที่ใช้บันไดแบบคลิปเลสควรจะปรับตั้งตำแหน่งครีทให้เหาะสมเมื่อกดล็อกรองเท้ากับบันไดแล้วให้พื้นเท้าส่วนหน้ากดทับแกนบันได้ตรงกลาง ประมาณว่าแนวแกนบันไดอยู่หลังนิ้วก้อยของเท้าเล็กน้อยตามความเหมาะสม นอกจากนั้นยังต้องทำการปรับตำแหน่งครีทใต้รองเท้าให้ง่ายต่อการบิดเท้าปลดครีทเพื่อที่เวลาปลดเท้าออกจากบันไดจะได้ทำได้สะดวกไม่ต้องบิดเท้ามากเกินไป
5. ความยาวของขาจาน
          ความยาวของขาจานจักรยานเสือภูเขาโดยทั่วไปในบ้านเราจะนิยมใช้สองขนาดคือ 170 มม. กับ 175 มม. ซึ่งความยาวขาจาน 170 มม. เหมาะสำหรับผู้ที่สูงน้อยกว่า 165 ซม. หรือผู้ที่ต้องการใช้รอบขาสูง และความยาวขาจาน 175 มม. เหมาะสำหรับผู้ที่มีความสูง 165 ซม. ขึ้นไป
6. มิติของวงเลี้ยว
          ในขั้นตอนนี้ให้ขึ้นไปนั่งบนรถแล้วทดลองขี่แล้วทำการเลี้ยวดูว่าเวลาแล้วมือที่จับแฮนด์ติดหัวเข่าหรือเปล่า ซึ่งหากติดอาจจะทำให้วงเลี้ยวของท่านทำได้แคบ วิธีแก้คือการใช้คอแฮนด์ที่ยาวขึ้น
7. ตำแหน่งและความสูงของคอแฮนด์
          การปรับคอแฮนด์สามารถทำได้สามอย่างคือการเลือกใช้คอแฮนด์ที่มีความยาวต่างกัน การเลือกใช้คอแฮนด์ที่มีความยาวต่างกัน การเลือกใช้คอแฮนด์ที่มีองศาการก้มหรือเงยต่างกัน และการรองแหวนเพื่อปรับระดับความสูงต่ำของคอแฮนด์ ซึ่งการปรับในส่วนนี้จะมีผลต่อมุมของการก้มซึ่งก็จะมีผลต่อการถ่ายน้ำหนักตัวลงไปยังล้อรถขณะขี่ หากเลือกใช้คอแฮนด์ยาวไปอาจจะทำให้ต้องก้มมากส่งผลให้ปวดหลัง หรือหากใช้คอแฮนด์สั้นไปอาจจะทำให้หลังตั้งมากไป น้ำหนักถ่ายไปอยู่ที่ล้อหลังมาก เวลาขี่แล้วรถไม่พุ่ง (หากนึกไม่ออกให้นึกถึงการขี่รถจ่ายจับข้าวที่หลังตั้งตรงครับ)
8. ชนิดของแฮนด์และความกว้างของแฮนด์
          ปัจจุบันแฮนด์ยกได้รับความนิยมใช้กับเป็นอย่างมากเพราะว่าทำให้การควบคุมรถทำได้ง่ายกว่า ซึ่งแฮนด์ยกมีหลายระดับการยก ส่วนแฮนด์ตรงนั้นแม้จะมีการควบคุมรถที่ยากกว่านิดหน่อยแต่ให้ประสิทธิภาพการขี่ที่ดีกว่า ในการซื้อแฮนด์มากจะมีความกว้างมาตรฐาน ซึ่งหากผู้ขี่มีรูปร่างเล็กจะต้องมีการตัดปลายแฮนด์ออก เพื่อที่จะทำให้การควบคุมรถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนขนาดความกว้างของแฮนด์นั้น โดยทั่วไปจะให้แฮนด์กว้างกว่าช่วงหัวไหล่ของผู้ขี่เล็กน้อย
9. การปรับมุมของบาร์เอ็น
          การปรับมุมของบาร์เอ็นให้ทำการปรับอยู่ที่มุมเงยประมาณ 21 -45 องศา ให้มีความสะดวกในการจับเมื่อยืนขี่
10. การปรับมุมเบรก
          การปรับมุมเบรกโดยทั่วไป ให้ปรับในแนวเดียวกับแนวแขนของผู้ขี่ขณะจับแฮนด์หรือหากผู้ใช้จับแล้วไม่ถนัดก็สามารถปรับมุมของมือเบรกให้ก้มหรือเงยมากกว่านั้นเล็กน้อย


เป็นยังไงบ้างครับกับ 10 จุดในการปรับรถให้เข้ากับตัว ซึ่งมีหัวใจหลักอยู่ที่การเลือกขนาดตัวถังให้เหมาะสมกับตัว หากเลือกตัวถังได้เหมาะสมแล้ว การปรับรถให้เข้ากับตัวก็ทำได้ง่าย การปรับรถให้เข้ากับตัวไม่มีอะไรตายตัว สามารถยืดหยุ่นตามรสนิยมและความพอใจของผู้ขี่ ซึ่งก็จะช่วยให้ท่านสามารถขี่รถของท่านได้เป็นเวลานาน ๆ โดยไม่ปวดเมื่อยหรืออาจจะมีปวดเมื่อยบ้างก็ในช่วงปรับตัวแต่เมื่อปรับตัวแล้วก็จะทำให้ท่านขี่รถได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครับ

16 ต.ค. 2553

PRODUCT TEST : FOX 32 FLOAT R

|0 ความคิดเห็น
PRODUCT TEST : FOX 32 FLOAT R


          ในวงการผู้ผลิตโช๊คจักรยานนั้นมีผู้ผลิตอยู่หลายรายมีผู้ผลิตอยู่รายหนึ่งที่เข้ามาในตลาดนี้หลังรายอื่น แต่มีสินค้าที่โดดเด่นมาก ผู้ผลิตรายนั้นคือ Fox Racing Shox บริษัท Fox เริ่มต้นจากโช๊คให้กับมอเตอร์ไซด์ก่อน จากนั้นก็ผลิตโช๊คให้กับรถยนต์และรถเอทีวี จนล่าสุดเปิดตัวสินค้าโช๊คจักรยานในช่วงปี 2000 จนมาถึงปัจจุบัน
           โช๊คจักรยานของ Fox โดดเด่นด้วยประสบการณ์อันยาวนานของบริษัท และด้วยคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงโดยใช้ฐานการผลิตจากโรงงาน ในประเทศสหรัฐอเมริกาปัจจุบัน Fox ผลิตโช๊คหน้าสำหรับจักรยานเสือภูเขาทุกประเภททั้งครอสคันทรี่ ฟรีไรด์ ดาวน์ฮิลล์
          Fox 32 Float R ที่นำมาทดสอบนี้เป็นโช๊ครุ่นเริ่มต้นของ Fox ใช้ระบบการทำงานแบบ Air Sping ที่ใช้การสูบลมเป็นตัวตั้งความแข็งอ่อนของโช๊ค ส่วนฟังก์ชั่นการปรับตั้งสามารถปรับได้เพียงรีบาวด์เพียงอย่างเดียวซึ่งนั่นก็เพียงพอแล้ว เพราะรีบาวด์เป็นฟังก์ชั่นจำเป็นพื้นฐานที่โช๊คทุกตัวควรจะมี
          โช๊คตัวนี้ใช้แกนโช๊ค 32 มม. อันเป็นขนาดที่ใช้กับโช๊คหน้าแบบครอสคันทรี และเทรล แกนโช๊คมีชุบ Hard Anodize ทำให้ผิวของแกนโช๊คมีความแข็งสูงขึ้น มีความทนทานรองรับการเสียดสีกันระหว่างแกนโช๊คกับปลอกกันกระแทกที่อยู่ภายในกระบอกโช๊ค ให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
          โช๊ค Fox 32 Float R ตัวนี้ออกแบบมาให้สามารถปรับช่วงยุบได้ 3 ระดับ คือ 100 มม. 120 มม.และ 140 มม. โดยการถอดชิ้นส่วนภายในออกมาปรับ ซึ่งการปรับก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรสำหรับในการทดสอบครั้งนี้ ทางเราปรับช่วงยุบของโช๊คให้มีช่วงยุบ 100 มม.ในการทดสอบ
           การที่โช๊ครุ่นนี้มีแค่ฟังก์ชั่น รีบาวด์เพียงอย่างเดียวนั้นเพียงพอกับการใช้งานเบื้องต้นแล้วส่วนการปรับอีกอย่างที่สามารถทำได้ในโช๊คตัวนี้คือ การตั้งค่า Air Preload ด้วยการสูบลมด้วยแรงดันในค่าที่ต่างกัน ส่วนฟังก์ชั่นล๊อคโช๊คนั้นแม้ในโช๊คตัวนี้จะไม่มีแต่ก็สามารถทดแทนได้ด้วยการตั้งระยะ Sag ให้น้อย ๆ โช๊คก็จะมีความหนึบมากขึ้นไม่ยุบยวบยาบง่าย
ผลการทดสอบ
          ในการทดสอบครั้งนี้ได้ตั้งค่า Preload ให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัวผู้ขี่เพื่อให้โช๊คทำงานเต็มประสิทธิภาพในการทดสอบครั้งนี้เราใช้ระยะ Sag ประมาณ 8 มม. จากนั้นก็ทำการปรับรีบาวด์โดยปรับไปตำแหน่ง (-) สุด แล้วบิดปุ่มรีบาวด์มาทางด้าน (+) 5 คลิก ใช้เส้นทางแบบคลอสคันทรีแต่ก็มีการลองทดสอบกระโดดบ้างเล็กน้อย ซึ่งผลการทดสอบ Fox Float R ให้ผลการทดสอบที่น่าพอใจตัวโช๊คมีความแข็งแรงเวลาเลี้ยวแคบ ๆ ด้วยความเร็วสูงสามารถควบคุมรถได้ดีทำให้ผลการเลี้ยวคม ไม่มีอาการแหกโค้งจากการให้ตัวของโช๊คส่วนการซับเก็บแรงกระแทกจากเส้นทาง โช๊คก็ทำได้ในระดับที่น่าพอใจซึ่งก็แล้วแต่ความพอใจของแต่ละคนหากต้องการโช๊คที่หนึบก็ต้องตั้งระยะ Sag น้อย (น้อยกว่า 10 มม.) ซึ่งอาจจะทำให้โช๊คซับแรงกระแทกได้ไม่เต็มที่ แต่ทำให้โช๊คไม่ยุบยวบยาบ แต่หากมีการตั้งระยะ Sag ที่เยอะ(มากกว่า 10 มม.) จะทำให้โช๊คซับแรงกระแทกได้มากกว่าแต่ก็อาจจะทำให้โช๊คยุบยวบยาบบ้างอันนี้ก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคนซึ่งโช๊คตัวนี้สามารถตั้งระยะ Sag ได้โดยการเติมลมได้
           Fox 32 Float R ถึงแม้จะเป็นโช๊ครุ่นที่เริ่มต้นของ FOX แต่ก็เป็นโช๊คที่น่าใช้รุ่นหนึ่งแม้ไม่มีฟังก์ชั่นล็อคโช๊คแต่ก็เพียงพอกับการใช้งานประกอบกับการเป็นโช๊ค Air Spring ทำให้สามารถตั้งค่า Preload ได้ง่ายโดยการเติมลมซึ่งทำให้สะดวกในการปรับโช๊คให้เข้ากับน้ำหนักตัวผู้ขี่ ข้อดีอย่างหนึ่งของโช๊ครุ่นนี้คือการที่มีฟังก์ชั่นรีบาวด์เพียงอย่างเดียวทำให้โช๊คมีความทนทานมากกกว่าโช๊คที่มีฟังก์ชั่นเยอะ ๆ นอกจากนั้นโช๊คยังสามารถปรับตั้งระยะยุบได้หลายช่วงทำให้ใช้งานได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น


Speclfication :
ชื่อรุ่น : Fox Float R
ขนาดซางโช๊ค : 1.125 นิ้ว
ขนาดแกนโช๊ค : 32 มม.
วัสดุซางโช๊ค : อลูมินั่ม
วัสดุแกนโช๊ค : อลูมินั่ม
วัสดุกระบอกโช๊ค : แมกนีเซียม
ระบบแดมปิ้ง : Oil Rebound
ระบบสปริง : Air Spring
ระยะยุบโช๊ค : 100, 120. 140 mm.
ชนิดหูยึดโช๊ค : ISO-Type
น้ำหนัก : 1.70 กิโลกรัม

15 ต.ค. 2553

อัพเดททิศทางของรถ Cross Country ปี 2011 จากงาน Eurobike 2010

|0 ความคิดเห็น
อัพเดททิศทางของรถ Cross Country ปี 2011 จากงาน Eurobike 2010



          ซึ่งทิศทางของรถ XC ในปีหน้ายังคงมุ่งเน้นที่การทำน้ำหนักรถให้น้อยที่สุดแต่ยังคงไว้ซึ่งความแข็งแรง ดังนั้นรถหลาย ๆ ยี่ห้อจึงนำคาร์บอนไฟเบอร์มาใช้ในการผลิตตัวถังในรถรุ่นสูง ๆ ทั้งรถฮาร์ดเทลและรถฟูลซัสเพนชั่น ส่วนรถที่ตัวถังผลิตจากอลูมินั่มก็ยังคงเป็นรถส่วนใหญ่ในท้องตลาดจอกจากนั้นยังมีรถที่ตัวถังผลิตจากไทเทเนียมและโครโมลี่ไว้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่ชอบความแตกต่าง
           ถ้วยคอเป็นอีกจุดหนึ่งที่ผู้ผลิตรถหลาย ๆ ยี่ห้อได้ทำการปรับปรุงไม่ว่าจะเป็นการใช้ถ้วยคอแบบอินทรีเกรท ที่มีการติดตั้งลูกปืนถ้วยคอเข้ากับตัวถังโดยตรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้น้ำหนักรถเบาลดลงได้อีกเล็กน้อยนอกจากนั้นยังมีการนำถ้วยคอแบบสองขนาดมาใช้ (ท่อด้านล่างเป็นท่อคอขนาด 1.5 นิ้ว และท่อด้านบนเป็นท่อคอขนาด 1.125 นิ้ว) ในหลาย ๆ ยี่ห้อทั้งนี้เพราะถ้วยคอแบบนี้สามารถใช้กับช็อคที่มีซางช็อคแบบสองขนาดคือ ซางช็อคธรรมดา (1.125 นิ้ว) ก็ได้ซึ่งการใช้ช็อคแบบซางสองขนาดจะทำให้เมื่อประกอบช็อคหน้าเข้ากับรถแล้วจะทำให้มีความแข็งแรงมั่นคงมากขึ้นจากการใช้ถ้วยขนาดใหญ่นอกจากนั้นการใช้ซางช็อคด้านบนขนาด 1.125 นิ้ว ยังทำให้สามารถใช้คอแฮนด์มาตรฐานทั่วไปได้ กระแสของการใช้สายเกียร์ผ่านเข้าตัวถังของรถดูเหมือนจะเป็นที่นิยมใช้เพิ่มมากขึ้นเพราะว่าทำให้สะดวกในการทำความสะอาดรถไม่เกะกะสายตาอีกอย่างยังลดปัญหาโคลนเข้าสาย อันจะมีผลทำให้ระบบเกียร์ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ผู้ผลิตจักรยานเช่น Trek , GT ก็ได้เริ่มนำระบบการสอดสายเกียร์เก็บไว้ในตัวถังเข้ามาใช้ในรถบางรุ่นแล้ว
           ระบบดีสเบรกเริ่มนำมาใช้ในรถครอสคันทรีจนกลายเป็นมาตรฐานของรถรุ่นใหม่ ๆ ไปแล้วพร้อมกันนั้นระบบล็อคล้อแบบแกนสอดก็เป็นสิ่งหนึ่งที่กำลังจะตามมาคู่กันไม่ว่าจะเป็นระบบแกนสอดในล้อหน้าแบบ 100 X 15 มม. หรือระบบแกนสอดในล้อหลังแบบ 135 X 12 มม. และ 142 X 12 มม. เพราะว่าระบบแกนสอดจะทำให้การถอดใส่ล้อทำได้สะดวกกว่าแกนปลดมีความแข็งแรงมากกว่าแกนปลด นอกจากนั้นยังทำให้ความตรงของใบดิส กับ คาลิเปอร์เบรกเที่ยงตรงกว่าการใช้แกนปลด จุดหนึ่งที่อาจจะทำให้หลาย ๆ ท่านสับสนอยู่บ้างก็คือมาตรฐานของกะโหลกซึ่งปัจจุบันมีมากมายหลายมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นกะโหลกอังกฤษ 73 มม. กระโหลกแบบอัดลูกปืนเข้าที่ตัวถัง ,กะโหลกแบบ BB30 และกะโหลกแบบอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้อาจจะมีปัญหาในการเลือกใช้ขาจานกับกระโหลกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้ใช้จะต้องศึกษารายละเอียดของตัวถัง ขาจานและกะโหลกให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนที่จะซื้ออุปกรณ์เหล่านั้นมาใช้งานเพราะว่าอาจจะเป็นปัญหาทำให้ท่านปวดหัวเอาได้ง่าย ๆ
          สำหรับระบบเกียร์ปีหน้านั้นทิศทางของตลาดมุ่งหน้าไปสู่ การใช้เฟืองหลัง 10 สปีดอย่างเต็มตัว จากการออกสินค้า 10 สปีดอย่างเต็มตัว จากการออกสินค้า 10 สปีดของ Shimano ในรุ่น XTR,XT,SLX ซึ่งจุดยืนของทั้งสองค่ายนี้ค่อนข้างต่างกันอย่างชัดเจน Shimano ให้ความสำคัญกับจานหน้าแบบสามใบมากกว่าจานหน้าแบบสามใบซึ่ง Shimano มีจานหน้าแบบสองใบให้เลือกใช้เฉพาะในรุ่น XTR ที่เป็นรุ่นสุงสุดส่วน SRAM นั้นจะให้ความสำคัญกับจานหน้าแบบสองใบมากกว่าจะมีจานหน้าแบบสามใบให้เลือกใช้ในรุ่นล่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อแตกต่างของทั้งสองยี่ห้อ
          ในส่วนของช็อคหน้านั้น FOX ดูเหมือนจะเป็นผู้ผลิตช็อคหน้ารายเดียวที่หนีคู่แข่งรายอื่น ๆ ด้วยการนำเทคนิคการเคลือบผิวแกนช็อค มาช่วยเพิ่มความลื่นให้กับแกนช็อคให้มากขึ้น ซึ่งรายอื่นยังไม่ได้ออกสินค้าที่มีข้อเด่นตรงจุดนี้ คงมีเพียงแต่ Marzocchi ที่มีการเคลือบผิวแกนช็อคด้วย Nickel ส่วนรายอื่น ๆ ก็ยังคงใช้แกนช็อคแบบ Aluminum Hard Anodize เหมือนเดิมส่วนเรื่องการแข่งขันการลดน้ำหนักช็อคหน้ายังคงเป็นจุดขายที่ท้าทายผู้ผลิตหลาย ๆ ค่ายมีการนำเทคโนโลยีหลาย ๆ แบบมาช่วยในการลดน้ำหนักช็อคหน้าไม่ว่าจะเป็นการใช้กระบอกช็อคที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ในช็อคของ DT SWISS และ Marzocchi หรือการใช้ซางซ็อคที่ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ของ Rock Shox ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ก็ช่วยให้ช็อคหน้าน้ำหนักเบาขึ้น
          ปี 2011 จะเป็นปีของดีสเบรกแบบ Post Type เพราะว่าระบบดีสเบรกแบบนี้ได้รับความนิยมใช้งานกันอย่างกว้างขวางมากกว่าดิสเบรกแบบ ISO จนทำให้ดีสเบรกแบบ ISO ค่อย ๆ สูญพันธ์จากท้องตลาดสำหรับช็อคหน้าในปีที่แล้วแทบทุกค่ายเริ่มใช้หูดีสแบบ Post Type กันหมดแล้ว มาปีนี้ผู้ผลิตตัวถังหลาย ๆ รายเริ่มมีการผลิตตัวถังที่ใช้หูยึดดีสหลังของตัวถังแบบ Post Type กันหมดรวมไปถึงจากเปลี่ยนจุดติดตั้งดิสเบรกหลังจากแต่เดิมที่เคยติดตั้งบน Seat Stay มาเป็นการติดตั้งดิสเบรกหลังบน Chain Stay แทนก็เริ่มเป็นที่นิยมใช้ในรถหลาย ๆ ยี่ห้อเพราะนอกจากจะดูสวยงามสะอาดตาแล้วยังทำให้ตัวคาลิเปอร์เบรกหลบเข้าไปในตัวถังให้ตัวถังเป็นตัวกันคาลิเปอร์กระแทกด้วย
          การใช้หลักอานมีรีโมทปรับระดับความสูงได้เริ่มเป็นที่นิยมในรถฟูลซัสคอรสคันทรี่เพิ่มมากขึ้นเพราะว่ามีผู้ผลิตหลายเจ้าผลิตหลักอานแบบนี้ เพิ่มมากขึ้นซึ่งส่งผลให้มีการแข่งขันกันสูงราคาสินค้าถูกลง หลักอานแบบนี้เลยกลายเป็นที่นิยมใช้กันนอกจากนั้นในตัวถังของรถฮาร์ดเทลได้มีการใช้ท่อนั่งเป็นหลักอานเพิ่มมากขึ้น โดยผู้ผลิตจะทำตัวถังรถที่มีท่อนั่งยาวขึ้นมาเกินระดับเบาะเวลาใช้งานผู้ขี่ต้องตัดท่อนั่งของตัวถังให้พอดีกับระดับที่ตัวเองนั่งแล้วทำการติดตั้งที่ยึดเบาะเข้ากับปากท่อนั่งจากนั้นจึงทำการติดเบาะเข้ากับตัวถัง ซึ่งเทคนิคการใช้ท่อนั่งยาวขึ้นแทนหลักอานนี้ อาจจะไม่สะดวกในการติดตั้งและการปรับแต่ง แต่เทคนิคนี้จะทำให้หลักอานมีความแข็งแรงมากกว่าปกติและช่วยลดน้ำหนักไปได้เล็กน้อย
         ทิศทางรถครอสคันทรีในปี 2011 ความนิยมส่วนใหญ่ก็ยังคงมุ่งเน้นไปที่การผลิตรถเบาซึ่งแน่นอนรถยิ่งเบาก็ทำให้กระเป๋าเงินของเรา ๆ ท่าน ๆ เบาลงไปด้วย แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่เราอยากจะฝากท่านผู้อ่านทุกท่านคือการอัพเกรดและพัฒนาทักษะการขี่ของตัวเองให้มีทักษะและพัฒนาการที่สูงขึ้นเพราะสุดท้ายแล้วท่านก็จะได้ใช้รถให้คุ้มค่าและมีความสุขมากขึ้นครับ

FIXED GEAR CORNER : ทิศทางรถฟิกซ์เกียร์ ปี 2011 (Fixed Gear)

|0 ความคิดเห็น
FIXED GEAR CORNER : ทิศทางรถฟิกซ์เกียร์ ปี 2011 (Fixed Gear)



           กระแสรถฟิกซ์เกียร์(fixed gear)ก็ยังคงมีความนิยมเพิ่มขึ้นทั้งในตลาดอเมริกาตลาดยุโรปตลาดในเอเซีย ถือว่าเป็นแฟชั่นที่ฮิตกันทั่วโลกที่ร้อนแรงจริง ๆ สำหรับตลาดรถฟิกซ์เกียร์(fixed gear)ก็แบ่งออกเป็นสองสายตามที่รู้ ๆ กันคือมีสายปั่น และสายทริก
          ในสายปั่นนั้นยังคงมีการผลิตรถแบบย้อนยุคตามกระแสเรโทรให้ผู้ใช้ได้มีโอกาสเลือกซื้อของใหม่ที่ทำย้อนยุคเพิ่มมากขึ้น นอกจากจะหาของเก่ามาใช้เพียงอย่างเดียว ทิศทางของสายปั่นก็เติบโตอย่างต่อเนื่องแต่ไม่ถึงกับร้อนแรงคล้าย ๆ กับเป็นบันไดขั้นแรกสำหรับให้นักจักรยานที่สนใจจะขี่ฟิกซ์เกียร์(fixed gear)ได้ทดลองขี่ก่อน หากชอบก็ขี่สายนี้ไป หากยังไม่จุใจก็ข้ามไปขี่สายทริกต่อไป
          ส่วนสายทริกนั้นนับวันยิ่งร้อนแรงเหมือนกันทั่วโลกทั้งเป็นเพราะมีการขี่เล่นท่าโชว์แล้วนำมาอับโหลดลงเว็บไซด์ youtube ทำให้กระแสของสายทริกได้รับความนิยมเล่นกันมากขึ้น เพราะการเล่นท่าเป็นอะไรที่ท้าทายคนขี่รถฟิกซ์เกียร์เป็นอย่างมาก ในบ้านเราเองหลาย ๆ คนที่เริ่มจากสายปั่นแล้วก็หันไปสนใจปั่นสายทริกในเวลาต่อมากันบ้างแล้วจำนวนหนึ่ง
          ทิศทางของรถฟิกซ์เกียร์(fixed gear)สายทริกที่ร้อนแรงก็คือรถสายทริกที่ใช้วงล้อขนาด 26 นิ้ว เพราะว่าสามารถใช้อะไหล่ของเสือภูเขาได้พอดี และมีให้เลือกมากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวงล้อ ยางนอก ยางใน นอกจากนั้นการขี่รถที่มีขนาดวงล้อเล็กลง ยังทำให้สามารถขี่ได้ง่ายกว่ารถล้อ 700 C เป็นเรื่องที่น่ายินดีหลังจากกระแสรถฟิกซ์เกียร์(fixed gear)ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นทั่วโลกทำให้ผู้ผลิตหลายรายเริ่มมองเห็นโอกาสทางการตลาด และผลิตอะไหล่ฟิกซ์เกียร์(fixed gear)ออกมาจำหน่ายมากขึ้นทำให้ผู้ขี่ได้มีโอกาสเลือกใช้อะไหล่ที่มากขึ้นเพราะเป็นที่รู้ ๆ กันอยู่ว่ารถฟิกซ์เกียร์(fixed gear)หากแต่งไปแล้วเหมือนกันกับคนอื่น คงจะโดนเพื่อนล้อแน่นอน รถฟิกซ์เกียร์แต่ละคันต้องแต่งออกมาไม่ให้เหมือนกัน โดยต้องสะท้อนตัวตนและรสนิยมของผู้ขี่ที่ออกมาให้คนภายนอกได้เห็นอย่างชัดเจน
          สำหรับรถฟิกซ์เกียร์(fixed gear)ในปีหน้า กระแสรถโคโมลี่ยังคงเป็นกระแสที่มาแรงกว่ารถอลูมินั่มอยู่บ้าง จากการเติบโตของรถสายทริก ซึ่งรถโครโมลี่เหมาะสมกับใช้เล่นทริกมากกว่ารถอลูมินั่ม โดยมีการใช้ถ้วยคอแบบอินทรีเกรต (ถ้วยคอแบบใช้ลูกปืนถ้วยคอวางบนท่อคอโดยตรง) เพราะมีความสะดวกในการติดตั้งกว่าด้วยคอแบบธรรมดา และมีการใช้งานที่ไม่แตกต่างกัน ส่วนทิศทางของอะไหล่รถฟิกซ์เกียร์ในปีหน้าคงจะเน้นกันที่สีสันที่สดใส และการออกแบบที่ลงตัว ส่วนรายละเอียดทางเทคนิคไม่ค่อยอะไรเปลี่ยนแปลงกันมากนัก

บทความที่เกี่ยวข้อง :


>> แนะนำอุปกรณ์ตกแต่งจักรยานฟิกซ์เกียร์ (Fixed Gear)
>> การเลือกซื้อตัวถังให้พอดีกับขนาดร่างกาย [ฟิกซ์เกียร์ Fixed Gear]
>> VDO เทคนิคการปั่นจักรยานฟิกซ์เกียร์ (Fixed Gear)
>> Fixed Gear แหกกฎเซ็ตรถเล่นทริก
>> Fixed Gear Corner : Fixed Gear Development
>> จักรยาน Fixed Gear MASI ต้นตำรับแห่งความคลาสสิค
>> Fixgear Corner : ประเภทของจักรยาน Fixgear
>> แนวทางการเลือกตกแต่ง รถ FIXED GEAR อย่างมีสไตล์

14 ต.ค. 2553

ตะคริว ปัญหาที่พบบ่อยกับนักจักรยาน (เสือภูเขา เสือหมอบ ดาวน์ฮิลล์)

|0 ความคิดเห็น
"ตะคริว" ปัญหาที่พบบ่อยกับนักจักรยาน (เสือภูเขา เสือหมอบ ดาวน์ฮิลล์)



         “ตะคริว” (muscle cramps) เป็นปัญหาที่พบบ่อยในนักกีฬา และบ่อยครั้งอาการเกิดขึ้นอย่างฉับพลันในระหว่างการแข่งขัน ถ้าถามว่าสาเหตุเกิดมาจากอะไร น้อยคนที่จะตอบได้อย่างชัดเจนหรือฟันธงลงไปว่าเกิดจากอะไร แม้แต่นักกีฬาที่มีการฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดีร่างกายสมบูรณ์เต็มที่ก็ยังเกิดเป็นตะคริวได้ เป็นที่เชื่อกันว่าปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการตะคริวได้แก่
         1. การขาดเกลือแร่อิเลคโตรไลท์ (Electrolyte) ซึ่งเป็นการสูญเสียทางเหงื่อในระหว่างการเล่นกีฬา
         2. การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันจากร้อนเป็นเย็น
         3. มัดกล้ามเนื้อเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ ซึ่งอาจเกิดจากการใส่อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมเช่น กางเกงที่รัดแน่นจนเกินไปซึ่งทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนขาน้อยเกินไปกล้ามเนื้อขาดออกซิเจนและมีอาการคั่งของของเสียและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกล้ามเนื้อ จึงเกิดเป็นตะคริวขึ้น นอกจากนั้นปัจจัยที่ได้กล่าวมาแล้ว การบาดเจ็บระหว่างการเล่นกีฬาเช่น ถูกกระแทกโดยตรงที่มัดกล้ามเนื้อ จะทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งกะทันหันซึ่งทำให้เกิดเป็นตะคริวได้เหมือนกัน


การป้องกันการเป็นตะคริวแบบง่าย ๆ (เสือภูเขา เสือหมอบ ดาวน์ฮิลล์)
          - ก่อนออกกำลังการ ควรจะยืดคลายกล้ามเนื้อก่อนทุกครั้ง อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ สังเกตง่าย ๆ คือดูสีของน้ำปัสสาวะถ้ามีสีเข้มเหลืองเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนักมีโอกาสที่จะเป็นตะคริว ถ้ามัดกล้ามเนื้อถูกใช้งานต่อเนื่องนาน ๆ
          - อุปกรณ์ที่สวมใส่อย่าให้รัดแน่นเกินไป
          - สูดหายใจเข้าลึก ๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับอ็อกซิเจนได้เต็มที่


การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเป็นตะคริว
           เมื่อตะคริวเกิดขึ้นที่ตำแหน่งใดให้ใช้ของเย็นประคบ อย่างใช้ของอุ่นและของร้อนประคบเพราะจะทำให้กล้ามเนื้อบีบเกร็งมากขึ้น ถ้าเกิดขึ้นที่บริเวณน่องให้ทำการยืดขาออกช้า ๆ แล้วดันปลายเท้าเข้าหาตัวคนเจ็บ ซึ่งจะช่วยให้ตะคริวคลายออกได้เร็วขึ้น สำหรับผู้ที่เป็นตะคริวที่น่องและเป็น ๆ หาย ๆ อยู่เป็นประจำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะเดินนาน ๆ ให้ลองทำง่าย ๆ ดังนี้ คือเริ่มจากยืนหันหน้าเข้าหากำแพงห่างประมาณ 3 – 4 ฟุต จากนั้นให้ก้มตัวไปด้านหน้าโดยเอามือยันกำแพงให้ส้นเท้าอยู่ติดกับพื้น จะทำให้น่องยืดตึงและทำให้กล้ามเนื้อเกิดความผ่อนคลายและช่วยลดอาการดังกล่าวได้
(เสือภูเขา เสือหมอบ ดาวน์ฮิลล์)

ปฏิทินข่าวการแข่งขันจักรยาน เดิอน พ.ย. 2553

|0 ความคิดเห็น
- วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2553
   ขอเชิญเข้าร่วมการแข่งขัน ราชภัฏเชียงใหม่ GIANT CUP เสือหมอบ เสือภูเขาทางเรียบ

- กำหนดการ
06.00-08.00 ลงทะเบียน
08.30 น. พิธีเปิดการแข่งขัน
09.00 น. การแข่งขันจักรยานเสือหมอบ รุ่น A-B-C-D-E
11.00 น. การแข่งขันรุ่นท่องเที่ยว C
13.00 น. การแข่งขันรุ่นพิเศษ Rolling Stone
- เลี้ยงอาหารกลางวันสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนลงทำการแข่งขัน
14.00 น. การแข่งขันเสือภูเขารุ่น A-B
15.30 น. ประกาศผลการแข่งขัน และพิธีมอบรางวัล ทุกรุ่น

- การแบ่งรุ่นของการแข่งขัน
การแข่งขันจักรยานเสือหมอบ
A - เยาวชนไม่เกิน 18 ปี
B - ทั่วไป
C - 30-39 ปี
D - 40-49 ปี
E - 50 ปีขึ้นไป

- การแข่งขันเสือภูเขารุ่น A
เยาวชนชายอายุไม่เกิน 18 ปี
ชาย Open
ชาย 30-39 ปีขึ้นไป
ชาย 40-49 ปีขึ้นไป
ชาย 50 ปีขึ้นไป

- การแข่งขันเสือภูเขารุ่น B
เยาวชนชายอายุ 13-15 ปี
เยาวชนชายอายุไม่เกิน 18 ปี
เยาวชนหญิงอายุไม่เกิน 18 ปี

- หญิง Open
  หญิง 35 ปีขึ้นไป
- ชาย Open
ชาย 30-39 ปี
ชาย 40-49 ปี
ชาย 50 ปีขึ้นไป


- การแข่งขันเสือภูเขารุ่น C
เยาวชนชายอายุไม่เกิน 12 ปี
เยาวชนหญิงอายุไม่เกิน 12 ปี
อายุเกิน 60 ปี
น้ำหนักเกิน 85 กิโลกรัม
- รุ่นพิเศษ
รุ่น VIP ไม่จำกัดอายุ (ผู้สมัครรับถ้วยรางวัลทุกคน)
รุ่น Rolling Stone แข่งขันปล่อยไหลลงเนิน ตัดสินโดยระยะทาง

- สถานที่จัดการแข่งขัน
       ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาเขตสะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

- กติกาและข้อบังคับของการแข่งขัน
       ใช้กติกาการแข่งขันจักรยานและกฎข้อบังคับ ของสมาคมจักรยานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

- การปรับแต่งทางเทคนิค
       เสือภูเขาทางเรียบ(แต่ไม่ราบ)แข่งเป็นรอบ ตามรุ่นและกลุ่มอายุ(ระยะทางต่อรอบๆ ละ 5 กม.)
ตัวถังต้องเป็นเสือภูเขา ขนาดขอบล้อต้องไม่เกิน 26 นิ้ว การใช้ยาง สามารถใส่ยางสลิคได้แต่หน้ายางต้องไม่ต่ำกว่า 1.9 ไม่อนุญาตให้ใส่แอโร่บาร์ แต่สามารถใส่บาร์เอนปลายแฮนด์ได้  ใส่ช็อคหน้าหรือตะเกียบได้ ใบจานไม่เกิน 48 ฟัน เพืองหลังไม่บังคับ ต้องมีเบรกที่ใช้งานได้ดี อย่างน้อยหนึ่งข้าง นักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขัน ต้องสวมหมวกนิรภัย ตลอดการแข่งขัน

- รุ่นพิเศษ Rolling Stone
          ใช้รถจักรยานที่ปรับแต่ง ตามข้อมูลปรับแต่งทางเทคนิค แข่งขันปล่อยไหลลงเนิน ทีละคันปล่อยห่างกัน 30 วินาที โดยไม่ให้มีการปั่นหรือการช่วยเหลือจากบุคคลภายนอก คณะกรรมการจะทำการล๊อคจานกับโซ่ โดยใช้สายรัดพลาสติกรัดไว้ ผู้ใดทำขาดจะถูกตัดสิทธิ์ออกจากการแข่งขัน โดยผู้ที่ทำระยะทางได้ไกลที่สุดจะเป็นผู้ชนะการแข่งขัน(ถ้วยรางวัล 1-10)


- เสือหมอบ
ห้ามใส่แอโร่บาร์ลงทำการแข่งขัน

- อัตราค่าสมัคร
ประเภทประชาชนทั่วไปชายและหญิง 200 บาท
ประเภทเยาวชน ฟรีค่าสมัคร
VIP 1000 บาท
Rolling Stone 200 บาท
- พิเศษ สำหรับ นักกีฬาที่ใช้จักรยานยี่ห้อ Giant เข้าทำการแข่งขัน จะได้รับการยกเว้นค่าสมัคร ทั้งเสือหมอบและเสือภูเขา


- รางวัล
ผู้ชนะเลิศ อันดับ 1 – 5 ทุกประเภท จะได้รับถ้วยรางวัลเกียรติยศ GIANT CUP
ผู้ที่แข่งขันจนจบระยะทางจะได้รับเหรียญรางวัลที่ระลึก ทุกคน
ผู้ชนะการแข่งขันอันดับหนึ่งในแต่ละรุ่นมีสิทธิ์ลุ้นรางวัล เฟรมเสือหมอบ เสือภูเขา ประเภทละ 1 เฟรม

- การบริการ
   อาหารกลางวัน ใช้คูปองที่ได้รับเมื่อทำการลงทะเบียนแข่งขัน ไปแลกอาหารได้ที่จุดบริการ
น้ำดื่ม ฟรีตลอดงาน  เต้นท์ สามารถกางเต้นท์ ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาเขตสะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ในคืน วันที่ 19 พฤศจิกายน 2553

- เส้นทางการแข่งขัน
   เส้นทางเป็นพื้นผิวเรียบตลอดระยะทาง สภาพเส้นทางเป็นทางขึ้นเนินสลับลงเนิน ระยะทางต่อรอบๆ ละ 5 กม. และเป็นเส้นทางปิด 100% โดยจะแข่งอยู่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏเท่านั้น รอบของการแข่งขันแต่ละรุ่น จะประกาศให้ทราบในวันแข่งขัน แต่ระยะทางในแต่ละรุ่นจะไม่เกิน 40 กิโลเมตร

- จัดโดย : สาขาวิชาพลศึกษาและนันทนาการ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
- ดำเนินงานโดย : วิสุทธิ์ กสิยะพัท (ตั้ม สปินไบค์ )081-6558451
----------------------------------------------------------------

- 21 พฤศจิกายน 2553
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อ.แม่เมาะ จ. ลำปาง ขอเชิญนักแข่งจักรยานทุกท่าน เข้าร่วมแข่งขัน แม่เมาะเสือภูเขาครั้งที่11 ในวันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน 2553 นี้ครับ รายละเอียดการแบ่งรุ่นมีดังนี้ครับ



- ค่าสมัครฟรี ถ้วยรางวัล 5 อันดับทุกรุ่น
เหรียญรางวัล 500 ท่านแรกที่สมัคร




การแข่งขันจักรยานภูเขาครอสคันทรี
1. ประเภทแข่งขันระยะทาง 35 ก.ม. ค่าสมัคร ฟรี
- ชาย (Male)
 รุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี
 รุ่นทั่วไป
 รุ่นอายุ 30-39 ปี
 รุ่นอายุ 40-49 ปี
 รุ่นอายุ 50 ปีขึ้นไป
- หญิง (Female)
รุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี
รุ่น ทั่วไป
2. ประเภทแข่งขันระยะทาง 25 ก.ม. ค่าสมัคร ฟรี
- ชาย (Male)
 รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี
 รุ่นทั่วไป
 รุ่นอายุ 30-34 ปี
 รุ่นอายุ 35-39 ปี
 รุ่นอายุ 40-44 ปี
 รุ่นอายุ 45-49 ปี
 รุ่นอายุ 50-54 ปี
 รุ่นอายุ 55 ปีขึ้นไป
 รุ่นทั่วไปพนักงาน กฟผ.
 รุ่นน้ำหนัก เกิน 85 กิโลกรัม
- หญิง (Female)
 รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี
 รุ่นทั่วไป
 รุ่นอายุ 35 ปีขึ้นไป

3. ประเภทแข่งขันระยะทาง 15 ก.ม. ค่าสมัคร ฟรี
- เยาวชนชาย
 รุ่นอายุไม่เกิน 10 ปี
 รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี
- เยาวชนหญิง
 รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี
-  คุณสมบัติผู้สมัคร

1.มีอายุตามประเภทรุ่น ที่กำหนดไว้ โดยถือตามหลักฐานของราชการที่มีรูปถ่ายของผู้สมัครติดอยู่ โดยใช้ปี พ.ศ. 2553 ลบด้วย ปี พ.ศ.เกิดของผู้สมัคร
2.สำหรับนักแข่งที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี จะต้องเตรียมหลักฐานใบแจ้งเกิดหรือทะเบียนบ้านตัวจริง กรณีที่มีการขอตรวจสอบหลักฐาน และต้องได้รับการรับรองจากผู้ปกครอง
3.ต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคอันตรายเกี่ยวกับการออกกำลังกาย

- กติกาการแข่งขัน

1.นักจักรยานที่สมัครเข้าแข่งขัน ต้องใช้รถจักรยานเมาเท่นไบค์เท่านั้นในการแข่งขัน
2.ผู้เข้าแข่งขันทุกคนจะต้องสวมใส่หมวกกันกระแทกตลอดเวลาแข่งขัน
3.ล้อของจักรยานจะต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 26 นิ้วทั้งล้อหน้าและล้อหลังยกเว้น ประเภทแข่งขัน 15 กม.
4.นักแข่งจะต้องติดเบอร์ที่หน้ารถให้มองเห็นชัดเจน หากหลุด ชำรุด หรือมีการตัด เจาะ จะถูกตัดสิทธิ์การรับรางวัล และจะไม่ รับการประท้วงใดๆ
5.การตัดสินของคณะกรรมการตัดสิน ถือว่าเป็นการสิ้นสุด
6.การประท้วง ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร ยื่นต่อคณะกรรมการจัดการแข่งขันฯ ภายใน 20 นาที หลังจากประกาศผลฯ พร้อมเงินประกัน 1,000 บาท หากการประท้วงนั้นเป็นผล จะคืนเงินให้ทันที
7.นักแข่งหรือทีมแข่งขันใดเจตนากลั่นแกล้ง หรือกระทำการใด ๆ เพื่อก่อให้เกิดอุปสรรคในการแข่งขันให้กับผู้อื่นจะถูกตัดสิทธิ์ออกจากการแข่งขัน
8.คณะกรรมการจัดการแข่งขันฯ จัดเตรียมการปฐมพยาบาลในเบื้องต้นเท่านั้น
9.รุ่นทั่วไปพนักงาน กฟผ. (ไม่รวมลูกจ้างทุกประเภท)
10.รุ่นน้ำหนักเกิน 85 กิโลกรัม จะต้องชั่งน้ำหนักต่อหน้ากรรมการขณะยื่นใบสมัคร

- ถ้วยรางวัล

1.ถ้วยรางวัลเกียรติยศองคมนตรี ฯพณฯ พลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์
    - สำหรับผู้ชนะเลิศการแข่งขันจักรยานภูเขาครอสคันทรี 35 กม.
    - รุ่นบุคคลทั่วไปชาย
2. ถ้วยรางวัลเกียรติยศผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเมศไทย กฟผ.
  - สำหรับผู้ชนะเลิศการแข่งขันจักรยานภูเขาครอสคันทรี 35 กม.
  - รุ่นบุคคลทั่วไปหญิง
3 ถ้วยรางวัลสำหรับผู้ชนะจักรยานภูเขาครอสคันทรี ลำดับ 1-5
   - ทุกประเภท ทุกรุ่น ชาย /หญิง


- เหรียญที่ระลึก
1. เหรียญที่ระลึกสำหรับผู้ที่สมัครเข้าร่วมแข่งขัน 500 ท่านแรก

- กำหนดการแข่งขัน วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน 2553
  9:15. น. - พิธีปล่อยตัวจักรยานภูเขาครอสคันทรี
13:00 น.  - พิธีมอบรางวัล

- การบริการ
1.ที่พักบริเวณสวนพฤกษชาติ และ บริเวณเกาะลอย เหมืองแม่เมาะ
    มีสถานที่กางเต๊นท์ฟรี และมีห้องน้ำ-ส้วม บริการฟรี

สอบถามรายละเอียดได้ที่
- กฟผ. แม่เมาะ จ.ลำปาง : แผนกประชาสัมพันธ์ เหมืองแม่เมาะ
โทร. 054 -254-051, 054-254-054 , 054-254-930
- กฟผ. แม่เมาะ จ.ลำปาง : แผนกประชาสัมพันธ์โรงไฟฟ้าแม่เมาะ
โทร. 054 –252-730, 054-252-739
- ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพ กฟผ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
คุณ สมเกียรติ เพิงแก้ว โทร. 054 -254-531, 087-183-2538
คุณ นิพนธ์ แขนงแก้ว โทร. 054-253-212, 081-7243-410
คุณ ณัฐชัย ศรีธรรมรักษ์ โทร. 0-542-524-40, 081-0317-267
คุณ โสภณ วิจิตรโสภา โทร. 0-542-545-32, 081-7658-886

- สถานที่รับสมัคร
สมัครด้วยตนเอง ณ สนามแข่งขัน บริเวณสวนพฤกษชาติ
- วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน 2553 ตั้งแต่เวลา 06.30 - 9.00 น.


----------------------------------------------------------------

- วันที่ 21 พ.ย. 2553
          เชิญร่วมการแข่งขันจักรยานรายการ อินซี เมาเท่นไบค์ ครั้งที่ 2 วันอาทิตย์ที่ 21 พ.ย. 2553 เวลา 08.00 – 15.30 น. ณ. ไร่ภูผาเงิน ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี


รุ่นการแข่งขัน
1. ชาย-หญิง อายุ 10-14 ปี
2. ชาย-หญิง อายุ 15-19 ปี
3. ชาย-หญิง อายุ 20-24 ปี
4. ชาย-หญิง อายุ 25-29 ปี
5. ชาย-หญิง อายุ 30-34 ปี
6. ชาย-หญิง อายุ 35-39 ปี
7. ชาย อายุ 40-44 ปี
8. หญิง อายุ 40 ปีขึ้นไป
9. ชาย อายุ 45-49 ปี
10. ชาย อายุ 50-54 ปี
11. ชาย อายุ 55 ปีขึ้นไป
12. ชาย น้ำหนัก 85 ก.ก.ขึ้นไป


ประเภทท่องเที่ยว ไม่มีค่าใช้จ่าย
1. ชาย-หญิง ไม่จำกัดอายุ ไม่จำกัดจักรยาน


หมายเหตุ : รางวัลพิเศษ
- ชมรมที่เข้าร่วมแข่งขันมากที่สุด
- ชมรมที่ไกลที่สุด
- ชมรมใกล้ที่สุด


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณเปี๊ยก 081-3616285, คุณเกียรติ 086-1318938, คุณอุ๊ 081-6894567
---------------------------------------------------------



10 ต.ค. 2553

การบีบรัดดีหรือไม่ ทำไมพวกนักจักรยานมือโปรชอบทำกัน ?

|0 ความคิดเห็น
การบีบรัดดีหรือไม่ ทำไมพวกนักจักรยานมือโปรชอบทำกัน ?

          ถึงการบีดรัดอวัยวะบางส่วน จะถูกเชื่อว่าเป็นผลดีด้วยเหตุผลบางอย่างแต่แพทย์ก็ยังไม่แนะนำให้ทำ เมื่อปี 2001 นี้เองที่นักวิทยาศาสตร์อังกฤษกลุ่มหนึ่งที่กลับมาแนะนำให้บีบรัดกล้ามเนื้อไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดเป็นลิ่มระหว่างการโดยสารเครื่องบินทางไกล
          สมาพันธ์จักรยานสหรัฐฯ ได้ร่วมมือกับผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาชื่อ Skins ในปี 2007 แล้วเพื่อผลิตอุปกรณ์ทำนองนี้ แต่ดูเหมือนว่า แลนซ์ อาร์มสตรอง จะทำให้การบีดรัดเป็นกระแสได้มากกว่าเมื่อมีหลายภาพข่าวที่แสดงว่าเขาใช้ถุงเท้ายาวรัดกล้ามเนื้อขึ้นมาถึงเขาในตูร์เดอฟร็องซ์ 2009 การใช้ของประเภทนี้ของแลนซ์ทำให้ใคร ๆ โดยเฉพาะนักจักรยานที่จริงจังมุ่งหวังประสิทธิภาพหันมามองด้วยความคิดว่ามันคงดีแน่ถ้าจะทำอย่างนี้เพราะแม้แต่แลนซ์เองก็ยังใช้
          นานมาแล้วที่เสื้อผ้าผลิตด้วยผ้าสแปนเด็กซ์แนบเนื้อถูกออกแบบมาให้เพิ่มพูนสมรรถนะ และช่วยให้กล้ามเนื้อฟื้นสภาพได้รวดเร็วคือกระแสหลักของเสื้อผ้ากีฬา นักกีฬาทั่วไปมักจะสวมถุงเท้าหรือเสื้อผ้าเพื่อบีบรัดกล้ามเนื้อสั่งทำพิเศษมาด้วยระดับของการบีบรัดมากน้อยแตกต่างกัน ด้วยแนวความคิดว่าเสื้อผ้าชนิดนี้จะค่อยๆ บีบรัดกล้ามเนื้อเพื่อช่วยการไหลเวียนของเลือดจากกล้ามเนื้อที่ใช้งานหนักกลับสู่หัวใจได้เร็วกว่า เพื่อให้ร่างกายผู้สวมใส่ได้ขจัดของเสียออกไปทางระบบย่อยสลายสารอาหาร (ระบบเมตาบอบิสซึ่ม) ได้เร็วกว่าเดิม ช่วยให้กล้ามเนื้อฟื้นสภาพได้เร็ว นักกีฬาโดยเฉพาะนักจักรยานมักจะสวมถุงเท้าบีบรัดกล้ามเนื้อไว้ด้วยหลังการขี่ทางไกล ๆ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อฟื้นตัวเร็ว แต่ด้วยการประดิษฐ์กางเกงจักรยานที่บีบรัดได้ในตัวสำเร็จ จึงมีแนวโน้มว่านักจักรยานจำนวนมากขึ้นหันมาใช้กางเกงแบบนี้กัน
          เจ้าหน้าที่ในทีมจักรยานหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ Skins มากขึ้นจนทำให้มันกลายเป็นอุปกรณ์บีบรัดกล้ามเนื้อยอดนิยมไปในเวลาอันสั้น พวกเขาสวมถุงเท้ารัดน่องยาวทั้งขาไปและขากลับจากการแข่งหลาย ๆ รายการ แม้แต่สวมมันนอนด้วยซ้ำ มีหลายคนที่อ้างว่ากล้ามเนื้อรู้สึกอ่อนล้าน้อยลงเมื่อสวมกางเกงสแปนเด็กซ์บีบรัดนี้ ถ้ามันดีพอสำหรับแลนซ์มันก็น่าจะดีสำหรับคนอื่นด้วยหรือเปล่า ?
          ใครจะใช้แล้วบอกว่าดีก็เรื่องหนึ่ง แต่การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ยังไม่ลงตัว ยังสรุปไม่ได้ว่าการสวมกางเกงรัดหรือถุงเท้ายาวถึงเขารัดน่องจะเป็นผลดีช่วยพยุงกล้ามเนื้อได้จริง ๆ หรือมันจะช่วยเร่งการไหลเวียนของเลือดยังไม่มีใครมายืนยันได้แน่นอน รายงานการวิจัยล่าสุดที่เผยแพร่ในนิตยสารอินเตอร์เนชั่นแนลเจอร์นัลออฟสปอร์ตส์ฟิซิโอโล จี แอนด์เพอร์ฟอร์แมนซ์ พบว่าการใช้กางเกงรัดกล้ามเนื้อจะช่วยเพิ่มพละกำลังกล้ามเนื้อได้จริง เพิ่มได้ทั้งความทนทานต่อการก่อตัวของกรดแลคติคและเพิ่มประมาณออกซิเจนให้กล้ามเนื้อได้ด้วย สำหรับนักจักรยานทางไกล แต่กลับไม่พบว่าช่วยให้นักแข่งไทม์ ไทรอัล ทำเวลาดีขึ้นเลย แต่พอมาดูกันที่การฟื้นตัวแล้วกลับพบว่าได้ผลน่าพอใจมากกว่า ในปี 2007 กลุ่มนักวิจัยในนิวซีแลนด์พบว่าถุงเท้าบีบรัดนี้ช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อขาหลังออกกำลังได้ดีมากสำหรับนักวิ่งทางไกล
          มีหลักฐานหลายอย่างที่บ่งบอกว่าการบีบรัดกล้ามเนื้อน่าจะใช้ได้ ตัวอย่างคือ จอร์จ ฮินคาพี นักจักรยานฝีเท้าจัดชาวอเมริกัน  และมีกิจการผลิตเสื้อผ้าจักรยาน ก็โดดเข้าร่วมวงไพบูลย์ด้วยกับเสื้อผ้าบีบรัดกล้ามเนื้อด้วยชื่อว่า R3 Performance Compression Socks และไท (ถุงเท้ายาวคล้ายถุงน่องเต็มตัวของสตรีแต่เนื้อหนาและบีบรัดมากกว่า) พอฮินคาพีเป็นหัวหอกก็มีอีกหลายบริษัท ที่เข้ามาร่วมวงด้วยคือ 2XU ที่ปัจจุบันนี้ผลิตกางเกงแบบบีบรัด ที่เหลือก็คือซูกอย ซึ่งเริ่มความคิดเรื่องการบีบรัดมาก่อนใคร ๆ ถึง 20 ปี เพียงแต่ไม่เน้นโฆษณา และเซนซาฮ์ที่ผลิตอุปกรณ์บีบรัดมานานจนเป็นที่รู้จักดีในหมู่นักไตรกีฬา จะว่ากันจริง ๆ แล้วคงต้องบอกว่านักกีฬายังช้ากว่าสาวออฟฟิศ เพราะพวกเธอรู้จักถุงน่องซัพพอร์ทที่ใช้หลักการเดียวกันนี้มานานกว่าพวกเราเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว

ดาวน์ฮิลล์ (Downhill) : ขี่จักรยานดาวน์ฮิลล์อย่างไรให้สนุกและปลอดภัย ตอนที่ 1

|0 ความคิดเห็น
ดาวน์ฮิลล์ (Downhill) : ขี่จักรยานดาวน์ฮิลล์อย่างไรให้สนุกและปลอดภัย ตอนที่ 1


          การขี่จักรยานดาวน์ฮิลล์(Downhill) อาจจะเป็นกีฬาในแง่ของการแข่งขัน สำหรับผู้ที่หลงใหลในชัยชนะ แต่ในอีกแง่หนึ่งมันก็เป็นกิจกรรมสันทนาการสำหรับผู้ที่ชื่นชอบความท้าทาย ที่พยายามนำพาตัวเองไปใกล้ขีดจำกัดของเส้นทาง และตนเองไม่ว่าคุณจะเป็นนักขี่ประเภทไหน สิ่งที่ต้องนำติดตัวไปทุกครั้งที่ออกไปขี่จักรยานดาวน์ฮิลล์(Downhill)ก็คือ ทักษะขั้นพื้นฐาน และอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยทั้งหลาย

           เนื่องจากการขี่จักรยานแบบดาวน์ฮิลล์(Downhill) เป็นการขับขี่ที่แตกต่าง จากการขี่จักรยานแบบทั่วไป และนักจักรยานส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีทางลงเขาให้ได้ขี่กันทุกวัน ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ก็จะเป็นที่มาของอาการ “ลืมทักษะพื้นฐาน” ทำให้บางครั้งเรามีความทะยานอยากเหลือกำลังที่จะออกไปดิ่งกับเพื่อน ๆ จนไม่ทันได้ปรับตัว หรือทบทวนพื้นฐานการขับขี่ และนั่นก็เป็นที่มาของอุบัติเหตุนั่นเอง
          เรามาทบทวนบทเรียนเหล่านี้ไปพร้อม ๆ กันเลยครับ ติวเตอร์คนแรกของเราคือ Marc Beaumonut โปรจากเกาะอังกฤษ นักแข่งระดับ World Cups และเคยเป็นศิษย์รุ่นแรก ๆ ของ Steve Peat ติวเตอร์คนที่สองคือ Will Longden เขาขี่จักรยานเสือภูเขามาตั้งแต่ยุค 80 และยังเคยเป็นแชมป์ระดับประเทศหลายรายการในประเทศอังกฤษ ปัจจุบันยังคงเป็นเจ้าหน้าที่ฝึกสอนในกับนักกีฬาทีมชาติอังกฤษอีกด้วย...เรามาเริ่มกันเลย

- การจัดวางตำแหน่งของร่างกาย
          การจัดวางตำแหน่งของร่างกายให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมะสม และถูกต้องบนจักรยานในแต่ละความแตกต่างของเส้นทาง คือหัวใจขั้นพื้นฐานของขี่จักรยานแบบดาวน์ฮิลล์(Downhill) หากคุณทำมันได้ถูกต้อง คุณก็สามารถขี่ไปได้ทุกเส้นทางและทุกรูปแบบ เมื่อคุณอยู่บนรถจักรยาน คุณกับจักรยานก็ต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกัน น้ำหนักส่วนใหญ่ของร่างกายจะตกไปอยู่ที่กะโหลกของรถจักรยานหรือกึ่งกลางของตัวรถนั่นเอง ไม่ว่าตัวรถจะอยู่ในแนวดิ่งลงหรือไต่ขึ้นก็ตาม การขยับตัวของคุณในทุก ๆ อิริยาบถย่อมมีผลกับสมดุลของตัวคุณ และจักรยาน เมื่อจุดศูนย์ถ่วงของจักรยานคือกะโหลก หากเป็นผู้ขี่จุดศูนย์ถ่วงหรือจุดหมุนหลักของร่างกายก็คือบริเวณเอวนั่นเอง

- การลดความเร็ว
          เมื่อคุณสามารถขี่จักรยานดาวน์ฮิลล์(Downhill) ด้วยตำแหน่งของร่างกายที่ถูกต้องแล้ว ก็ถึงเวลาแล้วที่คุณจะต้องเรียนรู้เรื่องการเบรค หรือการลดความเร็วนั่นเอง ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดในการใช้เบรกของนักขี่ทั่วไป กับนักขี่ที่มีทักษะก็คือ นักดิ่งมือใหม่มักจะใช้เบรคเพื่อแก้สถานการณ์ในยามคับขันซึ่งแท้จริงแล้วมันไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้นเลยแม้แต่น้อย แท้จริงแล้วคุณควรจะต้องรู้ล่วงหน้าว่าจะต้องใช้เบรกเพื่อลดความเร็วให้เหมาะสมกับเส้นทาง ก่อนที่มันจะเกิดปัญหา หากจะขี่จักรยานดาวน์ฮิลล์(Downhill)ได้เร็วและปลอดภัย คุณจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการใช้เบรกเสียใหม่
          นักจักรยานที่มีทักษะ หรือนักกีฬาอาชีพใช้เบรกเพื่อ “ปรับความเร็ว ให้เหมาะสมกับทิศทางก่อนจะเลี้ยว “ ควรใช้เบรกเมื่อจักรยานอยู่ในตำแหน่งตั้งตรงให้มากที่สุด (ก่อนเอียงเลี้ยวรถ) เพราะในตำแหน่งนี้ร่างกายของคุณสามารถรับแรงต้านจากการใช้เบรกได้ดี ล้อและยางของจักรยานก็อยู่ในตำแหน่งที่สามารถยืดเก่าพื้นผิวได้ดี ทำให้ใช้เบรกได้เต็มประสิทธิภาพ และเมื่อได้ความเร็วที่เหมาะสมแล้ว เมื่อมาถึงจุดเลี้ยวคุณก็จะสามารถจัดตำแหน่งของร่างกายได้ถูกต้องโดยที่ไม่ต้องไปพะวงกับการใช้เบรกนั่นเอง ข้อควรจำง่าย ๆ สำหรับการใช้เบรคของยานพาหนะที่มีล้อกลม ๆ ไม่ว่าจะกี่ล้อก็ตาม บนโลกนี้คือ “เบรกไม่เลี้ยว เลี้ยวไม่เบรค”

- การฝึกการใช้เบรกแบบง่าย ๆ
           ให้หาพื้นที่ที่มีความยาว 5-10 เมตร จากนั้นก็กำหนดจุดที่ต้องการให้รถหยุดสนิทจริง ๆ แล้วลองขี่มาด้วยความเร็วจากนั้นให้ใช้เบรกหน้าอย่างเดียว เพื่อหยุดรถในตำแหน่งที่กำหนดไว้แต่แรกโดยล้อห้ามล็อคหรือไถล ฝึกจนให้ได้ระยะเบรกที่สั้นที่สุด จากนั้นก็ทำแบบเดิมทุกอย่างแต่เปลี่ยนมาเป็นใช้เบรกหลังอย่างเดียวภายใต้เงื่อนไขเดิมคือห้ามล้อล็อคหรือปัดซ้ายปัดขวา
          เมื่อคุณฝึกจนเข้าใจ คุณก็จะรู้ว่าเบรกหน้า และเบรกหลังให้ผลลัพธ์ต่างกันอย่างไร และการหลีกเลี่ยงไม่ให้ล้อล็อคนั้น คุณจำเป็นต้องปรับตำแหน่งร่างกายของคุณให้ถูกต้องอย่างไรนั่นเอง
          เป็นอย่างไรบ้างครับ เรื่องยาก ๆ กลับถูกย่อยออกมาให้กลายเป็นเรื่องง่าย แต่มันสามารถนำไปปรับใช้และพัฒนาการขับขี่ได้ด้วยตัวคุณเอง ขอให้สนุกและปลอดภัยกันทุกคนนะครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง:


>> การฝึกพื้นฐานการขี่รถดาวน์ฮิลล์



9 ต.ค. 2553

บางเรื่องของจักรยานที่คุณอยากรู้ แต่ไม่รู้จะถามใคร

|0 ความคิดเห็น
          คุณสนุกกับจักรยานมาได้ระยะหนึ่งแล้วแต่ยังมีเรื่องที่อยากรู้อีกมาก ความไม่รู้นั่นคือปัญหา แต่ปัญหาอีกอย่างคือคุณไม่รู้ว่าจะถามใครดี เราจึงรวบรวมมาตอบให้คุณ ด้วยความคิดว่ามันน่าจะช่วยคุณได้บ้าง ลองอ่านดูแล้วคุณอาจจะรู้มากกว่าเดิมในบางแง่มุมที่ตัวเองไม่เคยรู้มาก่อน

1. จำเป็นต้องทำอินเตอร์วัลทุกครั้งที่ซ้อมเลยหรือ จึงจะปั่นได้เร็วขึ้น ?
        ความแข็งแกร่งต่อเนื่องคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณไล่บี้ใคร ๆ ได้ตอนขึ้นเขา หรือระหว่างปั่นทางเรียบสิ่งนี้ก็สำคัญ การปั่นจักรยานโดยเฉพาะเสือหมอบคือการคงสภาพความแข็งแกร่งสุดขีดเอาไว้ให้นานที่สุด เพราะนั่นย่อมหมายถึงความได้เปรียบที่คุณมีต่อคู่ต่อสู้ และจะสร้างความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อได้ก็ต้องเพิ่มภาระให้มันทีละนิด การปั่นจักรยานด้วยความเร็วคงที่นั้นโอเคอยู่แล้วกับการเสริมสร้างความอดทนแบบแอโรบิค แต่จะดีขึ้นด้วยการเพิ่มความเร็วขึ้นฉับพลันชั่วระยะเวลาหนึ่ง สลับด้วยการปั่นสบาย ๆ เพื่อฟื้นสภาพ ถ้าคุณอยากปั่นให้เร็วขึ้น ใช่เลยคุณต้องทำอินเตอร์วับ เพิ่มภาระให้กล้ามเนื้อและหัวใจเพื่อให้พร้อมกับการเร่งฝีเท้าด้วยความเร็วสูง
2. ยางทิวบ์เลสเป็นอย่างไร จะทำอย่างไรกับมันดีเมื่อรั่ว ?
         อันที่จริงมันก็ไม่ต่างจากยางทั่วไปเท่าไรเว้นแต่มีส่วนประกอบอะไร ๆ น้อยกว่า เน้นที่น้ำหนักเบา ทิวบ์เลสทั้งของเมาเท่นไบค์และเสือหมอบประกอบเข้ากับขอบล้อเหมือนยางทิวบ์เลสของรถยนต์ คือขอบยางด้านในมีเส้นลวดหรือพลาสติกแข็งยึดอยู่ ขอบล้อสำหรับทิวบ์เลสโดยเฉพาะก็มีขอบที่สอดรับกับขอบยางได้แน่นสนิท เมื่อสูบลมเข้าแล้วนวดยางไปพร้อม ๆ กัน แรงดันลมจะค่อย ๆ มากขึ้นจนดันขอบยางติดขอบล้อเสียงดังได้ยินชัด ถ้ารั่วก็ปะได้แต่ต้องปะจากภายในด้วยน้ำยาและวัสดุเฉพาะ แต่ถ้าคุณไปทำรั่วกลางทางและไม่อยากเสียเวลาปะยางนาน ๆ วิธีง่ายที่สุดคือหมุนจุ๊บยางออกก่อนแล้วสอดยางในแบบทำธรรมดาเข้าไปแทนให้จุ๊บยางโผล่ออกมาตรงช่องเดิมสูบยางให้แข็งด้วยขวดก๊าซหรือสูบติดจักรยานแล้วขี่กลับบ้าน นำยางทิวบ์เลสที่รั่วนั้นมาหารอยรั่วที่บ้าน ยางทิวบ์เลสจะใช้เวลาปะนานกว่ายางปกติ เราจึงไม่แนะนำให้นั่งปะกันข้างถนน
3. ทำไมนักจักรยานเสือหมอบถึงไม่ค่อยใช้จานหน้าสามใบ?
          ใช้น่ะใช้ได้เพราะผู้ผลิตอุปกรณ์เขาสร้างใบจานหน้ามาให้เลือกทั้งแบบสองและสามใบ แต่ที่ไม่เห็นใช้กันก็เพราะมันดูเหมือนไม่โปรฯ พวกเสือหมอบเขาบอกว่ามันไม่เหมือนพวกมืออาชีพในแกรนด์ทัวร์ของยุโรป ถ้าขี่เสือหมอบคุณจะเข้าใจดีว่ามีรายละเอียดแฝงอยู่มากมายรวมทั้งเรื่องจานหน้าสองหรือสามใบนี่ด้วย การใช้จานหน้าแค่สองใบจะทำให้ดูดีกว่าในสายตาของเพื่อนร่วมก๊วน มันแสดงให้เห็นว่าคุณมีพละกำลังมากพอจะรวมกลุ่มกับเขาได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใบจานที่เล็กกว่า นั่นก็เหมือนกับการโกนขนหน้าแข้งนั่นแหละที่พวกเสือหมอบนนิยมกันทั้งที่มันไม่ได้ช่วยให้ปั่นเร็วขึ้นเลยนอกจากจะแสดงสถานภาพความเก๋าของเจ้าของหน้าแข้งและดูสวยงามดีเท่านั้น
4. จะสวมแว่นให้ขาแว่นทับสายรัดคางหรือให้สายรัดคางทับขาแว่นดี ?
          นี่ก็อีกปัญหาหนึ่งที่มีสาเหตุมาจากพวกมือโปรฯ จริง ๆ แล้วจะเอาอะไรไปทับอะไรนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญในเมื่อแว่นมันยังอยู่บนดั้งจมูกเหมือนกันและคุณใช้ขาตัวเองปั่นจักรยานไม่ใช่ขาแว่น ตามแฟชั่นคือ ต้องสวมให้ขาแว่นทับสายรัดคางซึ่งไมได้ช่วยอะไรนอกจากทำให้ดูดี เห็นขาแว่นและเครื่องหมายการค้าที่ขาแว่นชัดเจนดี ไม่เป็นปัญหาเลยถ้าคุณจะสวมแว่นให้สายรัดคางทับขาแว่น สวมอย่างไรก็ได้เพียงแต่แฟชั่นเขานิยมกันแบบหนึ่งเท่านั้น
5. จะเอายางในอะไหล่ติดจักรยานไปกี่เส้นดี ?
         สิ่งที่ต้องเอาไปด้วยเวลาขี่จักรยานแล้วกลัวว่ายางจะรั่ว คือยางในและอุปกรณ์ปะยางอันประกอบด้วยกาว, ยางปะ,กระดาษทราย,สูบ,ขวดก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ อุปกรณ์ปะยางนั้นสามารถแพ็ครวมกล่องเล็ก ๆ ไปเพียงแพ็คเดียวได้ แต่ยางนั้นขึ้นอยู่กับคุณว่าหวาดหวั่นต่อการรั่วแค่ไหน ถ้าจะใช้คนเดียวเอายางไปแค่เส้นเดียวก็พอ หรือถ้ากลัวมากก็พกได้สองเส้น หรือจะมากกว่านั้นก็ได้ถ้ามีน้ำใจอยากจะช่วยเพื่อนในกลุ่ม
6. ควรตรวจสอบอะไรกับจักรยานบ้างก่อนขี่ทุกครั้ง ?
          ที่แน่ ๆ คือความดันลมยางที่ต้องไม่เกินตัวเลขระบุไว้ข้างแก้มยาง ต่อมาคือโซ่ซึ่งหยอดน้ำมันไว้หรือยัง ดุมปลดเร็วและขางัดสกิวเออร์ซึ่งต้องไม่หลวม สามารถกดติดแน่นได้โดยล้อไม่คลอนเมื่อจับโยกยางเบรกวางตัวสนิทแนบดีเมื่อบีบมือเบรค ความสูงของอานและแรงดันของช็อคถ้าคุณใช้เมาเท่นไบค์ เมื่อผ่านการขี่มาแล้วหลายครั้งคุณจะทราบดีว่าควรต้องตรวจสอบอะไรบ้างโดยไม่ต้องทบทวนก่อน
7. ต้องพกขวดก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ไปกี่หลอด ?
          ตามปกติเลยก็คือสองหลอดไม่ว่าจะเป็นยางธรรมดาหรือยางทิวบ์เลสสำหรับยางธรรมดาต้องพก 2 หลอดเพราะหนึ่งหลอดต้องเอาไว้อัดเข้าไปให้ลมรั่วออกมา ปะเสร็จแล้วอีกหลอดเพื่อเติมให้ยางแข็ง สำหรบทิวบ์เลสที่ต้องพกสองหลอดก็เพราะหลอดแรกเพื่อดันให้ขอบยางติดขอบล้อ อีกหลอดเพื่อเติมยางให้แข็งตามต้องการ นี่คืออัตราปกติสำหรับล้อเพียงข้างเดียว ถ้าคุณจะพกมากกว่านั้นก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด นอกจากน้ำหนักมันจะมากขึ้นนิดหน่อยเท่านั้น
8. ต้องอัพเกรดหมวกกันกระแทกบ่อยแค่ไหน ?
          ตามตำราบอกว่าถ้าคุณขี่จักรยานบ่อยด้วยระยะทางเดือนละ 3,200 ก.ม. ปีเดียวก็เปลี่ยนได้แล้ว หรือถ้าน้อยกว่านั้นก็คือประมาณสามปี แต่ต้องเปลี่ยนทันทีที่เกิดอุบัติเหตุหัวฟาดเพราะโครงสร้างของหมวกได้สูญเสียความแข็งแกร่งเพื่อปกป้องศีรษะของคุณไปแล้ว หมวกกันกระแทกกระชับและปลอดภัยราคาย่อมแพงอย่าไปเสียดายกับเงินที่ต้องจ่ายเพราะคุ้มมากเมื่อใช้มันป้องกันการพิการถาวรหรือมากกว่านั้นคือเสียชีวิต
9. ต้องหยอดน้ำมันโซ่บ่อยแค่ไหน ?
          วิธีหยอดน้ำมันที่ถูกต้องคือหยอดน้อย ๆ และหยอดบ่อย ๆ คำว่าน้อย ๆ คืออย่าให้น้ำมันเคลือบโซ่จนเยิ้มเพราะมันจะเป็นตัวดูดฝุ่นละอองเข้าไปติดจนทำให้อายุการใช้งานสั้น ให้หยอดลงตรง ๆ ตามข้อโซ่แล้วทิ้งไว้สักชั่วโมงก่อนรูดทั้งเส้นด้วยผ้าเพื่อเอาน้ำมันส่วนเกินออก เหลือแต่ส่วนที่ใช้งานติดในข้อโซ่อย่างเดียว ส่วนจะหยอดได้บ่อยแค่ไหนนั้นตามปกติคือ หลังจากการขี่จักรยานทุกครั้ง ที่คุณมาทำความขั้นตอนที่แจกแจง และควรเช็ดโซ่ หยอดน้ำมันทันทีเมื่อขี่จักรยานตากฝน ไม่ควรปล่อยให้ข้ามคืนเพราะโซ่และเฟืองจะเป็นสนิมเร็วมาก ทำได้ตามนี้ทั้งโซ่และเฟืองของคุณจะใช้งานได้นานขึ้น
10. จำเป็นต้องหล่อลื่นลูกบันไดด้วยหรือเปล่า ?
          ไม่ต้องหล่อลื่น เพราะบันได้ถูกผลิตมาให้ใช้งานได้ตลอดอายุจนพัง ไม่ต้องหยอดจาระบีหรือน้ำมันหล่อลื่นเลยไม่ว่าจะตรงจุดหมุนติดกับขาบันไดหรือในสปริงบนตัวลูกบันได การทำให้ผิวหน้าบันไดลื่นนั้นอันตรายอย่างยิ่งเพราะอาจทำให้เกี่ยวเท้าพลาดและหน้าคะมำได้
11. จำเป็นต้องสวมถุงมือด้วยหรือ ?
          สวมเถอะ ถึงมันจะไม่ช่วยให้คุณปลอดภัยได้เหมือนหมวกกันกระแทกแต่ก็ช่วยได้เวลาล้มนะ ถุงมือจะช่วยไม่ให้อุ้งมือคุณเป็นรอยถ้าเอามือลงถูถนนก่อนอวัยวะส่วนอื่น ถุงมือบางรุ่นบุเจลไว้ตรงส้นมือเว้นร่องไว้ให้เลือดเดินผ่านเส้นเลือดตรงนั้นได้สะดวก ผลคือทำให้มือคุณไม่ชาเมื่อปั่นไกล ๆ หรือจับแฮนด์ท่าเดียวนาน ๆ เมาเท่นไบค์ที่ไม่มีบาร์เอนด์ไว้เปลี่ยนอิริยาบถจะรู้ซึ้งดีถึงความหมายของคำว่ามือชา ยิ่งถ้าปั่นในหน้าหนาวหรือไปปั่นในต่างประเทศที่เป็นเขตหนาวด้วยแล้วถุงมือมีประโยชน์มาก มันกันไม่ให้มือชาและยังรับรู้ความรู้สึกได้ชัดเจนระหว่างเบรกหรือเปลี่ยนเกียร์ กันหิมะกัดก็ยังได้
12. ควรพกพาเจลให้พลังงานไปกี่ถุงดีเวลาขี่จักรยานแต่ละครั้ง ?
           หลักการขั้นพื้นฐานมีอยู่ว่าควรจะกินเจลพลังงานนี้ก่อนสตาร์ท 15 นาที แล้วพอขี่ไปได้ทุก ๆ สี่สิบห้านาทีก็ฉีกกินเสียหนึ่งถุง ถ้าอยากรู้ว่าต้องพกเจลนี้ไปครั้งละกี่ถุงก็ลองคำนวณเอาเอง ตามปกติถ้าเป็นเสือหมอบซึ่งขี่กันครั้งหนึ่งหากไม่เกิน 100 ก.ม. ก็ไม่เกินสามชั่วโมงกว่า ๆ คุณก็ควรพกเจลพลังงานไปได้สองถุงหรือ 3 ก็ยังได้ซึ่งไม่หนักเกินไป
13. จำเป็นต้องพกขวดน้ำคู่ด้วยหรือสำหรับเสือหมอบ ?
          ไม่จำเป็นเสมอไป เพราะแค่ขวดเดียวติดเฟรมจักรยานก็ให้น้ำทดแทนเหงื่อของคุณได้พอแล้วตลอด 45 นาที ร่างกายคุณเก็บกักน้ำเอาไว้ใช้ได้เพียงพอตลอดเวลาหนึ่งชั่วโมง ดังนั้นถ้าขี่กันนานแค่ 2 ชั่วโมง น้ำขวดเดียวก็น่าจะพอแล้ว ถ้านานกว่านั้นคุณก็ยังมีทางเลือกอีกถ้าไม่อยากพกน้ำไปสองขวดให้หนัก คือการแวะเติมข้างทางหรือให้เพื่อนคอยขับรถตามส่งน้ำให้ถ้าไปกันเป็นหมู่คณะ นอกจากน้ำจะช่วยให้ระบบการทำงานของร่างกายเป็นปกติแล้วมันยังใช้เทราดตัวได้ด้วยเมื่อรู้สึกว่าร้อนสุดขีด
14. อะไรคือจานหน้าแบบคอมแพคต์ ทำไมไม่ค่อยเห็นใครเขาขี่กันเลย ?
          จานคอมแพคต์ ก็คือจานหน้าของเสือหมอบที่มีซี่เฟืองน้อยกว่าปกติ ตามปกติจานหน้าจะมีสองใบคือเฟือง 53 ซี่กับเฟือง 39 ซี่ ซึ่งเป็นทางเลือกของพวกมือโปร ฯ แรงเยอะมาเกือบห้าสิบปีแล้ว แต่คอมแพคต์จะเล็กกว่าคือมีเฟืองแค่ 50 ซี่ในจานใบใหญ่และ 34 ซี่ในจานใบเล็ก ต้องมีจานคอมแพคต์ก็เพื่อให้เข้ามาอุดช่องว่างระหว่ามือโปร ฯ กับมือสมัครเล่นที่ขี่เพื่อเพลิดเพลิน เพราะจานใหญ่มาตรฐานนั้นค่อนข้างหนักสำหรับคนที่ไม่ได้ซ้อมสม่ำเสมอจนกล้ามเนื้อแข็งแรง เมื่อมาใช้จานมาตรฐานก็เลยต้องทดเฟืองหลังให้ใหญ่ตามจนทำให้ใช้เฟืองหลังได้ไม่ครบทุกใบ จานคอมแพคต์ทำให้ปั่นได้เบาแรงขึ้นเพราะซี่ฟันน้อยกว่า นักจักรยานขี่ได้สบายทั้งทางเรียบและขึ้นเขาโดยไม่ทรมานกล้ามเนื้อมาก ความเร็วก็ไม่แตกต่างกันเลยแล้วยังจะเร็วกว่าด้วยซ้ำถ้ามีความสามารถในระดับเดียวกัน แต่คนหนึ่งใช้จานคอมแพคต์ เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แค่นักปั่นสมัครเล่นเท่านั้นที่ใช้คอมแพคต์ มืออาชีพระดับโปรทัวร์ก็เปลี่ยนมาใช้กันมากโดยเฉพาะสเตจขึ้นเขาทั้งทัวร์ออฟอิตาลี, ตูร์เดอฟร็องซ์ และทัวร์ออฟสเปน
          ทั้งหมดนี้น่าจะพอสำหรับคำถามที่ใคร ๆ ก็อยากรู้แต่ไม่กล้าถามในตอนนี้เราเชื่อว่าน่าจะมีเรื่องที่คุณไม่รู้อีกมากซึ่งเราจะได้หามาให้ได้อ่านกันต่อไป

Fixed Gear Corner : Fixed Gear Development

|0 ความคิดเห็น
Fixed Gear Development



          จักรยาน Fixed Gear คือจักรยานที่ใช้ในการแข่งขันจักรยานประเภทลู่ ใช้แข่งขันในเวลโลโดม เมื่อนักปั่นจักรยานใช้จักรยานไปนาน ๆ เข้า เกิดชำรุดทรุดโทรมไปบ้างเลยนำไปขาย เมื่อนักปั่นส่งหนังสือพิมพ์ตามบ้านในเมืองนอกเห็นเลยซื้อมาใช้ปั่นทำงานเพื่อส่งหนังสือพิมพ์ พอช่วงเย็น ๆ หลังเลิกงาน ก็มีการนัดรวมตัวกันเพื่อฝึกซ้อมทริกท่าต่าง ๆ ที่ทั้งแปลกและสร้างสรรค์ขึ้น
          Fixed Gear เป็นจักรยานที่ช่วยเซฟค่าใช้จ่ายได้มาก เนื่องจาก ดูแลรักษาง่าย แข็งแรง ทนทาน ไม่มีปัญหาให้ต้องเอาไปซ่อมอยู่บ่อย ๆ จะมีปัญหาที่ต้องเจออย่างเดียวคือปัญหายางแตกเท่านั้น หลังจาก Fixed Gear ออกไปโลดแล่นบนถนนจนเตะตาใครหลาย ๆ คนได้ไม่นาน ก็เกิดการขยายตัวของกลุ่มคนที่หันมาปั่นจักรยาน Fixed Gear กระจายออกสู่เมืองใหญ่มากขึ้น เช่น ที่ซานฟรานซิสโก หรือ ชิคาโก ฯลฯ มีการรวมตัวกลุ่มคนที่ปันจักรยาน Fixed Gear ที่ต้องการเล่นทริกท่ามากขึ้น ตามมุมเมืองต่าง ๆ เพื่อซุ่มซ้อมทริกท่าใหม่ ๆ อย่างเข้มข้นแพร่หลาย ดังนั้น คงไม่แปลกที่กระแสของ Fixed Gear กำลังฮิตในหมู่วัยรุ่น มันเป็นสิ่งที่ทำให้คุณอวดลีลาสุดเร้าใจ บนถนนแบบไม่ต้องง้อเบรค และกำลังเป็นของเล่นสุดมันส์ชิ้นใหม่ที่ได้รับความนิยมของบรรดาวัยรุ่นในตอนนี้ มองไปตามถนน คุณอาจได้เห็นคนปั่น Fixed Gear กันบ้างในบ้านเรา ถึงแม้จะไม่มีให้เห็นมากอย่างในต่างประเทศ เช่น อเมริกาหรือญี่ปุ่นก็ตาม แต่ 2-3 ปีหลังมานี้ แวดวง Fixed Gear ในเมืองไทยมีผู้สนใจเข้าร่วมกลุ่มหนาตาขึ้นมากทีเดียว มีการตั้งกลุ่มคนรัก Fixed Gear ขึ้น หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ ๆ ก็เริ่มกลายเป็นแหล่งรวมตัวของเหล่านักปั่น Fixed Gear ที่มักรวมตัวกันตอนเย็นย่ำ เพื่อฝึกซ้อมลีลาท่าทางเด็ด ๆ กันเลยทีเดียว เช่น กลุ่ม BKK Fixed ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของคนรักจักรยาน Fixed Gear นอกจากนี้ยังมีการจัดการแข่งขันเพื่อประกวดการเล่นทริกท่าเพื่อเสริมสร้างความน่าสนใจและท้าทายมากขึ้น นอกจากนี้ตามมุมต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ยังมีการรวมตัวของนักปั่น Fixed Gear ไม่ว่าจะเป็นแถว สามย่าน สยาม ลานพระบรมรูปทรงม้า อ่อนนุช บางเขน เกษตร-นวมินทร์ ท้ายตะวันนา 2 และจุดอื่น ๆ อีกมากมาย แม้แต่ตามต่างจังหวัดก็มีการรวมตัวด้วยไม่น้อยหน้ากัน เช่น ปทุมธานี เชียงใหม่ นครสวรรค์ พัทยา บางแสน โคราช หาดใหญ่ และอีกหลาย ๆ จังหวัดที่กำลังจะมีการรวมตัวกันของคนรัก Fixed Gear เกิดในอนาคตเร็ว ๆ นี้แน่นอน
        มนต์เสน่ห์ของ Fixed Gear ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือแบ่งจากสไตล์ของการเล่นได้แก่ สายปั่น หรือสายแข่ง โดยแต่งสีสันสวยงามแนว Retro ย้อนยุคเอาเฟรมจักรยานประเภทรถลู่เก่ามาตกแต่งใหม่ ดังนั้นรูปต่างของตัวเฟรมจักรยานจะมีรูปทรงเพรียวบาง คอของจักรยานมีหลากหลายรูปแบบแล้วแต่เลือก ไม่ว่าจะเป็น คอเสียบ คอนิ้วหุน หรือว่า คอ Over Size
          การบังคับด้วยแฮนด์บาร์ก็มีหลายแบบด้วยกัน บางคนอาจชอบแบบสายแข่งตัวจริง ที่เรียกว่า บลูออน ที่มีรูปร่างคล้ายเขาควายหรือแฮนด์ดร็อป ที่ลักษณะเหมือนเสือหมอบทั่วไปแต่ต่างกันที่ไม่มีอุปกรณ์เกียร์ หรือเบรคใด ๆ ทั้งสิ้น ส่วนแบบสุดท้ายของแฮนด์บาร์สายปั่นคือด้ามจับแบบธรรมดาบังคับเลี้ยวยกแบบตัดสั้น เข้าสู่เรื่องของล้อขนาดวงล้อเป็นมาตรฐานของเสือหมอบปกติเพราะไม่ได้รับแรงกระแทกจากการเล่นท่าที่หนักหน่วงมากมาย ขนาดขอบล้อ 700C และยาง 28 หรือโค๊ดที่เรียกกันว่า 700 X 28
          ส่วนอีกประเภทที่เร้าใจเร้าร้อนขึ้นมาหน่อย จากการผาดโผนกระโดดกระเด้งกระดอนไปตามภาษาชาว Fixed Gear ประเภท Trick เริ่มมีการใช้อุปกรณ์ในการสร้างสารอะดีนาลีน เช่นเดียวกับสนาม BMX ประเภท Street & Jump หรือสายทริก ดังนั้นอุปกรณ์ที่ใช้เริ่มปรับเปลี่ยนเพื่อความคงทนจากความซุกซนของนักขี่แต่ล่ะท่าน เริ่มจากรูปทรงเฟรมที่กลายพันธุ์ออกมาทางแนว Dirt นิด ๆ ช่วงระยะของเฟรมจะมีขนาดยาวกว่าสายปั่นแต่ยังมีเค้าโครงเดิมอยู่ สีสัน จัดจ้าน ด้วยสติ๊กเกอร์ตามสไตล์ที่ติดกันเข้าไป ตะเกียบหน้าของจักรยานมีขนาดยาวขึ้นและกว้างขึ้นเป็นรูปแบบ BMX เพื่อรองรับขนาดของยางที่ใหญ่และขอบล้อที่กว้างขึ้น
          ล้อที่ใช้ในสายทริก จะมี 3 ขนาดคือ ล้อเสือหมอบทั่วไป ทั้งล้อแม็ก หรือซี่ลวด ที่ขนาดมาตรฐาน 700C แบบที่สองเล็กลงมานิดหนึ่งเพื่อลดการเสียดสีของล้อระหว่างเล่นท่ากับเฟรมท่อนล่าง คือขนาด 650C ส่วนแบบสุดท้าย เอาล้อ BMX และล้อเมาเท่นไบค์มาดัดแปลงมันซะเลย เพราะตัวถังของรถสายนี้มีความเป็นลูกครึ่งมากมายกับ Dirt Jump และ BMX จึงนำอะไหล่ของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาใช้กันได้บางส่วน ตอนนี้เริ่มมีการใช้ เป๊ก หรือที่เหยียบเท้าของชาว BMX มากายขอบคอนกรีตต่าง ๆ มากขึ้น
          ที่รัดเท้าก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชาวสายสนุกนี้ เพราะมีส่วนช่วยอย่างมากในการกระโดดหรือลงเนิน ถ้าไม่มีสงสัยหัวคงจะคะมำ ก็มีให้เลือกตามชอบจะเป็นสายผ้า หรือว่าตะกร้ออลูมิเนียมย้อนยุค ส่วนเรื่องแฮนด์บาร์ เพื่อการบังคับที่ดีในการควงท่า เล่นผาดโผนต่างๆ ก็เป็นแฮนด์ยกสองนิ้วขึ้นไปแต่แฮนด์จะสั้นมากน้อยขึ้นอยู่กับทริกของแต่ละคนครับ
       ท้ายนี้ยินดีต้อนรับน้องใหม่ชาว Fixed Gear ทุก ๆ ท่านเข้าสู่วงการสองล้อ ช่วยลดโลกร้อนกันไป แถมได้เท่โดดเด่นบนท้องถนนกันไปด้วยการแต่งกายแบบ แนว ๆ และจักรยานคันงานที่เตะตาคนพบเห็นนะครับ มีความสุขกับการปั่นจักรยานกันทุกคนครับ..

บทความที่เกี่ยวข้อง :

>> ทิศทางรถฟิกซ์เกียร์ (Fixed Gear) ปี 2011
>> แนะนำอุปกรณ์ตกแต่งจักรยานฟิกซ์เกียร์ (Fixed Gear)
>> การเลือกซื้อตัวถังให้พอดีกับขนาดร่างกาย [ฟิกซ์เกียร์ Fixed Gear]
>> VDO เทคนิคการปั่นจักรยานฟิกซ์เกียร์ (Fixed Gear)
>> Fixed Gear แหกกฎเซ็ตรถเล่นทริก

>> จักรยาน Fixed Gear MASI ต้นตำรับแห่งความคลาสสิค
>> Fixgear Corner : ประเภทของจักรยาน Fixgear
>> แนวทางการเลือกตกแต่ง รถ FIXED GEAR อย่างมีสไตล์

บทความจักรยานที่เกี่ยวข้อง